แกะรอยวิธีคิด ดิว-ดุลยพล ศรีจันทร์ ผู้สร้าง PDM Brand โดยใช้ไอเดียนำการตลาด จนได้โปรดักต์ที่ ‘คิดได้ไง’ และขายได้ด้วย

  • 6
  •  
  •  
  •  
  •  

พูดถึง PDM Brand แบรนด์โปรดักต์ดีไซน์ที่โด่งดังมาจากการทำ ‘เสื่อ’ หลายคนก็จะมีภาพจำของโปรดักต์ที่มีความสนุกสนาน, ความ ‘คิดได้ไง’, ทำไมก่อนหน้านี้ไม่มีใครทำ ปีนี้ PDM มีอายุครบ 10 ปี โดยหลังจากที่เติบโตมาจากการขายออนไลน์ ต่อจากนี้เป็นช่วงเวลาที่แบรนด์กำลังในก้าวไปในจุดที่ใหญ่ขึ้น สิ่งหนึ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้คือ PDM กำลังจะมีโชว์รูมเป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหลักไมล์สำคัญ หรือลองทำอะไรมันๆ ที่ไม่เคยคิดว่าจะทำเพราะอยู่บนแพลทฟอร์มออนไลน์มาตลอด เช่น ขึ้นโฆษณาบนป้ายทางด่วน เป็นการขยับจากโลกออนไลน์เข้าไปสู่โลกออฟไลน์

เราจะมาคุยกับคุณ ดิว-ดุลยพล ศรีจันทร์ Founder และ Managing Director ของ PDM ถึงวิธีคิดที่อยู่เบื้องหลังการทำแบรนด์ให้ออกมาเป็นแบบ PDM แบรนด์ที่เอาไอเดีย และดีไซน์ที่ดีเป็นตัวตั้งแล้วตามด้วยแนวคิดทางการตลาด จนทำให้ได้ผลิตภัณฑ์แต่งบ้านที่มีอรรถรสแตกต่าง มีจุดขายในตัวเองและไม่เหมือนใคร 

รีวิว 10 ปี PDM ทีละสเต็ปของความคิด สู่การเป็น Fashion-Living Thai Brand 

ปัจจุบันโปรดักต์ของ PDM แบ่งเป็น 3 เซกเตอร์ คือ 1. เสื่อแทนพรม 2. เฟอร์นิเจอร์ 3. สินค้าแฟชั่น กลุ่ม เสื้อผ้า กระเป๋า

คุณดิวพูดถึงคีย์เวิร์ดอันหนึ่งว่า “เราโตมาจาก Living ก็จริง แต่เรามองว่า Fashion น่าจะพาแบรนด์ Living ไปอีกระดับหนึ่ง” ก่อนจะพาเราย้อนไปดูกระบวนการคิดของ PDM 

  • เริ่มจากการคิดแบบคนไม่ใช่นักการตลาด

คุณดิวซึ่งเป็นดีไซเนอร์ ทำงานด้านดีไซน์มาตลอด และไม่เคยคิดว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ตอนก่อตั้ง PDM ก็ไม่ได้คิดว่าจะเป็นแบรนด์ แต่เป็นบริษัทออกแบบที่ช่วยลูกค้าดูแลเรื่องการออกแบบผลิคภัณฑ์อย่างเดียว เพราะ PDM ย่อมาจาก Product Design Matters

ปรากฏว่ามีไอเดียเรื่องทำเสื่อขึ้นมา ว่าทำไมไม่มีใครทำเสื่อให้ดีๆ ใช้แทนพรมไปเลย เพราะพรมไม่เหมาะกับอากาศบ้านเรา

“ผมไม่ได้เป็นนักการตลาด เลยไม่รู้ว่า ถ้าเป็นนักการตลาดคิด ก็อาจจะไม่ทำหรอกโปรเจกต์แบบนี้ พึ่งมารู้ว่ามันเรียกว่าเป็นการเบิร์นตลาด เพราะมันไม่มีของประเภทนี้อยู่ในตลาดตอนนั้นเลย เสื่ออะไรผืนตั้ง 3-4 พันกว่าบาท พรมก็ไม่ใช่ ทำช่วงแรกๆ ขายไม่ได้เลย”

แต่ด้วยความมั่นใจในผลิตภัณฑ์ คุณดิวจึงหันมาโฟกัสเรื่องการสื่อสาร กระทั่งเริ่มมียอดขาย 

  • สร้างฐานจากสิ่งตัวเองที่มี

“พอทำมาถึงจุดหนึ่ง เราพบว่าถ้าไม่มีโรงงานนี่เราแย่เลยนะ เพราะว่าวันหนึ่งโรงงานเขาอาจจะทำเองหรือมีการขึ้นราคา เราอาจจะอยู่ยากถ้าทำเสื่อเพียงอย่างเดียว”

คุณดิวจึงกลับมาดูว่าตัวเองมีอะไรบ้าง ปรากฏว่าในช่วงที่ทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับพวกแบรนด์ ได้ร่วมงานกับโรงงาน 4-5 เจ้าที่ทำวัสดุแตกต่างกัน เช่น ไม้ เหล็ก กระจก โซฟา

“เลยคิดว่าน่าจะดีถ้าเราทำดีไซน์ที่เราถนัด แต่ว่าแทนที่จะให้คนอื่นขาย ก็ขายเอง จากเสื่อแทนพรม PDM ก็ค่อยๆ ขยายมาเป็นเฟอร์นิเจอร์ เราเป็นเจ้าแรกๆ ที่โฟกัสการขายเฟอร์นิเจอร์ออนไลน์  ไม่ใช่เก่งอะไร แต่ว่าเราไม่มีตังค์ทำโชว์รูม (หัวเราะ) วิธีการเดียวคือต้องสื่อสารให้รู้เรื่อง เลยพัฒนาการสื่อสารมาเรื่อยๆ” 

  • เอาคำว่า Fashion มาดึงภาพของ Living

พอทำไปได้สักพัก จากการที่ได้เดินทางค่อนข้างเยอะ ไปเห็นงานแฟร์ ร้านดีไซน์หลายรูปแบบในที่ต่างๆ  คุณดิวพบว่า แบรนด์แฟชั่นระดับโลก เช่น Fendi, Armani, Louis Vuitton ทำเสื้อผ้าอยู่ดีๆ มาทำเฟอร์นิเจอร์กันหมดเลย

“ทำไมวะ เลยคิดว่า เฮ้ย หรือว่าเราควรจะขยับขาไปที่แฟชั่นเพื่อหาตำแหน่งที่แตกต่างให้กับแบรนด์ไม่เช่นนั้น อาจจะกลายเป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่ทุกคนคุ้นเคยอยู่แล้วเหมือนบ้านและสวน หรือแบบอีเกียซึ่งทิศทางของเราก็ไม่ใช่ตั้งแต่แรก จะไปใหญ่เหมือนพวกพี่ๆ SB, Index, Modernform เราก็ไม่ได้มีโรงงานหรือมีกำลังไปรับงานทั้งคอนโด น่าจะแข่งขันยาก แล้วผมไปดูแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ต่างประเทศหลายแบรนด์ ทิศทางที่เราเป็นอยู่มันก็โตไปได้นี่หว่า ไม่ต้องมีโรงงาน ขยันผลิตดีไซน์ วิธีการผลิตอย่าไปจำกัดมัน ทำที่ไหนก็ได้ ในประเทศไม่ไหวไปต่างประเทศ สำคัญคือคุณภาพต้องระดับสากล ปัจจุบันเรามีพาร์ทเนอร์อยู่ประมาณ 20 กว่าโรงงาน ทั้งในไทย และประเทศรอบๆ ที่รู้ว่าใครถนัดอะไร”

