เรื่องความยั่งยืนโดยเฉพาะด้าน ESG กลายเป็นประเด็นใหญ่สำหรับธุรกิจในปัจจุบัน เนื่องจากเริ่มมีกฎเกณฑ์ระดับโลกที่ออกมาควบคุมธุรกิจในด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ธุรกิจไทยที่เป็นลักษณะ Supply Chain กำลังจะถูกบังคับให้ต้องดำเนินธุรกิจภายใต้การดูแลสิ่งแวดล้อม และในประเทศไทยเองก็กำลังจะมีกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมออกมาด้วยเช่นกัน นั่นทำให้ธุรกิจเริ่มตื่นตัวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
โดยเฉพาะธุรกิจ SME ที่หลายแห่งยังมองว่า การดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และยังมีความยุ่งยากในการดำเนินการ นั่นทำให้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) จัดหลักสูตรฝึกอบรมเสริมความรู้ให้กับธุรกิจในการดำเนินงานด้าน ESG ภายใต้หลักสูตรฝึกอบรม “Krungsri ESG Academy 2024” เพื่อให้ธุรกิจได้เข้าใจถึงความสำคัญของการดำเนินการด้าน ESG และสามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ทำความรู้จัก Krungsri ESG Academy 2024
สำหรับหลักสูตรฝึกอบรม Krungsri ESG Academy 2024 เป็นความร่วมมือกับ SDGs Move คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยหลักสูตรดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาในการอบรมรวม 5 เดือน ซึ่งผู้เข้าร่วมอบรมจะได้เรียนรู้ทั้งทฤษฎีและการลงมือทำจริงอย่างเข้มข้น ผ่านผู้เชี่ยวชาญตัวจริงที่สามารถนำความรู้ไปปรับใช้กับธุรกิจได้ทันที
โดยหลักสูตรจะเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนกับธุรกิจ, การวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าและการวางยุทธศาสตร์เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน, การบริหารจัดการซัพพลายเชนและ Stakeholders ตลอดจนการวาง Climate Strategy และการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมไปถึงโอกาสการเข้าไปเยี่ยมชมองค์กรที่มีความโดดเด่นด้าน ESG เพื่อนำไปใช้เป็นกรณีศึกษาสำหรับธุรกิจ
เพื่อให้เกิดแรงจูงใจการปรับเปลี่ยนธุรกิจ Krungsri ESG Academy 2024 จึงผลักดันให้ทุกบริษัทที่เข้าร่วมอบรมจัดทำ Transition Plan ของธุรกิจ เพื่อเป็นแผนให้ธุรกิจนำไปปรับเปลี่ยนธุรกิจตามแนวทาง ESG อย่างเป็นรูปธรรมและเห็นผลในระยะยาว
ปูพื้นฐานสำคัญด้าน ESG ที่ธุรกิจต้องรู้
สำหรับคลาสแรกของหลักสูตรจะเน้นการปูพื้นฐานด้าน ESG ให้กับธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจที่ยังไม่รู้จะจับจุดเริ่มต้นที่ตรงไหน โดย Krungsri ESG Academy 2024 แนะนำให้ “ทำความเข้าใจการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม” เนื่องจากโลกของเราร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแค่อากาศร้อนขึ้น 1-4 องศาเซลเซียส ระบบนิเวศทั้งบนบกและในน้ำจะพังทลาย จนทำให้อาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนทั่วโลก รวมไปถึงจะเกิดภัยพิบัติรูปแบบต่างๆ ถี่ขึ้น
ซึ่งตัวการสำคัญคือ ก๊าซเรือนกระจกที่ธุรกิจปล่อยออกมาโดยที่ไม่รู้ตัว และก๊าซเรือนกระจกที่ทุกคนรู้จักเป็นอย่างดีคือคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบกับโลกจริงๆ มีอยู่ 7 ชนิด ซึ่งมีทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและเกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ ทำให้ “ธุรกิจต้องมีการจัดเก็บ Carbon Footprint” เพื่อให้ธุรกิจรู้ว่ากิจกรรมใดมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามาก และจะมาควบคู่กับ Carbon Credit ที่จะกลายเป็นรายได้เสริมของธุรกิจ
โดยธุรกิจต้องดำเนินการ 4 ด้านสำคัญประกอบไปด้วย
- การพัฒนาธุรกิจที่ตอบโจทย์คนยุคปัจจุบัน โดยไม่ทำให้คนรุ่นหลังต้องยอมลดทอนความสามารถในการตอบสนองความต้องการของตนเอง
- การพัฒนาธุรกิจต้องส่งผลดีต่อผู้คนในสังคมอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่แค่ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
- ผู้คนในสังคมต้องสามารถตั้งรับปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาธุรกิจได้
- การพัฒนาธุรกิจเกิดขึ้นเพื่อให้ทุกคนบนโลกนี้สามารถใช้ชีวิตที่ดีอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
จริงๆ แล้ว การดำเนินการด้าน ESG ไม่ได้มีแค่เรื่องสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการดำเนินการด้านสังคม และการดำเนินการตามกฎเกณฑ์อย่างโปร่งใส นอกจากจะช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังต้องสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจเพื่อนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการส่งเสริมชีวิตของผู้คนอย่างเท่าเทียม
วางยุทธศาสตร์สู่ความยั่งยืนเพื่อสิ่งแวดล้อม
หลังจากธุรกิจมีพื้นฐานด้าน ESG แล้ว จะเริ่มเข้าสู่เนื้อหาที่เข้มข้น โดยเริ่มจาก “แนวคิดในการวางยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ” ด้วยการที่ธุรกิจจะต้องเน้นลดผลกระทบเชิงลบและเพิ่มผลกระทบทางบวกต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและการกำกับดูแลธุรกิจ โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นในการดำเนินโครงการสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังต้องมีการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG อย่างโปร่งใสและครอบคลุมให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบผ่านช่องทางต่างๆ เช่น รายงานความยั่งยืน รายงานบนเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์
ธุรกิจยังควรต้องเปิดรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อกำหนดและปรับปรุงกลยุทธ์ ESG ให้สอดคล้องกับความคาดหวังและความต้องการของทุกฝ่าย การรับฟังความคิดเห็นจากลูกค้า ชุมชน ผู้ถือหุ้น และพนักงาน ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถบริหารจัดการและสร้างความเชื่อมั่นในองค์กรได้
อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญ ธุรกิจจะต้องมีการประเมินความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับ ESG ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถเตรียมการป้องกันและจัดการได้อย่างเหมาะสม ในขณะเดียวกันธุรกิจต้องมองหาโอกาสที่เกี่ยวข้องกับ ESG เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีที่ยั่งยืน หรือการเลือกใช้พลังงานทดแทนอย่าง ไบโอแมส ไบโอแก๊ส เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถลดต้นทุนลงได้
เจาะลึกการทำข้อมูล Carbon Footprint ของธุรกิจ
