เจาะกลยุทธ์ ESG “ไปรษณีย์ไทย” วัดผลได้-พลิกฟื้นธุรกิจ ก้าวสู่ Information Logistics เป็นมากกว่าส่งจดหมาย-พัสดุ

  • 7
  •  
  •  
  •  
  •  

Thailand Post-ESG+E

ESG (Environment – Social – Governance) ไม่ใช่เป็นเพียง buzzword และกิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์แบรนด์ ที่ไม่ได้ก่อให้เกิดการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง หรือที่เรียกว่า Green Washing หากแต่ต้องเป็นวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์การดำเนินงานที่อยู่ในทุกกระบวนการทางธุรกิจ มีการวัดผลอย่างต่อเนื่อง กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ที่สำคัญต้องตอบโจทย์ Bottom Line ธุรกิจในด้านผลกำไร และไม่ได้เป็นแค่โปรเจคแล้วจบไป แต่ต้องเป็น Journey ระยะยาว

หนึ่งในองค์กรไทยที่เอาจริงกับ ESG เชื่อว่าเมื่อเอ่ยชื่อแล้ว คนไทยทุกคนรู้จักและใช้บริการอยู่แล้ว นั่นคือ “ไปรษณีย์ไทย” ที่มีบริการส่งจดหมายและพัสดุต่างๆ ทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ เป็น Core Business มาตลอดระยะเวลา 141 ปี ได้ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ สู่การเป็นองค์กรสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านเครือข่ายไปรษณีย์ – Delivering Sustainable Growth through Postal Network โดยวางกรอบการดำเนินงานที่จะเป็นผู้ให้บริการขนส่งและสื่อสารที่ขับเคลื่อนระบบงานต่างๆ ด้วยหลัก ESG + E ประกอบด้วย Environment, Social, Governance และ Economy นั่นคือ ต้องสะท้อนสู่การสร้าง “ผลกำไร” ให้กับธุรกิจ

Thailand Post

 

พลิกขาดทุนเป็นกำไร – ตั้งเป้าปี 2567 รายได้ 22,802 ล้านบาท กำไร 350 ล้านบาท

เป็นที่ทราบกันดีว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด” เผชิญกับความท้าทาย โดยเฉพาะด้านการแข่งขันธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์อย่างรุนแรง จากผู้เล่นต่างๆ ที่เปิดสงครามราคา ส่งผลให้รายได้และกำไรลดลงเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ตกอยู่ในสภาวะขาดทุน! (ข้อมูลผลการดำเนินงาน ปี 2561-2565 จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า)

– ปี 2561: รายได้รวม 29,298 ล้านบาท / กำไรสุทธิ 3,809 ล้านบาท

– ปี 2562: รายได้รวม 27,162 ล้านบาท / กำไรสุทธิ 589 ล้านบาท

– ปี 2563: รายได้รวม 23,712 ล้านบาท / กำไรสุทธิ 238 ล้านบาท

– ปี 2564 รายได้รวม 21,226 ล้านบาท / ขาดทุนสุทธิ 1,730 ล้านบาท

– ปี 2565 รายได้รวม 19,546 ล้านบาท / ขาดทุนสุทธิ 3,018 ล้านบาท

หลังอยู่ในสภาวะขาดทุนมา 2 ปี ผลจากการพยายามรักษา “จุดแข็ง” ของตนเองในด้าน Network ครอบคลุมทั่วประเทศ และบุรุษไปรษณีย์ หรือพี่ไปรฯ ที่รู้จักพื้นที่ และคุ้นเคยกับคนในชุมชน พร้อมทั้งปรับปรุงบริการ และบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ ทำให้ “ไปรษณีย์ไทย” สามารถพลิกฟื้นธุรกิจ กลับมากำไรได้อีกครั้งในปี 2566

– ปี 2566 รายได้รวม 20,934 ล้านบาท / กำไรสุทธิ 78.54 ล้านบาท เติบโตสูงขึ้น 7.40%

– ปี 2567 ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 22,802 ล้านบาท และคาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 350 ล้านบาท

การเติบโตของไปรษณีย์ไทยมาจากกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจบนความยั่งยืน ESG + E นำมาใช้ขับเคลื่อนธุรกิจหลัก ไม่ว่าจะเป็นบริการไปรษณีย์ บริการขนส่งและโลจิสติกส์ ค้าปลีก ตลอดจนการพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ที่จะช่วยเพิ่มรายได้ใหม่ที่ยั่งยืนอย่างการเป็น Information Logistics

Thailand Post

 

Environment: ปรับทัพขนส่งเป็น EV 100% ในปี 2583 – ตั้งเป้า Net Zero ปี 2593

ด้วยความที่ Core Business ของไปรษณีย์ไทย คือ ธุรกิจโลจิสติกส์ ให้บริการขนส่งจดหมายและพัสดุต่างๆ แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือ ต้นทุนขนส่งและการปล่อยก๊าซคาร์บอนในกระบวนการทางธุรกิจ

ด้วยเหตุนี้เองในด้าน Environment ได้กำหนดเป้าหมายใหญ่ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2573 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 ขณะที่ปีนี้ เชื่อว่าจะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงมาได้ 2% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งกลยุทธ์ไปถึงเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว ประกอบด้วย

1. นำยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มาใช้ในระบบงานไปรษณีย์

– ปี 2567 เริ่มนำรถยนต์ไฟฟ้า จำนวน 250 คันแรก และจักรยานยนต์พี่ไปรฯ 200 คันแรก

– ตั้งเป้าปรับเปลี่ยนเป็น EV ให้ได้ 85% ภายในปี 2573 และครบทั้ง 100% ภายในปี 2583

2. ใช้พลังงานทางเลือก

– ตั้งเป้าติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ มากกว่า 60% ภายในปี 2573

– ศึกษาพลังงานทางเลือกเชื้อเพลิงไฮโดรเจน มาใช้กับระบบขนส่งเพิ่มเติม

3. ปรับเส้นทางการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ

Thailand Post EV

4. ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพราะยิ่งทำระบบหมุนเวียนมากเท่าไร ก็จะลดคาร์บอนได้มากขึ้น ผ่านโครงการต่างๆ เช่น

reBOX เอากล่อง/ซองที่เกิดจากการธุรกิจอีคอมเมิร์ซ นำกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิล เพื่อผลิตเป็นของใช้ต่างๆ เช่น โต๊ะ-เก้าอี้นักเรียน, ชั้นหนังสือ, reBAG

– reBAG จัดเก็บถุงพลาสติก ส่งกลับมาที่ระบบไปรษณีย์ไทย เพื่อรีไซเคิลเป็นซองพลาสติก

– ผลการดำเนินงาน รวบรวมกล่อง/ซอง เข้าสู่การรีไซเคิล มากกว่า 600 ตัน (ตั้งแต่ปี 2563 – ปัจจุบัน) และลดก๊าซเรือนกระจก มากกว่า 3,500 ตันคาร์บอนเทียบเท่า

จากการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม กลับมาตอบโจทย์ด้าน Economy ทั้งการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายๆ ต่างในองค์กร

– ลดค่าน้ำมันด้านจ่ายลง 18% เมื่อเทียบกับปีก่อน

– ลดค่าใช้จ่ายขนส่งถุงลง 15% เทียบกับปีก่อน

– ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการปรับระบบภายใน จาก Physical ให้เป็น Digital มากขึ้น มากกว่า 400 ตันคาร์บอนเทียบเท่า

Thailand Post EV

 

Social: ทำราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้ – ครอบคลุมพื้นที่ห่างไกล 2.1 ล้านครัวเรือน 

ความยั่งยืนด้านสังคมของไปรษณีย์ไทย ประกอบด้วย 3 ด้านคือ

1. ให้บริการเพื่อสังคม คนไทยเข้าถึงการสื่อสารขั้นพื้นฐาน การส่งจดหมายและพัสดุเป็นบริการพื้นฐานของบริการทางสังคมของไปรษณีย์ไทย จึงต้องทำให้ทุกคนในประเทศไทย เข้าถึงบริการได้อย่างเท่าเทียม ด้วย Network ของไปรษณีย์ไทย ในราคาที่เข้าถึงได้ ผลการดำเนินงานในด้านนี้คือ

– ไปรษณีย์ไทยได้ subsidize ต้นทุน เพื่อทำราคาจัดส่งให้เข้าถึงได้ง่าย เฉลี่ย 1,900 ล้านบาทต่อปี

– จำนวนจดหมาย นำส่งไม่น้อยกว่า 800 ล้านฉลับต่อปี

– เข้าถึงครัวเรือนในพื้นที่ห่างไกล กว่า 2.1 ล้านหลังคาเรือน

2. สร้างชุมชนที่ยั่งยืน ด้วยโครงการ “ไปรษณีย์เชื่อมสุข” มุ่งสร้างงาน สร้างอาชีพ และเชื่อมโยงไปยังชุมชนต่างๆ ผลการดำเนินงานด้านนี้คือ

– ขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กลุ่มเกษตรกร กลุ่ม SME และกลุ่มเปราะบางทางสังคมผ่านแพลตฟอร์ม ThailandPostMan

– สนับสนุนการกระจายผลผลิตทางการเกษตร 18 ล้านกิโลกรัมในครึ่งปีแรก 2567

Thailand Post

3. พัฒนาศักยภาพบุคลากร ยกระดับมูลค่างานให้กับพี่ไปรฯ เพื่อทำให้พี่ไปรฯ ได้ผลตอบแทนมากขึ้น

การดำเนินการด้านสังคม ตอบโจทย์ด้าน Economy ทั้งการเพิ่มรายได้ และการจ้างงาน

– สร้างรายได้จากการขายสินค้าชุมชน กว่า 600 ล้านบาทต่อปี

– ส่งเสริมรายได้พี่ไปรฯ จากธุรกิจใหม่ของไปรษณีย์ไทย มากกว่า 2.2 ล้านบาท

– ส่งเสริมการจ้างงานผ่านไปรษณีย์อนุญาตในชุมชน เนื่องจากแนวคิดไปรษณีย์ไทย ต้องเข้าถึงทุกพื้นที่ทั่วประเทศ​ ดังนั้นในพื้นที่ห่างไกล ได้ใช้วิธีจ้างคนในชุมชน เป็นตัวแทนไปรษณีย์ไทย ซึ่งเรียกว่าไปรษณีย์อนุญาต โดยไปรษณีย์ไทยได้จ่ายเงินค่าจ้างให้กับไปรษณีย์อนุญาต ไม่ต่ำกว่ากว่า 741 ล้านบาทต่อปี

Thailand Post

 

Governance: เน้นความโปร่งใส – ปกป้องข้อมูลลูกค้า

ให้ความสำคัญกับการรักษา ปกป้อง และใช้ข้อมูลอย่างมีธรรมาภิบาล เปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานอย่างโปร่งใสทุกขั้นตอน พร้อมมุ่งเน้นการสร้างรายได้จากนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ สนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่องค์กร และพัฒนาธุรกิจเพื่อสนับสนุนการดำรงชีวิตในสังคมยุคดิจิทัล

การดำเนินการด้านสังคม ตอบโจทย์ด้านการบริหารจัดการข้อมูล ระบบ CRM

– ลูกค้ากลับมาใช้บริการ มากกว่า 1 ล้านราย ตั้งแต่ปี 2565

– คิดเป็นรายได้มากกว่า 300 ล้านบาท จากการสร้างประสบการณ์ลูกค้าที่ดีขึ้น

Thailand Post
ผลการดำเนินการกลยุทธ์ ESG + E

 

ก้าวสู่ “Information Logisticsใช้ “D/ID” รหัสดิจิทัล 6 หลัก แทนจ่าหน้าซอง/กล่อง

นอกจากกลยุทธ์ ESG แล้ว ไปรษณีย์ไทยมุ่งที่จะขยายจากเดิม Physical Logistics ก้าวสู่การเป็น Information Logisticประกอบด้วย

1. บริการ Prompt Post บริหารจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ครบวงจร ตอบโจทย์ความต้องการยุคดิจิทัล โดยมี 4 บริการหลัก คือ

– Trust Service การรับรองและลงลายมือชื่อบนเอกสารดิจิทัลด้วยใบรับรองดิจิทัลและกุญแจส่วนบุคคล

– Digital Postbox การจัดเก็บเอกสารสำคัญได้อย่างรวดเร็วและมีความน่าเชื่อถือ

– One-stop service การสนับสนุนการให้บริการของภาครัฐและภาคเอกชนผ่านช่องทางดิจิทัล ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

– Prompt pass บริการจัดเก็บเอกสารสำคัญส่วนบุคคล เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งข้อมูลระหว่างประชาชนกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

Thailand Post

2. บริการ Postman Cloud ใช้ความเชี่ยวชาญของบุรุษไปรษณีย์ที่มีกว่า 25,000 คนทั่วประเทศ ให้บริการในรูปแบบ Postman as a Service เช่น

– Survey บริการเก็บข้อมูลและสำรวจทรัพย์

– Express บริการ รับ-ส่ง สิ่งของ แบบ Point to Point ตามความต้องการของลูกค้า/พันธมิตร

– Matching บริการเชื่อโยง Demand และ Supply

Thailand Post

Thailand Post

3. บริการ D/ID (ดีไอดี) ซึ่งเป็น Digital Post ID ส่วนบุคคล ในรูปแบบรหัส 6 หลัก ใข้แทนชื่อบุคคลและตำแหน่งที่อยู่ จากเดิมผู้ส่งจดหมาย/พัสดุ ต้องจ่าหน้าซอง/กล่อง ใส่ข้อมูลผู้รับปลายทาง ทั้งชื่อบุคคล ที่อยู่ และรหัสไปรษณีย์ แต่ต่อไปใช้เพียงเลขรหัส 6 หลักเท่านั้น เพื่อปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลระหว่างการจัดส่งสิ่งของ

รหัส 6 หลัก D/ID ยังสามารถบอกพิกัดแนวดิ่งได้ ทำให้สามารถระบุที่อยู่สำหรับผู้ที่อยู่ในอาคารสูง เช่น คอนโดมิเนียม และเมื่อผู้ใช้งานมีการแก้ไขข้อมูลที่อยู่ในระบบ D/ID ข้อมูลที่อยู่ซึ่งเดิมไว้ใช้ติดต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ไปยังหน่วยงานปลายทางโดยอัตโนมัติ

Thailand Post

นอกจากธุรกิจใหม่ที่ไปรษณีย์พร้อมเดินหน้าแล้ว กลุ่มธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำรายได้หลัก ยังเน้นการรักษากลุ่มลูกค้าเดิมและมองหาลูกค้าใหม่

รวมทั้งการเข้าไปเป็นผู้ขนส่งให้กับแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น แพลตฟอร์ม Tiktok Shopee และ Lazada โดยบริการที่มีการเติบโตโดดเด่นสุดคือ บริการส่งด่วน EMS ในประเทศ ที่มีปริมาณสิ่งของฝากส่งเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ถึง 12.92% จากแรงบวกของการค้าออนไลน์ ค้าปลีก และความน่าเชื่อถือของบริการที่รวดเร็ว ปลอดภัย ตอบสนองรูปแบบการส่งได้หลากหลายประเภท  และยังเติบโตในด้านเครือข่ายจุดให้บริการที่มีถึง  50,000 แห่งทั่วประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงการเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญของภาคเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

141 ปีที่ผ่านมา ไปรษณีย์ไทยเริ่มจากการให้บริการพื้นฐานอย่างส่งจดหมาย จาก Human Touch วันนี้ไม่ใช่แค่ส่งจดหมาย เราปรับระบบโลจิสติกส์ให้สามารถส่งได้ทุกแบบ พร้อมทั้งเพิ่ม Digital Touch มากขึ้น เพื่อผสานระหว่าง Human touch และ Digital touch ในขณะที่พี่ไปรฯ เดิมทีเป็น Last mile delivery วันนี้เป็น First mile delivery ด้วยการ value added การให้บริการต่างๆ เพิ่มขึ้น

ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้แนวทาง ESG + E ที่ให้ความสำคัญทั้งสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาล ที่สะท้อนไปสู่การสร้างผลกำไรที่ยั่งยืน” ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด สรุปทิ้งท้าย

Thailand Post
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด

  • 7
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