การโหมประชาสัมพันธ์กระหึ่มไปทั่วทั้งเอเชียว่าจะยึดโซนแถบอาเซียนและเอเชียของสายการบิน Cathay Pacific เริ่มปลุกกระแสการแข่งขัน โดยเฉพาะการลดราคาตั๋วลงถึง 50% ในช่วงเวลาแบบนี้ เนื่องจาก Cathay มองเห็นความจำเป็นที่จะต้องรักษาฐานที่มั่นทางการตลาดไว้อย่างเหนียวแน่นที่สุด
คู่แข่งขันอย่าง Air Asia วางตำแหน่งทางการตลาดในราคาถูกที่สุดในประวัติศาสตร์ หรือต่ำกว่าราคาตลาดที่สายการบินนานาชาติบินกันอยู่ และด้วยโครงสร้างราคาตลาดที่วางไว้ถึง 11 ราคาของแอร์เอเชีย ซึ่งจะมีราคา สูง-ต่ำแตกต่างกันประมาณ 5-10% ขึ้นอยู่กับใครจองก่อน ขณะเดียวกันก็เน้นตัวโปรดักส์ในเครื่องบิน เก้าอี้สบาย มีเทคโนโลยีสมัยใหม่
ด้วยจุดขายนี้เองส่งผลให้ผลประกอบการของ “Air Asia”เติบโตแบบดีวันดีคืนสามารถสร้างเม็ดเงินกำไรเข้าสู่บริษัทได้เป็นอย่างกอบเป็นกำ จนทำให้คู่แข่งขันในวงการธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำเกิดการขยายตัวเปิดให้บริการกันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางบินระหว่างประเทศที่นับวันจะมีการขยายตัวและแข่งขันกันมากขึ้น
Air Asia มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ออกมาอย่างต่อเนื่องเพราะเป็นสายการบินที่มีค่าโดยสารราคาประหยัดรายแรกของโลก โดยเฉพาะการเปิดบริการเส้นทางบินระหว่างประเทศทั้งในระยะใกล้และไกลเพียงเพื่อหวังกินรวบตลาดทั้งหมดให้มาอยู่ในมือมากที่สุดนั่นเอง
สอดคล้องกับสายการบิน Jet Star ที่เดินหน้าขยายบริการเส้นทางบินระหว่างประเทศ หวังตอบรับความสำเร็จจากการเปิดให้บริการในเส้นทางบินระหว่างประเทศระยะไกลในปีแรก ด้วยการเปิดแคมเปญคืนเงินส่วนต่าง 2 เท่าหากมีสายการบินอื่นเปิดจองที่นั่งบนเว็บไซต์ในราคาที่ต่ำกว่าที่สำคัญสายการบินเจ็ตสตาร์มีการเติบโตมากกว่า 3 เท่าหลังจากเริ่มเปิดดำเนินการด้วยการเป็นสายการบินภายในประเทศออสเตรเลียเมื่อ 3 ปีก่อน และคาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีกเกือบ 10 เท่าในปี 2553/2554 และในปีงบประมาณ 2550 ที่ผ่านมา เจ็ตสตาร์ให้บริการรับส่งผู้โดยสารไปแล้วรวมทั้งสิ้นกว่า 7.6 ล้านคน
แม้แต่ตลาดจีนก็ไม่อาจมองข้ามแถมยังเป็นฐานตลาดขนาดใหญ่ที่เดินทางไปทั่วโลกของสายการบินคาเธ่ย์ด้วยเช่นกัน ล่าสุด แอร์เอเชียมีแผนพร้อมจะเปิดเพิ่มเส้นทาง หางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน หวังเชื่อมเครือข่ายตลาด แอร์เอเชียเพื่อหวังจะเจาะเข้าสู่ออสเตรเลีย ว่ากันว่านี่คือการวางตำแหน่งทางการตลาดของ แอร์เอเชีย เพื่อให้เป็นสายการบินต้นทุนต่ำอย่างแท้จริง เปิดให้บริการบินระยะใกล้หรือไกลเป็นรายแรก ขณะที่เดียวกันก็ใช้ อิมเมจของ เวอร์จิ้น บลู ช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงของแอร์เอเชีย ในตลาดโลก รวมทั้งการเชื่อมสัมพันธ์กับสนามบินนานาชาติ
จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่สายการบิน คาเธ่ย์ แปซิฟิก ที่มีฐานลูกค้าส่วนใหญ่ที่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวชาวจีนต้องออกมาเปิดเกมรุกทางการตลาดด้วยการสร้างสงครามดัมพ์ราคาค่าโดยสารชนิดที่ถูกที่สุดในรอบหลายปีสั่นสะเทือนวงการธุรกิจการบิน
โมเดลการตลาดที่แยบยลเต็มไปด้วยสงครามหั่นราคาตั๋วโดยสารสำหรับเส้นทางระยะไกลข้ามทวีปแบบนี้ กอปรกับแนวคิดที่จะหาวิธีช่วงชิงลูกค้าให้เข้าไปใช้บริการให้มากที่สุดจึงต้องจับตาดูว่า ระหว่างโลว์คอสแอร์ไลน์อย่าง แอร์เอเชีย กับสายการบินยักษใหญ่อย่าง คาเธ่ย์ แปซิฟิก ทั้งสองแห่งพร้อมที่จะเติมดีกรีเพิ่มความร้อนแรงในสนามแข่งขันทางธุรกิจการบินเพื่อหวังจะสร้างตัวเองให้เป็นผู้นำมากกว่าผู้ตาม!..ได้หรือไม่?…ต้องติดตาม
Source: ผู้จัดการรายเดือน