เมื่อธุรกิจมียุทธศาสตร์การดำเนินงานแล้ว ธุรกิจจำเป็นต้องรู้ “ข้อมูลเชิงลึกของการจัดทำ Carbon Footprint” ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม เพราะจะช่วยให้ธุรกิจสามารถมองเห็นกิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และส่วนหนึ่งกระบวนการเหล่านั้นมักจะทำให้เกิดต้นทุนทางธุรกิจที่สูงขึ้น หากธุรกิจรู้ว่ากิจกรรมใดที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินการได้อย่างตรงจุดและยังช่วยลดต้นทุนได้ไปในตัว
แต่ธุรกิจส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจในเรื่องของ Carbon Footprint ซึ่งปัจจุบันแบ่งออกเป็น Carbon Footprint ขององค์กร (CFO) และ Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์ (CFP) โดยธุรกิจสามารถดำเนินการประเมินเฉพาะด้าน Carbon Footprint ขององค์กร (CFO) ได้ง่ายๆ โดยแบ่งออกเป็น
- Scope 1: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง (Direct GHG Emissions) จากธุรกิจโดยตรง เช่น การเผาเชื้อเพลิงในโรงงานหรือการใช้ยานพาหนะขององค์กร
- Scope 2: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Indirect GHG Emissions from Energy Use) เช่น การใช้ไฟฟ้าหรือพลังงานที่ซื้อมาจากภายนอก
- Scope 3: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่นๆ (Other Indirect GHG Emissions) ที่มาจากกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์กร เช่น การขนส่งวัตถุดิบ การเดินทางของพนักงาน และการกำจัดของเสีย
ธุรกิจสามารถคำนวนเพื่อแปลงค่าต่างๆ ให้กลายเป็นค่าเทียบเท่าการปล่อยคาร์บอน โดยการจัดเก็บข้อมูล Carbon Footprint ขององค์กร (CFO) จะเน้นที่ Scope 1 และ Scope 2 เป็นหลัก ซึ่งธุรกิจส่วนใหญ่มีข้อมูลเหล่านั้นอยู่ในมือ ขณะที่การจัดเก็บข้อมูล Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์ (CFP) ซึ่งจะมีความเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนโดยเฉพาะกับ Supplier ซึ่งหลายธุรกิจอาจยังไม่มีความพร้อมด้านข้อมูล ดังนั้นธุรกิจจึงควรเน้นเก็บข้อมูล Carbon Footprint ขององค์กร (CFO) เป็นหลักก่อนเนื่องจากเก็บข้อมูลได้ง่ายกว่า
ลดการใช้ทรัพยากรแนวทางง่ายๆ ของธุรกิจ
หลังจากธุรกิจเข้าใจเรื่อง ESG และมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนพร้อมด้วยความรู้เรื่อง Carbon Footprint แล้ว ธุรกิจก็จะต้องเรียนรู้ “แนวทางการลดต้นทุนจากการดำเนินงานด้าน ESG” ซึ่งหลายธุรกิจมักจะกลัวการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมเพราะต้องมีการลงทุนจำนวนมาก แต่จริงๆ แล้วยังมีหลักการที่ง่ายกว่านั้นก่อนที่จะทำการลงทุน หลายธุรกิจมักจะเรียกว่า Lean หรือการลดการดำเนินการที่ไม่จำเป็น โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจ รวมไปถึงการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งเป็นวิธีง่ายๆ ที่ธุรกิจสามารถทำได้ง่าย และลงทุนน้อย
ธุรกิจสามารถหาวิธีการจัดการเพื่อใม่ให้เกิดความสูญเปล่าในทุกกระบวนการ และต้องมีการตรวจสอบและปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด โดยสามารถแบ่งความสูญเปล่าของธุรกิจออกได้ 7 กลุ่ม
- กิจกรรมทางธุรกิจที่ไม่จำเป็น
- การเสียเวลารอคอย
- กระบวนการที่ทำให้ได้ผลลัพธ์น้อยกว่าที่ควรได้
- ความผิดพลาดจากการดำเนินงาน
- การผลิตที่มากเกินจากแผนที่วางไว้
- กระบวนการจัดเก็บที่นานเกินความจำเป็น
- กระบวนการขนส่ง
จะเห็นได้ว่าทั้ง 7 กลุ่มล้วนแต่ทำให้ธุรกิจต้องดำเนินการที่มากขึ้นและใช้ทรัพยากรที่มากขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน และยังอาจก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกขึ้นอีกได้
Supply Chain ความสำคัญของธุรกิจที่ห้ามลืม
หลังผ่านการเรียนรู้ทั้งหมดมา ได้เวลาที่ธุรกิจ “เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง” ของธุรกิจที่ได้ดำเนินการด้าน ESG โดยเฉพาะในส่วนของ Supply Chain ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม ทำให้ธุรกิจจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความสำคัญกับ Supply Chain ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคหรือสังคม โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่โดยรอบของธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งในหลักสูตร Krungsri ESG Academy 2024 ได้แนะนำหลักการ 3S ที่จะเป็นแนวทางการบริหาร Supply Chain
- Signal : ธุรกิจต้องทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตลาด รวมไปถึงเทรนด์ต่างๆ ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค และเทคโนโลยีที่เข้ามา Disrupt ทั้งผู้บริโภคและธุรกิจ
- Supply Chain : ธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภค
- Strategy : ธุรกิจต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างไปจากอดีตที่ผ่านมา โดยธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับ Data เพื่อนำมาวิเคราะห์และหาโอกาส
นอกจากนี้ในหลักสูตร Krungsri ESG Academy 2024 ยังได้พาผู้ประกอบการที่เข้าร่วมหลักสูตรเยี่ยมชมธุรกิจตัวอย่าง บริษัท Practika ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่มีการจัดการด้าน ESG เพื่อนำไปใช้เป็นกรณีศึกษา อาทิ ระบบดักจับฝุ่นที่ช่วยลดความเสี่ยงด้านสุขภาพแก่พนักงาน พร้อมทั้งนำฝุ่นที่ดักจับได้ไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ธูป สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ และการติดตั้งโซลาร์เซลล์ช่วยลดต้นทุนการใช้พลังงานลง ช่วยให้ธุรกิจที่เข้าร่วมหลักสูตรฝึกอบรมสามารถนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินงานด้าน ESG รวมถึงยังช่วยให้รับทราบถึงความท้าทายที่จะเกิดขึ้น
ต่อยอดสู่แผน Transition Plan ของธุรกิจ
มาถึงตอนนี้ ธุรกิจเรียนรู้และเข้าใจเรื่อง ESG ในการฝึกอบรมหลักสูตร Krungsri ESG Academy 2024 ได้เวลาที่ธุรกิจจะต้อง “นำเสนอ Transition Plan ของธุรกิจตัวเอง” เพื่อประเมินผลการฝึกอบรมถึงความเข้าใจของธุรกิจและการปรับนำไปใช้ในธุรกิจที่เข้าร่วมหลักสูตรฝึกอบรมครั้งนี้ ซึ่งแต่ละธุรกิจได้หยิบโครงการต่างๆ ขึ้นมานำเสนอ ทั้งโครงการที่ได้ดำเนินการแล้วและมีผลการดำเนินการมานำเสนอ รวมถึงแผนการดำเนินโครงการใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากผู้เข้าร่วมฝึกอบรม โดยกล่าวถึงความสำคัญของการฝึกอบรมในครั้งนี้อย่าง คุณพีระศิลป์ ตั้งกิจงามวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลายวิจิตร จำกัด ผู้ผลิตงานบันไดสำเร็จรูปภายในบ้าน ที่เห็นว่าหลักสูตรนี้ช่วยให้ธุรกิจได้รับข้อมูลที่ยังไม่เคยทราบมาก่อน โดยเฉพาะเรื่องของ CFO และ CFP ที่กำลังดำเนินการ รวมถึงยังได้รับทราบการประเมิน Transition Plan ซึ่งช่วยให้เกิดความมั่นใจในการดำเนินการ และยังได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงศรีอีกด้วย
