FIS เปิดรายงานพบ “ไทย” ยังตามหลังชาติเอเชียเรื่องการใช้ Digital Payment พร้อมเปิดเทรนด์อนาคต

  • 323
  •  
  •  
  •  
  •  

แม้เราจะรู้สึกว่าประเทศไทยพัฒนาไปมากในเรื่องของการใช้จ่ายแบบ Cashless ผ่าน Digital Payment แต่ล่าสุด Nikkei Asia รายงานอ้างผลการศึกษาของ FIS บริษัทด้านบริการชำระเงินและการธนาคารในสหรัฐอเมริกา เปิดเผยรายงานเกี่ยวกับเทรนด์การใช้จ่ายผ่านการซื้อของออนไลน์และออฟไลน์ของผู้บริโภคใน 40 ประเทศและเขตเศรษฐกิจพบว่า ประเทศไทยยังตามหลังชาติอื่นๆในเอเชียในแง่ของการใช้ Digital Payment อย่างไรก็ตามโดยรวมแล้วภูมิภาคเอเชียยังคงเป็นผู้นำในเรื่องของการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดอยู่

รายงานข่าวระบุด้วยว่านอกจากไทยแล้ว ประเทศที่ยังตามหลังชาติอื่นๆในเอเชียในเรื่องของ Digital Payment นั้นยังรวมไปถึงประเทศญี่ปุ่น และเวียดนามด้วย โดยหากนับสัดส่วนการใช้จ่ายแบบ in-person หรือจ่ายเงินที่จุดซื้อขายที่ร้านค้าแล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการใช้เงินสดในการชำระสินค้ามากที่สุดที่ 56% ตามมาด้วยญี่ปุ่น 51% ในขณะที่เวียดนาม 47%

ขอบคุณภาพจาก Nikkei Asia /FIS

FIS ระบุว่าเหตุผลที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะประเทศไทยมีสัดส่วนผู้บริโภคที่ไม่ได้อยู่ในระบบของธนาคารเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามในช่วงที่หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยก็มีอัตราส่วนผู้บริโภคที่เข้าสู่ระบบธนาคารเพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน

สำหรับการซื้อขายกันที่จุดซื้อขายที่ร้านค้าในประเทศไทยสัดส่วนการใช้เงินสดนั้นมากที่สุดที่ 56% ตามมาด้วยการใช้ Digital Wallet เช่นแอปธนาคาร หรือเป๋าตัง ที่สัดส่วน 23% ขณะที่การใช้ “เครดิตการ์ด” และ “เดบิตการ์ด” นั้นมีสัดส่วนที่ 11% และ 7% ตามลำดับ

มาดูที่ประเทศญี่ปุ่นกันบ้าง FIS ระบุว่าประเทศที่เข้าสู่ aging ecomomy อย่างญี่ปุ่นนั้นยังคงมีการใช้ “เงินสด” กันอย่างแพร่หลาย เหตุผลก็คือเครือข่าย ATM ที่ครอบคลุมกว้างขวาง และค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูง ส่งผลให้ร้านค้าส่วนใหญ่ไม่มีบริการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดมากเท่าที่ควร นอกจากนี้ FIS ยังคาดการณ์ด้วยว่าในบรรดาประเทศเอเชียแปซิฟิก นั้นญี่ปุ่นจะก้าวขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในการใช้เงินสดซื้อของภายในปี 2026 ด้วยสัดส่วน 36% แซงหน้าชาติอื่นๆที่จะใช้จ่ายแบบไร้เงินสดมากขึ้นหลังจากนี้

รายงานระบุว่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้ให้บริการด้าน Digital Payment มากมายหลายเจ้าในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็น Grab ที่มีฐานอยู่ในสิงคโปร์ รวมถึง GoTo ของอินโดนีเซีย ที่มีบริการชำระเงินดิจิทัลท่ีร้านค้า นอกเหนือไปจากบริการส่งอาหารที่เป็นบริการหลักแล้ว นอกจากนี้ยังมีบริการที่ได้รับความนิยมอย่าง MoMo เวียดนาม รวมถึง GCash ในประเทศฟิลิปปินส์ด้วย

การเติบโตของ Digital Payment ในภูมิภาคเอเชียเกิดขึ้นพร้อมกับวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีสัดส่วนของผู้บริโภคที่ไม่ได้อยู่ในระบบธนาคารเป็นจำนวนมาก โดยเทรนด์ของประเทศในกลุ่มนี้จะเป็นการมองข้ามบรรดาบัตรเดรดิตและบัตรเดบิต และเดินหน้าไปสู่ Digital Payment มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อร้านค้าต่างๆเปิดให้ชำระเงินได้ผ่าน QR code มากขึ้นเรื่อยๆ

โดย FIS พบว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะเป็นผู้นำในการใช้ Digital Payment สำหรับการใช้จ่าย ณ จุดขายโดยจะคิดเป็นสัดส่วน 59% จากจุดขายรวมทั้งสิ้น 36.7 ล้านล้านจุดภายในปี 2026 สูงกว่าสถานการณ์ในภูมิภาคอื่นๆอย่างตะวันออกกลางที่จะมีสัดส่วนเพียง 24% ยุโรป 20% และอเมริกาเหนือที่ 16% ขณะที่สัดส่วนการใช้ Digital wallet ในการซื้อขายออนไลน์จะเพิ่มขึ้นเป็น 73% ในปี 2026 เพิ่มขึ้นจาก 69% ในปี 2022 ที่ผ่านมาด้วย

ผลสำรวจดังกล่าวทำให้พอเห็นเทรนด์การใช้ Digital Payment ของไทยเปรียบเทียบกับชาติอื่นๆในเอเชีย รวมถึงเหตุผลที่ทำให้เรายังคงเดินตามหลังชาติอื่นๆในแง่ของการชำระเงิน ณ จุดขาย อย่างไรตามในอนาคตเป็นเรื่องที่ทุกคนเห็นตรงกันว่า Digital Payment จะมีบทบาทในชีวิตการใช้จ่ายแทนที่เงินสดอย่างไม่ต้องสงสัย และชาติภูมิภาคเอเชีย ก็ยังคงเป็นผู้นำในด้านนี้ต่อไปอีกหลายปีเช่นกัน

ที่มา Nikkei Asia


  • 323
  •  
  •  
  •  
  •