นี่อาจเป็นคำถามที่ทุกคนเคยได้ยินกันมาบ้าง Manager กับ Leader ต่างกันไหม? หรือจริงๆแล้วมันเหมือนกัน? Manager ทุกคนนับเป็น Leader ไหม? หรือ Leader ทุกคนก็ต้องเป็น Manager ในตัวเองด้วยรึเปล่า? สองสิ่งนี้แตกต่างกันอย่างไร ในบทความนี้เราจะมาแยกให้เห็นแบบชัด ๆ ว่าระหว่าง ความเป็นผู้นำ หรือ Leadership กับ การจัดการ หรือ Management นั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร?
คำตอบต่อคำถามเหล่านี้ที่แว่บขึ้นมาในหัวเราเป็นคำตอบแรกๆก็อาจจะเป็น ผู้บริหารระดับสูงๆก็คือ Leader และรองๆลงมาคือ Manager แต่จริงๆแล้วทั้งสองคำนี้นั้นมีความแตกต่างกันอยู่ในแง่ของ Function หรือกระบวนการทำงาน แน่นอนว่าทั้ง Leader และ Manager นั้นต้องการให้ทีมประสบความสำเร็จเหมือนๆกัน แต่วิธีการที่จะเดินไปสู่ความสำเร็จนั้นแตกต่างกัน ทั้งสองคำนี้เป็นเหมือนกับเส้นสองเส้นที่แยกออกจากกันแต่ก็มีบางส่วนที่ทับซ้อนกันอยู่ด้วย
Leadership คืออะไร?
Leadership หรือ ความเป็นผู้นำหมายถึง กระบวนการสร้างอิทธิพลทางสังคมที่ทำให้คนอื่นๆพยายามทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้มากที่สุดเพื่อความสำเร็จสู่เป้าหมาย Leader นั้นจะเน้นที่ “ภาพใหญ่” สร้างและสื่อสารถึงวิสัยทัศน์ และสร้างพลังใหกับคนอื่นๆเพื่อให้เดินตามวิสัยทัศน์นั้นๆ พูดง่ายๆก็คือ Leader จะสร้างทิศทาง ช่วยให้คนอื่นเข้าใจทิศทางเหล่านั้น และทำให้เกิดสภาพที่เหมาะสมที่จะให้คนเหล่านั้นทำให้เกิดบางสิ่งบางอย่างให้เป็นไปตามเป้าหมาย
คุณ John Kotter อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน Leadership จาก Harvard Business School อธิบายเอาไว้ด้วยว่า Leadership คือการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่า ผ้นำคือใครบางคนที่สามารถช่วยให้คนอื่นทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและได้ประโชน์จากความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น
“มันไม่ใช่การบริหารอะไรบางสิ่งบางอย่าง มันไม่ใช่การทำให้รถไฟวิ่งไปให้ถึงตรงเวลา มันเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงระบบเพื่อสร้างความได้เปรียบจากโอกาสที่มาถงในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก้าวข้ามอุปสรรคและเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนได้” คุณ Kotter ระบุ
ในขณะที่ปรากฏการณ์ที่มักจะเกิดขึ้นจากคนที่เป็นผู้นำเสมอก็คือ “ผู้นำเป็นคนที่จะมีผู้ตาม” ประโยคง่ายๆที่สามารถอธิบายได้ว่าใครเป็นผู้นำก็คือคน ๆ นั้นมีผู้ตามหรือไม่ และการที่จะจะเป็นผู้นำได้จะต้องเป็นคนที่มีแรงบันดีใจ มีความเชื่อในบางสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน และทำให้ผู้คนพร้อมที่จะลงทุนลงแรงเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายไปด้วยกันนั่นเอง
ที่สำคัญก็คือ Leadership นั้นไม่ได้ผูกติดอยู่กับตำแหน่งใดๆในองค์กร สำหรับคนที่เป็นผู้นำระดับสูงในองค์กรบางครั้งก็ไม่จำเป็นว่าคนนั้นจะเป็น “ผู้นำ” เสมอไปเช่นกัน
Management คืออะไร?
Management นั้นเกี่ยวข้องกับการสร้างความร่วมมือร่วมใจและการจัดการงานที่มีอยู่ เป็นกระบวนการทำให้พนักงานร่วมมือกัน พยายามทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้สำเร็จตามเป้าหมายโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ โดยคุณ Kotter แยกบทบาทหน้าที่พื้นฐานของ Manager เอาไว้ 3 อย่างด้วยกันคือ
- Planning and Budgeting – หมายถึง Manager จะต้องพิจารณาถึงเป้าหมายและสร้างแผนการทำงานเพื่อให้เดินหน้าไปสู่เป้าหมายนั้นได้ วางกระบวนการทำงานตั้งแต่เริ่มต้นและสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานระหว่างทางได้
- Controlling and Problem-Solving – หมายถึงว่า Manager จะเป็นผู้ควบคุมสิ่งที่พนักงานทำ วิธีการทำ ประเมินผลและปรับปรุงเพื่อการพัฒนา
- Organizing and Staffing – หมายถึง Manager จะต้องจ้างงานคนที่ถูกต้องกับงานที่ทำและรักษาพนักงานเก่งๆให้อยู่กับองค์กรต่อไปด้วยนโยบาย การขึ้นค่าตอบแทน สวัสดิการและการจัดอบรมต่างๆ
นอกจากนี้ Management ยังเกี่ยวข้องกับ ประสิทธิภาพและประสิทธิผล เกี่ยวกับการทำงานให้เสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด การแก้ปัญหาและทำให้เกิดผลลัทธ์ขึ้นในที่สุด โดย Manager จะทำงานใกล้ชิดกับทีมและให้แนวทางกับทีม ตั้งเป้าหมายให้ feedback ทั้งลบและบวก งานของ Manager คือการสร้างทีมที่ทำงานร่วมกัน สนับสนุนสมาชิกในทีมให้ก้าวไปถึงเป้าหมายในสายงานและสร้างกระบวนการที่ทำให้งานเสร็จสิ้นอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ
ความแตกต่างระหว่าง Leader และ Manager
Manager สามารถเป็น Leader ได้ แต่มันก็ไม่เสมอไป สิ่งที่ Manager ต้องให้ความสำคัญก็คือรายละเอียด กระบวนการ ให้ความสนใจกับกลไกต่างๆในการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ในทางกลับกัน Leader ก็สามารถเป็น Manager ได้ และทุกคนก็สามารถเป็น Leader ได้เช่นกัน
ทั้ง Manager และ Leader มีส่วนสร้างคุณค่าให้กับองค์กรได้เหมือนกันแต่การมีส่วนร่วมนั้นแตกต่างกัน Leader นั้นจะเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงและหาแนวทาง หาไอเดียใหม่ๆในการทำงาน ส่วน Manager จะเน้นไปที่ความมีเสถียรภาพและคงไว้ซึ่งสถานะปัจจุบัน หรือพูดง่ายๆว่า Leader จะมองเห็น “ป่า” แต่ Manager จะมอง “ต้นไม้” แต่ละต้นนั่นเอง
“ในขณะที่ Leader จะห่วงกับการทำความเข้าใจความเชื่อของผู้คนและสร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้น แต่ Manager จะมีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการ ควบคุมและห่วงกับเรื่องการทำงานแต่ละอย่างให้ประสบความสำเร็จ” Fred C. Lunenburg อาจารย์จากมหาวิทยาลัย Sam Houston State University ระบุ
สิ่งที่คล้ายกันระหว่าง Leader และ Manager
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Leader และ Manager อาจถูกเรียกให้ทับซ้อนกันก็เพราะอาจมีบางสิ่งที่ทับซ้อนกันอยู่บ้างไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ “การสื่อสาร” ที่ Leader ต้องสื่อสารกับผู้คนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและส่งเสริม รวมไปถึงการสร้างวัฒนธรรมที่ช่วยให้พนักงานมีส่วนร่วมและเดินไปสู่เป้าหมายได้ อย่างเช่นการสร้างวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นกับ บรรดาพนักงานของ Disney, Nordstrom รวมไปถึง IBM เป็นต้น ขณะที่ Manager จะสื่อสารกับทีมเพื่อให้ทีมเข้าใจว่ากำลังทำงานอย่างมีประสิทธิภาพอยู่หรือไม่ ต้องสื่อสารเพื่อให้ feedback และคิดเสมอว่าจะทำอย่างไรให้ทีมทำงานให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
นอกจากนี้สิ่งที่คล้ายกันก็คือเรื่องของ “การจัดการการเปลี่ยนแปลง” โดย Leader จะมองไปที่โลกภายนอกเพื่อมองว่าจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้องค์กรสามารถอยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประเมินสถานการณ์และพิจารณาว่ามีอะไรที่ต้องเปลี่ยนแปลงบ้าง หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเปลี่ยนแปลงได้ก็ต้องมีวิสัยทัศน์ใหม่ สื่อสารถึงสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงและสนับสนุนให้พนักงานก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงไปให้ได้ ในขณะที่ Manager ก็ต้องทำให้พนักงานนั้นปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลง ที่จะส่งผลทั้งกับกรองการทำงาน ตารางเวลา ทรัพยากร กำลังคน ต้นทุนและความเสี่ยง และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็เป็นหน้าที่ของ Manager ที่จะต้องทำเช่นกัน
อีกสิ่งที่ทับซ้อนกันก็คือ “การตัดสินใจ” โดย Leader จะตัดสินใจในระดับองค์กร มีการตัดสินใจโดยอยู่บนพื้นฐานของกลยุทธ์ระยะยาวที่สอดคล้องกับเทรนด์ของอุตสาหกรรม เทรนด์ของอุปสงค์และอุปทาน สภาพเศรษฐกิจ ซึ่งผู้นำที่ดีจะวิเคราะห์ตัวแปรทั้งภายในและภายในอกเพื่อหาวิธีการที่ดีที่สุดให้กับทีมและบริษัทในระยะยาวได้ ส่วน Manager นั้นจะตัดสินใจในระดับทีมหรือระดับแผนก เช่นการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ หาวิธีการเพื่อสร้างความสำเร็จในกลยุทธ์นั้นๆ การตัดสินใจเหล่านี้จะส่งผลกับการทำงานในแต่ละวันและรับมือกับความต้องการของสมาชิกในทีม กระบวนการทำงาน และการจัดสรรทรัพยากร เป็นต้น
ทักษะที่จำเป็นสำหรับ Leader และ Manager
สำหรับ Leader แล้วทักษะสำคัญที่ต้องมีก็คือความสามารถในการ “สร้างวิสัยทัศน์” มองเห็นถึงความสำเร็จในอนาคตและตำแหน่งแห่งที่ของบริษัทที่จะอยู่ในอนาคตข้างหน้า นอกจากนี้ต้องมีความสามารถในการ “สร้างแรงบันดาลใจ” ให้กับผู้คนเพื่อให้คนเหล่านี้สามารถเดินหน้าต่อไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ด้วยความเชื่อใจและพร้อมที่จะเดินตามผู้นำต่อไป และที่สำคัญก็คือสามารถ “มองเห็นความเปลี่ยนแปลง” ได้ก่อนใคร และมี “ความคิดเชิงกลยุทธ์” ที่สามารถวิเคราะห์สถานการณ์และวางแผนเพื่อเดินไปสู่อนาคตได้
ในส่วนของ Manager นั้นทักษะสำคัญก็คือ ทักษะในการ “บริหารจัดการ” การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าไม่ว่าจะเป็ฯเวลา งบประมาณ กำลังคน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้มากที่สุด ทักษะในการบริหารจัดการสามารถพัฒนาได้ทุกๆวัน และ Manager จะต้องรู้กระบวนการทำงานทั้งหมและงานเดินไปถึงขั้นตอนไหน สร้างเช็คลิสต์สิ่งที่ต้องทำ จัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสม จัดลำดับความสำคัญของงานได้ เป็นต้น
โดยสรุปแล้ววิธีการเดินสู่เป้าหมายระหว่าง Leader และ Manager นั้นต่างกันไม่ว่าจะเรื่อง “ทีมเวิร์ค” Leader จะสร้างแรงบันดาลใจ Manager จะสร้างการร่วมมือ ในแง่ของ “ความสำเร็จ” Leader จะมองหาโอกาส ส่วน Manager จะลดความเสี่ยง ในแง่ของการ “สร้างพลังให้ผู้คน” Leader จะให้วิสัยทัศน์และอำนาจตัดสินใจ ส่วน Manager จะให้ทรัพยากร และในแง่ของ “ประสิทธิภาพ” Leader จะสร้างแรงจูงใจ ส่วน Manger จะใช้การควบคุม
อย่างไรก็ตามที่สุดแล้วองค์กรที่มีทั้ง Leader และ Manager ที่ดี เช่นองค์กรที่มี Leader ที่มีใจเปิดกว้างและมีความคิดเชิงกลยุทธ์ มี Manager ที่มีทักษะการบริหารจัดการที่แข็งแกร่งและมีทักษะเชิงเทคนิคที่ดีก็จะทำให้องค์กรเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จได้อย่างแน่นอน
ที่มา Runn