13 ปี “บิ๊กเมาน์เท่น” ภาพสะท้อนมิวสิคเฟสติวัลไทย การเปลี่ยนผ่านตั้งแต่ยุคอนาล็อกถึงยุคดิจิทัล สู่การใช้ Data ในการทำงาน

  • 161
  •  
  •  
  •  
  •  

หากจะพูดถึงเทศกาลดนตรี หรือ มิวสิคเฟสติวัล ชื่อแรกๆ ที่ขึ้นมาในใจเลยก็คือ “บิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัล” (Big Mountain Music Festival) หรือที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่า “บิ๊กเมาน์เท่น” นั่นเอง 13 ปีแล้ว ที่เราเติบโตและรู้จักกับเทศกาลดนตรีชื่อดังนี้ จนอาจเรียกได้ว่าโตมากับมันเลยก็ได้ และปลายปีนี้อีกเช่นกันที่เขาจะเวียนมาบรรจบครบอีกรอบ

 

แต่อะไรทำให้เทศกาลดนตรีนี้ถึงเติบโตมาได้อย่างยาวนาน และเป็นเทศกาลดนตรีปิดท้ายปีที่ทุกคนต่างรอคอย ปีไหนไม่จัดสิจะถูกตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น อย่างไรก็ตาม มากไปกว่าการเป็นเทศกาลมิวสิกเฟสติวัล แต่ “บิ๊กเมาน์เท่น” คือภาพสะท้อนพัฒนาการของการจัดอีเวนต์คอนเสิร์ตที่ดีของเมืองไทยในหลายๆ มิติ ตั้งแต่ยุคที่ต้องไปซื้อบัตรหน้างาน จนมาถึงการซื้อผ่านออนไลน์ จนปัจจุบันมีการนำ Data และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ ซึ่งทีมผู้จัดจะมาเล่าให้ฟังว่า “บิ๊กเมาน์เท่น” มีการใช้ Data เข้ามาช่วยในการทำงานอย่างไร รวมทั้งความพิเศษในปีนี้โดย คุณป่าน – ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตและสร้างสรรค์งาน SHOWBIZ แบรนด์คลีเอทีฟ GAYRAY – GMM SHOW

 

เราเริ่มชวนคุณป่าน คุยถึงภาพรวมของความคึกคักในบรรยากาศของการจัดคอนเสิร์ตในเมืองไทยว่าปีนี้ค่อนข้างคึกคักมากทีเดียว จนเกิด #กรุงเทพเมืองคอนเสิร์ต คุณป่านวิเคราะห์ว่า มันเกิดจากวามอัดอั้นกันมากว่า 3 ปีที่บ้านเราหรือทั่วโลกไม่ได้มีการจัดคอนเสิร์ตหรือเทศกาลดนตรีดีๆ กันเลย ทำให้ปีนี้ทั้งศิลปินไทยและต่างประเทศบินมาเล่นคอนเสิร์ตกันที่บ้านเราเต็มไปหมด จะเห็นว่าสัปดาห์นึงแทบจะมีอย่างน้อยๆ 2-3 คอนเสิร์ตด้วยซ้ำ เรียกว่าบรรยากาศมันโตถึงขั้นสุดของยุคการจัดมิวสิคโชว์บิสก็ว่าได้

 

ดังนั้น ในส่วนของ “บิ๊กเมาน์เท่น” เราเลยใช้คอนเซ็ปต์เป็น “เปิดประเทศ” โดยเรายกให้ว่า “บิ๊กเมาน์เท่น” คือประเทศๆ หนึ่งเลย อารมณ์แบบ “วากันดา” ที่เดิมเคยเป็นประเทศปิดแต่วันนี้เราได้เปิดแล้ว เพื่อให้คนได้เข้ามา ชวนทุกคนได้เข้ามาสัมผัสกับการเดินทางยังประเทศบิ๊กเมาน์เท่น ทั้งคนที่เคยมาและคนที่ยังไม่เคยมาที่แห่งนี้ ซึ่งประเทศบิ๊กเมาน์เท่น ก็จะถูกแบ่งออกเป็น 15 เขตเมือง ซึ่งแต่ละเมืองก็จะมีสไตล์ (ดนตรี) ที่ไม่เหมือนกัน

 

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่ 13 คุณป่านเล่าว่า ปีนี้จะเป็นการโฟกัสไปที่การปรับปรุงประสบการณ์ทุกอย่างให้มันดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการปรับผังเมือง เราจะทำให้ทุกอย่างมันโฟลว์มากยิ่งขึ้น แก้ปัญหาความแออัด เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตอยู่ในประเทศบิ๊กเมาน์เท่นได้มีความสุข ทั้งการเดินไปยังโซนอาหาร หรือหน้าเวทีต่างๆ จะปรับให้เดินง่ายมากขึ้น รวมไปถึงเรื่อง facility ต่างๆ ที่เรารับฟังข้อติติงมาแก้ไขทั้หมด ไม่ว่าจะเรื่อง ร้านค้า การจราจร ห้องน้ำ ฯลฯ เพื่อประสบการณ์ที่ดีมากยิ่งๆ ขึ้น

จำกัดคนร่วมงานเหลือแค่ 65,000 คน เพื่อให้รับมืออยู่

 

“ทำให้ในปีนี้เราจำกัดการจำหน่ายบัตร เราขายบัตรที่จำนวน 65,000 ใบเท่านั้น คือลดไปเกือบ 30% เลย ซึ่งที่ตัดสินใจเหตุผลก็เพื่อลดความแออัดลง โดยปีที่ผ่านๆ มาเราจัดงานโดยมีคนมาร่วมงานตั้งแต่ 70,000 – 100,000 คน ปีที่แล้วถือว่าพีคมากเพราะเป็นปีแรกหลังโควิด มีคนร่วมงานกว่าแสนคนถือว่าเป็นปรากฏการณ์เลยก็ว่าได้ ดังนั้นปีนี้เราเลยจำกัดคนแค่ 65,000 คนเท่านั้น เพื่อให้เราสามารถรับมือกับการดูแลได้”

 

ในมุมเรื่องของการใช้ Data มาช่วยในการทำงาน คุณป่าน เล่าว่าได้นำมาใช้ในหลายๆ ส่วนด้วยกัน

 

การใช้ Data เพื่อบริหารการทำงาน

#Dataช่วยพัฒนาLineupศิลปิน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีได้เข้ามีส่วนในการทำงานหลายๆ ด้าน รวมไปถึงเรื่องของ Data เช่นกัน GMM SHOW ก็มีการใช้เทคโนโลยีและ Data เข้ามาช่วยในการทำงานด้วย ซึ่งบิ๊กเมาน์เท่นก็เป็นหนึ่งในโชว์บิซที่ได้นำมาใช้

คุณป่าน ระบุว่า ถ้าเป็นการวาง Line up ศิลปิน ถ้าเป็นคอนเสิร์ตอื่นหรือเทศกาลอื่นๆ ก็มีการใช้ Data ในการคัดเลือกว่าศิลปินคนไหนที่เหมาะกับงานนั้นๆ แต่สำหรับบิ๊กเมาน์เท่นที่เรามีเวทีเยอะและหลากหลายให้เลือกอยู่แล้ว เราจะนำมาใช้ในส่วนของการดูว่า ศิลปินคนนี้มีการเติบโตของความนิยมมากแค่ไหน เช่น ปีก่อนเขาออาจจะได้อยู่เวทีเล็ก แต่พอปีนี้เขาเติบโตและเป็นที่นิยมมากขึ้นก็อาจจะขยับมาที่เวทีใหญ่ขึ้น นอกจากนี้ ก็มีการจัดหมวดหมู่ก้อนของศิลปินสไตล์ตดนตรีให้อยู่ใกล้เคียงกัน เพื่อให้การเวียนดูแต่ละโชว์สะดวกมากยิ่งขึ้น นี่คือการที่ Data เข้ามาช่วยในเรื่องนี้เรื่องจัดสรรเวทีและศิลปิน

#Dataจัดการเรื่องความสะดวก

อีกส่วนที่ Data เข้ามามีส่วนสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการคือ การที่เราดูข้อมูลว่า จะมีคนมาร่วมเข้างานในช่วงเวลาไหนเยอะที่สุด เมื่อราเห็น Data แล้วเราก็จัดสรรกำลังคนระดมเข้าไปช่วยในช่วงเวลานั้นมากที่สุด ซึ่งก็จะทำให้การบริหารจัดการการเข้างานลื่นไหลมากขึ้น

รวมไปจนถึงที่ว่า Data สามารถบอกเรื่องของ Post survey  ของปีที่ผ่านมาได้ว่ามีฟีดแบ็คอย่างไร อยากให้ปรับตรงส่วนไหน ก็จะทำให้เราสามารถนำมาปรับใช้แก้ไขให้งานออกมาดียิ่งๆ ขึ้นได้

 

คุณป่าน มองว่าปัจจุบัน Data เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการทำงานของธุรกิจ Entertainment อย่างมาก เดิมต้องบอกว่า เวลาจะจัดงานออกมาเป็นรูปแบบไหน ธีมอะไร หรือศิลปินคนไหนขึ้น ส่วนใหญ่เราจะใช้ประสบการณ์ หรือการ์ดฟีลลิ่งตัดสินใจ แต่ตอนนี้เราสามารถนำ Data เข้ามาเป็นส่วนประกอบช่วยในการตัดสินใจได้แล้ว เพื่อทำให้เมคชัวร์มากยิ่งขึ้นว่างานจะประสบความสำเร็จ

 

“บิ๊กเมาน์เท่น” มิวสิค เฟสติวัล เสน่ห์ที่ไม่เหมือนใคร

13 ปีของ “บิ๊กเมาน์เท่น” ก็เหมือนกับการเป็นภาพสะท้อนของพัฒนาการคอนเสิร์ต และมิวสิคเฟศติวัล ในบ้านเรา ที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ตั้งแต่ยุคอนาล็อกมาจนถึงยุคดิจิทัล แต่สิ่งที่ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปกี่ปีก็ไม่สามารถลดทอนเสน่ห์ของ “บิ๊กเมาน์เท่น” คุณป่าน บอกว่า มันคือ ความครบรสและประสบการณ์ที่คุณจะหาจากที่ไหนไม่ได้

“บิ๊กเมาน์เท่น เป็นความหลากหลาย มันครบ มันใหญ่ มันเยอะ ไม่ว่าคุณจะชอบอะไร เรามีให้คุณหมดเลย และเสน่ห์ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ  มันเป็นเรื่องการที่เราจะต้องผจญภัยนิดๆ คนที่จะไป “บิ๊กเมาน์เท่น” จะต้องตั้งใจจริงๆ ไปผจญภัยกับความสนุกความเซอร์ไพรส์ที่คุณไม่รู้ว่าคุณจะต้องเจออะไรในแต่ละปี มันอาจจะไม่เหมือนการไปเที่ยวฟังดนตรีที่มันอยู่ในห้องแอรแล้วแบบเย็นสบาย ดูโชว์เสร็จแล้วก็หาของกินง่ายๆ มันจะไม่ใช่แบบนั้น มันอาจจะต้องมีความผจญภัยนิดๆ แต่ไอ้การผจญภัยนี่แหละ มันคือเสน่ห์ที่เวลาเรากลับมาคุยกับเพื่อนแล้วเราจะจดจำบรรยากาศและความทรงจำวันนั้นได้ แบบเต้นกันจนตี 5 ที่น่าระเบียบวาทะศิลป์ ทุกวันนี้ยังเอามาคุยกับเพื่อนอยู่หรือแม้กระทั่งการร่วมร้องไห้ไปกับวงดนตรีที่มันเล่นเป็นครั้งสุดท้ายอำลาที่บิ๊กเมาท์เทน ประสบการณ์อะไรแบบนี้ ทำให้คุณจดจำไปไม่รู้ลืม ซึ่งมันเป็นเสน่ห์ของ “บิ๊กเมาน์เท่น ที่ไม่มีที่ไหนทำได้เลย”

 

สำหรับปีนี้ “บิ๊กเมาน์เท่น” มาในชื่อเต็มๆ ว่า ‘เป๊ปซี่ พรีเซนต์ บิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัล ครั้งที่ 13’ ภายใต้กับธีมใหม่ Amazing Big Mountain’ (อะเมสซิ่งบิ๊กเมาน์เท่น) วันเสาร์ที่ 9 และวันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม 2566 ที่ ดิ โอเชี่ยน เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ได้ข่าวว่าบัตรเต็มหมดแล้ว ใครได้ไปแวะมาเล่าให้เราฟังด้วยนะ.


  • 161
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!