คำว่า สภาวะโลกร้อน (Global Warming) กำลังจะเป็นคำศัพท์ที่ “ตกเทรนด์” ไปแล้วในเวลานี้ แต่นั่นไม่ใช่ “ข่าวดี” เพราะมีบัญญัติศัพท์ใหม่ที่สะท้อน “วิกฤต” ที่หนักสาหัสมากขึ้นทุกวันอย่าง “ภาวะโลกเดือด” (Global Boiling) มาแทนที่และตราบใดที่ “ชาวโลก” ซึ่งหมายถึงประชาชน รวมไปถึงภาครัฐและภาคเอกชนยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตั้งแต่วันนี้ การล่มสลายของระบบเศรษฐกิจรวมถึงการ “สูญสิ้นเผ่าพันธุ์มนุษยชาติ” ก็คงไม่ใช่เรื่องเกินจริงอีกต่อไป
นั่นจึงเป็นเหตุผลให้บริษัท พีพีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC บริษัทที่เป็นผู้นำในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ จัดงาน GC Sustainable Living Symposium 2023: We are GEN S ขึ้นเมื่อวันที่ 27-28 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อถ่ายทอดไอเดียและส่งต่อแรงบันดาลใจของคน Gen S (Generation Sustainability) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ “ทำธุรกิจอย่างยั่งยืน” ที่มีตัวแทนธุรกิจระดับโลกมาแบ่งปันประสบการณ์และ Use Case ที่น่าสนใจ ให้ธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมสามารถนำไปใช้ได้ ไม่ใช่เพื่อโลกเท่านั้นแต่ยังส่งผลให้ธุรกิจ “อยู่รอดและเติบโต” สู่อนาคตต่อไปได้ด้วย
บรรดา Speaker ที่เป็นคน Gen S ซึ่งทาง GC เชิญมาแบ่งปันประสบการณ์มากถึง 40 คนตลอด 2 วันในจำนวนนั้นเป็นการเปิดมุมมองใน “ระดับโลก” ไม่ว่าจะเป็นคุณ David Rabley ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานและความยั่งยืนจาก Accenture บริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศและที่ปรึกษาชั้นนำที่มาฉายภาพให้เห็นถึงภาพรวมของการเปลี่ยนผ่านพลังงานเพื่อความยั่งยืนในระดับโลกและทิศทางที่โลกจะเดินไป นอกจากนี้ยังมีคุณ Miguel Mantas ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท allnex ผู้ผลิต Coating Resins ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ครองส่วนแบ่งตลาด 10% ของทั้งโลก, คุณ Keith Wiggins ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Econic ผู้คิดค้นเทคโนโลยีขั้นสูงในการนำคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาใช้ใหม่เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตโพลิเมอร์ สู่วัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมโพลียูรีเทน (Polyurethane) รวมไปถึงคุณ ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ Microsoft Thailand มาเล่าถึงประสบการณ์การทำธุรกิจอย่างยั่งยืนที่น่าสนใจด้วย
“โลก” ยานอวกาศที่ออกซิเจนใกล้หมด
โลกแย่แค่ไหน? องค์กรระดับนานาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเคยประกาศออกมาแล้วว่า มนุษยชาติไม่สามารถพาโลกย้อนกลับไปสู่จุดที่เคยเป็นได้อีกต่อไป เป้าหมายที่จะจำกัดอุณหภูมิโลกให้ร้อนขึ้นกว่าก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ 1.5 องศาเซลเซียสตามข้อตกลงปารีส นั้นดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้แล้ว หรือหากจะพูดให้เห็นภาพโลกของเราก็เหมือนกับยานอวกาศที่กำลังใกล้หมดลงทุกทีและมนุษย์ก็ยังไม่หยุดใช้ค้อนทุบถังอออกซิเจนที่ว่านี้ซักที
“เพื่อให้เห็นภาพลองจินตนาการว่าโลกเป็นยานอวกาศที่เป็นที่เดียวที่เราอาศัยอยู่ได้กำลังล่องอยไปในอวกาศอันดำมืดและว่างเปล่า และยานอวกาศลำนี้มีระบบออกซิเจนซึ่งก็คือชั้นบรรยากาศของโลก หากเปรียบโลกเป็นลูกฟุตบอล ชั้นบรรยากาศของเราจะบางเพียงแค่ 0.25 มิลลิเมตรเท่านั้น เรียกว่าบางและอ่อนไหวมากๆ และเวลานี้เราที่เป็นผู้โดยสารก็กำลังทำลายระบบอันเปราะบางนั้นอยู่” ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (CEO) GC กล่าวไว้ในแถลงเปิดงาน
CEO แห่ง GC ฉายภาพด้วยว่าประเทศไทยเองก็นิ่งเฉยไม่ได้ เพราะแม้จะเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึง 1% ของทั้งโลก แต่ประเทศไทยกลับติดอยู่ในประเทศ 10 ลำดับแรกที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาที่สุดในโลก ยิ่งกว่านั้น World Bank ยังเปิดเผยด้วยว่าหากโลกอุณหภูมิสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียสจะมีคนไทย 4.4 ล้านที่จะไร้ที่อยู่ที่ทำกินทันที
ดังนั้น ดร.คงกระพัน จึงเสนอแนวทางแก้ปัญหาสำหรับประเทศไทยไว้ 2 ข้อก็คือการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาด (Energy Transition) และการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Circular and Bio-based Economy) ที่เน้นการ Reduce, Reuse และ Recycle การเปลี่ยนผ่านสู่เกษตรกรรมคาร์บอนต่ำ และสร้างเศรษฐกิจฐานชีวิตภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรในประเทศไทย
Energy Transition กระสุนเงินสู่ความยั่งยืน
ในมุมมองระดับโลกหมัดเด็ดในการแก้ปัญหา Global Boiling ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ดีที่สุดก็คือการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดหรือ Energy Transition นั่นเป็นเพราะว่าการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของมนุษย์โดยเฉพาะอุตสาหกรรมพลังงานนั้นมีผลกระทบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วนถึง 75% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก
คุณ David Rabley แห่ง Accenture เล่าถึง “ภาพรวมการใช้พลังงานของโลก” ว่าโลกเราทุกวันนี้ใช้พลังงานเทียบเท่ากับน้ำมัน 250 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในจำนวนนั้นคิดสัดส่วนเป็นน้ำมัน 100 ล้านบาร์เรล 70 ล้านบาร์เรล เป็นก๊าซธรรมชาติ และ 80 ล้านบาร์เรลเป็นถ่านหิน ในขณะที่องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) เพิ่งจะเปิดเผยว่าหากไม่เริ่มทำอะไรในวันนี้โลกกำลังจะร้อนขึ้นถึง 2.4 องศาเซลเซียสในปี 2100 ซึ่งนั่นหมายถึงจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจ การเกษตร สภาพอากาศอย่างมหาศาล อาจเกิดสัตว์ศูนย์พันธุ์ ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นจนบางประเทศอาจหายไปจากแผนที่โลก
คุณ David ระบุว่าการที่ธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดที่เป็นหนึ่งในแนวทางการทำธุรกิจด้วยกลยุทธ์ ESG นั้นไม่ใช่ภาระด้านการลงทุน แต่จากข้อมูลนั้นได้พิสูจน์มาแล้วว่าจะช่วยเพิ่มผลกำไรกับธุรกิจได้มากกว่าบริษัทที่ไม่ได้ทำถึง 3.7 เท่าตัว สร้างผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้นได้มากกว่า 2.6 เท่าตัว
บันได 3 ขั้นสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงาน
ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานและความยั่งยืนจาก Accenture เปิดเผยว่าการทำ Energy Transition ให้ประสบความสำเร็จนั้นมีบันไดอยู่ 3 ขั้นด้วยกันนั่นก็คือ
- Cleaning the Core – “มองสิ่งที่มี”
หมายถึงการเข้าไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่ในธุรกิจอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มี สินทรัพย์ที่มี หรือห่วงโซ่อุปทานที่มีในวันนี้ให้มีประสิทธิภาพและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ซึ่งจากการคาดการณ์ระบุเอาไว้ว่า การลดการปล่อยก๊าซที่จำเป็นต้องทำภายในปี 2050 นั้น 44% จะมาจากสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว เช่นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับสิ่งนั้นๆให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือให้ลดการปล่อยก๊าซให้น้อยลง
- Accelerating the Transition – “เร่งเปลี่ยนผ่าน”
หมายถึงการเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านให้เร็วขึ้นเช่นการลงทุนในการเปลี่ยนผ่านพลังงานในทันที เช่นเปลี่ยนพลังงานจากถ่านหินมาเป็นก๊าซธรรมชาติ เปลี่ยนผ่านจากน้ำมันไปเป็นพลังงานไฟฟ้า ลงทุนกับเทคโนโลยี หรือโซลูชั่นเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สามารถสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้ด้วยเป็นต้น
- Extending the Frontier – “ขยายขอบเขตสู่สิ่งใหม่”
หมายถึงการนำพลังงานและเทคโนโลยีแห่งอนาคตมาทำให้เกิดขึ้นจริงในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีพลังงานสะอาดอย่างพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานจากไฮโดรเจน รวมไปถึงเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้
คุณ David ระบุว่านอกจากแนวปฏิบัติในแง่ของนโยบายขององค์กรแล้วการสร้างวัฒนธรรมการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนของพนักงานในองค์กรเองก็เป็นสิ่งสำคัญและสามามารถสร้างขึ้นได้ทั้งในแง่การออกแบบโครงสร้างการทำงานขององค์กร การสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยมีพนักงานเป็นศูนย์กลาง เพิ่มการเรียนรู้และทักษะด้านความยั่งยืน รวมไปถึงการสนับสนุนด้าน Reward จากองค์กรให้กับพนักงาน เพื่อสร้างพฤติกรรมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Behavior) ให้เกิดขึ้นในองค์กรอย่างยั่งยืน
allnex แนะเริ่มต้นได้จากกรอบเป้าหมาย SDGs
คุณ Miguel ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท allnex ผู้ผลิต Coating Resins ที่ใช้ในรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ หรือโทรศัพท์มือถือที่เราใช้กันทุกวันนี้ เปิดเผยว่าบริษัท allnex ดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืนโดยมีกรอบการทำงานมาจาก “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) รวมไปถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเน้นหนักที่ 5 เรื่องสำคัญคือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน, เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน, เปลี่ยนไปใช้วัสดุที่ปลอดภัยกว่า และการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยจะทำงานร่วมกันตลอดห่วงโซ่อุปทานรวมไปถึงลูกค้าปลายน้ำเพื่อหาโซลูชั่นในการลดการปล่อยก๊าซลง
คุณ Miguel ยกตัวอย่างการเดินหน้าสู่เป้าหมายเหล่านั้นที่บริษัททำไปแล้วเช่นการใช้เรซิ่นผงแทนแบบน้ำทำให้ไม่ต้องรอแห้งและสร้างก๊าซเรือนกระจก หรือการใช้วัตถุดิบจากพืชเช่นการใช้น้ำมันถั่วเหลือแทนน้ำมันจากฟอสซิล หรือการใช้ใช้วัตถุดิบจากขวดพลาสติกรีไซเคิลอยู่ 25% ในเรซิ่นผง รวมไปถึงการใช้วัตถุดิบที่ปลอดภัยขึ้นทดแทนสิ่งที่มีอยู่ หรือใช้วัตถุดิบที่ย่อยสลายได้ง่ายดีต่อสิ่งแวดล้อมเป็นต้น” คุณ Miguel ระบุ
คุณ Miguel บอกด้วยว่าการจะเดินไปสู่เป้าหมายเหล่านี้ได้จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ “ภายใน” เช่นการมี One Global Strategy คือมีกลยุทธ์เดียวกันในโรงงาน 35 แห่งทั่วโลก นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจาก “ภายนอก” ในการจับมือกันตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมด้วย และที่สำคัญก็คือบริษัทจะต้องมีมาตรฐานการตรวจวัด รายงาน รวมถึงการตั้งเป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ชัดเจนด้วย
Econic กับ 3 แกนสู่ความยั่งยืน
คุณ Keith ซีอีโอจากบริษัท Econic บริษัทผู้คิดค้นเทคโนโลยีในการดึงคาร์บอนไดออกไซด์มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์ระบุว่ากรอบการทำงานสู่ความยั่งยืนของบริษัทอยู่บน 3 แกนหลักๆคือ Innovation, Advocacy และ Collaboration โดยในเรื่อง Innovation หรือนวัตกรรมที่เป็นสิ่งที่ Econic ความสำคัญโดยเฉพาะนวัตกรรมที่ Econic ส่งต่อให้กับลูกค้าในการดึงเอาคาร์บอนไดออกไซด์มาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้าต่อได้ และสอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนโดยตรงเพราะนอกจากจะเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นการเปลี่ยน Waste กลับมาสร้างมูลค่าทางธุรกิจแล้วยังประหยัดต้นทุนและสามารถสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าในตลาดได้
ในมุม Advocacy คุณ Keith ระบุว่าเป็นการส่งเสียงออกไปสู่สังคมและตลอดห่วงโซ่ Supply Chain เพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง และที่สำคัญก็คือ Collaboration หรือความร่วมมือทั้งพาร์ตเนอร์ ลูกค้า รวมถึงซัพพลายเอร์ เพื่อให้เดินหน้าไปสู่เป้าหมายความยั่งยืนได้ในที่สุด
คุณ Keith ระบุด้วยว่าในอนาคต Econic มีแผนที่จะพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆนอกจากตลาดโพลียูริเทนแล้ว ยังเตรียมนวัตกรรมของบริษัทไปใช้กับอุตสาหกรรมตัวทำละลายในน้ำยาสูตรน้ำสำหรับผลิตน้ำยาทำความสะอาดบ้าน เครื่องสำอาง รวมไปถึงการทำสีและการเคลือบเงาเพิ่มเติมอีกที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 30-70% ด้วย
Microsoft กับภารกิจ 5R สู่เป้าความยั่งยืน
Microsoft เป็นอีกหนึ่งบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับโลกที่เป็นแนวหน้าในเรื่องของการดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืนซึ่งคุณธนวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ Microsoft Thailand ระบุว่า Microsoft ตั้งเป้าหมายไว้อย่างชัดเจนว่าจะเป็น Carbon Negative Company ในปี 2025 และประกาศว่าจะชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในปี 1975 ให้เป็นศูนย์ในปี 2050
สำหรับภารกิจของ Microsoft ที่จะเดินหน้าสู่เป้าหมายนั้นคุณธนวัฒน์ เล่าว่ามี 3 ระดับคือ การจัดการ Carbon Footprint หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่ อีกระดับคือการ ลงทุน ในนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่เพื่อแก้ปัญหานี้ร่วมกัน และสุดท้ายคือการนำความรู้เกี่ยวกับความยั่งยืนทั้งแนวคิด นวัตกรรมและเทคโนโลยีให้กับลูกค้า ให้กับประเทศ รวมไปถึงโลกโดยภาพรวม
คุณธนวัฒน์ ระบุว่าสำหรับ Microsoft เองตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะเป็น Carbon Negative Company ในปี 2030 และจะใช้พลังงานหมุนเวียน 100% กับ Data Center 200 แห่งทั่วโลกต่อไป ซึ่งการจะเดินไปสู่เป้าหมายเหล่านี้ Microsoft ตั้งแนวปฏิบัติ เอาไว้ที่เรียกว่า 5R นั้นก็คือ Record คือการบันทึกและตรวจสอบการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อให้รู้ว่าองค์กรอยู่ในจุดในของเส้นทางสู่ความยั่งยืน จากนั้น Report ข้อมูลเหล่านั้นออกมา และนำไปสู่แผนที่จะ Reduce, Remove และ Replaceในกระบวนการทำงานต่อไป
ความร่วมมือคือหัวใจสำคัญลดการปล่อยก๊าซ
มุมหนึ่งที่น่าสนใจจากคุณธนวัฒน์ ก็คือการเดินหน้าสู่เป้าหมายความยั่งยืนนั้นทำคนเดียวไม่ได้ และจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือตอดห่วงโซ่ตั้งแต่ Supplier, Partner, Vender รวมไปถึง Customer เหตุผลเพราะจากประสบการณ์ของ Microsoft เองเมื่อปี 2022 แม้บริษัทจะสามารถการปล่อยคาร์บอนลงจากการดำเนินกิจการที่บริษัทเป็นเจ้าของรวมไปถึงพลังงานที่ใช้ (Scope 1 และ Scope 2) ได้มากถึง 22.7% แต่ทั้งหมดนี้คิดเป็นเพียง 4% ของการปล่อยก๊าซตลอดห่วงโซ่การดำเนินธุรกิจของ Microsoft เท่านั้น
ดังนั้น Microsoft จึงมี 2 แนวทางเพื่อแสวงหาความร่วมมือให้เกิดขึ้น หนึ่งคือเรื่องของการ Reinforcement หรือการวางกรอบนโยบายต่างๆกับผู้มีส่วนร่วมตลอดห่วงโซ่ธุรกิจเช่นการจะมาเป็นSupplier ให้กับ Microsoft จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 55% ในปี 2030 ซึ่งหลังมีนโยบายนี้ส่งผลให้ Supplier 12 บริษัทเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนทันที และ 6 จาก 12 บริษัทในเวลานี้ก็ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% เป็นทีเรียบร้อยแล้ว นั่นคือพลังของการ Reinforcement ที่จะกลายเป็นห่วงโซ่ต่อไปแบบไม่รู้จบได้
สองคือเรื่องของการ Encouragement ซึ่ง Microsoft นำเสนอเรื่องนี้ในฐานะบริการที่มีชื่อว่า Cloud for Sustainability ที่สามารถช่วยให้บริษัททั้งขนาดเล็ก กลางหรือใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนสามารถ “บันทึก” และ “รายงาน” การดำเนินการสู่ความยั่งยืนใน Scope 1 และ Scope 2 ได้ ส่วนอีกตัวอย่างคือการจัดตั้งงบประมาณ Climate Innovation Fund เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเวลานี้ยังเหลืออีก 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่พร้อมสนับสนุนกับบุคคลหรือบริษัทที่สนใจได้
ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนบางส่วนที่บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกกำลังทำกันอยู่ เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายใหญ่ที่นานาชาติตั้งไว้คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้เหลือศูนย์หรือ Net Zero ในปี 2050 ดังนั้นการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนจึงเป็นสิ่งที่รอไม่ได้อีกต่อไป และต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้โดยศึกษาได้จาก Use Case จากผู้นำธุรกิจระดับโลกที่มาร่วมงาน GC Sustainable Living Symposium 2023 ครั้งนี้ และร่วมกันสร้างคน Gen S ให้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อโลกที่น่าอยู่ต่อไปสำหรับคนรุ่นหลัง