ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้า เป็นเทรนด์ที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกในปี 2023 ที่ผ่านมามากถึง 76,314 คัน เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2022 ถึงเกือบ 700% โดยสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าเมื่อเทียบกับรถยนต์จดทะเบียนทั้งหมดในปี 2023 ยังมีสัดส่วนถึง 12% มากกว่าค่าเฉลี่ยจากทั่วโลกอีกด้วย
สถิติเหล่านี้ทำให้เห็นว่ารถยนต์ไฟฟ้าเป็นเทรนด์ที่กำลังมาในประเทศไทย และเชื่อว่ารถยนต์ไฟฟ้าน่าจะกลายเป็นตัวเลือกในการซื้อรถคันต่อไปของหลายๆ คน อย่างไรก็ตามสำหรับอีกหลายๆ คนรถยนต์ไฟฟ้าก็ยังไม่ใช่ยานพาหนะที่ตอบโจทย์ชีวิตในเวลานี้เพราะอาจมีข้อจำกัดอยู่หลายเรื่องด้วยกัน และนี่คือ 5 เหตุผลของคนที่ยังไม่คิดจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในเวลานี้ที่เรารวบรวมมาให้ประกอบการพิจารณาและตัดสินใจ
- วิถีชีวิตที่ไม่เหมาะกับการใช้รถ EV
หากจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเรื่องสำคัญที่ต้องคิดถึงเป็นเรื่องแรกก็คือ “วิถีชีวิต” ของเราว่าเหมาะกับการใช้รถไฟฟ้าหรือไม่ เพราะรถยนต์ไฟฟ้าจะเหมาะกับคนที่อยู่ “บ้าน” ของตัวเองมากกว่าการอยู่ “คอนโดมิเนียม” หรือแม้แต่การอยู่ “บ้านเช่า” เพราะการติดตั้ง Home Charger จะทำให้การใช้รถยนต์ไฟฟ้าสะดวกและคุ้มค่ามากที่สุด เพราะเราสามารถชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็มได้ในช่วงเวลากลางคืน ไม่ต้องออกไปเสียเวลาชาร์จนอกบ้าน นอกจากนี้การชาร์จรถในเวลากลางคืน ช่วงเวลา off peak ที่ค่าไฟจะถูกที่สุดในช่วงวัน ข้อดีเหล่านี้ต่างจากคนที่อยู่คอนโดมิเนียมที่ส่วนใหญ่จะมีที่จอดรถให้ลูกบ้านจำนวนจำกัด และบางครั้งก็ไม่อนุญาตให้ติดตั้ง Home Charger ของตัวเอง เช่นเดียวกับคนที่อยู่ห้องเช่าหรือบ้านเช่าที่การจะติดตั้ง Home Charger ถาวรก็ไม่คุ้มค่าเช่นกัน
อีกเรื่องก็คือรถยนต์ไฟฟ้ายังเหมาะเฉพาะกับวิถีชีวิตคนเมืองที่ใช้รถยนต์ระยะทางไม่ไกล หรือเดินทางไปจังหวัดใกล้เคียงบ้าง แต่ไม่เหมาะกับคนที่ต้องเดินทางไกล หรือเดินทางออกต่างจังหวัดบ่อยๆ โดยเฉพาะการเดินทางไกลเกินกว่า 300 กิโลเมตร เพราะจะทำให้ต้องจอดชาร์จระหว่างทางและทำให้ต้องเสียเวลาเดินทางเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 30 – 45 นาที หรืออาจถึง 1 ชั่วโมงได้ ดังนั้นใครที่มีวิถีชีวิตแบบนี้รถยนต์น้ำมัน หรือรถยนต์ไฮบริดอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในเวลานี้
- เทคโนโลยียังไม่นิ่งยังอยู่ในช่วงก้าวกระโดด
เวลานี้เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้านั้นกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เหมือนกับยุคเริ่มต้นของสมาร์ทโฟนหน้าจอสัมผัสที่ในช่วงปีแรกๆ สมาร์ทโฟนจะ “ตกรุ่น” อย่างรวดเร็วเพราะการเกิดขึ้นของสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ที่มีเทคโนโลยีที่ดีกว่าจนกระทั่งในช่วงปีหลังที่สมาร์ทโฟนแต่ละรุ่นมีราคาที่ถูกลง ไม่ตกรุ่นเร็วและสามารถใช้งานได้นานขึ้นเพราะเทคโนโลยีพัฒนาไปจน “อยู่ตัว” แล้วนั่นเอง
