การทำงานในปัจจุบันมีการใช้เครื่องมือต่างๆ มากมายที่เข้ามาช่วยให้การทำงานสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางการทำงานในรูปแบบ Anytime Anywhere ผ่านเทคโนโลยี Cloud ไม่ว่าจะเป็น การประชุม ลงนามเอกสารต่างๆ หรือแม้แต่การจัดเก็บข้อมูล แต่ทว่าในปัจจุบันหลายคนยังคงเข้าใจว่า Cloud คือพื้นที่สำหรับจัดเก็บข้อมูลเท่านั้น ทั้งที่จริงๆ แล้วเทคโนโลยี Cloud สามารถสร้าง Productivity ได้มากยิ่งกว่านั้น
ในเมื่อพูดถึงผู้ให้บริการเทคโนโลยี Cloud ของต้องยกให้ Google Cloud ด้วยบริการ Google Workspace ที่ถูกจัดเก็บอยู่ในบน Cloud ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ในทุกที่ ทุกเวลา และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันภายในองค์กร ด้วยการให้บริการผ่านแอปฯ ที่มีมากถึง 18 แอปฯ จึงทำให้ Google Workspace กลายเป็นเครื่องมือที่องค์กรระดับโลกเลือกใช้
จับมือพันธมิตรต่อยอดเป๋าตัง-ถุงเงิน
เพิ่งเห็นภาพการใช้งาน Google Cloud อย่างชัดเจน จึงมีการเปิด Use Case กับพันธมิตรอย่าง Arise by Infinitas การร่วมทุนระหว่างบริษัทเทคโนโลยีทางการเงินของไทย INFINITAS โดยกรุงไทย กับ บริษัท Accenture ในงาน Google Cloud Bangkok Summit 2023 ซึ่งความร่วมมือระหว่าง Google Cloud และ Arise by Infinitas ช่วยให้แอปฯ “เป๋าตัง” ที่หลายคนเคยใช้และแอปฯ “ถุงเงิน” สำหรับร้านค้ารับชำระผ่าน QR Code ประสบความสำเร็จ
โดยที่ผ่านมามีการใช้เครื่องมืออย่าง Google Kubernetes Engine (GKE) เข้ามามีบทบาทสำคัญในการส่งมอบแอปฯ เป๋าตังสู่มือผู้บริโภคชาวไทยกว่า 30 ล้านคน และเจ้าของธุรกิจขนาดย่อมผ่านแอปฯ ถุงเงินอีกกว่าหลายแสนราย โดยปัจจุบัน กำลังมีการใช้ความสามารถในการปรับขนาดอัตโนมัติของ Google Kubernetes Engine ช่วยเสริมประสิทธิภาพแพลตฟอร์มของ Arise สำหรับการสร้างและจัดการ Application Programming Interface (API) เพื่อพัฒนานวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation)
ด้วยการพัฒนาดังกล่าวจะช่วยตอบสนองความต้องการทางด้านการเงิน และไลฟ์สไตล์ของคนไทย ด้วยนวัตกรรม โครงสร้างแบบประหยัดพลังงานของ Google Cloud ยังช่วยให้ Arise by Infinitas สามารถลดการปล่อยคาร์บอนลงภายใต้งานทางด้านไอที นอกจากนี้ยังช่วยให้บริษัทบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนในการดำเนินงานอีกด้วย
ปรับรูปแบบการทำงานด้วย Google Workspace
นอกจากเรื่องของการปรับแอปฯ เพื่อให้สะดวกสบายในการใช้งานผ่านเครื่องมือของ Google Cloud แล้ว Arise by Infinitas ยังได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพผ่านเครื่องมือ อย่าง Google Workspace ที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความยืดหยุ่นในการทำงาน ช่วยให้พนักงานของบริษัทมีส่วนร่วมและสามารถสื่อสารได้อย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะใช้อุปกรณ์ใดก็ตาม
นอกจากนี้ ยังช่วยให้เกิดความพึงพอใจของพนักงาน ด้วยฟีเจอร์ทางด้าน AI ใน Google Workspace ช่วยลดขั้นตอนการทำงาน ลดสิ่งรบกวน และหลีกเลี่ยงภาวะข้อมูลจำนวนมหาศาล นอกจากนี้ Arise by Infinitas ยังเน้นดำเนินโครงการฝึกอบรม โดยมีเป้าหมายในการบ่มเพาะผู้ที่มีความสามารถและมีความเชี่ยวชาญเชิงลึกในด้านการปรับปรุงแอปฯ, ด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล, ด้าน AI และด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์
จับมือ มข. สู่ยุค Paperless
