เปิดตัว ‘inDrive’ ผู้ท้าชิงใหม่ตลาดแอปเรียกรถไทย ชูค่า GP 10% แฟร์ทุกฝ่าย ต่อยอดความสำเร็จจาก 46 ประเทศทั่วโลก

  • 25
  •  
  •  
  •  
  •  

In-Drive-Cover

 

ในยุคที่ ‘ตลาดแอปเรียกรถ’ (Ride-hailing App) กำลังแข่งขันกันดุเดือด ทั้งผู้เล่นหน้าเก่าที่ขนเอาฟีเจอร์ใหม่ๆ ออกมาชิงความสนใจจากผู้บริโภค และผู้เล่นหน้าใหม่ที่เห็นโอกาสในการเติบโต จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เราจะเห็นผู้ท้าชิงรายใหม่ ทยอยเข้าสู่ตลาดนี้อยู่เรื่อยๆ ซึ่งแต่ละรายก็งัดเอาจุดแข็งของตัวเองมาเป็นจุดขาย อย่างเช่น inDrive ที่เขาชูจุดยืน ‘ความโปร่งใส และความแฟร์’ กับทั้งผู้โดยสาร และคนขับรถ มาเป็นผู้ท้าชิงหน้าใหม่เพื่อชิงส่วนแบ่งในตลาด และด้วยกลยุทธ์นี้เองที่ทำให้ inDrive เติบโต และสร้างชื่อเสียงอย่างแข็งแกร่งมานานกว่า 12 ปีแล้ว

 

inDrive คือใคร?

 

สำหรับ inDrive เอง เกิดขึ้นเมื่อปี 2555 ในเมืองยาคุชส์ ภูมิภาคไซบีเรีย ประเทศรัสเซียที่มีสภาพอากาศหนาวเย็น ที่พอถึงช่วงเวลา Prime time ใครๆ ก็อยากจะรีบเรียกรถกลับบ้านจนเกิดการแย่งชิงกันอยู่เสมอ ทาง inDrive จึงได้เกิดขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนสามารถเรียกรถกลับบ้านได้อย่างง่ายๆ และปลอดภัย ด้วยราคาที่สมเหตุสมผลไม่ต้องทนกับการขึ้นราคาเพราะ Demand ที่สูง โดยจุดเด่นของ inDrive คือการเก็บค่า GP 10% และการให้ผู้โดยสารเลือกคนขับได้เอง ไปจนถึงฟีเจอร์ต่างๆ ที่สนับสนุนความภักดีของคนขับรถ 

 

inDrive-01

 

ปัจจุบัน inDrive ได้ขยายตัวไปกว่า 46 ประเทศทั่วโลก ใน 749 เมือง แบ่งเป็น 10 ประเทศในละตินอเมริกา 18 ประเทศในยุโรป-ตะวันออกกลาง 10 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก และสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ซึ่งย้ายมาจากเมืองยาคุชส์ ซึ่งมีคาซักสถาน อียิปต์ และเม็กซิโกเป็นฐานลูกค้าใหญ่ โดยมียอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันผ่านทั้ง App Store และ Google Play Store รวมแล้วกว่า 250 ล้านครั้ง

 

inDrive กับการบุกตลาดแอปเรียกรถไทย มั่นใจสู้เจ้าใหญ่ได้

 

สำหรับตลาดแอปเรียกรถในไทย มีมูลค่าอยู่ที่ราว 1,300 ล้านดอลลาร์ และมีผู้ใช้งานกว่า 10 ล้านคน ซึ่งมูลค่าจะเติบโตประมาณ 2.17% ต่อปี และมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเป็น 15.16 ล้านคนในปี 2572  ตามการวิจัยจาก Statista 

โดยแอปเรียกรถเจ้าใหญ่สุดในบ้านเราก็คงไม่พ้น Grab ที่เราจะเห็นได้ว่าไม่ได้มีแค่ฟีเจอร์เรียกรถรับส่งเท่านั้น แต่ยังมีฟีเจอร์ส่งอาหาร ส่งพัสดุ จับจ่ายของใช้ในบ้าน และอีกมากมาย ทำให้กลายเป็น Super App ที่รวมทุกบริการไว้ในที่เดียว สะท้อนถึงความแข็งแกร่งในฐานะเจ้าใหญ่ที่คุมตลาดบ้านเรา

 

inDrive-03

 

ในขณะที่ inDrive ซึ่งแม้จะเป็นเจ้าใหญ่เบอร์ต้นของโลก แต่ก็นับว่าเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในบ้านเรา ที่พึ่งตบเท้าเข้าตลาดอย่างจริงจังเมื่อปี 2023 นี้เอง แถมตอนนี้ยังมีแค่บริการเรียกรถแค่มอเตอร์ไซค์ และรถยนต์เท่านั้นด้วย แต่ทางคุณ แอนดรีย์ สมิธ รองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจใหม่ (VP New Ventures) จาก inDrive ก็เผยว่าแม้จะเป็นผู้เล่นที่มาทีหลัง แต่เชื่อว่า inDrive มีความแข็งแกร่งมากพอในการชิงพื้นที่การเติบโตในตลาดบ้านเราได้

 

1. การเติบโตด้านดิจิทัล และมุมมองต่อแอปเรียกรถที่ดี

 

คุณแอนดรีย์ มองว่าไทยเรามีการเติบโตทางดดิจิทัลที่สูงมาก คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึง และใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ตโฟนได้ และจำนวนตรงนี้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทาง inDrive เผยว่าในภูมิภาคอาเซียน inDrive ประเทศไทยนั้นเติบโตดีที่สุด ที่สำคัญยังมีมุมมองที่ดีต่อแอปเรียกรถ ถึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พื้นที่ในตลาดนี้ยังเปิดกว้างอยู่

 

2. กลยุทธ์ค่า GP 10% ส่งผลดีกับทุกฝ่าย 

 

ในเรื่องการเก็บค่าคอมมิชชั่น (GP) จากคนขับเพียง 10% นับเป็นจุดขายที่แข็งแกร่ง และแตกต่างท่ามกลางคู่แข่งส่วนใหญ่ที่มักจะเก็บค่า GP ในอัตราที่สูงกว่ามาก มาดูกันว่าทำไมค่า GP 10% ถึงน่าสนใจ?

 

1. เป็นธรรมกับคนขับ: ค่า GP ที่ต่ำหมายความว่าคนขับจะได้รับส่วนแบ่งรายได้ที่มากกว่า ซึ่งช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการให้บริการ และอาจนำไปสู่คุณภาพการบริการที่ดีขึ้น

2. ดึงดูดคนขับ: อัตราค่า GP ที่ต่ำสามารถดึงดูดคนขับให้เข้าร่วมแพลตฟอร์ม inDrive ได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้โดยสารในแง่ของการมีตัวเลือกคนขับที่หลากหลาย และเวลาในการรอรถที่น้อยลง

3. ราคาที่เป็นธรรมสำหรับผู้โดยสาร: แม้ว่า inDrive จะไม่ได้เน้นการแข่งขันด้านราคาโดยตรง แต่ค่า GP ที่ต่ำอาจส่งผลทางอ้อมต่อราคาค่าโดยสารที่ถูกลง หรือสมเหตุสมผลมากขึ้นเมื่อเทียบกับแอปอื่นๆ ที่มีค่า GP สูงกว่า

 

การชูจุดเด่นเรื่องค่า GP 10% จึงไม่ใช่แค่การสร้างความแตกต่าง แต่ยังสะท้อนถึง ความมุ่งมั่นของ inDrive ในการสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย ทั้งคนขับ ผู้โดยสาร และตัว inDrive เอง ที่ยืนยันหนักแน่นว่าการเก็บค่า GP แค่ 10% นั้นเพียงพอต่อการเติบโตของบริษัท ซึ่งไม่ได้ทำแค่เฉพาะในไทย แต่นโยบายนี้ถูกใช้เหมือนกันทั้ง 46 ประเทศ ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา

 

inDrive-03

 

3. ชูจุดเด่น ความโปร่งใส-ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย – มองการตลาด ‘ปากต่อปาก’ ช่วยขยายการรับรู้แบรนด์

 

คุณแอรดรีย์เผยเพิ่มเติมว่า ในตอนนี้ inDrive ยังไม่มีกลยุทธ์การตลาดที่หวือหวานัก เมื่อเทียบกับเจ้าอื่นๆ แต่ก็มั่นใจว่า กลยุทธ์การชูจุดเด่นด้าน “ความแฟร์ และความโปร่งใส” จะสามารถเอาชนะใจผู้บริโภคชาวไทยได้ และมองว่าการตลาดแบบ ‘ปากต่อปาก’ (Words of Mouth) แชร์ต่อสิ่งดีๆ สู่คนใกล้ตัว จะเป็นกลยุทธ์สำคัญในการกระจาย Brand Awareness ของแบรนด์

ปัจจุบัน inDrive มีคนขับรถเข้าร่วมกว่า 10,000 ราย ซึ่งทาง inDrive มีการตรวจสอบคนขับทุกคนอย่างเต็มรูปแบบ (Full Check) เพื่อให้ผู้โดยสารมั่นใจว่าจะสามารถเดินทางอย่างปลอดภัยตลอดทั้งเส้นทาง โดยผู้โดยสารสามารถกดเลือกคนขับที่ต้องการได้ผ่านหน้าจอบุ๊กกิ้งการเดินทาง โดยตัดสินใจจากข้อมูลคนขับ ไม่ว่าจะเป็นประวัติการขับรถ ขนาดยานพาหนะ เรตติงการให้บริการ และระยะทางในการเดินทางมารับ 

 

ก้าวต่อไปของ inDrive ในประเทศไทย

 

แม้ว่าในปัจจุบัน inDrive ในประเทศไทยจะยังมีเพียงบริการเรียกรถมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ให้ใช้งาน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะหยุดอยู่แค่นี้ คุณแอนดรีย์เผยว่า inDrive มีแผนที่จะพัฒนาบริการที่มีอยู่ให้ดีที่สุดก่อน เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรม และความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยอย่างแท้จริง ก่อนที่จะขยายบริการอื่นๆ เพิ่มเติมในอนาคต

“เราต้องการทำสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ให้ดีที่สุดก่อน แล้วค่อยๆ ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยไปเรื่อยๆ ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะเปิดให้บริการอะไรต่อไป เพื่อขยายความสามารถของ inDrive ให้หลากหลายมากขึ้น”

 

inDrive-05

 

ถึงแม้จะยังไม่มีกำหนดการที่แน่ชัด แต่ inDrive ก็มีแผนที่จะนำบริการอื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศมาให้บริการในไทยด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นบริการส่งอาหาร บริการขนส่งสินค้าทั้งขนาดเล็ก ไปจนถึงขนาดใหญ่ระดับ Cargo หรือแม้แต่บริการทางการเงินสำหรับคนขับอย่าง inDrive Money ที่ช่วยให้คนขับสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ inDrive ในการสร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่งสำหรับทั้งคนขับ และผู้โดยสาร

การเข้ามาของ inDrive ในตลาดแอปเรียกรถไทย ถือเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามอง ด้วยจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องความโปร่งใสและความเป็นธรรม ทั้งต่อผู้โดยสารและคนขับ inDrive ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าแม้ว่าตลาดแอปเรียกรถจะแข่งขันการอย่างดุเดือด แต่ความมุ่งมั่นที่จะสร้าง ‘Fair Play’ หรือความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย ก็สามารถสร้างการเติบโต และประสบความสำเร็จได้เช่นกัน

Source: Statista


  • 25
  •  
  •  
  •  
  •