ภาคการเงินการธนาคาร เป็นอีกหนึ่ง sector ที่มีการเร่งปรับตัวรับยุคดิจิทัล และการมาของเทคโนโลยี AI หนึ่งในนั้นคือ “ไทยพาณิชย์” ประกาศเดินหน้ากลยุทธ์ “Digital Bank with Human Touch” มุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ให้ธนาคารแข็งแกร่งกว่าที่เคย โดยเตรียมนำเทคโนโลยี AI ขับเคลื่อนการบริการไร้รอยต่อในทุกช่องทาง โดยวางเป้าหมายสร้างรายได้ช่องทางดิจิทัลให้ขยับสู่ 25% ภายในปี 2025
พร้อมทั้งรุกเสริมความแข็งแกร่งทางด้านธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ให้เป็นที่หนึ่งในวงการ ถึงแม้เศรษฐกิจโลกผันผวน ธนาคารและพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ระดับโลก จูเลียสแบร์ ผ่านการดำเนินธุรกิจของ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์สามารถดูแลลูกค้ามั่งคั่งระดับสูง (UHNWIs & HNWIs) ในประเทศไทย ให้สามารถเข้าถึงการลงทุนต่างประเทศ (Offshore) ได้อย่างไร้พรมแดน และสร้างการเติบโตในพอร์ตการลงทุน และเพิ่มผลตอบแทนอย่างต่อเนื่อง
ตอกย้ำด้วยความแข็งแกร่งด้วยผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปีนี้ “ไทยพาณิชย์” มีกำไรสุทธิ 3.66 หมื่นล้านบาท เติบโต 21% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
มาเจาะลึกยุทธศาสตร์ “ไทยพาณิชย์” กับ 4 ผู้นำองค์กรที่จะมาเผยถึงกลยุทธ์มุ่งสู่การเป็น “Digital Bank with Human Touch” รวมทั้งนำ “เทคโนโลยี AI” ยกระดับบริการ เพื่อปักธงเป็น “ธนาคารดิจิทัลครบวงจร” และแผนธุรกิจ “Wealth Management” ที่สร้างความแข็งแกร่งและแตกต่าง พร้อมมุมมองภาพรวมเศรษฐกิจไทย
– คุณกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์
– คุณอรพงศ์ เทียนเงิน ผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Technology ธนาคารไทยพาณิชย์
– ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wholesale และรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์
– คุณลลิตภัทร ธรณวิกรัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด
ชี้เศรษฐกิจไทยยังเปราะบาง กับ 4 ความท้าทายปี 2024
ภาพรวม “เศรษฐกิจไทย” ยังคงมีความเปราะบาง โดยเฉพาะการส่งออกของไทยที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ทำให้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตที่ 3.1% จากเดิมที่คาดว่าจะโตได้ถึง 3.9%
จากประเด็นดังกล่าว “ธนาคารไทยพาณิชย์” ให้ความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อและดูแลคุณภาพสินเชื่อ ดังนั้น การเติบโตของสินเชื่อของปีนี้จึงเติบโตอย่างมีคุณภาพ ในช่วง 9 เดือนแรกสินเชื่อเติบโตที่ 5% จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน ขับเคลื่อนจากสินเชื่อในกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ สินเชื่อความยั่งยืน และสินเชื่อบ้าน ส่งผลให้สินเชื่อคงค้างรวม (Outstanding Loan) อยู่ที่ 2.35 ล้านล้านบาท
สำหรับผลการดำเนินงานของธนาคารไทยพาณิชย์ในช่วง 9 เดือน 2566
– รายได้ 1.1 แสนล้านบาท เติบโตจาก 9.9 หมื่นล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2565
– กำไรสุทธิ 3.66 หมื่นล้านบาท เติบโต 21%
โดยมีรายได้ดอกเบี้ยเติบโตอย่างโดดเด่น เป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของภาคธนาคาร ซึ่งสอดรับกับการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเติบโตเช่นเดียวกัน โดยมาจากค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อ ค่าธรรมเนียมจากธุรกรรมทางการเงิน ในขณะที่ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจบริหารความมั่งคั่งในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 2
นอกจากนี้ ธนาคารยังสามารถรักษาผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE) ได้ในระดับสองหลัก และควบคุมค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (Cost to Income) ใน 9 เดือนแรก ไว้ได้ที่ 37.4% ดีกว่าเป้าหมายที่วางไว้
“สาเหตุที่ทำให้ธนาคารไทยพาณิชย์ ผลประกอบการดี เป็นเพราะเราสามารถควบคุมต้นทุน เพื่อสร้างโอกาสในการทำกำไรในอนาคตด้วยต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ โดยสามารถกดต้นทุนได้จาก 41% เหลือ 37.4% เรายังเชื่อว่าเราจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ทำ 20% แต่ได้ 80% จากนี้ไปสู่อนาคต
อีกส่วนที่สามารถผลักดันผลประกอบการที่ดี คือ อานิสงส์จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้น ทำให้เกิดส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย แต่เชื่อว่าในปี 2024 อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่เป็นเช่นนั้น เราจะเห็นภาพความเป็นจริงมากขึ้น สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราเติบโตที่ดี คือ ประกัน Trade Finance และ Capital Market” คุณกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวถึงปัจจัยขับเคลื่อนผลการดำเนินงาน
พร้อมฉายภาพ 4 ความท้าทายในปี 2024 เพิ่มเติมว่า
1. อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คาดว่าจะไม่ขึ้นไปกว่านี้ ไม่เหมือนปี 2023 ทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยลดลง เราจึงต้องหา Growth Engine เพื่อสร้าง Growth Story
2. ความเสี่ยงจากหนี้เสีย จากกลุ่มลูกค้าเปราะบาง ทั้งรายย่อย และรายใหญ่ที่จะเพิ่มขึ้น
3. เทคโนโลยี ที่เปลี่ยนแปลงไปมากจากวันที่รับตำแหน่งจนถึงวันนี้ เชื่อว่า AI ในอีก 12 เดือนจะเห็นก้าวกระโดดมากขึ้น แต่โจทย์ของลูกค้าไม่แคร์เรื่องพวกนี้ สิ่งที่ลูกค้าอยากได้คือ Personalization คือการตอบโจทย์บริการลูกค้าที่เป็นปัจเจกบุคคลซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายในทุกอุตสาหกรรม รวมถึงธุรกิจธนาคาร
4. การที่ทุกธนาคารต้องหันมามองเรื่อง “ต้นทุน” จะต้องสร้างระบบอัตโนมัติ ที่ไม่ใช้คน มาทำงานแทนคนให้มากขึ้น และหารายได้จากดิจิทัลมากขึ้น เพื่อลดความผันผวน ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายทุกองค์กรรวมทั้งไทยพาณิชย์
ปักธงผู้นำ “Digital Bank with Human Touch” – ตั้งเป้ารายได้ดิจิทัล 25% ในปี 2025
สำหรับยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจต่อจากนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์จะเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงธุรกิจให้ลูกค้าสัมผัสถึงประสบการณ์ใหม่ๆ ผ่านโฟกัสสำคัญใน 2 ส่วนหลักคือ
1. การพัฒนาบริการธนาคารสู่การเป็นดิจิทัลแบงก์
เพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ในอนาคตจะย้ายไปอยู่บนบริการดิจิทัลเกือบทั้งหมด โดยให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาระบบทั้งงานภายในและภายนอก รวมถึงการแสวงหาโอกาสในการสร้างรายได้ผ่านช่องทางดิจิทัล
โดยมีเป้าหมายภายในปี 2025 จะต้องเพิ่มสัดส่วนรายได้ดิจิทัลให้เป็น 25% หรือราว 40,000 ล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 4 ของรายได้รวม จากปัจจุบันรายได้ดิจิทัลของธนาคารอยู่ที่ระดับ 7% เพิ่มขึ้นจากปี 2022 ที่มีอยู่เพียง 3% โดยธนาคารมีฐานลูกค้าที่ใช้บริการแพลตฟอร์มดิทิทัลทุกแพลตฟอร์มรวมกันกว่า 25 ล้านราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่ทำธุรกรรมมียอดรวมแต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 7 พันล้านรายการ หรือกว่า 89% ของธุรกรรมทั้งหมดของธนาคาร
“ถ้าเราบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ภายในปี 2025 จะทำให้เราก้าวหน้ากว่าดิจิทัลแบงก์รายใหม่ๆ ในตลาดที่กว่าตามเราทันก็คงต้องใช้เวลา 5 ปีหรือ 10 ปี
นอกจากนี้ อยากเห็นพนักงานไทยพาณิชย์และผู้บริหาร มองโจทย์ธุรกิจใหม่ว่าจะไปแบบเดิมไม่ได้ ต้องไปดิจิทัลอย่างสุดโต่ง ตอนที่รับตำแหน่ง ขณะนั้นรายได้ดิจิทัลของธนาคารไทยพาณิชย์อยู่ที่ 3 – 4% การจะทำเป้าหมายที่ 25% ถือว่าท้าทายมาก แต่เชื่อว่าเราจะทำได้สำเร็จ” คุณกฤษณ์ ขยายความเพิ่มเติม
2. การเป็นที่หนึ่งในธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง เป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป
ยกระดับจุดแข็งของธนาคารที่มีชื่อเสียงทางด้านการใช้ความรู้ความสามารถทางด้านการลงทุน และ Human Touch ของ ผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ หรือ Relationship Manager (RM) ในการให้บริการลูกค้ามั่งคั่งทุกระดับ ตั้งแต่ลูกค้าที่มีความมั่งคั่งระดับสูง (สินทรัพย์ภายใต้บริหารการจัดการ หรือ AUM 100 ล้านบาทขึ้นไป) ผ่าน “ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์” ให้ลูกค้าสามารถขยายโอกาสในการลงทุนทั่วโลกได้แบบไร้พรมแดน สร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืนให้กับกลุ่มลูกค้า UHNWIs และ HNWIs
ขณะเดียวกัน ธนาคารให้การดูแลลูกค้าในกลุ่ม Wealth ซึ่งประกอบด้วย
– SCB PRIVATE BANKING (AUM มากกว่า 50 ล้านบาท)
– SCB FIRST (AUM 10-50 ล้านบาท) SCB PRIME (AUM 2-10 ล้านบาท)
ปัจจุบันธนาคารไทยพาณิชย์มีลูกค้ากลุ่ม Wealth กว่า 500,000 ราย รวมสินทรัพย์ภายใต้บริหารจัดการ (AUM) กว่า 1.6 ล้านล้านบาท ซึ่งในเร็วๆ นี้จะมีการสร้างความแตกต่างทางธุรกิจให้เกิดขึ้นด้วยรูปแบบการให้บริการที่ครบวงจรและไร้รอยต่อ โดยตั้งเป้าหมายความเป็นที่หนึ่งในธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง ซึ่ง AUM ต้องเติบโตเฉลี่ยมากกว่า 20% จากปัจจุบันที่เติบโตเฉลี่ย 10%
3 กลยุทธ์ ยกระดับสู่ “ธนาคารดิจิทัลครบวงจร” – เตรียมลงทุนเทคโนโลยี 8 พันล้าน
เพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย “ธนาคารดิจิทัลครบวงจร” ภายใต้การดำเนินกลยุทธ์ Digital Bank with Human Touch ธนาคารไทยพาณิชย์เดินหน้าลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางด้านการให้บริการให้ตรงความต้องการของลูกค้าในยุคดิจิทัล
การมุ่งสู่ดิจิทัลของธนาคารนั้น สอดคล้องกับพฤตกรรมทางด้านการเงินของคนไทย ซึ่งย้ายสู่ดิจิทัลอย่างชัดเจน สะท้อนจากตัวเลขการเติบโตอย่างต่อเนื่องของผู้ใช้ Mobile Banking ของธนาคาร และภาพรวมของประเทศ
– จำนวนผู้ใช้ Mobile Banking ของธนาคารไทยพาณิชย์อยู่ที่ 15 ล้านคน แต่ถ้านับรวมช่องทางดิจิทัลอื่นๆ ประมาณ 17 ล้านคน (SCB Connect, Corporate Portal สำหรับลูกค้านิติบุคคล, Business Anywhere) ขณะที่ภาพรวมธุรกรรมเติบโต 20-30% ต่อปี
ขณะที่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2561-2565) คนไทยเริ่มคุ้นเคยกับการทำธุรกรรมดิจิทัลผ่านช่องทาง Mobile Banking กันอย่างแพร่หลายมากขึ้นต่อเนื่อง
– ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ณ สิ้น ก.ค. ของปี 2566 จำนวนผู้ใช้ Mobile Banking อยู่ที่ 103,066,182 บัญชี และมีปริมาณการใช้ 2,529,599 พันรายการ มูลค่าธุรกรรม 5,725 พันล้านบาท ซึ่งปริมาณการใช้ของ Mobile Banking มีสัดส่วนถึง 97.3% และที่เหลือเป็นการใช้ผ่านช่อทาง Internet Banking
คุณอรพงศ์ เทียนเงิน ผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Technology ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ด้วยภารกิจสำคัญคือ การยกระดับบริการสู่การเป็นธนาคารดิจิทัลครบวงจร พร้อมผสานนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาการให้บริการในทุกมิติ เพื่อมอบประสบการณ์ดิจิทัลครอบคลุมผลิตภัณฑ์และบริการแก่ลูกค้าทุกกลุ่ม โดยมีเป้าหมายเพิ่มรายได้จากช่องทางดิจิทัลจากปัจจุบัน 7% เป็น 25% ให้ได้ภายในปี 2025 ถือเป็นความท้าทายอย่างมากในการเพิ่มสัดส่วนรายได้นี้ให้เกิดขึ้นภายใน 3 ปีข้างหน้า
ไม่เพียงแต่มุ่งรายได้เท่านั้น ขณะเดียวกันธนาคารไทยพาณิชย์ต้องเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ แข็งแกร่ง ลูกค้าเชื่อมั่น จึงได้วางแผนการพัฒนาดิจิทัลแบงก์และนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ประกอบด้วย 3 แกนหลัก
1. การนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วย AI และ Machine Learning เพื่อทำให้ธนาคารสามารถรู้ความต้องการของลูกค้าในแต่ละเวลาและพฤติกรรม และกลั่นกรองว่าลูกค้ารายใดที่ธนาคารควรนำเสนอผลิตภัณฑ์ หรือไม่ควรเข้าไป
ดังนั้น สิ่งแรกที่ธนาคารจะทำ คือ การนำข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยน์สูงสุดผ่าน AI และ ML ซึ่งข้อมูลนั้นๆ ก็เปลี่ยนไปตลอด ทำอย่างไรที่เราจะเห็นความถูกต้องของลูกค้าในช่วงเวลาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ธนาคารจึงต้องสร้างระบบที่ฉลาดยิ่งขึ้น (better brain) และลงทุนกับ AI เพื่อทำให้คนของเราสามารถให้บริการลูกค้าได้ตรงจุด ให้คำแนะนำได้แม่นยำ
เช่น เมื่อลูกค้าสนใจลงทุนกองทุนน้ำมัน AI ต้องชี้เป้า และให้คำนะนำได้ว่าถ้าลงทุนน้ำมันตอนนี้ โอกาสของการลงทุนจะเป็นอย่างไร ต้องสามารถเสนอแนะให้ลูกค้า หรือผู้ดูแลลูกค้า (RM) ได้ว่าควรลงทุนอย่างไร
2. การนำดิจิทัลเข้ามาสร้างความสะดวกสบายให้ลูกค้า (Digital convenience) เป็นเรื่องผลิตภัณฑ์ และบริการต่างๆ ทำอย่างไรให้ช่องทางดิจิทัล สะดวกมากขึ้น และต้องสะดวกกว่าการไปสาขา ดังนั้นการพัฒนาบริการดิจิทัลต่อจากนี้ เน้นไปที่การสร้างผลลัพธ์แบบ end-to-end เมื่อทำไปแล้ว ไม่ใช่แค่สะดวกต่อธนาคาร แต่ลูกค้าต้องได้รับความสะดวกสบายกับการใช้บริการไทยพาณิชย์ด้วย
3. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ (New Digital Product Offerings) นำข้อมูลมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น และด้วยเทคโนโลยี – ข้อมูล ช่วยให้ธนาคารเข้าใจลูกค้าได้แบบ 360 องศา กล่าวคือลูกค้าแต่ละรายมีความต้องการของลูกค้าเป็นรายบุคคล ไม่ใช่เพียงผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ใช้บริการกับธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นความต้องการทางการเงิน ความต้องการด้านความมั่งคั่ง แล้วเอาความรู้เหล่านี้มาสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ธนาคารยังให้ความสำคัญกับ Omnichannel ควบคู่กับดิจิทัลเทคโนโลยี ลูกค้าสามารถติดต่อธนาคารได้ทุกช่องทางอย่างไร้รอยต่อ โดยพนักงานจะมีเครื่องเก็บข้อมูลของลูกค้าอย่างละเอียด เพื่อเชื่อมต่อความต้องการของลูกค้าได้ทุกขณะ
“เราจะสร้าง Organizational memory เพื่อรวบรวมข้อมูลของลูกค้าที่เคยติดต่อในทุกช่องทาง และต้องมีความสามารถในการเรียกข้อมูลมาใช้ต่อได้ทันอย่างมีประสิทธิภาพ (recall memory)”
คุณอรพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงการลงทุนเทคโนโลยีครั้งใหญ่ว่า เพื่อยกระดับ Core Banking อีกครั้ง เพื่อมุ่งสู่ Digital Banking เต็มรูปแบบ พร้อมนำ AI มาใช้กับธนาคาร ซึ่งการเปลี่ยน Core Banking เพื่อให้ธนาคารสามารถเคลื่อนตัวได้เร็วกว่าเดิม และมีความสามารถปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์และตามความต้องการของลูกค้า โดยประมาณการณ์ว่าการเปลี่ยน Core Banking ครั้งนี้ จะใช้เวลาประมาณ 4 ปี เริ่มจากปลายปี 2023 เป็นต้นไป
“โจทย์ใหญ่ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีคือ 1. มีมีเทคโนโลยีเป็น Brain ที่ฉลาด เข้าใจลูกค้า ทำให้ทุกอย่างเป็น Customer Centric อย่างแท้จริง 2. การติดต่อลูกค้าผ่านช่องทางที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละคน และ 3. สามารถ Customize product ที่เหมาะกับตัวตนของลูกค้าแต่ละคนได้
ในปี 2024 ธนาคารวางงบลงทุนด้านไอทีอยู่ที่ 8,000 ล้านบาท และจะลงทุนในระดับนี้ต่อเนื่องต่อไปอีก 3-4 ปี เราเชื่อว่าสิ่งที่ตั้งเป็นวิสัยทัศน์ในวันนี้ ด้วยการเงินลงทุนที่ดี และด้วยผลกระทบต่อระบบใหญ่ๆ ที่เราจะเปลี่ยน เราเชื่อว่าจะเปลี่ยนโลกธนาคารดังที่เราเคยฝันว่าจะทำแบบนี้มานาน”
ตั้งเป้า “Best Wealth Bank” ดันรายได้ Wealth Management โต 20%
นอกจากการพัฒนาและลงทุนด้านเทคโนโลยีแล้ว ไทยพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญกับ “ธุรกิจบริหารจัดการความมั่งคั่ง” (SCB Wealth Management) ซึ่งผลการดำเนินงานในปีนี้ที่ยังเติบโตได้ดี คาดการณ์ว่ารายได้จากกลุ่มธุรกิจ Wealth จะเพิ่มขึ้นกว่า 20% เมื่อเทียบจากปี 2022 (YOY) ต่อยอดการเติบโตจากผลิตภัณฑ์ประกัน เงินฝาก และสินเชื่อเพื่อต่อยอดความมั่งคั่ง (Property-backed Loan และ Lombard Loan) โดยปัจจุบันธนาคารไทยพาณิชย์มีฐานลูกค้า Wealth และลูกค้าที่มีศักยภาพที่จะเป็น Wealth อยู่มากกว่า 1 ล้านคน
“ธุรกิจ Wealth Management ในประเทศไทยนับเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตที่สูงอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี แม้ในช่วงสถานการณ์โควิด และความผันผวนของตลาดโลกจากปัจจัยอัตราดอกเบี้ย และเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง และภาวะสงคราม ในปี 2020 – 2023
แต่สินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการของกลุ่มลูกค้า Wealth ยังสามารถเติบโตได้ และคาดว่าจะยังโตอย่างต่อเนื่องในปี 2024 -2026 เฉลี่ยที่ 4.5% ต่อปี” ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wholesale และรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าว
ไทยพาณิชย์ ตั้งเป้าธุรกิจ Wealth Management ใน 3 ปีข้างหน้าจากนี้ ต้องการเป็น “Best Wealth Bank” หรือที่หนึ่งด้าน Wealth Management โดยวัดจาก
1. เป็นอันดับหนึ่งในใจลูกค้า ด้วยดัชนีชี้วัดความภักดีของลูกค้า (Net Promoter Score: NPS) อันดับหนึ่ง
2. เป็นผู้นำสินทรัพย์ภายใต้บริหารจัดการ (AUM) นำมาซึ่งการได้รับความไว้วางใจในฐานะ Main Bank และ Main Wallet Share ของลูกค้า
3. ผู้นำการบริหารพอร์ตโฟลิโอลูกค้า สร้างผลตอบแทนให้แก่ลูกค้าทั้งในระยะสั้น และระยะยาวเติบโตอย่างยั่งยืน
SCB Wealth วางกลยุทธ์ปี 2024 ประกอบด้วย 3 แกนสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
1. First-in-market & holistic solutions เป็นผู้นำในการนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนที่เหมาะสมกับสภาวะตลาดในช่วงที่มีทั้งโอกาสและความท้าทาย โดยให้ลูกค้าเป็นที่ตั้ง แล้วดูว่าผลิตภัณฑ์อะไรที่จะตอบโจทย์ลูกค้าให้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ อาทิ
– ผลิตภัณฑ์การลงทุนในสกุลเงินดอลล่าร์ เช่น ตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำระยะสั้น หรือกองทุนกลุ่มตราสารตลาดเงิน (Money Market) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ, Capped Floored Floater Note, Callable Note
– สินเชื่อเพื่อการลงทุน Property-backed Loan และ Lombard Loan ที่ยอดสินเชื่อเติบโตกว่า 70% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา
– ผลิตภัณฑ์ประกันควบการลงทุน Regular Unit-linked ที่ครองอันดับ 1 ในตลาดประกันผ่านช่องทางธนาคาร (Bancassurance) 3 ปี ซ้อนด้วยส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 50% ในปี 2023
– ผลิตภัณฑ์การลงทุนประเภท Thematic ที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
2. Digital wealth with human touch ขยายขอบเขตการบริหารความมั่งคั่ง มุ่งเจาะกลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ ทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการใช้ AI และ Machine Learning
ควบคู่ไปกับการนำแพลตฟอร์มเทคโนโลยีและดาต้า มาใช้วิเคราะห์ข้อมูลการลงทุนของลูกค้า (Brain Capability) ตลอดจนให้คำปรึกษาแบบ Hybrid Advisory โดยผ่านทีมที่ปรึกษาการลงทุน ควบคู่กับ Wealth Planning Platform เพื่อให้การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย (Personalized solutions ) และการจัดพอร์ตการลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมายของลูกค้าอย่างแท้จริง โดยเน้นการสร้างประสบการณ์อย่างไร้รอยต่อ (Seamless & Omni-channel experience)
3. Quality advice focus มุ่งเน้นการสร้าง Advisory Capability ให้มีความแข็งแกร่งในธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง โดยการยกระดับคุณภาพของ ที่ปรึกษาทางการเงิน (Relationship Manager) ที่ได้รับการรับรองจากหลักสูตรการวางแผนทางการเงินระดับสากล กว่า 500 คน ทำให้ SCB Wealth มีจำนวน RM มากที่สุดในประเทศไทย
โดยมุ่งเน้นรูปแบบการให้คำปรึกษาด้วยกลยุทธ์การจัดสรรสินทรัพย์ที่ออกแบบเป็นพิเศษเฉพาะลูกค้าแต่ละราย (Personalized Asset Allocation) เพราะ RM มีการใช้แพลตฟอร์มเทคโนโลยีและดาต้าทำให้เข้าใจความต้องการและเป้าหมายของลูกค้ารายบุคคลได้ดีมากยิ่งขึ้น และเน้นให้คำแนะนำที่สอดคล้องกับกลยุทธ์การลงทุนของทีม CIO ที่มีความเชี่ยวชาญและที่ได้รับการรับรองจากสถาบันชั้นนำของเอเชีย
“ไทยพาณิชย์ทำธุรกิจ Wealth อย่างจริงจังเมื่อไม่กี่ปีนี้ ในช่วง 4 – 5 ปี ผลของ Transform ทำให้เกิด New S-curve กับธนาคาร โดยเราปรับเปลี่ยนพนักงานสาขาเป็น Wealth RM และ upskill พนักงานจนเป็น S-curve ใหม่
ปัจจุบันายได้ของธุรกิจ Wealth ทั้ง Investment และ Insurance รวมกันเพิ่มขึ้นมาเป็น 20% จากปี 2017 ที่มีเพียง 7% ของรายได้ธนาคาร เราจึงมองว่าเป็นธุรกิจที่ต้องให้ความสำคัญต่อไปในอนาคต และเป็นธุรกิจหลักที่สร้างการเติบโตให้แก่ธนาคารอย่างยั่งยืน
โดยในเซ็กเมนต์ Wealth จะต้องเห็นการเห็นการเติบโตในเชิงรายได้ โดยเฉพาะรายได้หลักจากธุรกิจ Wealth อันได้แก่ ธุรกิจการลงทุน ประกัน และสินเชื่อเพื่อต่อยอดความมั่งคั่ง เติบโตในระดับ double digits ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า และเป็นการเติบโตที่มากกว่าการเติบโตของตลาด
ควบคู่กับขยายการเติบโตในกลุ่มลูกค้า Digital Wealth สร้างความแตกต่างด้วยการยกระดับการให้บริการด้วยการแนะนำแนวทางการวางแผนทางการเงินให้ลูกค้าเข้าถึงได้ในวงกว้าง”
ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ ชูกลยุทธ์ “The New Wave of Wealth” ปักธงสู่ สู่ International Private Banking
หลังจากจัดตั้ง “บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด” (SCB Julius Baer) บริษัทร่วมทุนระหว่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ ถือหุ้นสัดส่วน 60% และจูเลียส แบร์ 40% เริ่มดำเนินธุรกิจในปี 2019 ด้วยเงินทุนจดทะเบียน 2,650,000,000 บาท โดยนำความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การวางแผนและบริหารความมั่งคั่งจากทั่วโลกกว่า 130 ปีของจูเลียส แบร์ กับ ความเข้าใจกลุ่มลูกค้าผู้มีความมั่งคั่งระดับสูงในประเทศไทยของไทยพาณิชย์ มาผสานจุดแข็งทั้งสององค์กรเข้าด้วยกัน เพื่อดูแล ขยายโอกาสการลงทุนทั่วโลกให้กับลูกค้าไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ พร้อมให้บริการแบบ Highly Personalize
กลยุทธ์ในปี 2023 ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ ชูกลยุทธ์ “The New Wave of Wealth” ตอกย้ำจุดยืนของการเป็นผู้นำด้านบริหารความมั่งคั่ง ซึ่งครอบคลุมและครบวงจรที่สุด เพื่อเจาะกลุ่มทายาทคนรุ่นใหม่ ประกอบด้วย