ด้าน ดร.เด่นพงษ์ สุดภักดี รองอธิการบดีฝ่ายดิจิทัล มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่จะมาพูดถึงความร่วมมือกับ Google Cloud ในการสร้าง Smart Campus ระดับโลกโดยระบุว่า ก่อนอื่นต้องบอกว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) มีความเป็นหน่วยงานรัฐแต่เป็นแบบผสมผสานระหว่างหน่วยงานรัฐกับหน่วยงานอิสระ ซึ่ง มข.มีการทำระบบดิจิทัลมาเมื่อกว่า 11 ปีที่แล้ว ภายใต้ความร่วมมือกับ Google ที่ในเวลานั้นมีการส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษาในด้านดิจิทัล
โดยตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนแปลงจากหน่วยงานรัฐสู่องค์กรที่มีการทำงานในรูปแบบ Agile ที่สามารถเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความยืดหยุ่นสูง โดยมุ่งหวังว่านักศึกษาที่เข้ามาสู่รั้วมหาวิทยาลัยจะได้รับประสบการณ์ตรง มากกว่าสิ่งที่อาจารย์จะเป็นฝ่ายบอก ปัจจุบันมีความพยายามทำให้ มข.เป็นระบบดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ภายใต้สภาพแวดล้อมทั้งการเรียน การบริการ และการทำวิจัย ภายใต้แนวคิด Digitalization by Design
ซึ่งสิ่งที่เห็นได้ชัด คือ การเปลี่ยนแนวคิดจากการใช้กระดาษ โดยจะปรับเปลี่ยนกระบวนการที่ใช้กระดาษทั้งหมดไปสู่ระบบดิจิทัล ซึ่งเกิดจาก 5 Keys Driving Force ที่ประกอบไปด้วย ธุรกิจเปลี่ยนไป เทคโนโลยีเปลี่ยนไป รูปแบบประชากรศาสตร์เปลี่ยนไปสู่ยุค Aging นโยบายภาครัฐที่เปลี่ยนไปและโลกที่เปลี่ยนไป โดยมหาวิทยาลัยเล็งเป้าหมายในการผลิตประชากรดิจิทัลที่มีคุณภาพ อย่างน้อยต้องไม่ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพโลกดิจิทัล หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่กำลังระบาด
ผลิตคนรุ่นใหม่ดิจิทัลด้วย ABCD
สำหรับการผลิตประชากรดิจิทัลที่มีคุณภาพ ทาง มข.จะเน้นประสบการณ์ตรงผ่านเทคโนโลยี ABCD ที่นักศึกษาทุกคน ทุกวิชา ทุกคณะ ทุกสาขาจะต้องได้เรียนและทำความเข้าใจ รวมถึงมีประสบการณ์ร่วมตามหลักสูตรดังกล่าว โดย ABCD ดังกล่าวย่อมาจาก AI, Blockchain, Cloud และ Data ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบหลักในการสร้างประสบการณ์ผ่านทั้ง 4 เทคโนโลยี
โดยเฉพาะในเรื่องของ Digital Culture ซึ่งนักศึกษาจะต้องได้พบเจอหลังออกจากรั้วมหาวิทยาลัย นั่นจึงทำให้มหาวิทยาลัยต้องมีการปรับโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะในรูปแบบการเรียนการสอนและการให้บริการกับบุคคลภายนอก ในแง่ของการให้ข้อมูลและการให้คำปรึกษา หรือยังไงหอพักของนักศึกษาที่นอกจากจะมีการให้บริการ WiFi แล้ว ยังมีการลากสาย Fiber Optic ในรูปแบบ FTTr ไปถึงห้องพักของนักศึกษาได้
การพัฒนา Data Center ที่เปิดให้บริการเก็บข้อมูลมีการปรับเปลี่ยนให้มีมาตรฐานในการจัดเก็บมากยิ่งขึ้น และการให้บริการ High Performance Computing ซึ่งจะช่วยให้บริการในด้านการทำวิจัย นอกจากนี้จะมีการใช้เครื่องมืออย่าง Google Workspace ในการให้บริการกับนักศึกษาทุกๆ คนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งกระบวนการต่างๆ ในมหาวิทยาลัยจะใช้ Google Sheet แทนกระดาษและเอกสารจากเดิมที่เคยใช้กันอยู่
เรียกได้ว่าเป็น 2 Use Case ที่ชี้ให้เห็นถึงการใช้เทคโนโลยีของ Google Cloud มาช่วยสร้างประสิทธิภาพในการทำงาน และการให้บริการ จนก่อให้เกิด Productivity และผลลัพธ์ตามที่คาดหวังไว้ รวมถึงยังมีส่วนช่วยขยายการให้บริการ รองรับการเติบโต และเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจองค์กรในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล