EXIM BANK เร่งยกระดับผู้ส่งออกรายย่อยสู่ “SMEs Green Exporters” ห่วงปรับตัวไม่ทันหลุดห่วงโซ่ Supply Chain

  • 504
  •  
  •  
  •  
  •  

 

ในขณะที่ภาคการส่งออกของไทยในปี 2566 ถูกปัจจัยลบทั้งในประเทศและต่างประเทศรุมเร้าจนใน 9 เดือนแรกของปีนี้ หดตัวถึง 3.8% เป็นผลมาจากปัจจัยลบอย่างทิศทางดอกเบี้ยโลกปรับตัวเป็นขาขึ้น เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อที่ได้รับแรงกดดันจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอันเป็นผลกระทบจากสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียอย่างต่อเนื่อง แต่ภาวะการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีมีสัญญาณจะฟื้นตัวได้ และอาจทำให้การส่งออกของไทยในปีนี้หดตัว 1-2%

ภายใต้ภาพรวมการส่งออกที่ไม่สดใส แต่การส่งออกของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อย (Micro, Small and Medium Enterprises : MSMEs) กลับขยายตัวสวนทางกับการส่งออกโดยรวม โดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รายงานการส่งออกของกลุ่ม MSMEs ว่า มีการขยายตัวในทุกตลาดหลัก ใน 8 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่าส่งออก 858,654.3 ล้านบาท หรือคิดเป็น 25,249.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 26.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดไต้หวันขยายตัวถึง 81.5% สหรัฐฯ 65.9% อินเดีย 56.1% จีน29.6% และ CLMV 11.3%  โดยสินค้าส่งออกสำคัญของกลุ่ม MSMEs ที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลไม้สด น้ำตาลทราย เครื่องจักรและอุปกรณ์ ยานยนต์และส่วนประกอบ และเหล็กและผลิตภัณฑ์จากเหล็ก เป็นต้น

 

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)

 

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า แม้การส่งออกของผู้ประกอบการกลุ่ม MSMEs ขยายตัวได้ดี แต่ในปี 2567 มีหลายปัจจัยเสี่ยงที่ผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะต้องระมัดระวัง ได้แก่ ต้นทุนทางการเงิน จากการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราดอกเบี้ย การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ รวมทั้งราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังต้องจับตามองปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่จะส่งผลกระทบตรง

ดร.รักษ์ กล่าวว่า ที่น่าเป็นห่วงคือ มาตรการเข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อมที่มีทั้งบังคับใช้แล้วอย่างการให้ติดฉลากสิ่งแวดล้อม (Ecolabel) สำหรับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การห้ามใช้สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC) ซึ่งเป็นสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และอุตสาหกรรมเครื่องทำความเย็นต่าง ๆ  การห้ามใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของทั้งโลก

“มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังถูกจับตามองอย่างมากในขณะนี้ คือ การเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งมีแนวโน้มจะถูกนำไปใช้ในหลายประเทศ เพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของประเทศให้เป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) รวมทั้งเพื่อปกป้องผู้ผลิตในประเทศไม่ให้เสียเปรียบผู้ผลิตจากต่างประเทศที่มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมีความเข้มงวดน้อยกว่า และยังมีมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) กับสินค้า 6 ประเภท ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย กระแสไฟฟ้า และไฮโดรเจน ที่สหภาพยุโรปเริ่มบังคับใช้เฟสแรกตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป ผู้นำเข้าสินค้าที่อยู่ภายใต้มาตรการ CBAM จะต้องเริ่มจ่ายภาษีคาร์บอนผ่านการจ่ายค่าธรรมเนียมใบรับรอง CBAM (CBAM Certificate) อย่างเต็มรูปแบบ” ดร.รักษ์ กล่าว

 

 

นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation-free Regulation : EUDR) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อห้ามการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายป่าไม้เข้าสู่ตลาด EU โดยครอบคลุมสินค้าโค-กระบือ โกโก้ กาแฟ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ถั่วเหลือง และไม้ รวมถึงผลิตภัณฑ์บางชนิดจากสินค้าเหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านเพื่อให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัว ก่อนที่กฎหมายดังกล่าวจะบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ในวันที่ 30 ธันวาคม 2567และผู้ประกอบการ SMEs ในวันที่ 30 มิถุนายน 2568

ดร.รักษ์ กล่าวต่อไปว่า มาตรการเหล่านี้ทางผู้ประกอบการรายใหญ่มีความพร้อมที่จะปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้เร็วกว่าผู้ประกอบการ SMEs ที่จะต้องยกระดับขึ้นไปสู่การเป็น “SMEs Green Exporters” ตอบโจทย์ Sustainability ให้เป็นไปตามกฎระเบียบและบริบทใหม่ของโลกที่ล้วนมุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียวและความยั่งยืน โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่อยู่ใน Supply Chain ของบริษัทขนาดใหญ่จะต้องปรับตัวตามเพื่อไม่ให้หลุดไปจากห่วงโซ่การผลิต เนื่องจากมีโอกาสสูญเสียโอกาสทางการตลาด โดยข้อมูลจาก Data Analytics ของ EXIM BANK (คำนวณจากข้อมูลปี 2562) ชี้ให้เห็นว่า SMEs ที่ส่งออกมีรายได้เฉลี่ยมากกว่าที่ขายในประเทศถึง 4 เท่า จึงควรมองหาลู่ทางในต่างประเทศที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการ

 

 

EXIM BANK ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พร้อมสนับสนุนภาคธุรกิจในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจสีเขียวด้วยการสนับสนุนสินเชื่อและการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้บทบาทของ Green Development Bank จะคงวิสัยทัศน์การเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนของไทยให้เติบโตในตลาดโลกอย่างยั่งยืน ตอบสนองแผนยุทธศาสตร์ชาติที่จะเป็นเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) และสนับสนุนให้เอกชนใช้ ESG (Environment, Social, and Governance) ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สังคม และสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน

ดร.รักษ์ กล่าวว่า การสนับสนุนลูกค้า SMEs ของธนาคารได้มีการสนับสนุนตลอด Value Chain ให้มีการปรับประสิทธิภาพการผลิตสอดรับกับกติกาการค้าระหว่างประเทศและเวทีโลก ส่งเสริมลูกค้าให้ขยายตลาดต่างประเทศผ่านกลไกของ Business Matching และ Value Chain Financing เพิ่มการเข้าถึงทางการเงินด้วยการร่วมบูรณาการกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนทางการเงิน และสร้างภูมิคุ้มกันความเสี่ยงด้านการลงทุนผ่านบริการรับประกันการส่งออก และ Buyer Risk Assessment  บ่มเพาะผู้ประกอบการอย่างครบวงจร ตลอดจนผลักดันให้เข้าสู่ E-commerce Platform เช่น Amazon, Alibaba

 

 

“ภายใต้บทบาทการเป็น Green Development Bank นี้ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนกันยายน2566 EXIM BANK มียอดคงค้างสินเชื่อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 60,298 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 37% ของสินเชื่อคงค้างทั้งหมด เพิ่มขึ้นถึง 37.36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผู้ประกอบการ SMEs 14,122 ล้านบาท คิดเป็น 23.42% จากสินเชื่อของ EXIM BANK ที่ให้การสนับสนุนธุรกิจสีเขียว โดยตั้งเป้าหมายจะขยายเป็น 50% ของพอร์ต ในปี 2570 ที่ผ่านมาได้นำพาผู้ประกอบการไทยไปปักหมุดธุรกิจพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศจำนวนกว่า 400โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตกว่า 8,800 เมกะวัตต์ ลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่า 100ล้านตัน โดยเป็นการสนับสนุนทางการเงินกว่า 68,600 ล้านบาท และสร้างมูลค่าการลงทุนกว่า 578,300 ล้านบาท” กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าว

 

 

ทั้งนี้ EXIM BANK จะมีการระดมทุนด้วยพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) อย่างต่อเนื่อง โดยได้ออก Green Bond  จำหน่ายแล้ว 8,500 ล้านบาท และในปี 2567 วางแผนออก Blue Bond เพื่อระดมทุนนำมาใช้กับโครงการที่เป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางทะเลโดยเฉพาะ เช่น พาณิชยนาวีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และอาจนำเสนอขายแก่นักลงทุนรายย่อยด้วย


  • 504
  •  
  •  
  •  
  •