  • แบรนด์ที่เป็น idea-based company

“สมมุติว่าผมมีโรงงานไม้เป็นของตัวเอง ผมก็ต้องทำดีไซน์เพื่อป้อนให้โรงงานไม้ มันก็จะไม่ได้เริ่มจากไอเดีย มันต้องเริ่มจากว่าโรงงานไม้เราทำอะไรได้บ้าง จะคิดคนละแบบกัน หรือถ้าผมมีโรงงานพลาสติก ผมก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้เครื่องจักรมันทำงานตลอดเวลาเป็นต้นทุน แต่ว่าพอเราไม่ได้มีตรงนั้น จุดแข็งเราก็น่าจะเป็นเรื่องการสร้างสรรค์ไอเดีย PDM ก็เลยเป็นแบรนด์ที่เป็น idea-based company เริ่มต้นที่ไอเดียก่อน แล้วดูว่าไอเดียนั้นจะสร้างด้วยวิธีไหน จะให้ใครช่วยดูแลเรื่องนี้ เลยกลายเป็นว่าของจะค่อนข้างหลากหลาย แต่ทั้งหมดก็อยู่บนแกน Fashion Living แบ่งได้ตาม catagory ข้างต้น” คุณดิวบอก

วิธีคิดในการออกโปรดักต์

ที่ออฟฟิศ PDM มีทีมงานประมาณ 20 กว่าคน ครึ่งหนึ่งเป็นดีไซเนอร์ PDM TEAM LEAD  ซึ่งคุณดิวบอกว่าทำงานหนักมาก เป็นออฟฟิศที่ทำงานเร็ว เทสต์เร็ว คนหนึ่งจะถือ 3-5 โปรเจ็กต์พร้อมๆกัน เพื่อให้เห็นการเชื่อมกันระหว่างโปรเจ็กต์ด้วย

เราชวนคุณดิวคุยต่อถึงวิธีคิดในการออกผลิตภัณฑ์ของ PDM …

  • ที่มาของไอเดียหลากหลาย แต่เกาะอยู่บนคอร์ไอเดียของแบรนด์

“ที่ PDM ไม่มีห้องแบ่งแผนก ผมไม่มีห้องทำงาน เรานั่งด้วยกัน 20 คน ก็จะเป็นตะโกนคุยกัน เฮ้ย ร่มน่าทำว่ะ ฝนตกละ ช่วยคิดหน่อย ร่มทำยังไงให้ดีมากๆ กว่าที่มีในตลาดดี บ่ายน้องๆ เขาก็มาละพร้อมไอเดีย หรือบางทีทีมก็ไปได้โรงงานแก้วน้ำมา เจ้านี้ผลิตให้แบรนด์ระดับโลกนะ คุณภาพไม่ต้องกังวล เอาสิ ลองดูกัน มีต้นทุนอะไรยังไงบ้าง

“ที่มาของแต่ละโปรดักส์จะไม่เหมือนกัน แต่เราจะมีคอร์ไอเดียของแบรนด์อยู่ คือ ต้องสร้างสรรค์ ดูแล้วสนุก ดูแล้วสดชื่น เห็นแล้ว เออว่ะ ทำไมไม่มีใครทำอย่างนี้มาตั้งนานแล้ววะ แล้วก็มีความเป็น Fashionable ก็จะเกาะอยู่บนแกนนี้ ถ้าเห็นตรงกันว่าดีก็ผลิต ถ้าไม่แน่ใจควรผลิตมั้ยหากดูแล้วค่าต้นแบบไม่ได้แพงอะไร ไม่ต้องไปลงทุนเป็นล้าน เราก็ลองทำต้นแบบมาดูกัน เทสต์ขาย นี่คือการทำงาน”

เราลองมาดูบางตัวอย่าง…

โต๊ะดอกไม้ – “PDM จะชอบไปเพิ่มมูลค่าด้วยการออกแบบให้กับบางอย่างที่คนคุ้นอยู่แล้ว อย่างที่ผ่านมามีอันที่ค่อนข้างดีมากก็คือโต๊ะดอกไม้ คือโต๊ะพับสีแดง ที่กินหมูกระทะ กินปิ้งย่างกัน แล้วก็พับได้ PDM ก็มาพัฒนาดีไซน์ให้มันเป็นอีกภาษาหนึ่ง อัดคุณภาพเข้าไปในการผลิต แต่คนก็ยังนึกออกว่า อ๋อ อันนี้มันคือโต๊ะที่เรารู้จัก”