ขณะที่ คุณพิมพ์พจี ศิริลักษณ์ CEO บริษัท ไทยรุ่งเรืองโฟม จำกัด ผู้ผลิต Packaging มองว่า การอบรมครั้งนี้ช่วยให้เห็นภาพรวมขององค์กรเพื่อให้เกิดความยั่งยืน และยังได้องค์ความรู้ที่จะนำไปต่อยอดธุรกิจได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง และช่วยให้สามารถขยายธุรกิจไปสู่ประเทศอื่นๆ ภายใต้เงื่อนไขการค้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมได้
นอกจากนี้ คุณวิภู สุปัญญาพินิจ ESG and Corporate Affairs Manager บริษัท เก้ามงคล กรุ๊ป จำกัด ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์แนวราบ จากการอบรมครั้งนี้ ทำให้รู้ว่าธุรกิจยังขาดอะไรและต้องดำเนินการอะไรบ้าง และยังช่วยให้สามารถดำเนินการด้าน Carbon Footprint ได้อย่างถูกต้องและมีมาตรฐาน ต่อยอดสู่การทำธุรกิจให้เติบโตภายใต้ ESG อย่างไรก็ตามมองว่า ทุกธุรกิจยังไงก็ต้องทำเรื่อง ESG ยิ่งช้าจะยิ่งทำให้ต้นทุนสูงมากกว่าที่เริ่มต้นทำในวันนี้
และ คุณสิริฉัตร เสริมสุขสกุลชัย Vice President บริษัท แสงชัยมิเตอร์ จำกัด ผู้นำเข้าเครื่องมือวัดในอุตสาหกรรม มองว่า Carbon Footprint เป็นเรื่องสำคัญที่ธุรกิจต้องทราบ ซึ่งมีรายละเอียดมากช่วยให้ธุรกิจสามารถเตรียมตัวได้ โดยเฉพาะในเรื่องการดำเนินการอย่างโปร่งใสที่ช่วยให้เห็นวิธีการดำเนินการที่ถูกต้อง ธุรกิจที่เริ่มต้นด้าน ESG ก่อนจะยิ่งได้เปรียบ
จบหลักสูตรพร้อมต่อยอดธุรกิจอย่างยั่งยืน
หลังจบหลักสูตรอบรม Krungsri ESG Academy 2024 โดยธุรกิจที่เข้าร่วมอบรม นอกจากจะได้เรียนรู้และสร้างความเข้าใจด้านความยั่งยืนในรูปแบบ ESG แล้ว ทุกธุรกิจยังได้รับ Transition Plan ที่ผ่านการพิจารณาโดยผู้เชี่ยวชาญในด้านความยั่งยืน ซึ่งจะช่วยให้ Transition Plan ที่ได้รับสามารถนำไปปรับใช้ได้จริงกับทุกธุรกิจที่เข้าร่วมอบรม และเป็นต้นแบบให้กับธุรกิจอื่นที่สนใจ
ถือเป็นการจบหลักสูตรอบรมที่สมบูรณ์ โดยธุรกิจที่เข้าร่วมอบรมทั้ง 37 บริษัท จะได้รับประกาศนียบัตรทุกบริษัทเพื่อแสดงว่าให้เห็นว่า ธุรกิจเหล่านี้ได้ผ่านหลักสูตรอบรมที่จะจะสามารถนำความรู้ที่ได้มาปรับใช้เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจของตัวเอง
และปิดท้ายด้วยการขึ้นกล่าวของ คุณดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) โดยเน้นย้ำว่า ธุรกิจที่ได้อบรมหลักสูตร Krungsri ESG Academy 2024 จะกลายเป็นต้นแบบให้ธุรกิจ SME อีกหลายองค์กร ในการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืนและยังได้มีส่วนร่วมในการสร้างการตระหนักรู้ถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
เรียกว่าเป็นหลักสูตรฝึกอบรมที่มีประโยชน์อย่างมากต่อการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบัน รวมไปถึงการวางแผนดำเนินงานในอนาคต ซึ่งความสำคัญด้าน ESG จะเพิ่มขึ้นตามสภาวะโลกที่เปลี่ยนไป และแน่นอนว่าธุรกิจย่อมหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบนี้ไม่ได้ หรือหากหลีกเลี่ยงได้ก็ต้องเจอกับมาตรการต่างๆ ที่ทำให้ธุรกิจต้องให้ความสำคัญด้าน ESG อยู่ดี ดังนั้นเริ่มต้นวันนี้ก่อนที่คู่แข่งจะดำเนินการไปก่อน และกว่าจะรู้ตัวอีกทีก็อาจตกขบวนไปเรียบร้อยแล้ว