ถอดกรณีศึกษา การใช้เทคโนโลยีร่วมกับ ESG ที่ช่วยให้ธุรกิจองค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน

  • 11
  •  
  •  
  •  
  •  

หนึ่งในเทรนด์ธุรกิจที่ปฏิเสธไม่ได้ คือเรื่องของ ESG และเมื่อพูดถึง ESG หลายคนก็มักจะมองไปถึงกิจกรรมเพื่อสังคม แต่จริงๆ แล้ว ESG คือหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญของธุรกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะกระแสต่อต้านจากสังคมหากธุรกิจไม่มีกลยุทธ์ด้าน ESG บางท่านอาจจะมองว่า ESG มันคือ CSR หรือเปล่า จริงๆ แล้วมีความคล้าย เนื่องจาก CSR เป็นเรื่องของภาพลักษณ์องค์กรที่จะช่วยเหลือสังคม ขณะที่ในเรื่อง ESG จะลงลึกไปถึงระดับเป็นการวางกลยุทธ์ขององค์กร ที่ไม่ใช่รูปแบบโปรเจ็คระยะสั้น แต่จะต้องเป็นเรื่อง Sustainability ที่จะต้องทำอย่างต่อเนื่องในระยะยาวเพื่อสร้างความยั่งยืนที่แท้จริง

 

ESG บนเทคโนโลยีทางธุรกิจ

ในมุมของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ ESG คงต้องแตกออกเป็น 3 หมวดหลักๆ ทั้งในเรื่องของ Environment, Social, Government ซึ่งสิ่งสำคัญของการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับ ESG สิ่งแรกคือต้องสามารถวัดผลได้ จากนั้นจึงนำผลที่ได้ไปสู่กระบวนการ Data Analytic ถือเป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องทำ อีกสิ่งสำคัญไม่ว่าจะเลือกเทคโนโลยีโซลูชันอะไรมาทำ ESG ควรจะต้องคำนึงถึงต้นทุนเทคโนโลยีที่ไม่จำเป็นต้องแพงจนเกินไป เพราะแทนที่จะนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยเหลือ อาจกลายเป็นสร้างภาระให้ธุรกิจเข้ามาแทน

เมื่อถอยออกมาดูภาพมุมใหญ่ในระดับโลก หากตัดเรื่องของการลงทุนเทคโนโลยีด้าน AI ที่กำลังเป็นเทรนด์ธุรกิจอยู่ในตอนนี้ การลงทุนเทคโนโลยีด้าน ESG จะกลายเป็นการลงทุนอันดับหนึ่งของโลกขึ้นมาแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ Climate Tech ซึ่งในความเข้าใจของใครหลายคนมักจะมองเป็นเรื่องไกลตัว เป็นเรื่องที่ต้องใช้นโยบายระดับประเทศเข้ามาแก้ไข เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน

 

ESG กับพฤติกรรมการใช้ชีวิต

แต่ในความเป็นจริงเรื่องของ ESG ใกล้ตัวกว่าที่คิดและอยู่กับทุกคนตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน ยกตัวอย่าง หลายคนตื่นนอนมาต้องเปิดไฟ หรือบางคนจับมือถือขึ้นมาก่อน ทุกครั้งที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าเท่ากับเราเริ่มปล่อยคาร์บอน เพราะจากข้อมูลพบว่า ประเทศไทยมีการปล่อยคาร์บอนเกือบ 1% ของโลก ซึ่งครึ่งหนึ่งเกิดมาจากการใช้ไฟฟ้า แม้แต่ EV ที่หลายคนมองว่าเป็นการช่วยสิ่งแวดล้อม แต่จริงๆ ไฟฟ้าที่ใช้ชาร์จ EV ต้นทางยังผลิตมาจากก๊าซธรรมชาติ