กางเกงช้าง – “กางเกงช้างก็เป็นแบบเดียวกัน เราเชิญดีไซเนอร์เก่งๆ มาทำแพทเทิร์นช้าง ในแบบที่มันไม่ใช่แพทเทิร์นกางเกงช้างตัวละร้อยกว่าบาท หาผ้าที่ดี หาโรงพิมพ์ที่ดี แล้วก็มีพี่ๆ เก่งๆ มาช่วยออกแบบชุด โจทย์ที่เราอยากทำคือ ทำยังไงให้กางเกงช้างมันเป็น COMME des GARÇONS ซึ่งผมก็รู้สึกว่าน่าจะพาเราไปในจุดที่แบรนด์ชัดขึ้น”

เสื่อ PDM –  “เสื่อ PDM ตอนแรกที่เราทำงานกับดีไซเนอร์ เรารู้สึกว่าถ้าเราเรียบเราจะกลายเป็นมูจิ ซึ่งเราไม่มีทางสู้มูจิได้ แล้วเราก็ไม่ได้มี DNA ของความเรียบง่ายอยู่ในสายเลือดของประเทศเรา  ผมเลยคิดว่าตัวเสื่อมันควรจะ blow คือปูแล้วทำให้บ้านสดชื่นเหมือนรีโนเวทห้องไปเลย คล้ายกับเวลาเราแต่งตัวไปหาเพื่อน แล้วเพื่อนถามว่ารองเท้าซื้อที่ไหน เสื้อซื้อที่ไหนวะ มันน่าสนใจระดับนั้น ความหมายเดียวกันเลย”

หมอนสามเหลี่ยม – “นอกจากสัมพันธ์กับความเป็นไทย ฝรั่งก็ควรดูเข้าใจ มันควรจะเป็นไทยที่เป็นสากล เหมือนเราทำหมอนสามเหลี่ยม เราให้ชาวบ้านที่ยโสธรทำให้ เราก็ไม่พยายามไปเปลี่ยนรูปทรงอะไรมัน เพราะเป็นรูปทรงที่เข้าใจดีอยู่แล้ว เราแค่เอาแพทเทิร์นใหม่ไปใส่ เลือกผ้าดีๆ ส่งไปให้เขาผลิต” 

  • ทำผลิตภัณฑ์ให้ดี ผลิตภัณฑ์จะวิ่งไปหากลุ่มเป้าหมายเอง

คุณดิวยกตัวอย่างเสื่อ PDM รุ่น Stride ไซส์ M ขายไปยังกลุ่มคน 10 ช่วงอายุ 10 อาชีพ 10 รูปแบบที่อยู่อาศัย ตั้งแต่คอนโดห้องเล็กๆ ไปถึงโรงแรม ดังนั้นจึงระบุ Persona กลุ่มเป้าหมายของ PDM แบบเจาะจงไม่ได้ เพราะยุคนี้ไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว

“เมื่อก่อนเวลาเรียนดีไซน์ อาจารย์จะสอนว่า อันนี้ทำให้ใคร ใช้ที่ไหน เมื่อไหร่ เพื่อให้เราออกแบบผลิตภัณฑ์ได้ตรงกลุ่มนั้น แต่ถ้าถามผม ยกตัวอย่างเช่น iPhone คุณทำให้ใคร คุณก็ทำให้ทุกคนที่อยากได้ดีไซน์ที่ดี มีกำลังซื้อ เป็นสาวกไอโฟนอยู่แล้ว เราเลยคิดว่า มันเป็นหน้าที่เราที่จะ หนึ่ง, ทำโปรดักต์ให้ดี สอง, ตรงไปตรงมา ส่วนความจัดจ้านที่ใส่เข้าไป แล้วแต่คนชอบ คนไม่ชอบก็มี ดังนั้นตัวผลิตภัณฑ์มันจะนิยามกลุ่มเป้าหมายเอง เราอยู่ในอุตสาหกรรมการตกแต่งบ้าน ไลฟ์สไตล์ สมมติฐานเราคือคนมีบ้านก็คงอยากให้บ้านสวย PDM ก็อาจจะเป็นหนึ่งในตัวเลือกนั้น วิ่งหาคนกลุ่มนี้ คนชื่นชอบดีไซน์ ชอบการเดินทาง คนไปต่างประเทศ เห็นโลกมาเยอะ รู้ว่าสิ่งที่เราทำคืออะไร รูปแบบที่อยู่อาศัย หรือช่วงอายุอาจจะไม่เกี่ยว” 

ความท้าทายที่ยากขึ้นในปัจจุบัน

เดินทางมาครอบ 10 ปีย่างเข้าสู่ปีที่ 11 ของ PDM คุณดิวบอกว่า สเตจต่อไปจะเป็นสเตจเพื่อการเติบโต ทั้งในแง่ของบริษัทและคน

“ผมว่าตอนแรกผู้ประกอบการทุกคนทำเพื่อความอยู่รอดนะ คือมีเงินมาพอค่าใช้จ่ายก็ยอดเยี่ยม และเป็นการพิสูจน์ไอเดียด้วย ทีนี้สเตจนี้มันจะเป็นสเตจเพื่อการเติบโตละ เพราะน้องๆ บางคนเขาอยู่มานาน ผมเชื่อว่าเราก็ต้องมี Career Path ให้เขา เป็นเรื่องของคน เรื่องของการเติบโตของบริษัท”

คุณดิวขยายความต่อว่า สเต็ปการเติบโตของ PDM จะมีอะไรบ้าง 

  • หาทางเพิ่มยอดขายโดยใช้จำนวนคนไม่มาก

“PDM เป็น SME ยอดขายปีที่แล้ว 100 (ล้าน) เดียว เราจะไป 200 ล้านยังไง โดยที่ใช้คนไม่มาก เมื่อก่อนธุรกิจของเฟอร์นิเจอร์ ถ้าเราอยากได้ร้อยกว่าล้าน คุณต้องมีคนประมาณ 60 คน มีโรงงาน มีพื้นที่ ช่วงนั้นคือยุคผู้ผลิต บริษัทที่มียอดขาย 800-900 ล้านต้องมีคนงานเป็นพันคน แต่ว่าเราพบว่าพอเวลามันเปลี่ยน เราไปดูแบรนด์เมืองนอก ไปนั่งดูหลังบ้านเขา บางบริษัทเราได้ยินมาว่ามี 40 คนเอง ทำไมยอดขาย 400-500 ล้านได้ อ๋อ ไม่มีโรงงานเหรอใช้ที่ไหนผลิตล่ะ เฮ้ยตัวแทนจำหน่ายเขาเป็นใครนะ อะไรแบบนี้ คือผมก็ไม่ได้เก่งมากนะ แต่คิดว่าเราเรียนรู้จากแบรนด์ระดับโลกได้

“ผมจะโฟกัสที่ยอดขายต่อหัว บริษัทจ่ายเงินเดือนกี่คนผมหารง่ายๆเลย คนขับรถก็นับ  อาจจะไม่ได้มองที่ว่าโตกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ผมแค่คิดว่า ถ้าคนทำงานเท่านี้ หารยอดต่อปีแล้ว ผลลัพธ์มันสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็โตแล้ว ยกตัวอย่างเช่น คน 20 คน ขายได้ 100 ล้าน ก็แสดงว่าคนหนึ่งมีกำลังหาได้ 5 ล้าน ทำยังไงให้คนเท่าเดิมหาได้ 150 ล้าน อันนี้คือหัวใจ ถ้า 150 ล้านงานมันล้นไม่ไหวค่อยเพิ่มคน หรือกลับไปแก้เอาระบบเข้ามาช่วย แบบนี้คือส่ิงที่ผมชอบ คิดง่ายๆ ในส่วนโครงสร้างกำไรโครงสร้างต้นทุน มันก็มีของมันอยู่แล้ว” 

  • แหย่ขาเข้าตลาดออฟไลน์

การแหย่ขาเข้าตลาดออฟไลน์ คุณดิวหมายถึงทั้งเรื่องคอมมูนิเคชั่นและการขาย ด้วยวิธีคิดที่ยังคงน่าสนใจเช่นเคย 

การสื่อสาร: ลองเอา PDM ขึ้นป้ายโฆษณาบนทางด่วน – “ผมคิดว่าเราควรจะเอา PDM ขึ้นป้ายทางด่วนสักครั้งหนึ่งเหมือนแบรนด์ใหญ่ๆ ให้เกิด Eyeballs ไม่เคยทำเลย จ่ายเดือนละสามแสน เยอะสำหรับเรามาก อันนี้ออฟไลน์ชัวร์ๆ วัดผลไม่ได้ด้วย (หัวเราะ) แต่อยากลอง ถ้าไม่เจ็บตัวมาก เพื่อที่จะขยายฐานการเห็น”

การขาย: ทำช็อปของตัวเอง – “เรากำลังทำร้านจริงจัง PDM มีหน้าร้านช้าไปด้วย ตอนโควิดเรารอดมาได้เพราะเราโฟกัสออนไลน์ ศรัทธาทางนี้มากๆ แล้วเราก็เหมือนยังอยู่ในสเตจที่ไปต่อได้ แล้วผมก็รู้สึกว่าช็อปมันไม่ได้ทำเงินให้กับ PDM สำหรับผม ณ ตอนแรกนะ คือผมรู้สึกว่าเหมือนเอาของไปฝากห้างไหน เอาของไปฝากร้านไม่เคยเวิร์กเลย แล้วช็อปสำหรับผมวัดผลไม่ค่อยได้โดนหักเยอะมากทำให้สินค้าราคาแพงแบบงงๆ  ถ้าเราทำออนไลน์ เราจ่ายค่าโฆษณาเดือนละเท่านี้ เรารู้แล้วว่ารีเทิร์นมันต้องกี่เปอร์เซ็นต์ถึงจะรอด แต่มีหน้าร้านมันอาจจะเป็นอีกเกมหนึ่ง ผมเรียกว่ามันเป็นอีกเกมดีกว่า เป็นเกมที่ผมเพิ่งเข้ามาหาความรู้ละกันครับ

“คิดว่าถึงเวลาที่ต้องมีแล้ว ไม่มีไม่ได้ ไปศึกษาแบรนด์เก่งๆ ที่เขาเติบโต เขาก็มีหน้าร้านกันทุกคน ไม่มีใครขายออนไลน์อย่างเดียว เลยคิดว่าถ้าเราจะเกาะความเป็นแฟชั่นเราก็ต้องมีหน้าร้าน ใช้เงินเยอะ อาจจะเป็นคนโล่งๆ ทั้งวัน มาถึงซื้อตูมเดียวก็ว่าไป ช่วยแน่นอนช่วยเรื่องประสบการณ์ ช่วยเรื่อง personality ช่วยเรื่องความสัมพันธ่ระหว่างลูกค้ากับแบรนด์ เรื่องยอดขายไม่แน่ใจ ไม่มีประสบการณ์ ต้องลอง”

คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการ

ด้วยความเหนื่อยจากการทำงาน ทำให้ในช่วงหลังคุณดิวศึกษาเรื่องจิตใจมากขึ้นและทำให้พบความจริงที่เรียบง่ายเกี่ยวกับสมดุลของชีวิต

“กินให้อิ่ม นอนให้หลับ ออกกำลังกายบ้าง นั่งสมาธิบ้าง แบ่งปันให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้  เจอเพื่อน อยู่กับครอบครัว อันนี้ก็ทำให้มีแรงภายใน ซึ่งผมก็กำลังพัฒนาตัวเองในเรื่องนี้

“ผมว่าอาชีพผู้ประกอบการนี่เป็นอาชีพที่เหนื่อยที่สุดในบรรดาอาชีพครับ (หัวเราะ) ในส่วนของอาชีพดีไซน์เนอร์ ย้อนกลับไปผมคิดว่าผมเคยทำมาทุกตำแหน่งแล้ว จูเนียร์ดีไซเนอร์ ดีไซน์ไดเรกเตอร์ ที่ปรึกษา มีไปสอนหนังสือดีไซน์ด้วยหลายปี แต่ผมว่าตอนเป็นผู้ประกอบการทำไมมันเหนื่อยจังวะ ทำไมไม่มีวันหยุดเลย แล้วงานมันก็อยู่ในหัวผม สมมุติผมคิดเรื่องนี้จบแล้ว มันจะมีเรื่องอื่นมาให้ผมคิดอีก แล้วก็จะมีเรื่องที่ผมไม่ชอบ เช่น ผมไม่เรื่องการสร้างกฎเกณฑ์ให้ใครเพื่อทำอะไร มันก็จะต้องคิด เพราะถ้าไม่คิดมันก็จะไม่มีระบบของบริษัท เช่น ทำไมคนนี้ได้แล้วทำไมคนนี้ไม่ได้เหมือนคนนี้ล่ะ ก็เลยคิดว่าเป็นอาชีพที่น่าเห็นใจมากๆ อาชีพหนึ่ง (หัวเราะ)”

  • อาชีพที่ขับเคลื่อนด้วยแพสชั่น 

สำหรับคุณดิว ผู้ประกอบการต่างจากนักธุรกิจ

“นักธุรกิจความเก่งกาจก็คือว่า เห็นโอกาสอะไรก็เข้าไปได้ โดยที่อาจจะไม่ต้องมีความชอบก็ได้กับเรื่องนั้นๆ  เช่นทำเต็นท์รถอยู่ เพื่อนบอกว่าตรงนี้น่าทำร้านอาหารก็ไปลงทุนได้ ทำร้านอาหารอยู่ดีๆมองเห็นว่า ตรงนี้น่าขึ้นหอพัก ก็ไปกู้แบงค์ซื้อที่ดินได้ อันนี้คือนักธุรกิจ 

“สำหรับผม ให้ผมทำอย่างอื่นไม่ได้นะ ผมทำได้แต่ที่ผมทำอยู่นี่แหละ ข้อดีก็คือ ผมว่าเป็นอาชีพที่เราหลงใหล อยู่กับความคิดสร้างสรรค์ ผิดพลาดก็แก้แล้วไปต่อ”

  • อย่ากอดไอเดียตัวเองไว้นานเกินไป

ส่วนคำแนะนำ คุณดิวบอกว่า เนื่องจากมีแพสชั่น เป็นปกติที่คนจะเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะหลงรักไอเดียตัวเอง หลงใหลในเรื่องนั้น และจะกอดไอเดียตัวเองไว้นานมาก

“ผมเคยเจอคนที่ ผมมาพูดในงานปีนี้ เขาเอาไอเดียนี้มาเล่า ผมก็บอกพี่ทำเลย แต่อย่าไปลงเงินเยอะนะ ลองดูก่อน แล้วไปเจอเขาอีก 4 ปีต่อมา เขามาฟังผมอีก เขาก็ยังไม่ได้ทำไอเดียนั้นอีก คือเหมือนเขาจะกรูมไอเดียให้มันสุดเฉียบ เรียบร้อย ผมมองว่าแล้วเกิดมันไม่เวิร์กล่ะ คุณก็เสียเวลาไปตั้ง 4 ปี

“ถ้าเป็นที่ผมพอจะแชร์ได้ก็คือว่า ให้เริ่มทำเลย แต่ให้เผื่อใจไว้ว่าถ้ามันไม่สำเร็จอย่าต้องถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อ ถ้าเป็นพี่ๆ นักธุรกิจเก่งๆ เขาก็จะพูดว่า 5 เปอร์เซ็นต์ เช่น มีเงินเก็บ 1 แสน ให้เอาไอเดียนี้เทสต์ให้ได้ใน 5 พันบาท ถ้า 5 พันบาทเทสต์ไม่ได้ ก็อาจจะ 10 เปอร์เซ็นต์ เอ้า หมื่นหนึ่ง แล้วถ้าหมื่นหนึ่งยังไม่ได้ คุณต้องไปหาวิธีเทสต์ให้หมื่นหนึ่งมันได้ ไม่งั้นมีเงินเท่าไหร่ก็จะใส่หมด ธรรมชาติคนเราเวลามีเงินมันใส่อยู่แล้ว ไอเดียนี้โคตรเจ๋งเลยมีแสนใส่แปดหมื่นแล้ว ถ้าหายไปทำไง เริ่มใหม่ไหวมั้ย มันไม่ใช่ เราเพิ่งเริ่มต้น ก็คิดว่าเทสต์ไอเดียให้เร็ว จะได้รู้ว่าไปต่อได้มั้ย ” คุณดิวกล่าวปิดท้าย


  • 6
  •  
  •  
  •  
  •