“The Talkable Bus Shelter ป้ายรถเมล์พูดได้” โดย FWD ประกันชีวิต แก้ pain point ตรงจุด ช่วยได้ทั้งผู้พิการทางสายตาและผู้ใช้งานทั่วไป ตอบโจทย์ด้านความเท่าเทียม

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

 

การเดินทางถือเป็นส่วนหนึ่งในกิจวัตรประจำวันของทุกคน หากเป็นคนปกติทั่วไป การเดินทางโดยสารด้วยรถประจำทางนับเป็นเรื่องปกติธรรมดาในชีวิตประจำวัน แต่สำหรับกลุ่มผู้ที่พิการทางสายตาถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะมีข้อจำกัดและต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมากในการเดินทาง การร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเท่าเทียมทางสังคม จึงทำให้เกิดเป็นแคมเปญ The Talkable Bus Shelter ป้ายรถเมล์พูดได้” ไอเดียสุดครีเอทจาก FWD ประกันชีวิต ที่ร่วมกับ GREYNJ UNITED ในการคิดครีเอเทีฟโซลูชั่น โดยใช้เทคโนโลยีควบคู่กับความคิดสร้างสรรค์ จนออกมาเป็นการสร้าง “ระบบเสียงอัจฉริยะ” เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการทางสายตาใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะได้อย่างสะดวก ด้วยการเตือนให้ทราบถึงรถเมล์ที่กำลังจะมา และเตรียมตัวเดินทาง เพื่อไปถึงจุดที่หมายที่ต้องการได้อย่างปลอดภัย

Pain Point สำคัญของการใช้บริการป้ายรถเมล์ของผู้พิการทางสายตา

FWD ประกันชีวิต ได้ศึกษาข้อมูลจากรายงานสถานการณ์ด้านคนพิการทางการมองเห็นในประเทศไทย โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่า ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566) ประเทศไทยมีผู้พิการทางสายตา จำนวน 184,622 คน ที่มีการเดินทางเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน รวมกับข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึก (in-depth interview) กับผู้พิการทางสายตาภายใต้การดูแลของมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ทำให้เราพบว่า ผู้พิการทางสายตาส่วนใหญ่เลือกใช้การเดินทางประจำวันด้วยรถโดยสารประจำทาง แต่ paint point สำคัญคือ มักจะพลาดรถประจำทางสายที่ต้องการ เนื่องจากไม่สามารถรับรู้ถึงสายรถประจำทางที่ต้องการได้อย่างชัดเจน จนกระทั่งเมื่อแคมเปญได้นำร่องเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา บริเวณป้ายรถเมล์ที่ใกล้กับสถานที่ที่ผู้พิการทางสายตาใช้เป็นประจำ จำนวน 10 ป้ายรถเมล์ ครอบคลุมเส้นทางการเดินรถเมล์ 46 สาย ทาง FWD ประกันชีวิต จึงได้ร่วมกับ Homerun Consulting ที่ปรึกษาด้านการทำวิจัย ทำการวิจัยศึกษาอินไซต์และสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มผู้พิการทางสายตาที่ใช้บริการรถเมล์ ทำให้พบว่า key finding ของ pain point ที่พบก่อนและหลังแคมเปญตรงกัน

นอกจากนั้น ยังพบปัญหาสำคัญเพิ่มเติมซึ่งผู้พิการทางสายตาได้เล่าให้เราฟังว่าบางครั้ง รถเมล์ที่รอก็เข้าจอดไม่ตรงป้าย ยิ่งเวลาที่ไม่มีผู้โดยสารคนอื่นยืนรออยู่ด้วย ก็จะทำให้รถเมล์ไม่ได้เข้ามาจอด หรือในบางครั้งผู้พิการทางสายตาก็ไม่สามารถสอบถามหรือขอความช่วยเหลือจากใครได้ ดังนั้น การมีระบบเสียงอัจฉริยะที่ป้ายรถเมล์ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ดี เพื่อเตือนให้ผู้พิการทางสายตาทราบถึงรถโดยสารที่กำลังจะมา และเตรียมตัวเดินทาง

เสียงสะท้อนจากประสบการณ์ของผู้ใช้จริง

“ปัญหาปัจจุบันคือคนตาบอดนี่เวลาเราจะเดินทาง ถ้าจะใช้รถเมล์ เราก็ต้องไปที่ป้ายรถเมล์แล้วสุดท้ายเราก็ต้องพยายามหาคนแถวนั้นที่อยู่บริเวณป้ายช่วยบอกว่า มองสายรถเมล์ให้หน่อยนะคะ เพราะเราไม่รู้ว่าสายที่มานี่เป็นรถเมล์สายอะไร ใช่สายที่เราต้องการจะขึ้นหรือเปล่า อันนั้นคือปัญหาแรก

ส่วนปัญหาที่สอง คือเราไม่รู้ว่ารถเมล์ที่เราต้องการจะไปใช้บริการต้องรออีกนานแค่ไหนถึงจะมา หรือว่าไปแล้วต้องรออีกนาน ทีนี้พอคนที่เขามาช่วยเราดูสายรถเมล์ ถ้าแบบนานมากบางทีรถของเขามาแล้วเขาก็จำเป็นที่จะต้องไปก่อน คนตาบอดก็จะแบบต้องหาคนมองสายรถให้ใหม่ มันก็เลยทำให้เราแบบ หนึ่ง คือรออย่างไร้จุดหมาย สอง คือเราก็ต้องคอยพึ่งพาคนอื่น

“พอเรามี ‘ป้ายรถเมล์พูดได้’ มันช่วยได้มากเลยนะคะ เพราะทำให้เรารู้ได้ว่ารถเมล์สายที่เราต้องการจะไปมารึยัง อีกสักกี่นาทีจะมาถึง ก็จะทำให้เราสามารถจัดการชีวิต บริหารเวลาต่างๆ ได้ง่ายขึ้น คือถ้าคนพิการเข้าถึงได้ คนทั่วไปก็ใช้ได้อยู่แล้ว” หนึ่งในผู้ตอบแบบสอบถามของ Homerun เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์การใช้เส้นทางที่มีป้ายรถเมล์พูดได้ติดตั้งอยู่

 

จากรายงานการสำรวจ พบว่า ร้อยละ 84 ของผู้ใช้บริการเคยได้ยินหรือทราบถึงแคมเปญ ร้อยละ 94 เคยมีประสบการณ์ใช้บริการ โดยแบ่งเป็นเพศชายร้อยละ 53 และเพศหญิงร้อยละ 47 อายุโดยเฉลี่ยผู้ใช้งานอยู่ที่ 38 ปี

ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพขายล็อตเตอรี่มากถึงร้อยละ 50 รองลงมาคือ พนักงานนวด เจ้าหน้าที่ธุรการสมาคม และอาชีพอื่นๆ ซึ่งผู้ใช้งานมักจะเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทางเพื่อไป-กลับระหว่างบ้านและที่ทำงานเป็นหลัก โดยเฉลี่ยเดินทางประมาณ 8 ครั้งต่อสัปดาห์ และใช้เส้นทางประจำนี้ประมาณ 5 ครั้งต่อสัปดาห์ ชี้ให้เห็นถึงความรู้สึกในด้านบวก การให้ความสนใจ และการได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการใช้งาน

 

ฟีดแบ็คจากผู้พิการทางสายตา การช่วยแก้ปัญหาการรอรถเมล์ที่ตรงจุด

สำหรับระบบเสียงอัจฉริยะจากป้ายรถเมล์พูดได้สามารถตอบโจทย์ผู้พิการทางสายตาให้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะได้อย่างสะดวกมากขึ้น มีเวลาเตรียมตัวเพื่อขึ้นรถโดยสาร อีกทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานทราบว่า รถเมล์สายไหนที่กำลังจะเข้าจอดที่ป้าย ช่วยลดโอกาสการขึ้นรถเมล์ผิดสาย ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากขึ้น รู้สึกดีที่ได้พึ่งพาตนเอง ไม่ต้องรบกวนและเป็นภาระคนรอบข้าง รวมถึงผู้ใช้งานยังได้ชวนให้ผู้พิการทางสายตาด้วยกันมาลองใช้งาน และมองว่าป้ายรถเมล์พูดได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการตระหนักรู้ถึงความเท่าเทียมกันในสังคม

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะให้มีการติดตั้งระบบเสียงอัจฉริยะบนรถเมล์เพิ่มเติมด้วยว่า ขณะนี้อยู่ที่ไหน และป้ายต่อไปคือที่ไหน เหมือนกับบนรถไฟฟ้า รวมทั้งอยากให้มีการพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับผู้พิการทางสายตาขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อช่วยแจ้งเตือนด้วย

“บทสรุปจากผลวิจัยแคมเปญ “The Talkable Bus Shelter ป้ายรถเมล์พูดได้” คือ การเดินถูกทางในการที่จะช่วยยกระดับความเท่าเทียม นอกเหนือจากการสร้างความตระหนักรู้ เรายังได้ลงมือทำให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง พร้อมทั้งการได้ลงพื้นที่สำรวจ feedback ทำให้ได้ learning เพิ่มเติมเพื่อนำมาพัฒนาต่อได้ FWD ประกันชีวิต ในฐานะองค์กรที่สนับสนุนด้านความหลากหลาย ความเท่าเทียม และเคารพทุกความแตกต่างกันในสังคม รู้สึกภูมิใจที่แคมเปญของเราได้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา pain point ในเรื่องการเดินทางโดยรถสาธารณะของกลุ่มผู้พิการทางสายตา ซึ่งนับว่าเป็นอีกโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม อีกทั้งยังช่วยยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการทางสายตาในด้านการเดินทางให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น โดยเรายังคงมุ่งมั่นที่จะลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างประโยชน์ให้สังคมอย่างต่อเนื่อง ตามเป้าหมายของ FWD ที่สนับสนุนให้ผู้คนในสังคมไทยได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่แบบไม่ต้องกังวล” ปวริศา ชุมวิกรานต์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาด บริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ FWD ประกันชีวิต กล่าว


  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!