ได้เวลาพลิกโฉมตลาดรถยนต์ไทย เมื่อทุกอย่างพร้อมรับการเติบโต EV เต็มระบบ

  • 16
  •  
  •  
  •  
  •  

นับตั้งแต่รถยนต์ EV คันแรกเข้าสู่ประเทศไทย คำถามก็เกิดตามมาถึงความพร้อมในการใช้รถ EV ในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นคำถามยอดฮิตแบบ ก. กับ ข. อะไรเกิดก่อนกันอย่าง “ควรมีรถ EV ในตลาดก่อนหรือควรมีจุดชาร์จไฟก่อน” หรือ “EV จะมาแทนรถยนต์ใช้น้ำมันได้จริงหรอ?” จนถึงวันนี้หลายคำถามมีคำตอบให้เห็นอย่างชัดเจน แม้จะยังมีบางคำถามที่ยังโต้เถียงกันอย่าง “EV คือทางออกของพลังงานสะอาดแบบ 100% จริงหรอ?”

แต่ไม่ว่าคำถามจะมีมากมายขนาดไหน สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ ตลาด EV กำลังโตวันโตคืน เมื่อทุกองค์ประกอบของตลาดรถยนต์ EV กำลังถูกพัฒนาและเข้าสู่การทำตลาดอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ตัวตลาดรถยนต์ EV หรือแม้แต่ปัจจัยรอบตัวที่ส่งผลให้ตลาด EV เติบโตอย่างรวดเร็ว จนอาจเรียกได้ว่านี่คือจุดเปลี่ยนของตลาดรถยนต์ในประเทศไทยครั้งใหญ่

 

EV เข้าถึงคนใช้รถตัวจริง?

ก่อนหน้านี้ตลาด EV คือ ตลาดของกลุ่มคนมีเงิน โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ที่รถยนต์ EV นำเข้าสู่ประเทศไทยเปิดตัวกันที่ระดับราคามากกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งราคาขนาดนี้เทียบเท่าได้กับกลุ่มรถยนต์ระดับ Executive อาทิ Mercedes Benz, BMW, Toyota Camry, Honda Accord ขณะที่รถยนต์ส่วนใหญ่ในตลาดจะอยู่ในระดับ B-Segment ไปจนถึง C-Segment เพื่อให้เห็นภาพชัดๆ คือ กลุ่มคนทำงานพนักงานออฟฟิศ

 

ซึ่งรถยนต์ในกลุ่มนี้จะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 5-8 แสนบาท ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นคนละกลุ่มกับตลาดรถยนต์ EV แม้ว่าจะมีแนวคิดในการให้ EV เข้ามาทดแทนการใช้น้ำมัน แต่เมื่อดูจากปริมาณการใช้รถบนท้องถนนจะพบว่า ไม่สามารถตอบโจทย์นั้นได้ แม้จะมีนโยบายรัฐในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรถยนต์ EV จนสามารถลดราคาลงมาได้ แต่ก็ยังไม่สามารถดั๊มพ์ราคาให้ลงมาอยู่ในระดับที่กลุ่มคนส่วนใหญ่เข้าถึงได้

แต่ถึงอย่างนั้นตลาด EV ก็ยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งนอกจากราคาที่ลดลงมาแล้ว โครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีโดยรวมก็ได้รับการพัฒนามากขึ้นเช่นกัน อย่างจุดชาร์จ EV ที่แต่เดิมจะมีเฉพาะในหน่วยงานการไฟฟ้าเท่านั้น ปัจจุบันห้างสรรพสินค้าแทบจะมีจุดชาร์จ EV กันหมดและมีแนวโน้มจะเพิ่มจำนวนจุดชาร์จมากขึ้น โรงแรมขนาดใหญ่เริ่มมีจุดบริการ์ชาร์จรถ EV มากขึ้น สถานนีบริการน้ำมันก็เริ่มมีจุดชาร์จ EV แทบจะทุกสถานี

 

โอกาสของคนระดับพนักงานบริษัทได้สัมผัส EV

เมื่อมาวิเคราะห์กันแบบจริงจัง กลุ่มคนที่ใช้รถยนต์มากที่สุด (ไม่นับการขนส่ง) คือกลุ่มพนักงานบริษัท ที่มีพฤติกรรมใช้รถทั้งการขับไปทำงานและใช้ส่วนตัว อย่างการไปเที่ยว การไปช้อปปิ้ง แต่ราคา EV ที่เปิดตัวมาก่อนหน้านี้อยู่ในระดับหลักล้านบาทอัพ ซึ่งเมื่อดูภาระค่าใช้จ่ายทั้งบ้านที่ต้องผ่อน ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้การตัดสินใจซื้อรถราคาหลักล้านต้นๆ ของพนักงานบริษัทกลายเป็นเรื่องยาก ขณะที่ราคาน้ำมันก็ปรับตัวเหมือนคนเพี้ยนๆ เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง

ล่าสุด บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด (Rêver Automotive) ผู้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า BYD เปิดตัว BYD Dolphin อย่างเป็นทางการ โดยแบ่งออกเป็น 2 รุ่น ทั้งในรุ่น Extended Range (รุ่นท้อป) เปิดตัวที่ราคา 859,999 บาท และ รุ่น Standard Range เปิดตัวที่ราคา 699,999 บาท และถือเป็นรถยนต์ EV ที่สามารถดั๊มพ์ราคาลงมาเฉียดราคาครึ่งล้านได้ โดยพร้อมส่งมอบรถได้ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคมนี้

สำหรับรุ่นท้อป Extended Range มาพร้อมกับแบตเตอรี่ขนาด 60.4kWh สามารถวิ่งได้ไกลสุด 490 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ส่วนรุ่น Standard Range มาพร้อมกับแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนขนาด 44.9kWh สามารถวิ่งได้ไกลสุด 410 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจของคนใช้รถกลุ่ม B-C Segment ที่กำลังมองหารถยนต์ EV ใช้เพื่อประหยัดค่าน้ำมัน

 

แบตเตอรี่ EV ผลิตในไทยแนวโน้มราคาถูกลง

นอกจากตัวรถจะสามารถดั๊มพ์ราคาลงมาแตะกลุ่ม B-C Segment แล้ว ดูเหมือนว่าจะสอดรับกับโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่กำลังจะทยอยปรับเปลี่ยนตามมา อย่างเรื่องของแบตเตอรี่ที่มีการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ (Module PACK Factory) ในประเทศไทยอย่าง สโฟวล์ท เอเนอจี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) หรือ SVOLT ผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าและระบบการจัดเก็บพลังงานระดับโลก

 

 

ซึ่งทางผูบริหารอย่าง นายหยาง หงซิน ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สโฟวล์ท มองว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ถือเป็นอนาคตที่สำคัญของตลาด EV โดยกลยุทธ์หลักของ SVOLT คือการมองหาพันธมิตรในหลายประเทศของภูมิภาค และจะใช้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตโดยเฉพาะแบต ESS ซึ่งโรงงานดังกล่าว จะผลิตเบตเตอรี่เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดยานยนต์และเจาะกลุ่มลูกค้าภายในประเทศไทยเป็นหลัก

คาดว่าจะมีกำลังการผลิตไว้ที่ 60,000 ชุดต่อปี เพื่อรองรับกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังแบ่งสายการผลิตไว้สองสายการผลิต ทั้งการผลิตแบตฯ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) และการผลิตแบตฯ รวมถึงชุดอุปกรณ์สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีโดยเฉพาะของ SVOLT ด้วยมาตรฐานการผลิตที่มีคุณภาพสูง โดยนายหยางมองว่า อนาคตราคาแบตเตอรี่ EV จะมีราคาถูกลง

 

นโยบายรัฐหนุนตลาด EV เติบโตเร็ว

นอกจากเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) แล้ว นโยบายรัฐก็เป็นอีกสิ่งที่ช่วยให้ตลาด EV เติบโตอย่างรวดเร็วเห็นได้จากนโยบายการอุดหนุน (Subsidise) ด้วยงบที่สูงเกือบ 3,000 ล้านบาท โดยรัฐช่วยจ่ายให้คันละ 70,000-150,000 บาททำให้ราคารถ EV ลดลงตามจำนวนเงินอุดหนุนทันที, ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์เหลือ 2%, ลาอากรนำเข้ารถทั้งคัน (CBU) ลง 40% จนถึงปี 2566 และไม่ต้องเสียอากรนำเข้าชิ้นส่วน EV จำนวน 9 รายการ เพื่อนำมาประกอบในประเทศ (CKD)

จุดสำคัญอยู่ตรงที่ ค่ายรถที่เข้ารับการอุดหนุนจากนโยบายรัฐ จะต้องผลิตรถ EV ในประเทศชดเชยเท่ากับจำนวนรถที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2565-2566 ภายในปี 2567 ในสัดส่วน 1:1 นั่นหมายความว่า สมมุติมีการนำรถเข้ามาขาย 1 แสนคัน ในปี 2567 จะต้องขายรถยนต์ EV ที่ผลิตในประเทศไทย 1 แสนคันเช่นกัน จึงไม่แปลกที่ค่ายรถ EV โดยเฉพาะจากจีนมีการตั้งโรงงานผลิตในประเทศ

