Meta ตั้งทีมเฝ้าระวังเนื้อหารับการเลือกตั้ง 2566 เปิดระบบโฆษณาโปร่งใส ใช้งบเท่าไหร่? ใครจ่ายเงิน? Target ใคร? ดูได้หมด

  • 35
  •  
  •  
  •  
  •  

การเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทยกำลังจะมาถึงแล้วในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ และหนึ่งในพื้นที่ซึ่งมีอิทธิพลกับการลงคะแนนเสียงของประชาชนมากที่สุดในยุคนี้ก็คือพื้นที่ Social Media ที่อาจมีอิทธิพลในระดับที่สามารถ “เปลี่ยนแปลง” ผลการเลือกตั้งเลยก็ว่าได้ ดังนั้นการสร้างบรรยากาศที่โปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกกิจกรรมก่อนการเลือกตั้งโดยเฉพาะแพลทฟอร์ม Facebook แพลทฟอร์มอันดับหนึ่ง รวมไปถึง Instagram ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งล่าสุดบริษัท Meta ประเทศไทยเจ้าของสองแพลทฟอร์มยอดนิยมก็ออกมาเปิดเผยถึง 5 แนวทางที่จะบรรลุเป้าหมายที่ว่านั้นแล้ว

Meta ประเทศไทยเปิดเผยถึงแนวทางดังกล่าวกับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมาโดยคุณแคลร์ อมาดอร์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะประจำประเทศไทยและฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่าแนวทางทั้งหมดนั้นเป็นการต่อยอดมาจากประสบการณ์ระดับโลก มีเป้าหมายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแทรกแซงการเลือกตั้ง และทำให้เกิดความโปร่งใสในการเลือกตั้ง โดยในระดับโลก Meta จัดสรรทรัพยากรบุคคลกว่า 40,000 คน ทำงานเชิงรุกด้านความปลอดภัยและความมั่นคงไซเบอร์ และในปี 2564 Meta ยังลงทุนด้วยเงินมากถึง 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อต่อสู้กับการแทรกแซงจากต่างชาติ ต่อสู้กับขบวนการสร้างอิทธิพลในประเทศ ลดปริมาณข้อมูลเท็จและต่อสู้กับการสกัดกั้นผู้ใช้สิทธิ ขณะที่แนวทางสำหรับการเลือกตั้งไทยในปี 2566 นี้ Meta มี 5 แนวทางสำคัญ

1. ตั้งทีมงานสำหรับการเลือกตั้งโดยเฉพาะ

Meta เปิดเผยว่าได้จัดเตรียมทีมงานสำหรับการเลือกตั้งในประเทศไทยโดยเฉพาะ ซึ่งประกอบด้วยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและคุ้นเคยกับบริบทในระดับท้องถิ่นของประเทศไทยอย่างลึกซึ้ง ซึ่งในจำนวนทีมงานซึ่ง Meta ไม่ได้เปิดเผยจำนวนอย่างแน่ชัดนั้นจะรวมไปถึงพนักงานชาวไทยที่พูดภาษาไทยได้ด้วย โดยจะทำหน้าที่ตรวจสอบและจัดการกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเช่นเรื่องของข้อมูลเท็จ ความปลอดภัย สิทธิมนุษยชนที่จะคอยสอดส่องและรับมือความเสี่ยงได้แบบ Real Time นอกเหนือไปจากระบบตรวจสอบด้วย AI จากมาตรฐานชุมชนเดิมที่มีอยู่

นอกจากนี้ทีมงานจะตรวจสอบและยับยั้งการใช้แพลทฟอร์มด้วยวัตถุประสงค์ที่ไม่โปร่งใสด้วยเช่น การตรวจสอบและลบบัญชีปลอมจำนวนมากออกจากระบบ โดยสถิติในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 มีการลบบัญชีปลอมไปมากถึง 1,300 ล้านบัญชีด้วยกัน

