ปรากฏการณ์ “หมูเด้ง” ทำไมจึงไวรัลทั้งไทยและต่างประเทศ เบื้องหลังจิตวิทยาความคลั่งไคล้ “คาวาอี้ มาร์เก็ตติ้ง” ทำไมเราโดนตกกันง่ายจัง

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

 

นาทีนี้คงไม่มีใครดังไปกว่า “น้องหมูเด้ง” ฮิปโปแคระสุดฮอต ณ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี อีกแล้ว ความโด่งดังของ “น้องหมูเด้ง” ที่ตกหัวใจของใครหลายคน ซึ่งไม่เฉพาะแค่คนไทย แต่ยังไปไกลถึงในต่างประเทศ และถูกสร้างให้เป็น Real-time Marketing รวมถึง Meme #PetViral ต่างๆ มากมาย เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์น่าสนใจที่เราต้องหยิบเอามาวิเคราะห์ รวมถึงเบื้องหลังทางจิตวิทยาที่อาจนำมาสร้างเป็นโอกาสทางการตลาดได้ด้วย อยากชวนให้ติดตามไปพร้อมกันค่ะ

 

“หมูเด้ง” ดังตั้งแต่แรกเกิด แฟนคลับไทยแห่ตั้งชื่อ

“น้องหมูเด้ง” เป็นลูกฮิปโปแคระ” เพศเมีย อายุ 2 เดือน ที่ จากสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จังหวัดชลบุรี เกิดมาในครอบครัวฮิปโปที่ดาราโซเชียลอยู่แล้ว ไม่ต่างจากครอบครัว The Kardashian เลย โดยชื่อหมูเด้งที่ได้มานั่น เกิดจากการโหวตผ่านผู้คนมากกว่า 20,000 ชื่อบนโลกโซเชียลฯ ซึ่งชื่อที่เข้าชิง อาทิ หมูแดง หมูสับ ก็มี หลังเกิดมาด้วยความเป็นแฟมิลี่เซเล็บ ทำให้มีช่องเป็นของตัวเองบนโซเชียลมีเดียในชื่อ “ขาหมู แอนด์เดอะแก๊ง” ที่มีผู้ติดตามกว่า 2.4 ล้านคน ซึ่งหลังการเผยแพร่คลิปและภาพความน่ารักและซุกซนออกไป ไม่ว่าจะเป็น การเล่นน้ำ การงับขาเจ้าหน้าที่ ความขี้เหวี่ยงขี้โวยวาย แต่ยังตะมุตะมิ ทำให้ชาวเน็ตเอ็นดูและรักใคร่แบบเอาตัวขึ้นจากหลุม (รัก) ไม่ได้เลย ทำให้ภาพและคลิปต่างๆ ของน้องกลายเป็นไวรัลอย่างรวดเร็ว

จนนำไปสู่การสร้าง  Real-time Marketing และ Meme ต่างๆ มากมาย โดยสร้างยอด engagement ให้กับเพจและแบรนด์ต่างๆ ยิ่งทำให้การสร้างคอนเทนต์ผ่านเรื่องราวของหมูเด้งเป็นที่นิยมมากขึ้นไปอีก

 

ความนิยมไปไกลถึงต่างประเทศ แม้แต่ TIME ก็นำเสนอข่าว

กระแสความนิยมในประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งด้วยพลังชาวเน็ตไทยที่มีพลานุภาพมากอยู่แล้ว ยิ่งโหมกระพือให้ความนิยมของ “น้องหมูเด้ง” ไปไกลถึงต่างประเทศ เริ่มมีชาวเน็ตทั้งจากจีน เกาหลี โดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเจ้าอาณาจักรแห่งความคิขุ สนใจต้าวฮิปโปแคระไทยอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ “หมูเด้ง” ได้กลายไปเป็นทั้งคอนเทนต์ มีม มากมายในโลกอินเตอร์เน็ตของต่างประเทศ ซึ่งดังถึงขนาดที่ว่าแฮชแท็ก #หมูเด้ง ซึ่งเป็นภาษาไทย ไม่ใช่ภาษาสากลที่หลายประเทศใช้ ก็ถูกนำมาติดบนคอนเทนต์ด้วย ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์น่าทึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่การติดแฮชแท็กตามประเทศของเจ้าตัวนั้นจะเกิดกับคนดัง เซเล็บฯ หรือศิลปินเอเชียที่ได้รับความนิยมากๆ เช่น #ลิซ่า #ลลิษามโนบาล #肖战;  (เซียว จ้าน) ที่คนต่างประเทศนำไปใช้ด้วย

 

 

ล่าสุด ยังตกเป็นข่าวนิตยสาร Time โดยพาดหัวเสียเก๋ไก๋ว่า She’s an Icon, She’s a Legend, and She Is the Moment. Meet Viral Baby Hippo Moo Deng’  ซึ่งเขียนในแง่มุมของความนิยมในอินเตอร์เน็ตทั้งฝั่งยุโรปและเอเชีย

ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า “น้องหมูเด้ง” ไทยนั้นไปไกลในระดับโลกแล้วจริงๆ แล้วอะไรที่ทำให้คนทั้งโลกโดนน้องตกได้ขนาดนี้

 

เบื้องหลังจิตวิทยา ‘ทำไมคนถึงคลั่งไคล้ของน่ารัก’

มีงานวิจัยโดยโปรเฟสเซอร์อ๊อกซฟอร์ด สามารถตอบคำถามนี้ได้ดีว่า ทำไมผู้คนถึงคลั่งไคล้ หรือตกหลุมรักบรรดาสิ่งของน่ารัก คาวาอี้ ได้อย่างง่ายดาย การศึกษาโดย Morten L. Kringelbach รองศาสตราจารย์และนักวิจัยอาวุโสด้านประสาทวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ซึ่งกล่าวถึงการที่ผู้คนคลั่นไคล้ในสิ่งน่ารัก ไม่ว่าจะเป็นคลิปน้องหมา น้องแมว คลิปสัตว์ บาร์บี้ ฯลฯ เบื้องหลังเป็นเพราะสมองของเราถูกกระตุ้นให้ขับเคลื่อนพฤติกรรมออกมา

ทั้งนี้ จากการศึกษาในมุมจิตทยาระบุว่า เป็นเพราะ ‘ความน่ารัก’ มีส่วนช่วยให้ทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น อำนวยความสะดวกในแง่ความสัมพันธ์ทางสังคมที่ซับซ้อนให้ดีขึ้น โดยการกระตุ้นเครือข่ายสมองที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และความสุข และกระตุ้นความเห็นอกเห็นใจ เมื่อเราพบสิ่งที่น่ารัก มันจะจุดประกายหรือลิงก์ไปสู่การทํางานของสมองอย่างรวดเร็วในบริเวณต่างๆ เช่น เยื่อหุ้มสมองส่วนวงโคจร ซึ่งเชื่อมโยงกับอารมณ์และความสุขของมนุษย์

นอกจากนี้ ยังดึงดูดความสนใจของเราในลักษณะที่มีความลำเอียง หมายความว่ามนุษย์มักจะเลือกมองของน่ารักมากกว่าของที่ดูน่าเกลียดก่อนเสมอ ด้วยเหตุนี้เราจึงชอบดูทารกและของน่ารักอื่นๆ มากกว่าใบหน้าของผู้ใหญ่นั่นเอง รวมไปถึงอยากรับเลี้ยงหรือให้ของเล่นแก่ทารกที่มีใบหน้าน่ารักกว่าถ้าเทียบกับทารกอื่นๆ

การศึกษายังแสดงให้เห็นว่าแม้แต่ทารกและเด็กก็ยังชอบใบหน้าเด็กน่ารัก และความน่ารักนั้นส่งผลกระทบต่อทั้งชายและหญิงแม้ว่าพวกเขาจะไม่ใช่พ่อแม่ก็ตาม ทารกน่ารักยังกระตุ้นให้เราลงมือทํา โดยการวิจัยเผยให้เห็นว่าผู้คนจะใช้ความพยายามเป็นพิเศษในการมองหน้าทารกที่น่ารักให้นานขึ้น

ความน่ารักทำให้ด่วนตัดสินใจได้ง่าย

การวิจัยด้านประสาทแสดงให้เห็นว่าในผู้ใหญ่ Orbitofrontal cortex (สมองกลีบหน้าผากที่อยู่ทางด้านล่างของสมอง และรับข้อมูลจากประสาทสัมผัสต่างๆ ช่วยในการตัดสินใจลงมือทำ และเกี่ยวข้องอย่างมากกับระบบการได้รับรางวัล) จะทํางานเร็วมาก สูงถึง 140ms หรือ 1 ใน 7 ของวินาที เช่น หลังจากเห็นหน้าทารกเปลือกสมองส่วนหน้ามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมากในการประสานอารมณ์และความสุขของเรา ดังนั้น กิจกรรมที่รวดเร็วของมันอาจอธิบายได้บางส่วนว่าทารกจู่โจมความสนใจของเราอย่างรวดเร็วและสมบูรณ์ได้อย่างไร

 

ดังนั้น ในมุมของนักการตลาดหรือแบรนด์ การทำธุรกิจโดยมีจุดขายคือความน่ารัก จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภค ซึ่งเราเห็นได้ชัดเจนจากการออกแบบตั้งแต่ แพ็กเกจจิ้ง ดีไซน์ลวดลายของสินค้า หรือแม้แต่ลากมาตั้งแต่ทางเข้าหน้าร้านหรือช็อป การใช้สิ่งที่น่ารัก สวยงาม จึงสามารถกระตุ้นสมองให้เกิดความสนใจ หลงรัก รวมไปถึงการตัดสินใจซื้ออย่างรวดเร็วแบบง่ายๆ เหมือนกับศัพท์ไวรัลที่ใช้ว่า #โดนตก นั่นแหละ โดยเบื้องหลังจิตวทยานี้ น่าจะเป็นคำตอบได้ให้กับความคลั่งไคล้ตั้งแต่ “น้องหมีเนย” แบรนด์ Butterbear หรือแม้แต่ “Labubu” และอาร์ททอยคอลเลคชั่นต่างๆ อีกด้วย

 

แล้ววันนี้คุณ #โดนตก ด้วยอะไรไปบ้างล่ะ

 

ข้อมูล


  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!