หลังจากที่เปิดไฟแล้ว ก็ต้องทานอาหารซึ่งก็ต้องมีเนื้อสัตว์เข้าไปเป็นส่วนประกอบอาหาร แต่รู้หรือไม่ว่าสัตว์ที่แปรรูปมาเป็นอาหารสามารถปล่อยคาร์บอนได้ในรูปของก๊าซมีเทนที่เราเรียกว่า “ตด” โดยเฉพาะวัวที่มีการปล่อยก๊าซมีเทนออกมาปริมาณมหาศาล ซึ่งปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ด้าน Food Tech ที่ช่วยให้สามารถทานเนื้อวัวได้โดยที่ไม่ต้องใช้วัวหรือที่เรียกว่า Lab Pro Meat ซึ่งเป็นการเพาะเลี้ยงเซลล์เนื้อเหล่านั้นขึ้นมาจากห้องปฏิบัติการด้านอาหาร

ยังมีอีกหลายกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ ESG หนึ่งในนั้นคือเรื่องของเทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อสุขภาพ ยกตัวอย่างเช่น นวัตกรรมผ้าอนามัยที่ช่วยให้ผู้หญิงไม่ต้องเสียเวลาไปเจาะเลือดที่โรงพยาบาล อย่างที่ทราบว่าการเจาะเลือดที่โรงพยาบาลค่อนข้างเสียเวลา โดยนวัตกรรมนี้จะช่วยให้ทางเจ้าหน้าที่สามารถดึงเอาเลือดจากผ้าอนามัยได้ โดยที่ไม่ต้องไปเจาะเลือด ซึ่งเร็วๆ นี้น่าจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ

 

กรณีศึกษาความร่วมมือทางด้าน ESG

เมื่อพูดถึงเรื่อง ESG ด้านการเงิน ยกตัวอย่าง กรุงศรี นิมเบิล ธุรกิจด้าน Tech Company ภายใต้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่มองเรื่อง ESG เป็นเรื่องสำคัญมากๆ โดยมีการตั้งเป้าหมาย Net Zero Carbon Emission ในปี 2024 รวมถึงการสร้างโอกาสที่จะคืนสู่สังคมและยังเปิดโอกาสให้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาทดลองใช้งาน โดยได้ร่วมมือกับ โรงพยาบาลศิริราช ในการสร้างโปรเจค VR Therapy ด้วยการนำเทคโนโลยี VR หรือ 3D มาช่วยผู้ป่วยจิตเวชในการรักษาโรคบางชนิด เช่น โรคกลัวความสูง เป็นต้น

สำหรับโรงพยาบาลศิริราชมีทั้งสิ้น 3 โรงพยาบาลหลัก ทั้งโรงพยาบาลศิริราชหลักที่เป็นโรงพยาบาลใหญ่ ศิริราชปิยะมหาราชการุณย์ และโรงพยาบาลกาญจนาภิเษก พุทธมณฑลสาย 4 ภาพรวมทั้งหมดโดรงพยาบาลศิริราชมีผู้ป่วยในประมาณแสนเตียงต่อปี ส่วนผู้ป่วยนอกประมาณ 4 ล้านกว่ารายต่อปี ทางด้านของฝั่งจิตเวชรองรับผู้ป่วยประมาณ 36,000 รายต่อปี แต่มีคนที่เข้าถึงบริการจิตบำบัดได้แค่ประมาณ 1,300 รายต่อปี นั่นเพราะศิริราชมีนักจิตบำบัดจำนวนน้อยและงานกลุ่มจิตบำบัดต้องใช้ระยะเวลาในการรักษา

แต่หลังจากเกิดสถานการณ์โรคระบาดขึ้นมา ก็เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจากเดิมโรงพยาบาลศิริราชมีวัฒนธรรมการให้บริการแบบต้องเห็นหน้าพบปะพูดคุยเท่านั้น ไม่ยอมรับการรักษาผ่านระบบออนไลน์ แต่เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล โรงพยาบาลจึงได้เริ่มการรักษาผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันการรักษาผ่านออนไลน์ยังมีสัดส่วนที่มากกว่าการเข้ามารักษาที่โรงพยาบาล

 

VR Therapy เทคโนโลยีเพื่อสังคม

จากการที่โรงพยาบาลศิริราชมีโอกาสได้ทำ VR Therapy กับทางญี่ปุ่น ทางโรงพยาบาลเลยคิดว่าน่าจะสามารถนำมาทำได้ในประเทศไทย ส่งผลให้มีโอกาสได้คุยกับทาง กรุงศรี นิมเบิล เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นของคนไทยเอง ซึ่งเป็นการผสานความเชี่ยวชาญทั้งด้านการแพทย์จากศิริราช และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจากธนาคารกรุงศรี

ด้าน กรุงศรี นิมเบิล เองก็มองว่าเป็นโอกาสที่ดี นั่นเพราะทำให้เทคโนโลยีสามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้คนในด้านการรักษาพยาบาลได้ ซึ่งการรักษาด้านจิตเวชมีความหลากหลาย จึงได้เริ่มจากกรณีของผู้ป่วยที่กลัวความสูง ผู้ป่วยกลัวที่แคบ ซึ่งการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถใช้เทคโนโลยี VR หรือ 3D ได้ ควบคู่กับการจำลองสถานการณ์ต่างๆ เช่น กรณีกลัวความสูง จะมีการจำลองเสมือนจริงให้อยู่บนตึกจากอาคารเตี้ย แล้วไล่ขึ้นไปจนถึงอาคารสูงทั้งแบบมีรั้วกั้นและไม่มีรั้วกั้น สูงไปจนลอยอยู่บนฟ้าเหมือนนั่งเครื่องบิน

หรือกรณีกลัวที่แคบก็จะมีการจำลองให้อยู่ในลิฟท์ ซึ่งจะมีการกำหนดขนาดของลิฟท์ ให้มีขนาดเล็กและจะค่อยๆ มีผู้ร่วมโดยสารทีละคนจนเต็มลิฟท์ ซึ่งการเพิ่มความสูงหรือจำนวนคนในลิฟท์ คุณหมอผู้เชี่ยวชาญจะเป็นผู้วินิจฉัยเพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วย

สำหรับอาการที่สามารถนำเทคโนโลยีไปรักษาได้จริง น่าจะเริ่มจากกลุ่มอาการกลัวสิ่งต่างๆ หรือ Phobia ได้ก่อน อย่างเช่น อาการกลัวแมลงสาบ กลัวจิ้งจก ในขั้นที่แค่นึกถึงก็สามารถทำให้ใจสั่น หรือถึงขั้นในระดับที่บางคนพูดถึงไม่ได้เลย ซึ่งการรักษาในรูปแบบปกติสามารถให้บริการได้แค่ 0.3% แต่การใช้เทคโนโลยี VR Therapy จะเข้ามาช่วยเติมเต็มในส่วนนี้ได้ เพื่อให้ผู้ป่วยได้อยู่กับความกลัวภายใต้สถานการณ์เสมือนจริงนานเพียงพอจนเริ่มรู้สึกเคยชิน ก็จะทำให้หายจากอาการกลัวเหล่านั้น

 

ต่อยอดสู่เทคโนโลยีการรักษาพยาบาล

การใช้เทคโนโลยี VR Therapy สามารถให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการรักษาในรูปแบบเดิมที่ให้ผู้ป่วยจินตนาการสิ่งที่กลัว ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ว่าจะจินตนาการอะไร หรือบอกข้อมูลไม่ถูกต้อง ซึ่งเทคโนโลยี VR Therapy จะช่วยให้แพทย์เห็นได้เลยว่า ผู้ป่วยกลัวความสูงที่ระดับความสูงเท่าไหร่ หรืออาการกลัวที่แคบจะสามารถดูได้ว่าแคบขนาดไหน ด้วยข้อจำกัดด้านต้นทุนเทคโนโลยีทำให้ช่วงแรกผู้ป่วยจำเป็นต้องมาที่โรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาด้วยเทคโนโลยี VR Therapy แต่ในอนาคตอาจจะใช้กล้อง VR ที่เป็นกระดาษใช้งานร่วมกับสมาร์ทโฟนเชื่อมต่อการรักษาในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งจะช่วยให้สถานการณ์จำลองต่างๆ ถูกส่งเข้ามาที่สมาร์ทโฟนแล้วส่งผลการจำลองไปที่คุณหมอแบบ RealTime

นอกจากเทคโนโลยี VR Therapy ศิริราชยังมีการนำเทคโนโลยีอื่นๆ เข้ามาใช้ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ของโรงพยาบาลและเป็นหนึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญ ถึงขนาดที่มีการตั้งหน่วยงานที่ให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี และจะเป็นหน่วยงานที่ช่วยเชื่อมต่อคอนเนคชั่นทางธุรกิจ อย่างกรณีที่ต้องตรวจชิ้นเนื้อในอดีตต้องเจ้าหน้าที่ในแต่ละขั้นตอน แต่ปัจจุบันไม่ว่าเจ้าหน้าที่อยู่ที่ไหนก็สามารถอ่านค่าวินิจฉัยได้ผ่านระบบออนไลน์ หรือบริการเจาะเลือดถึงบ้านแล้วส่งผลทางออนไลน์สามารถรู้ผลการวินิจฉัยได้ทันที

วิธีการใช้เทคโนโลยี VR Therapy ได้รับความนิยมอย่างมากในต่างประเทศ ไม่ใช่แค่โรคทางจิตเวชเท่านั้น แต่โรคอื่นๆ ก็สามารถรักษาได้ด้วย เช่น โรคตา รวมไปถึงนักศึกษาแพทย์ที่ในอนาคตอาจจะไม่ต้องเรียนผ่าศพจริงๆ สามารถใช้เทคโนโลยี VR ในการฝึกผ่าศพได้ ซึ่งเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยทำให้งานเดิมที่มันยากให้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการเข้ามาช่วยวงการแพทย์ให้ดีขึ้น

 

เปิดกรณีศึกษาธุรกิจเติบโตด้วย ESG

การจะทำให้ ESG ยั่งยืนธุรกิจจะต้องสามารถสร้างผลกำไรและการเติบโตของธุรกิจด้วย ยกตัวอย่าง ร้านขายรองเท้าที่ญี่ปุ่น ซึ่งที่รองเท้าระบุไว้ว่า เป็นรองเท้าที่ผลิตจากวัตถุดิบรีไซเคิล 100% แต่เมื่อจะซื้อทางร้านไม่ยอมขาย ซึ่งวิธีการซื้อจะต้องไปซื้อผ่านเว็บไซต์ โดยทางเว็บไซต์จะหักเงินผู้ซื้อเดือนละ 1,000 บาททุกเดือน พอถึงเดือนที่ 6 ทางร้านจะส่งรองเท้าคู่ใหม่มาให้ พร้อมส่งถุงเปล่าเพื่อให้นำคู่เก่าส่งกลับไปที่ร้าน

ปกติ Life Cycle ของการเปลี่ยนรองเท้าโดยเฉลี่ยจะประมาณ 2 ปีต่อคู่ ด้วยรูปแบบร้านญี่ปุ่นดังกล่าวลดระยะเวลา Life Cycle ลงเหลือ 6 เดือน ส่งผลให้จากเดิม 2 ปีเปลี่ยนรองเท้าคู่เดียว กลายเป็น 2 ปีต้องเปลี่ยนรองเท้าถึง 4 คู่ เป็นกลยุทธ์ที่มีการเรื่องของ ESG และเทคโนโลยีออนไลน์เข้ามาผสานกันเพื่อสร้างผลกำไรให้กับธุรกิจ ช่วยให้ขายของได้มากขึ้น วิธีการนี้ผู้ประกอบการควรจะต้องเปลี่ยนแนวคิดที่ต้องการพัฒนาธุรกิจให้ดีขึ้น ขณะที่โลกก็ต้องช่วย ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้ต้องไปพร้อมกันเป็นเทรนด์ของโลก ธุรกิจจึงต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้ 2 เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องเดียวกัน

สำหรับธุรกิจที่ต้องการทำเรื่อง ESG อย่างยั่งยืน ต้องกลับมาถามก่อนว่า เข้าใจ Pain Point ของลูกค้าแล้วหรือยัง หากเข้าใจแล้วก็ต้องไปดูว่า จะเตรียมระบบต้นแบบเพื่อนำมาทดสอบกับตลาดให้รวดเร็วอย่างไร ซึ่งการสร้างความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจะช่วยให้เกิดการทดสอบตลาดได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การใช้เทคโนโลยีง่ายขึ้น

 

ขอบคุณข้อมูล: Krungsri TechDay 2023


  • 11
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา