นอกจาก “พฤติกรรม” ของผู้คนจะเป็นสิ่งที่นักการตลาดและแบรนด์สนใจที่จะรู้เพื่อเอาชนะใจของผู้บริโภคให้ได้ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ “อารมณ์” ของคน เพราะสิ่งนี้เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แถมยังเปลี่ยนแปลงไปตลอดตามแต่ละช่วงเวลา ดังนั้นหากแบรนด์เข้าใจสิ่งนี้ก็จะสามารถสร้าง Connection กับผู้บริโภค สร้างความแตกต่างให้แบรนด์มีความโดดเด่นขึ้นได้
ล่าสุดมีการสำรวจทำความเข้าใจ “อารมณ์” ของผู้คนในสังคมออกมาแล้ว และไม่ใช่แค่ระดับภูมิภาคแต่เป็นการสำรวจอารมณ์ของคนใน “ระดับโลก” โดย แพลทฟอร์ม Amplify โดย TrendWatching รายงานผลการสำรวจ อารมณ์ที่ว่านี้จากรายงาน 2024 Global Emotions Report ที่สำรวจอารมณ์ผู้คนใน 22 ประเทศ จัดทำขึ้นโดย Gallup บริษัทวิเคราะห์และที่ปรึกษาระดับโลกซึ่งพบว่า คนวัยผู้ใหญ่ทั่วโลกสัดส่วน 1 ใน 5 มีความรู้สึก “เหงา” ตลอดช่วงหลายๆวันที่ผ่านมา
แน่นอนว่าทุกคนเคยรู้สึกเหงาแต่ผลสำรวจของ Gallup พบว่าคนวัยผู้ใหญ่ทั่วโลกสัดส่วน 23% มีความรู้สึก “เหงา” ตลอดช่วงเวลาหลายๆวันที่ผ่านมา และที่สำคัญก็คือ คนที่มีความเหงามีโอกาสที่จะกระตุ้นให้ความรู้สึกเชิงลบต่างๆเช่น ความเศร้า (+36%) , ความกังวล (+31%), ความเครียด (+30%), ความโกรธ (+26%) และความเจ็บปวดทางกาย (+20%) ให้เพิ่มขึ้นได้
หากเจาะไปดูในแต่ละประเทศเราจะพบว่า “ความเหงา” เป็นปัญหาระดับโลกก็ว่าได้เพราะเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย ในแต่ละประเทศก็มีสัดส่วนคนเหงามากน้อยต่างกันไปตั้งแต่ประเทศเกาะอย่างมาดากัสการ์ที่คนเหงาสัดส่วนมากถึง 40% หรือจะใกล้บ้านเรามาหน่อยอย่างฟิลิปปินส์ในสัดส่วน 33% ส่วนประเทศไทยมีคนเหงาสัดส่วน 16% ไปจนถึงประเทศทีคนไม่ค่อยเหงาอย่าง เวียดนาม ที่มีสัดส่วนคนเหงาแค่ 6%
นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบด้วยว่า คนในวัย 50+ มีโอกาสที่จะมีความเหงามากกว่าคนอายุน้อยราว 10% อย่างไรก็ตาม ในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน กลับเป็นประเทศที่คนในวัย 15-29 ปีที่เป็นกลุ่มที่รู้สึกเหงามากที่สุด
รายงานฉบับนี้ของ Gallup เรียกว่าเป็นอีกข้อมูลสนับสนุน ปัญหา “ความเหงาแพร่ระบาด” ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการในปี 2023 ที่ผ่านมาปัญหาที่คุณวิเวก เมอร์ตี ในตำแหน่ง US surgeon general ทำหน้าที่คล้ายปลัดกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐเคยออกมาบอกว่า ความเหงาเป็นปัญหาที่เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวันก็ว่าได้
ถามว่าปัญหาที่มีสาเหตุมาจากอะไร ก็ต้องบอกว่ามาจากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นการทำงานแบบ Remote Work หลังยุคโควิด ที่ทำให้เราทำงานได้โดยไม่ต้องมาเจอหน้ากัน ความวิตกกังวลที่จะใช้ชีวิตในสังคมที่เพิ่มมากขึ้น เทรนด์ Solo Living วิธีการใช้ชีวิตคนเดียวที่คนรุ่นใหม่และผู้สูงอายุนิยมมากขึ้นในยุคนี้
“ความเหงา” ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ยังเชื่อมโยงกับเทรนด์เทคโนโลยี AI ที่ทำให้เราได้เห็นได้เจอกับคอนเทนต์รวมไปถึงโฆษณาที่ AI สร้างขึ้นรอบตัวเราไปหมด นั่นทำให้ผู้คนเริ่ม “โหยหา” ความสัมพันธ์ที่มีความ Humanize มากยิ้งขึ้น และเริ่มออกจากแพลทฟอร์ม social media ขนาดใหญ่ไปหาพื้นที่ขนาดเล็กกว่าในแพลทฟอร์มหรือชุมชนอื่นๆมากขึ้นเรื่อยๆ
ถามว่าแบรนด์จะ “เล่น” กับเทรนด์ “ความเหงา” นี้อย่างไร? Amplify ยกตัวอย่างบริการใหม่ๆที่สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการนี้ของผู้คนได้เช่น
NoPlace – แอปพลิเคชั่นขวัญใจ Gen Z แอปโซเชียลน้องใหม่ที่คืนความเป็น”โซเชียล” สู่ “โซเชียลมีเดีย” แอปที่มีจุดเด่นในการเชื่อมโยงเอาคนที่มีความชอบเหมือนกันเข้าไว้ด้วยกันได้ แอปนี้เปิดโอกาสให้คนได้แชร์สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้จริงและช่วยแก้ปัญหาเรื่องความเหงาที่คนกำลังเจอในปัจจุบัน
Care Circle – ฟีเจอร์ใหม่ในแอป CARA ของ Dementia Singapore หน่วยงานบริการสังคมของประเทศสิงคโปร์ที่เชื่อมโยงชุมชนของคนในสังคมที่ต้องกลายเป็นคนดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมเข้าไว้ด้วยกัน ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดและความเหงาที่เกิดขึ้นจากการต้องดูแลผู้ป่วยลงได้
Happy to Chat – หนึ่งในเทรนด์ของการเปิดพื้นที่สร้างชุมชนขนาดเล็กของกลุ่มคนที่มีความสนใจเดียวกันให้เกิดขึ้น การพูดคุยจะทำให้คนคลายความเหงาลงได้ โดย Happy Chat เป็นกลยุทธ์ของซุเปอร์มาร์เก็ต ASDA ในประเทศอังกฤษที่เปิดโอกาสในคนส่งของสามารถติดเข็มกลัด Happy to Chat ส่งสัญญาณให้ลูกค้าว่ายินดีที่จะพูดคุยในหัวข้อที่เกี่ยวกับ “มหกรรมกีฬา” ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้เช่นในช่วงการแข่งขัน Euro 2024 รวมถึงการแข่งขันเทนนิส Wimbledon เป็นต้น
One More Hour – เป็นแคมเปญของแอปพลิเคชั่นหาคู่อย่าง Hinge ที่ต้องการแก้ปัญหา “ความเหงา” ในกลุ่มคน Gen Z ที่เพิ่มสูงขึ้นด้วยการมอบงบมูลค่าถึง 25,000 ดอลลาร์สหรัฐให้กับ กลุ่มประชาสังคม ให้ไปจัดอีเวนท์ที่กระตุ้นให้คนมาพบเจอกันแบบ face-to-face โดยจะมีการคัดเลือกโครงการ event ที่เปิดกว้างให้กับคนทุกเพศทุกวัย จำนวน 40 โครงการ
ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างของการสร้างความเชื่อมโยงกับผู้คนที่ทุกวันนี้มี “ความเหงา” เข้ามาครอบงำชีวิตกันมากขึ้นกลายเป็นอีกหนึ่งความมต้องการที่แบรนด์สามารถเข้าไปสร้างความเชื่อมโยงกับผู้บริโภคได้
ขอบคุณเนื้อหาจาก: Amplify by TrendWatching, ThinkNextAsia, Gallup