เทคโนโลยีของรถยนต์ไฟฟ้าก็เช่นกันที่ในเวลานี้เทคโนโลยีแบตเตอรี่ยังมีราคาแพง ซึ่งในอนาคตเทคโนโลยีแบตเตอรี่จะสามารถพัฒนาไปได้อีก ทั้งในเรื่องต้นทุนที่จะถูกลงและการทำระยะทางได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องของเทคโนโลยีที่พัฒนาไปรวดเร็วทำให้รถตกรุ่นอย่างรวดเร็วเกิดขึ้นกับโมเดลธุรกิจ EV Sharing ในประเทศจีนที่ปัจจุบันรถรุ่นแรกๆ ถูกจอดทิ้งเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเวลานี้หลายคนก็มองว่าการรอให้เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าพัฒนาไปจน “อยู่ตัว” จนสามารถทำระยะทางต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้งได้มากขึ้นและมีราคาที่ถูกลงอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้ากลายเป็นรถยนต์ที่คนใช้มากกว่ารถยนต์น้ำมัน ในแบบที่ iPhone เคยทำได้และพลิกตลาดสมาร์ทโฟนมาแล้ว
- ต้นทุนแฝงที่คุณอาจไม่รู้
การใช้รถยนต์ไฟฟ้าแน่นอนว่ามี “ค่าพลังงาน” ไฟฟ้าต่อระยะทาง 1 กิโลเมตรที่ถูกกว่าน้ำมันอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้ก็คือ “ต้นทุนแฝง” ที่มีมากกว่ารถยนต์น้ำมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแวะ “ชาร์จนอกบ้าน” ที่นอกจากจะมี “ต้นทุนด้านเวลา” จากการชาร์จอย่างน้อย 30-45 นาทีแล้ว แต่สิ่งที่คนใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะต้องจ่ายเพิ่มก็คือ “ค่าใช้จ่ายจากการรอ” ที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นค่ากาแฟ ค่าอาหาร หรือแม้แต่การชอปปิง ซึ่งต้นทุนแฝงที่ว่านี้คิดเป็น “มูลค่ามหาศาล” จนผู้ให้บริการปั๊มน้ำมันหลายๆ เจ้ามองเห็นโอกาส และตัดสินใจเปลี่ยน “ปั๊มน้ำมัน” ที่มีจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้กลายเป็น “Community Mall” หรือ “Shopping Mall” อย่างที่เราเห็นปั๊มน้ำมันเปิดใหม่ๆ จะมีโมเดลลักษณะนี้เป็นส่วนใหญ่แล้ว
รถยนต์ไฟฟ้ายังมีต้นทุนแฝงอื่นๆ อีกนอกจากราคารถที่แพงกว่ารถยนต์น้ำมันแล้ว ยังมี “เบี้ยประกัน” ที่แพงกว่ารถยนต์น้ำมันถึงเกือบ 2 เท่าตัว สาเหตุก็เป็นเพราะค่าซ่อมบำรุงที่ยังแพงโดยเฉพาะแบตเตอรี่ที่เมื่อเสียหายแล้วต้องเปลี่ยนก็ต้องใช้เงินเกือบเท่าราคารถอย่างที่เราเห็นข่าวไปก่อนหน้านี้
นอกจากราคาแบตเตอรี่แพงแล้ว ราคา “ยางสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า” ยังราคาแพงกว่า “ยางรถยนต์” น้ำมันที่เราเคยใช้กัน เนื่องจากแรงบิดของรถยนต์ไฟฟ้า น้ำหนักตัวรถที่มากกว่า เสียงเครื่องยนต์ที่เงียบ ทำให้ยางรถยนต์ไฟฟ้าต้องมีเทคโนโลยีระดับสูง มีความแข็งแกร่งรับแรงบิดได้ดี และยังต้องเป็นยางที่ “เสียงเงียบ” ด้วยเพื่อไม่ให้เสียงยางบดถนนเข้าไปรบกวนในห้องโดยสาร
ไม่เท่านั้น รถยนต์ไฟฟ้ายังมีต้นทุนแฝงอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกเช่น Home Charger ที่อาจต้องซื้อเองในกรณีที่แบรนด์รถยนต์ไม่ได้แถมมาพร้อมกับตัวรถ รวมไปถึงต้นทุนจากการเพิ่มขนาดมิเตอร์ให้รองรับกับการติดตั้ง Home Charger การเดินสายไฟจากตู้เมนของบ้านไปยังจุดชาร์จรถในบ้าน รวมไปถึงการขอเปลี่ยนมิเตอร์เป็นแบบ TOU กับการไฟฟ้าเพื่อให้การชาร์จไฟในช่วงเวลา Off-Peak มีราคาที่ถูกลง ในส่วนนี้ก็อาจจะต้องจ่ายเงินเพิ่มรวมแล้วอีกหลายหมื่นบาทได้เช่นกัน ยังไม่ต้องพูดถึงต้นทุนจากค่าเสื่อมที่เยอะมากกว่ารถยนต์น้ำมันเพราะรถยนต์ไฟฟ้าขายต่อไม่ได้ราคาที่ดีเหมือนกับรถน้ำมัน
- สถานีชาร์จที่ยังมีจำกัด
ปัจจุบันเราเห็นข่าวดราม่าเกี่ยวกับจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในที่ต่างๆ เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจอดในช่องชาร์จโดยไม่ได้จอง จอดชาร์จแช่ไว้แล้วไม่ถอยรถออก เป็นต้น สิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะคงหนีไม่พ้นสาเหตุจากจำนวนสถานีชาร์จรถEV เติบโตไม่ทันกับจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดประเทศไทย โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยธนาคารกสิกรไทยเผยแพร่งานวิจัยเมื่อเดือนตุลาคม 2023 ที่ผ่านมาพบว่าจำนวนสถานีชาร์จไฟสาธารณะในประเทศไทยมีจำนวนไม่เพียงพอตามยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้ประชาชนบางส่วนยังชะลอการซื้อ โดยประเทศไทยมีอัตราการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 16.5 คัน ต่อ 1 หัวชาร์จ ต่างจากยุโรปที่มีอัตราส่วน 15.9 คัน ต่อ 1 หัวชาร์จ
ไม่ใช่แค่ปัญหาการสถานีชาร์จมีไม่เพียงพอเท่านั้น แต่ปัจจุบันคนใช้รถยนต์ไฟฟ้ายังต้องทำความเข้าใจกับขั้นตอนการชาร์จรถไฟฟ้านอกบ้านที่ยุ่งยากโดยเฉพาะการมีผู้ให้บริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่มีจำนวนมาก ทำให้เราต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมากตามไปด้วย โดยแอปพื้นฐานที่ต้องมีก็คือ Evolt, EA Anywhere, PlugShare, MEA EV, EV Station PluZ ,PEA VOLTA เป็นต้น ซึ่งแต่ละแอปพลิเคชันก็จะมีขั้นตอนของการสมัคร การจองคิว รวมไปถึงรูปแบบการชำระเงินที่แตกต่างกันไปด้วย นับเป็นอีกหนึ่งความยุ่งยากที่ต้องคำนึงถึงมากกว่าการใช้รถยนต์น้ำมัน
- ความเสี่ยงของการเกิดไฟไหม้
แบตรถ EV แม้จะมีเปอร์เซ็นต์ความเสี่ยงที่จะเกิดไฟไหม้น้อยกว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาปหลายเท่าตัว แต่หากเกิดไฟไหม้ขึ้นแล้วจะทำให้พลังงานที่หนาแน่นในแบตเตอรี่ปลดปล่อยออกมากลายเป็นความร้อนที่สูงมากกว่าจากไฟที่เกิดจากน้ำมัน แบตเตอรี่ลิเทียมไออนจะมีปฏิกิริยาเคมีที่เป็นพิษมากกว่า และยังเป็นการเผาไหม้ที่ไม่ต้องพึ่งพาออกซิเจนจากภายนอก มีโอกาสปะทุขึ้นใหม่หลังจากดับไปแล้วได้ง่ายกว่า ทำให้การดับไฟด้วยวิธีการปกติทำได้ยาก และด้วยความที่รถยนต์ไฟฟ้ายังคงเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่และอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดไฟไหม้ขึ้นยังมีน้อย ทำให้ในปัจจุบันเทคนิคหรือองค์ความรู้เกี่ยวกับการดับไฟที่เกิดจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าก็ยังคงจำกัด แม้แต่ในกลุ่มเจ้าพนักงานดับเพลิงก็ตาม เรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและต้องคำนึงถึงเช่นกันเมื่อใช้รถยนต์ไฟฟ้าในเวลานี้
นั่นเป็นเพียงเหตุผลบางส่วนที่ทำให้คนอีกกลุ่มหนึ่งเลือกที่จะยังไม่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้งานในเวลานี้และเลือกที่จะรอให้เทคโนโลยีมีความนิ่งมากกว่านี้ก่อน และสำหรับใครที่กำลังพิจารณารถยนต์ไฟฟ้าเป็นทางเลือก นอกจากจะพิจารณาถึงเหตุผลทั้ง 5 ข้อนี้แล้ว ปัจจุบันเราก็สามารถลองขับรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อสัมผัสประสบการณ์จริงในชีวิตประจำวันได้แล้วด้วยการ “เช่า” ซึ่งปัจจุบันก็มีรถยนต์ไฟฟ้าแทบทุกรุ่นให้ได้ลองเลือกมาใช้งาน วิธีการนี้ก็อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีก่อนที่จะติดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า และสุดท้ายรถยนต์น้ำมันหรือรถยนต์ไฮบริดอาจจะเป็นทางเลือกที่สะดวกและคุ้มค่ากับชีวิตของเรามากกว่าก็เป็นได้