KBTG ประสบความสำเร็จอย่างมากในฐานะบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีให้กับธนาคารกสิกรไทย รวมถึงมีเทคโนโลยีให้บริการกับธุรกิจการเงินมาแล้วมากมาย มีผลงานแอปพลิเคชั่นที่คนไทยแทบทุกคนคงเคยได้สัมผัสกันมาบ้างไม่ว่าจะเป็น K PLUS, KhunThong, MAKE by KBank รวมถึง MeowJot และล่าสุดที่สร้างความฮือฮาก็คือ THaLLE โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLMs) โมเดลภาษาไทยที่เชี่ยวชาญด้านการเงินและเป็น LLMs ตัวแรกของไทยที่สามารถสอบผ่านข้อสอบ Chartered Financial Analyst (CFA) ได้ด้วย และที่สำคัญ KBTG เปิดให้นักพัฒนานำไปพัฒนาต่อได้แบบฟรีๆด้วย
ความสำเร็จที่เราเห็นแน่นอนว่าย่อมมีกลยุทธ์และวิธีคิดที่นอกจากจะสามารถสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆมาช่วยมนุษย์และยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนได้แล้วยังรวมไปถึงการสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจที่ทำให้ KBTG เติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ได้ ซึ่งล่าสุด KBTG ก็ได้เปิดโอกาสให้สื่อและอินฟลูเอนเซอร์ในสายเทคโนโลยีเข้าไปพูดคุยถึงเรื่องนี้ในงาน Latest in AI: An Exclusive Roundtable กับผู้บริหาร KBTG หลายท่าน เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา งานซึ่งทำให้เห็นกลยุทธ์และมุมมองของ KBTG ที่มีต่อเทรนด์ของ AI ที่มีความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจและสามารถพัฒนาต่อไปในอนาคตได้ ซึ่งสิ่งนี้น่าจะเป็นข้อมูลให้กับอีกหลายองค์กรที่กำลังศึกษาเทรนด์ของ AI ที่สามารถนำไปต่อยอดในเชิงธุรกิจในประเทศไทยได้
KBTG จาก M.A.D. สู่ Human First x AI First
ก่อนจะพูดถึงเทรนด์ของ AI คุณกระทิง เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เล่าถึงกลยุทธ์เบื้องหลังการเดินทางในเส้นทางเทคโนโลยีของ KBTG ว่าบริษัทมี Vision เรื่อง AI ตั้งแต่ปี 2019 ในการทำ Cognitive Banking มีการตั้งทีม Machine Learning, AI, Data (M.A.D.) ขึ้นมาทำงานอย่างจริงจัง นำไปสู่การศึกษาวิจัย AI หลากหลายด้าน ตีพิมพ์ผลงานวิชาการที่ได้รับการยอมรับระดับโลกมากมาย รวมไปถึงการส่งต่อความรู้ AI ให้กับพนักงานและชุมชนผ่าน KBTG Kampus
ด้วยกลยุทธ์ M.A.D. ที่ KBTG ใช้ในเวลา 5 ปีที่ผ่านมาทำให้ KBTG สามารถขยายธุรกิจไปได้ใน 4 ประเทศและเปิดบริษัทแยกออกมาได้อีก 5 บริษัท สามารถสร้างเทคโนโลยีที่แก้ปัญหาให้กับธุรกิจการเงินได้มากมาย กลายเป็นแอปพลิเคชั่นที่คนไทยได้ลองใช้กันไปหลายๆแอปพลิเคชั่น และที่สำคัญสามารถสร้างคนในวงการเทคโนโลยีขึ้นมาได้อีกมากมาย
คุณกระทิงระบุว่า KBTG ยังไม่หยุดแค่นั้นแต่ยังจะมองหาโอกาสใหม่ๆจาก AI Value Chain ที่มีความเป็นไปได้โดยเฉพาะ “เทคโนโลยี AI เฉพาะทาง” ที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นได้เหล่านี้ต้องมีพื้นฐานจาก Human หรือ คนที่มีทักษะที่ดี ซึ่งนำไปสู่กลยุทธ์ Human First x AI First Transformation ในปี 2024 นี้ที่จะนำ AI มายกระดับชีวิตคนทั้งใน KBTG และสังคมไทยในวงกว้าง
5 เทรนด์ AI ระดับโลกที่ต้องจับตามอง
ดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล Managing Director ที่ดูแลงานของ KBTG Labs รวมถึง KX ศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่นำไปสู่สินค้าและบริการใหม่ๆของ KBTG ก็ได้เปิดเผยถึงเทรนด์ล่าสุดของ AI ทั้งหมด 5 เทรนด์ในปัจจุบันที่ KBTG มองว่ามีความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจที่จะนำมาต่อยอดพัฒนามาสู่สินค้าและบริการอย่างใดอย่างหนึ่งของ KBTG ต่อไปในอนาคต
- LVM AI: Large Vision Model เอไอที่เข้าใจภาพใหญ่ทั้งหมด
ดร.ทัดพงศ์ ระบุว่า LMV AI คือโมเดล AI ที่ยกระดับจาก AI ที่เข้าใจภาพแบบเดิมไปอีกขั้นมีความสามารถในเรื่องของ Attention ในรูปภาพ มองเห็นภาพในจุดเล็กๆและเข้าใจบริบทของภาพใหญ่ได้ เรียกว่ามีความสามารถในการ “มองภาพ” ที่ใกล้เคียงมนุษย์
ดร.ทัดพงศ์ เชื่อว่าเทคโนโลยีนี้จะมาช่วย Develop โมเดล AI ตัวเล็กๆที่มีความสามารถแบบเฉพาะทางอื่นๆ ได้อีกมากมาย โดยเฉพาะการช่วยนักพัฒนาทำ Labelling หรือ “การติดป้ายกำกับข้อมูล” เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นนำไปให้ AI เรียนรู้ กระบวนการซึ่งเดิมทีต้องใช้เวลาทำหลักหลายชั่วโมง หลายวันหรือ เป็นเดือนๆ กระบวนการนี้ดร.ทัดพงศ์ ระบุว่าคิดเป็นต้นทุนมากถึง 70-80% ของต้นทุนการพัฒนาโมเดล AI ทั้งหมดก็ว่าได้ แต่ LVM AI จะสามารถทำสิ่งนี้ได้ในไม่กี่คลิกเท่านั้น
ดังนั้นการมีเทคโนโลยี LVM AI จึงมีความเป็นไปได้ที่จะสร้างโอกาสทางธุรกิจต่อไปได้เป็นเหตุผลให้เมื่อไม่นานมานี้ KBTG โดย KXVC ซึ่งมีงบลงทุนในด้าน AI และ Web 3 ถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้าไปลงทุนใน Landing AI บริษัทสตาร์ทอัพที่พัฒนา LVM AI เพื่อ Scale การพัฒนาให้มีความสามารถและอาจนำมาผสานกับเทคโนโลยีต่างๆของ KBTG ได้ต่อไปในอนาคต ซึ่งในเวลานี้ KBTG Labs ก็กำลังนำมาพัฒนา Vision Model ตัวย่อย ซึ่งสามารถทำ labelling ได้อย่างรวดเร็วลดเวลาจากเดิมที่ต้องใช้เวลานานเป็นชั่วโมงให้เหลือเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น
- Multi-Modal AI: เอไอที่เข้าใจข้อมูลหลายประเภท
เทรนด์ Multi-Modal AI หรือ LXM นี้ดร.ทัดพงศ์ระบุว่าเป็น Foundation Model ที่สามารถเข้าใจข้อมูลหลากหลายรูปแบบเช่น Text, Vision, Voice, Language, Depth, Momentum, Heat สามารถinput ข้อมูลแบบหนึ่งและ output ข้อมูลอีกรูปแบบหนึ่งได้ ซึ่งเทคโนโลยีนี้เป็นสิ่งที่บริษัทยักษ์ใหญ่หลายบริษัทกำลังพยายามทำและใช้งบประมาณมหาศาลในการพัฒนา
เทคโนโลยีนี้จะสามารถ Generate คอนเทนต์ได้จากข้อมูลรูปแบบหนึ่งออกมาเป็นข้อมูลอีกรูปแบบหนึ่งได้ เช่นเรา input เสียงมอเตอร์ไซค์เข้าไปก็สามารถ generate ภาพรถมอเตอร์ไซค์ออกมาได้หรือ input เสียงนกเข้าไปแล้ว AI สามารถ generate ภาพนกชนิดนั้นๆออกมาได้เป็นต้น ซึ่ง ดร.ทัดพงศ์ระบุว่า เทรนด์ AI รูปแบบนี้ต้องใช้ทรัพยากรมหาศาลในการพัฒนา แต่ก็ KBTG ก็จับตามองพัฒนาการนี้อย่างใกล้ชิดและมองว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีอนาคตซึ่งโลกจะเดินต่อไปในทิศทางนี้
- Multi-Agent AI: เอไอหลายบทบาทที่ทำงานร่วมกันได้
Multi-Agent AI หรือ Multi-Agent System สิ่งนี้เกิดขึ้นได้เพราะ LLMs มีความสามารถในการสื่อสารภาษามนุษย์ สามารถกำหนดบทบาท และสามารถแบ่ง Task ทำงานเป็นหลายๆ Task ได้ทำให้ปัจจุบันสามารถสร้าง Multi-Agent AI หรือ AI ที่มีบทบาทต่างๆกันให้ทำงานร่วมกันได้
เทคโนโลยีนี้ทำให้มีความเป็นไปได้ในการเกิด Virtual Organization การสร้างองค์กรแบบ virtual หรือ Solo Entrepreneur การสร้างธุรกิจขึ้นด้วยตัวคนเดียวโดยมี AI เป็นผู้ช่วยเทรนด์ที่เราเริ่มเห็นในหน้าข่าวในช่วงปีที่ผ่านมาบ้างแล้ว เพราะมนุษย์สามารถกำหนดบทบาทให้ AI ทำหน้าที่ต่างๆกันและยังสามารถสื่อสารระหว่างกันได้ช่วยทำงานบางอย่างแทนเจ้าของธุรกิจที่สามารถหันไปโฟกัสกับงานด้านอื่นๆได้
ยกตัวอย่างเช่นมนุษย์อยากให้ AI วิเคราะห์หุ้นและสร้างกราฟขึ้นมาให้เห็นชัดเจน มนุษย์ก็สามารถกำหนดบทบาทให้ Analyst AI ไปคุยกับ Tech Support AI เพื่อให้พล็อตกราฟหุ้น สื่อสารกันไปมาจนได้กราฟที่ทำออกมาได้อย่างถูกต้องเป็นต้น สิ่งนี้เป็นอีกหนึ่งอนาคตที่เริ่มเกิดขึ้นจริงและมีหลาย Use Case ให้เราเห็นอย่างต่อเนื่อง
- Rational AI: เอไอที่ให้เหตุได้เหมือนมนุษย์
ปัจจุบันแม้ว่าโมเดล LLMs จะพัฒนาไปจนสามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลายวิธี สามารถสื่อสาร ตอบคำถามได้เหมือนมนุษย์คนหนึ่ง แต่ดร.ทัดพงศ์ ระบุว่าหนึ่งในปัญหาของ AI ที่ยังพัฒนาไปไม่ถึงก็คือ “การให้เหตุผล” หรือการมี logic ที่เหมือนมนุษย์
ยกตัวอย่างเช่นถ้าเราถามว่า “ทำอย่างไรถึงจะชนะ” AI ก็อาจจะตอบว่า “แพ้ชนะไม่สำคัญ” หรือบางครั้งอาจไม่ตอบเลยก็ได้เพราะขอบเขตการให้ให้ผลนั้นซับซ้อนมากเกินไป การให้เหตุผลลักษณะที่ซับซ้อนมากๆ ยังคงมี Gap ที่ยังไปไม่ถึงระดับมนุษย์อยู่ ดังนั้นในเวลานี้วงการ AI ทั่วโลกกำลังลงทุนไปในเรื่องนี้ซึ่งสิ่งนี้นอกจากจะพัฒนาให้ AI ให้เหตุผลได้อย่างถูกต้องหรือเป็นเหตุเป็นผลแบบที่มนุษย์เข้าใจได้แล้ว ยังจะช่วยให้มนุษย์สามารถเข้าใจ “วิธีคิด” ของ AI ต่อคำตอบหรือผลลัพธ์ที่ AI ให้มาได้ด้วย
คุณทัดพงศ์ ระบุว่า Rational AI เป็นเทรนด์ที่สำคัญมากโดยเฉพาะเมื่อโลกกำลังให้ความสำคัญกับResponsible AI หรือ AI ที่มีความรับผิดชอบ ที่เน้นมากกว่าแค่คำตอบของ AI แต่ยังมีเรื่องของ Explainable AI หรือ AI ที่สามารถอธิบายที่มาที่ไปจากทุกคำตอบได้ด้วย สิ่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งอนาคตที่ KBTG มองไป
- Domain-Specific AI: เอไอ ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
Domain-Specific AI หรือ Vertical AI คือ LLMs พัฒนาเพื่อนำไปใช้ในเรื่องเฉพาะทาง ไม่จำเป็นต้องมีข้อมูลที่กว้างจนเกินความจำเป็นแต่จะเก่งและเชี่ยวชาญในบางเรื่องเท่านั้น ซึ่งดร.ทัดพงศ์ ยกตัวอย่างการสร้าง Domain-Specific AI จากการพัฒนา LMV AI ให้เก่งเฉพาะด้านเช่น การนำมาใช้ในงานพยาธิวิทยา วินิจฉัยโรคจากภาพขยายเซลล์หรือภาพเอกซเรย์ หรือนำไปใช้ในงานตรวจสอบ Defectของวงจร Semiconductor ที่ทำงานได้ดีกว่า LLMs ทั่วไปนั่นเอง
สำหรับเทรนด์ Domain-Specific AI นี้จึงเป็นที่มาของการพัฒนา LLMs ที่เป็นพื้นฐานของ AI ที่ KBTG วิจัยและพัฒนาขึ้นมาหลายๆตัวโดย KBTG Labs ก่อนหน้านี้เช่น “Future You” ที่ปรึกษา AI ที่จะช่วยให้เราได้ปรึกษาพูดคุยกับตัวเราเองในอนาคต เพื่อให้ช่วยยกระดับความคิดและการพัฒนาตัวเอง, “คู่คิด” ที่ปรึกษาด้านการเงินที่จะให้เราได้พิจารณาจากสองมุมมอง รวมไปถึง Luna ครู AI ที่สามารถสอนโดยให้ผู้เรียนได้คิดตามไปด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง LLM ตัวล่าสุดที่ KBTG เพิ่งเปิดตัวออกมาอย่าง “THaLLE” LLM ภาษาไทยที่เชี่ยวชาญในด้านการเงิน และยังเป็น LLM แรกของไทยที่สามารถ สามารถสอบผ่านข้อสอบ Chartered Financial Analyst (CFA) ข้อสอบที่เรียกว่าเป็น Gold Standard ของคนทำงานสายที่ปรึกษาทางการเงินก็ว่าได้
ดร. มนต์ชัย เลิศสุทธิวงค์ Principal Research Engineer และ คุณพัชรินทร์ อารีย์วงศ์ ผู้เคยเป็นส่วนหนึ่งของทีม Natural Language Processing ของ Google Assistant ซึ่งปัจจุบันมาเป็นส่วนหนึ่งของเป็น Gemini ผู้ที่ตอนนี้กลับมาดำรงตำแหน่ง Principal Innovation Product and Partnership ที่ KBTG เล่าให้ฟังถึง THaLLE ว่าเป็น Large Language Extension หมายถึงการพัฒนาขึ้นมาจาก Foundation Model ที่มีอยู่แล้วแต่เทรนด้วย Data ด้านการเงินภาษาไทยจำนวนมหาศาล ซึ่ง KBTG ใช้เงินลงทุนเรื่อง Data เหล่านี้ถึง 60-70% ของเงินลงทุนพัฒนา THaLLE ทั้งหมด
คุณพัชรินทร์ ระบุว่า THaLLE พัฒนาโดยทีมคนไทยทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อจะเป็น Commodity ที่นักพัฒนาสามารถนำไปใช้ต่อยอดเป็นบริการต่างๆได้ฟรี เพื่อให้สามารถเพิ่มความรู้ทางการเงินทั้งสำหรับธุรกิจรวมถึงคนไทย ยกระดับ Financial Literacy เป็นรากฐานให้กับสังคมต่อไป
ที่เล่ามาทั้งหมดนี้เป็นเพียงเทคโนโลยี AI บางส่วนที่ KBTG พัฒนาขึ้นมาสอดรับกับเทรนด์ของเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน ยังไม่นับรวมถึงเทคโนโลยี AINU เทคโนโลยียืนยันตัวตนที่พัฒนาจนนำออกขายได้แล้วผ่าน KX เทคโนโลยีที่อยู่ระหว่างการพัฒนาโดย KBTG Labs อย่าง “Pipek” Predictive AI ที่จะมาช่วยประเมินมูลค่าสินทรัพย์ของธนาคาร รวมไปถึง “Neramitr” AI ที่ช่วยสร้างภาพตกแต่งภายในให้กับสินทรัพย์ขายทอดตลาด เป็นต้น
และนี่ก็คือมุมมองของ KBTG กับ 5 เทรนด์ AI ที่มีอนาคตที่จะยกระดับความสามารถของ AI ให้เก่งและตอบสนองความต้องการของมนุษย์ในด้านต่างๆได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้เห็นวิสัยทัศน์ของบริษัทผู้นำด้าน AI ของประเทศไทยในการจับเทรนด์และพัฒนาเทคโนโยลี AI อย่างต่อเนื่องไม่ใช่เพื่อผลกำไรทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ทำเพื่อยกระดับสังคมไทยไปพร้อมๆกันด้วย