1. Onshore & Offshore Investment: ลูกค้าไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ สามารถลงทุนทั้งในประเทศ (Onshore) และต่างประเทศ (Offshore) กับผลิตภัณฑ์ทางการเงินและการลงทุนแบบ holistic view อาทิ บริการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (FX Hedging), สินเชื่อเพื่อการลงทุนอย่างLombard Loan หรือ Property Backed Loan ซึ่งถือเป็น House แรกและที่เดียวในประเทศไทยที่สามารถดูแลและให้บริการได้แบบครบวงจร
นอกจากนี้ ลูกค้ายังสามารถเข้าถึงทีมผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพระดับสากลจากจูเลียส แบร์ รวมถึงทีม Estate Planning & Family Office ของธนาคารไทยพาณิชย์ได้อีกด้วย
2. Human Touch: บริการที่เข้าใจกลุ่มลูกค้าคนไทยอย่างแท้จริง ด้วยผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ หรือ Relationship Manager (RM) คนไทยที่มีความรู้ ความเข้าใจตลาดเมืองไทย เข้าใจความต้องการของลูกค้าทั้งในเชิงวัฒนธรรม วิถีชีวิตและแนวคิดของคนไทยด้วยกัน พร้อมให้บริการได้ทันทีเนื่องจากประจำอยู่ที่สำนักงานใหญ่ในประเทศไทย ด้วยการให้บริการแบบ Human Touch โดยมีเทคโนโลยีมาสนับสนุน (Human Touch with Digital Support) เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุด และตรงตามความต้องการของลูกค้าแต่ละราย
3. Seamless Access: การให้บริการผ่าน Open Product Platform ด้วยผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลาย และการวางแผนการส่งต่อความมั่งคั่ง (Wealth Planning) รวมทั้งบริการที่ดีที่สุด เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถลงทุนได้อย่างอิสระ ทำให้สามารถกำหนดกลยุทธ์การลงทุนที่สร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุด ตรงกับความต้องการของลูกค้าเฉพาะบุคคล (Tailored made) และเข้าถึงการลงทุนทั่วโลกได้อย่างแท้จริง
“สิ่งที่เราโฟกัสในเชิงของ Wealth หรือ high-net-worth คือ Next Generation หรือรุ่นถัดไป โดยปีนี้เป็นปีแรกที่ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ เปิดหลักสูตรเอ็กซ์คลูซีฟ The 45 Academia ภายใต้แนวคิด “Leader of Tomorrow” มุ่งปั้นผู้นำแห่งอนาคตที่มีพลัง และสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่สังคมในทุกมิติ ผ่านการปูพื้นฐานด้านการลงทุนและเตรียมความพร้อมให้กับกลุ่มทายาทธุรกิจรุ่นใหม่ (Next Generation) ให้เข้าใจถึงการบริหารความมั่งคั่งอย่างเต็มรูปแบบ
ด้วยโปรแกรมพัฒนาศักยภาพตนเองอย่างเข้มข้น เพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างยั่งยืน สะท้อนถึงความมุ่งมั่นขององค์กร “Your Legacy. Our Promise.” ที่ลูกค้าสามารถเชื่อมั่นและไว้วางใจได้อย่างแท้จริง” คุณลลิตภัทร ธรณวิกรัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด กล่าวถึงการพัฒนาหลักสูตรพัฒนาศักยภาพทายาทธุรกิจรุ่นใหม่
ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ ได้ตั้งเป้าภายในปี 2025 จะสามารถขึ้นแท่นผู้นำ International Private Banking ที่มีความเป็นเลิศด้านธุรกิจบริหารความมั่งคั่งแบบครบวงจร ให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่งระดับสูง (UHNWIs และ HNWIs) ของเมืองไทย