Marketing Oops! The Untold Insights EP.6 ชวนฟังเรื่องราวสนุกๆ ข้อมูลเชิงลึก ที่คุณไม่เคยรู้มาก่อน โดย ณีว มาวิจักขณ์ Managing Partner – Marketing & Development, GroupM Thailand และ แพน จรุงธนาภิบาล Director – Marketing & Development, GroupM Thailand ซึ่ง Episode นี้จะมาชวนพูดคุย Insights ในเรื่องความเครียด The Stress Untold ซึ่งแบรนด์จะสามารถเข้ามาสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคได้อย่างไร
ที่มาของความเครียด
ผู้คนเกิดความเครียด ซึ่งไม่ได้เกิดแค่ในไทยภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นกับทุกคนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาช่วงโควิด-19 สภาวะเศรษฐกิจ หรือภาวะสงคราม ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สังคมมีความเครียดอยู่ในพื้นที่ นำมาซึ่งอินไซต์ที่อยากเจาะลึกได้แก่ “ความเครียด” The Stress Untold สำหรับความเครียดนั้นสามารถแบ่งที่มาได้เป็น 2 ปัจจัย ได้แก่
ปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายใน
ปัจจัยภายนอก
ความเครียดที่เกิดจากปัจจัยภายนอก ยกตัวอย่างเช่น ภาวะเศรษฐกิจ ข้าวของแพง ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ทำให้รู้สึกไม่มั่นคง หรือแม้แต่การแข่งขันกันในที่ทำงาน ซึ่งไม่เฉพาะแค่แข่งกันระหว่างคนกับคน แต่แข่งขันกับเทคโนโลยีด้วย ความกดดันว่าเทคโนโลยีจะมาแทนที่งานของเราหรือไม่ รวมไปถึงความเครียดกับการที่จะต้องเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็สร้างความเครียดให้เหมือนกัน เพราะว่ามันคือการที่เราต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาจึงทำให้รู้สึกว่าทุกอย่างมันหนักขึ้น หรือที่ใกล้เข้ามาอีกก็คือ ความสัมพันธ์กับคนรอบๆ ตัว เพื่อนรอบตัว เพื่อนที่ทำงาน คนรัก ทะเลาะกันมันก็เกิดความเครียด เพราะว่าสภาพเศรษฐกิจส่งผลให้อารมณ์ของคนไม่มั่นคง หรือถ้าคนมีลูกก็อาจจะเครียดเรื่องค่าเทอม เรื่องการเลี้ยงดูลูก ก็ทำให้เกิดความเครียดได้เหมือนกัน พวกนี้มันคือปัจจัยที่ถาโถมเข้ามาหาคนไทยเยอะขึ้นเรื่อยๆ
ปัจจัยภายใน
สำหรับปัจจัยภายในส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่นึกไม่ถึง เช่น ความรู้สึกที่ว่าชีวิตไม่โอเค ซึ่งบทบาทของโซเชียลมีเดียมีส่วนสำคัญที่ทำให้เรามองภาพชีวิตคนอื่นดีกว่าตัวเอง มีการเปรียบเทียบกับตัวเอง หรือแม้แต่ด้อยค่าตัวเองมองว่าตัวเองไม่ดีพอ จัดการชีวิตตัวเองไม่ดีพอหรือไม่ แล้วก็ทำให้ความเครียดเริ่มสะสมขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญคือ เมื่อยิ่งเครียดก็ยิ่งป่วยง่าย ป่วยบ่อยมากขึ้น ก็ส่งผลให้สุขภาพไม่ดี สุดท้ายก็ย้อนกลับมาที่สร้างความเครียดให้กับตัวเอง
นอกจากนี้ การรับรู้ข่าวสารต่างๆ ก็ทำให้เกิดความเครียดเช่นกัน เพราะยิ่งเรากังวลมากเท่าไหร่ ก็มักจะคิดล่วงหน้าไปไกล เช่น กังวลว่าเจ็บป่วย พอไปหาข้อมูลก็เกิดความเครียดเพิ่มขึ้นอีก เพราะคิดไปล่วงหน้า ถ้าเป็นเรื่องงานก็จะทำให้เกิดภาวะหมดไฟ (Burn out) หรือเกิดภาวะซึมเศร้าได้ โดยเฉพาะคนไทยประสบปัญหาเยอะแยะมากมายเลย
วิธีการคลายเครียด หรือกำจัดความเครียด
สำหรับ Insights ในเรื่องการกำจัดความเครียดนั้น เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมในการเข้าถึงสื่อ การใช้เงิน และการใช้ชีวิต ซึ่งนักการตลาดสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ โดยพบว่ามีทั้งวิธีการกำจัดความเครียดทั้งแบบระยะสั้น (Short Term) และ ระยะยาว (Long Term) สำหรับการกำจัดความเครียดแบบระยะยาวเป็นการค่อยๆ บำบัด เช่น การนั่งสมาธิ การไปพบจิตแพทย์ แล้วระบายออกด้วยวิธีธรรมชาติ แต่ทั้งหมดนี้ต้องใช้เวลาไม่สามารถจบได้ในวันเดียว นำมาสู่การบำบัดความเครียดแบบระยะสั้น
- “การใช้เงิน” หรือที่เราเรียกกันว่า “ใช้เงินแก้ปัญหา” ซึ่งเป็นวิธีที่เบสิคสากล และได้ผลดี กับการใช้เงินแก้ปัญหาที่เราเห็นบ่อยๆ ก็คือ การซื้อของมากิน หรือ “การกินเพื่อคลายเครียด” เช่น ชานม กาแฟ บิงซู ฯลฯ เป็นการสั่งของหวานมาเติมให้ตัวเอง
- “การไถ Therapy และ Shopping” คือการไถฟีดหน้าจอแล้วช้อปปิ้งบนมือถือเพื่อคลายเครียด แต่บางครั้งหรือหลายๆ ครั้งเราพบพฤติกรรม การซื้อมาแล้วซื้อเก็บ หรือซื้อไว้ก่อนค่อยว่ากัน ซื้อมาแบบไม่รู้ตัว หรือซื้อของตอนเซลล์แล้วรู้สึกฟิน ได้แก้เครียด
- “การมองหาความสัมพันธ์” หาเพื่อนมาคุยแก้เหงา หรือหาที่ปรึกษา ทำให้ในปัจจุบันมีเรื่องของการใช้แอปพลิเคชั่นเข้ามาช่วยทำให้เราเจอคู่หรือเจอคนที่ไม่เคยรู้จักมาทำความรู้จักกัน ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยทำให้คนหายเครียดได้
- “การ Upskill” โดยเป็นเรื่องของการเบนความสนใจจากความเครียดให้ไปโฟกัสที่เรื่องอื่นแทน หรือการที่ได้ไปลองไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยเจอมาก่อน หรือบางคนอาจจะอยากทำมานานแล้วแต่ไม่เคยได้ทำสักที เช่น ดำน้ำ ปีนเขา เดินป่า กระโดดร่ม ฯลฯ
แบรนด์นำไปใช้อย่างไร
สำหรับแบรนด์แล้วคือโอกาสที่จะเข้าไปช่วยผู้คนในการกำจัดความเครียดได้ โดยแบรนด์สามารถเสนอตัวเองในฐานะคนช่วยบำบัดความเครียด หรือไปสร้างกิจกรรมดีๆ เพื่อให้คลายเครียด แล้วทำให้ผู้บริโภคอยู่กับเรา (แบรนด์) เช่น ชวนผู้บริโภคออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน หรือพูดเรื่องการกิน แบรนด์ก็อาจจะมีโปรดักส์ใหม่ๆ ที่ทำให้คนมาลองทานดู เป็นเมนูอาหารสนุกๆ ให้คนได้ลองทาน เพราะว่าปัจจุบันมีโอกาสที่คนจะสั่งของมากินกันแบบ Always on อยู่แล้ว ไม่ใช่แค่การแข่งระหว่างมื้อแต่มันคือการแข่งแบบ 24 ชั่วโมงไปเลย พร้อมกับที่แบรนด์จะนำเสนอกลยุทธ์ดีๆ ในการเข้าไปหาผู้บริโภคในอย่างถูกที่ถูกเวลา และส่งข้อความ (Message) ได้ถูกต้อง
อีกประการคือการที่เราเอาตัวของเรา (แบรนด์) ไปช่วยยกระดับชีวิตของผู้บริโภคได้อย่างไรเพื่อให้เขาคลายเครียดได้อย่างไร ซึ่งอาจจะเป็นการทำในเชิงกิจกรรม CSR แบบ Long term เพื่อเป็นการสร้าง Brand Loyalty หรือสร้าง Brand Love ให้เพิ่มมากขึ้น เพราะถ้ายิ่งเราได้ช่วยชีวิตเขาได้มากเท่าไหร่ เขายิ่งรักเรา (แบรนด์) มากยิ่งขึ้น