 

3 จุดอ่อน EV ที่ต้องได้รับการปรับแก้

เห็นได้ชัดว่าตลาด EV กำลังเติบโตขึ้น และคาดว่าอาจจะได้เห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นแต่จะมีเหตุการณ์สำคัญที่ผลักดันให้ตลาดเติบโตอย่างก้าวกระโดด นี่ยังไม่นับการที่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นส่งสัญญาณเข้าสู่ตลาด EV อย่างเต็มตัว และอย่างที่ทราบว่า ตลาดรถยนต์ของไทยอิงค่ายรถจากญี่ปุ่นอยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งค่ายรถญี่ปุ่นเองก็ทราบดีและหากยังปล่อยให้ค่ายรถจีนกวาดต้อนลูกค้าคนไทยที่ต้องการ EV อาจส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ที่มีค่ายรถญี่ปุ่นเป็นผู้นำก็เป็นได้

แต่ถึงอย่างนั้น EV ในปัจจุบันก็ยังมีจุดอ่อนสำคัญหลักๆ 3 ประการ หนึ่งคือเรื่องของประกันภัยรถยนต์ ที่ทุกวันนี้ราคาประกันภัยรถยนต์ EV ยังถือว่าสูง เมื่อเทียบกับรถในราคาระดับใกล้เคียงกัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอะไหล่ในตลาดยังน้อยและมีราคาสูงอย่างแบตเตอรี่ รวมถึงความเชี่ยวชาญในการซ่อมแซมของช่างไทย แต่อนาคตหลังจากตั้งโรงงานผลิตรถ EV ในไทย อะไหล่จากโรงงานผลิตน่าจะออกมาเติมเต็มตลาดได้ รวมถึง Know How ความสามารถของช่างไทยที่น่าจะได้รับการพัฒนาทักษะมากขึ้น

อีกหนึ่งจุดอ่อนสำคัญคือเทคโนโลยีในการชาร์จเร็ว เพราะหนึ่งพฤติกรรมที่เราคุ้นชินคือการเสียเวลาในปั๊มน้ำมันแค่ไม่กี่นาทีแล้วไปต่อ แต่ปัจจุบันการชาร์จไฟ EV จนถึงระดับ 80% ยังต้องใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาที หมายความว่าจะต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางมากขึ้น แม้ว่ารถน้ำมันสามารถขับได้เฉลี่ย 300-400 กิโลเมตรแต่การเติมน้ำมันเต็มถัง (ขึ้นอยู่กับความเร็วในการขับ) แต่เมื่อเทียบระยะเวลาการเติมน้ำมันและการชาร์จไฟ EV ยังถือว่าห่างกันอยู่มาก

และจุดอ่อนสุดท้ายคือการบริหารจัดการขยะอิเลคทรอนิกส์ แม้ว่า SVOLT จะมีแผนการลงทุนในด้านโรงงาน Recycle แต่แบตเตอรี่ที่เสียถือเป็นขยะอิเลคทรอนิกส์ ซึ่งในความเป็นจริงทุกวันนี้ขยะอิเลคทรอนิกส์ยังถือเป็นปัญหาสำคัญของไทย เนื่องจากโรงงานที่กำจัดขยะอิเลคทรอนิกส์มีสัดส่วนน้อยกว่าขยะอิเลคทรอนิกส์เกิดใหม่ และยิ่งหาก EV ได้รับความนิยมมากขึ้น หมายถึงอนาคตขยะจากแบตเตอรี่ EV ก็จะมากขึ้นตาม

โดยสรุปแล้วเรียกว่าตลาด EV มีโอกาสเติบโตขึ้นอย่างมากมายแน่นอน จับตาดูมหกรรมยานยนต์ปลายปีนี้ให้ดี อาจได้เห็นการเติบโตของ EV ในตัวเลข Double Digic และลุ้นอาจแตะ Triple Digic และคาดว่าตลาดจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หาค่ายรถญี่ปุ่นลงมาเล่น EV เต็มตัวในราคาระดับ B-C Segment เพราะอย่างน้อยค่ายรถจีนก็ออกมาชิมลางตลาดให้ดูก่อนแล้วว่า ต้องเสริมหรือปรับแก้ตรงไหน


  • 16
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา