ทำความรู้จัก ‘The Flowtime Technique’ เคล็ดลับที่จะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ในแบบฉบับของคุณเอง

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

 

เชื่อว่าหลายคนเคยได้ยิน เทคนิค pomodoro อันโด่งดังมาแล้ว เทคนิคที่ช่วยให้เราจัดสรรเวลาในการทำงานให้ออกมาดีและมีประสิทธิภาพ แต่สำหรับบางคนที่ลองใช้วิธีนี้แล้วอาจจะไม่ได้ผลก็ได้ ดังนั้น เรามีคำแนะนำเพิ่มที่อาจจะช่วยให้คุณทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นและคุณสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามธรรมชาติของคุณเอง ซึ่งเรียกกันว่า ‘The Flowtime Technique’ หรือ เทคนิคการทำงานตามจังหวะเวลาตัวเอง แล้วมันต้องทำอย่างไร

 

‘The Flowtime Technique’ คืออะไร?

ก่อนที่จะรู้ว่า ‘The Flowtime Technique’ ต้องทำอย่างไร มาทำความเข้าใจก่อนว่า ‘The Flowtime Technique’ มันคืออะไร

เทคนิคการทำงานตามจังหวะเวลาตัวเอง อันที่จริงก็มีความคล้ายคลึงกับ ‘เทคนิค pomodoro’ ที่ใช้การบี้งานให้จุกใน 25 นาที แล้วพักเบรก (สัก 5 นาที) แล้วกลับมาบี้งานต่อ แต่สิ่งที่แตกต่างคือ คุณสามารถกำหนดระยะเวลาในการบี้งาน หรือจดจ่ออยู่กับงานตรงนั้น ตามธรรมชาติของคุณเองเลย เช่น คุณเป็นคนมีสมาธิสูง อาจจะจดจ่อที่งานมากกว่า 25 นาที หรือเกินกว่านั้น และมีเป้าหมายในระยะสั้นคือการพักเบรกในจังหวะเวลาที่เหมาะสมของคุณเอง โดยมีเหยื่อล่อเป็นสิ่งที่คุณอยากทำหรือการพักเบรกอันหอมหวาน เป็นต้น เพื่อให้คุณลุยงานต่อไปได้

กุญแจสำคัญของเทคนิคนี้ก็คือ งานที่คุณทำจะไม่ขาดตอน ซึ่งสำหรับ ‘The Flowtime Technique’ คุณสามารถตัดสินใจเคาะเองได้ว่า คุณควรจะทำงานนานแค่ไหน แทนที่จะพึ่งพาเฟรมเวิร์ค ‘25 ลุย 5 เบรก’

วิธีตั้งค่า Flowtime ส่วนตัว ทำอย่างไร?

การตั้งค่า Flowtime ส่วนตัว ในแบบของคุณเองนั้น อาจจะไม่เหมือนกับ ‘เทคนิค pomodoro’ เพราะว่ามีการกำหนดลงไปว่า ให้ทำงานเท่านั้นเท่านี้เวลาแล้วพัก แต่สำหรับ Flowtime ส่วนตัวแล้ว คือการที่ธรรมชาติของแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน ดังนั้น คุณอาจจะต้องใช้เวลาสักหนึ่งสัปดาห์ในการค้นหาว่า Flowtime ส่วนตัว ของคุณนักจะเป็นสักเท่าไหร่ แล้วงานออกมาดีมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญไม่ทำให้คุณเครียดหรือตึงมากเกินไป จนนำไปสู่การใช้งานจริงได้ในที่สุด

 

4 ขั้นตอนการค้นหา ‘The Flowtime Technique’ ของคุณเอง

  1. ติดตามการทำงานของคุณเอง เมื่อุณเริ่มทำงานเฉพาะโดยไม่มีสิ่งรบกวน ซึ่งคุณอาจจะใช้ซอฟแวร์แทร์กกิ้ง ในการช่วยติดตามเวลาได้ หรือง่ายๆ เลยก็อาจจะเริ่มต้นด้วยสเปรดชีตแบบแมนนวนกรอกไปก่อนก็ได้ตามถนัด
  2. จดช่วงเวลาที่คุณเริ่มรู้สึกกระสับกระส่าย ฟุ้งซ่าน หรือเริ่มไขว้เขวออกจากงานที่ทำ หรือเบรกเอาดื้อๆ ซะอย่างนั้น
  3. และเมื่อกลับมาทำงานได้ต่อ ให้จดเวลานั้นลงไปด้วย
  4. ทำมันอีกครั้งจน หรือทำต่อไปเรื่อยๆ จนงานชิ้นนั้นเสร็จสิ้น

 

ลองทำลักษณะนี้ซ้ำๆ กันสัก 1 สัปดาห์ น่าจะทำให้คุณเข้าใจวิถีในการทำงานในแบบของคุณเองได้ แล้วคุณก็จะรู้ว่า สำหรับตัวคุณเองนั้น จะมีความสามารถในการจดจ่ออยู่กับงานสักประมาณกี่นาที แล้วก็จะกลับไปสานงานต่อได้นั้นกี่นาที ซึ่งเมื่อคุณค้นหาจนเจอแล้วก็ให้ปฏิบัติเช่นนั้นอย่างมีวินัย การทำงานของคุณนอกจากจะมีประสิทธิภาพแล้ว คุณยังสามารถคำนวณได้ว่างานของคุณต่อชิ้นนั้นจะเสร็จได้เมื่อไหร่ และมีกำหนดการที่เสร็จอย่างชัดเจนแน่นอนอีกด้วย

นอกจากนี้ คุณอาจจะชาเลนจ์ตัวเองเพิ่มขึ้น ด้วยการค่อยๆ เพิ่มเวลาขยี้งานให้มากขึ้นเพื่อทำให้งานเสร็จไวอย่างรวดเร็วก็ได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับธรรมชาติและความถนัดของคุณเองด้วย อย่างไรก็ตาม การทำสเปรดชีตจะช่วยทำให้ภาพการทำงานของคุณเห็นชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และสามารถปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นได้สะดวกมากขึ้นอีกด้วย

สำหรับ ‘The Flowtime Technique’ น่าจะเป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับ หรือทิปส์ในการทำงานอีกรูปแบบหนึ่งที่คุณสามารถนำไปใช้ปรับเปลี่ยนเข้ากับรูปแบบการทำงานของคุณเองได้ ถ้าใช้แล้วเวิร์คไม่เวิร์คอย่างไร ลองมาแลกเปลี่ยนกันดูนะคะ.


  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!