2. เพิ่มความโปร่งใสในการเผยแพร่โฆษณา

อีกเรื่องสำคัญในช่วงเวลาของการเลือกตั้งก็คือ “การโฆษณา” โดยเฉพาะในช่วงเวลาของการเลือกตั้งที่จะต้องมีความโปร่งใสมากขึ้น สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินทุนสนับสนุนโฆษณาเหล่านั้นได้ เพื่อการหาเสียงเลือกตั้งที่เป็นธรรม ดังนั้นจึงมีนโยบายในการลง “โฆษณาในประเด็นสังคมการเลือกตั้งหรือการเมือง” ที่เพิ่มขึ้นมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา ที่ผู้ดูแลเพจหรือผู้ลงโฆษณาบน Facebook จะต้องผ่านกระบวนการ “ยืนยันข้อมูลระบุตัวตน” ผ่านบัตรประชาชนที่ออกโดยรัฐบาล และระบุข้อความ “ได้รับสปอนเซอร์จาก” บนโฆษณานั้นๆด้วย เพื่อให้คนทั่วไปได้ทราบว่าผู้สนับสนุนหรือคนจ่ายเงินซื้อโฆษณาดังกล่าวคือใครหรือองค์กรใดนั่นเอง

ตัวอย่างการลงโฆษณาที่มีการ “ยืนยันข้อมูลตัวตน” และระบุข้อความ “ได้รับสปอนเซอร์จาก” แล้ว

ในเรื่องนี้คุณขวัญชนก เรืองขำ ผู้จัดการฝ่ายพันธมิตรหน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคม  ระบุว่า การโฆษณาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง มีรูปบัตรลงคะแนน คูหาลงคะแนน หรือภาพของนักการเมืองหรืออดีตนักการเมือง จะต้องเข้าสู่กระบวนการนี้ทั้งหมด โดยระบบการตรวจสอบยืนยันตัวตน ต้องใช้บัตรประชาชน หรือเอกสารที่ออกโดยรัฐอื่นๆ ขณะที่การ “รับสปอนเซอร์จาก” นั้นจะมีรูปแบบการตรวจสอบมากมายเช่นอาจใช้ email ใบสมัคร หรืออาจตรวจสอบด้วยการโทรเช็กโดยตรงด้วยก็มี

Ad Library ที่ต้นหาด้วยคีย์เวิร์ด “เลือกตั้ง”

นอกจากนั้นบรรดาโฆษณาท่ีเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งดังกล่าวนั้นจะถูกบันทึกอยู่ใน “คลังโฆษณา” (Ad Library) เพื่อให้คนทั่วไปสามารถเข้ามาตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับโฆษณาและผู้สนับสนุนโฆษณานั้นๆเช่นอัตราการมองเห็น งบประมาณที่ใช้ กลุ่มเป้าหมาย โดยสามารถตรวจสอบย้อนหลังยาวนานได้ถึง 7 ปีเลยทีเดียว

Ad Library สามารถเข้าไปดูรายละเอียดการ Target ของแต่ละโพสต์ที่ซื้อ boost ได้

นอกจากนี้ Facebook ยังป้องกันการแทรกแซงการเลือกตั้งจากต่างประเทศได้โดยนอกจากจะต้องมีเอกสารที่ออกโดยรัฐยืนยันแล้ว ยังจำกัดโลเคชั่นสำหรับผู้ที่อาศัยในประเทศไทยเท่านั้นด้วยหมายความว่าแม้คุณจะเป็นคนไทยมีบัตรประชาชนไทย แต่หากจะยิง Ads จากต่างประเทศก็จะไม่สามารถทำได้

สำหรับใครที่ต้องการอ่านเงื่อนไขการลงโฆษณาเกี่ยวกับสังคม การเลือกตั้งและการเมือง สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/business/help/167836590566506?id=288762101909005

ไม่เท่านั้น Meta ยังเปิดระบบให้ผู้ใช้งานสามารถดูประเทศของผู้ดูแลเพจได้ และยังเปิดระบบ “เกี่ยวกับบัญชีนี้” ใน Instagram เพื่อประเมินความน่าเชื่อถือของบัญชีนั้นได้ด้วย

3.การจัดการเนื้อหาที่อันตราย

นอกจากเรื่องของการโฆษณาแล้ว Meta ยังมี “มาตรฐานชุมชน” ที่เป็นสิ่งที่ต้องเคารพร่วมกันอยู่แล้วซึ่งเนื้อหาที่ไม่อนุญาตก็เช่นคำพูดสร้างความเกลียดชัง (hate speech) การกลั่นแกล้ง (bullying) การล่วงละเมิด (harassment) ความรุนแรงและการยุยง เป็นต้น แต่ในช่วงที่มีการเลือกตั้ง Meta เน้นย้ำถึงการห้ามโพสต์เนื้อหาที่จะส่งผลกระทบกับการเลือกตั้งด้วย

 

ไม่ว่าจะเป็น การแทรกแซงหรือหยุดยั้งการลงคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง การให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวัน เวลา สถานที่ หรือวิธีการเลือกตั้ง ไปจนถึงการลงทะเบียนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง การยั่วยุให้เกิดการใช้ความรุนแรง และการสนับสนุนให้มีส่วนร่วมในการลงคะแนนด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมายหรือเรียกร้องให้มีการแทรกแซงการเลือกตั้งอย่างเป็นระบบ สิ่งเหล่านี้จะถือว่าเป็นการละเมิดมาตรฐานชุมชนและจะถูกจัดการในทันที

4. ยับยั้งเครือข่ายแทรกแซงความโปร่งใส

การใช้บัญชีปลอมมาสร้างเครือข่ายปลุกปั่นความคิดเห็นประชาชนในช่วงการเลือกตั้งก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเรื่องนี้ทีมความปลอดภัยทางไซเบอร์ของ Meta จะสอดส่องและรับมือกับเครือข่ายออนไลน์ที่มีพฤติกรรมที่น่าสงสัยและอาจมีการแทรกแซงความโปร่งใส เช่น การมีพฤติกรรมร่วมกันในการสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวตนบนโลกออนไลน์ (coordinated inauthentic behavior หรือ CIB) ซึ่งในช่วงการเลือกตั้ง CIB มุ่งบงการชักใยและสร้างอิทธิพลต่อความเห็นของสาธารณชนเพื่อเป้าหมายเชิงกลยุทธ์มากมายเช่นกัน

5.ร่วมมือกับหน่วยงานการเลือกตั้งและสนับสนุนให้คนมีส่วนร่วม

ก่อนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนี้ Meta ได้มีการทำงานจัดทำโครงการร่วมกับพาร์ทเนอร์ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือองค์กรภาคประชาสังคมต่าง ๆเช่น หน่วยงานเฝ้าระวังการเลือกตั้ง องค์กรไม่หวังผลกำไร และผู้สมัครรับเลือกตั้ง เกี่ยวกับนโยบาย บริการ เครื่องมือ และระบบการรายงานของ Meta ในแพลทฟอร์มต่างๆ

นอกจากนี้ยังมีการทำแคมเปญ #โซเชียลด้วยใจ (‘Empathy Heroes’): สื่อรณรงค์ในรูปแบบแอนิเมชันจาก Meta ร่วมกับโคแฟคประเทศไทย, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยแม่โจ้, มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย, มูลนิธิดิจิทัลเพื่อสันติภาพ, มูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์, มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย, และไซด์คิก เพื่อส่งเสริมให้คนไทยสามารถระบุข้อมูลบิดเบือนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมเชิงบวกและมีความรับผิดชอบ (Civic Engagement) ในช่วงการเลือกตั้งด้วย

นั่นคือมาตรการของ Meta ที่นำมาใช้ในประเทศไทยแล้วโดยเฉพาะในช่วงเวลาอ่อนไหวก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ สะท้อนความพยายามของ Meta เจ้าของแพลทฟอร์มโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ที่มีคนใช้งานมากที่สุดในประเทศไทยว่าจะเป็นแพลทฟอร์มที่มีเนื้อหาที่ทำให้การเลือกตั้งนั้นโปร่งใสและตรวจสอบได้มากที่สุดเพื่อให้คนไทยได้ตัวแทนทางการเมืองอย่างบริสุทธ์ยุติธรรมตามแนวทางประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

 


  • 35
  •  
  •  
  •  
  •