ธนาคารนับว่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ทั้งวิกฤตโรคระบาดและสถานการณ์สภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก (Economic Recession) รวมไปถึงการดิสรัพท์ของเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนการทำธุรกรรมการเงินในชีวิตของผู้คนด้วย
ธนาคารกรุงไทย ก็เป็นอีกธนาคารหนึ่งที่ต้องมีการปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย Business Strategy 2023 ในระหว่างเข้าร่วมกิจกรรมศึกษาดูงานด้านดิจิทัลที่สาธารณรัฐเอสโตเนียกับคณะสื่อมวลชน ถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจของธนาคารกรุงไทย พร้อมแผนงาน 5 ปี ระหว่างปี 2566-2570 เพื่อเร่งขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ภายใต้แนวคิด “มุ่งสร้างคุณค่า สู่ความยั่งยืน”
ทิศทางการดำเนินธุรกิจธนาคารกรุงไทยในระยะต่อไป อยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางการเงินใหม่ ที่เปิดกว้างใน 3 ด้านคือ
- Open Infrastructure การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับทั้งผู้เล่นใหม่ และผู้เล่นปัจจุบัน เพื่อให้เกิดการแข่งขันและต่อยอดในเชิงนวัตกรรม
- Open Data ส่งเสริมให้เกิดการแบ่งปันข้อมูล เช่น การสนับสนุนให้มีธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank เป็นต้น
- Open Competition ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายที่สุด จากการแข่งขันที่เปิดกว้างจากผู้เล่นใหม่ เส้นแบ่งการแข่งขันระหว่างธนาคารและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) ที่แยกกันไม่ออก
โรดแมป 5 ปี “มุ่งสร้างคุณค่า สู่ความยั่งยืน”
ธนาคารกรุงไทย กำหนดแผนงาน 5 ปี ระหว่างปี 2566-2570 เพื่อเร่งขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ภายใต้แนวคิด “มุ่งสร้างคุณค่า สู่ความยั่งยืน” เพื่อให้องค์กรเติบโตอย่างมั่นคง ตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้เสีย ทุกกลุ่มอย่างครอบคลุม ทั่วถึง แบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายใต้ 7 ยุทธศาสตร์หลัก ดังนี้
1.ปลดล็อคศักยภาพในการสร้างมูลค่าจากการทำธุรกิจกับคู่ค้าของลูกค้า (X2G2X) เร่งต่อยอดยุทธศาสตร์ X2G2X ให้เกิดการเชื่อมโยงในเชิงลึกในกลุ่มลูกค้าต่างๆ ทั้ง B2B B2C G2B และ G2C และมีแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์คู่ค้าของลูกค้า ทั้งการเร่งสร้าง Economic Value จากแอปฯ เป๋าตัง และถุงเงิน เสริมศักยภาพผู้ประกอบการ SME ให้แข็งแกร่ง ต่อยอดความร่วมมือที่ได้ลงทุนไปแล้วทั้งระบบ Smart Transit ตั๋วร่วม Smart Hospital และ Digital Business Platform เป็นต้น
2.ขับเคลื่อนประสิทธิภาพองค์กรด้วยดิจิทัลและข้อมูล เร่งนำข้อมูลและเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ ปรับปรุงกระบวนการทำงานให้เป็น Process Digitalization โดยนำระบบ RPA หรือ Robotic Process Automation และการใช้ AI เข้ามาใช้ในกระบวนการทำงานภายในของธนาคารมากขึ้น ทำให้การทำงานรวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดการใช้กระดาษ (Paperless) นำไปสู่โครงสร้างการประเมินอัตรากำลังที่เหมาะสมในการให้บริการผ่านสาขา ผสมผสานการให้บริการออนไลน์สู่ออฟไลน์ได้เต็มศักยภาพ โดยช่องทางสาขาจะถูกปรับเป็นการให้บริการทางธุรกิจ และอยู่ระหว่างการทดสอบในพื้นที่ EEC
3.เปิดตัวแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างการเติบโตในมิติใหม่ พัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบวงจร ทั้ง Virtual Banking ที่ธนาคารจะร่วมกับพันธมิตร เพื่อดำเนินการ และ Wealth-Tech เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการทางการเงินในทุกระดับชั้น ต่อยอดสร้างศักยภาพการออม เสริมสร้างความมั่งคั่งให้คนไทย
4.สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุม เท่าเทียม และยั่งยืน ขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทาง ESG สนับสนุนประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม โปร่งใส ลดความเหลื่อมล้ำ ลดช่องว่างการกระจายรายได้ เชื่อมโยงกลุ่มลูกค้า SME กับ Digital Economy และเร่งปรับตัวเข้าสู่กลุ่มอุตสาหกรรม New S-Curve เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน
5.พัฒนาและเสริมสร้างขีดความสามารถการทำงานแห่งอนาคต เร่งสร้างการบริหารความเสี่ยงที่ มีประสิทธิภาพ ทั้งด้านความพร้อมของระบบรองรับ PDPA & Cyber Risk เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า ทุกกลุ่ม บริหารจัดการ NPL และ NPA เพื่อแก้ปัญหาปรับแป็นสินทรัพย์ที่สร้างคุณค่าในเวลารวดเร็วขึ้น พร้อมบูรณาการบริษัทในเครือ สร้างประโยชน์จากสินทรัพย์ให้เต็มศักยภาพ บนความร่วมมือแบบ ONE Krungthai
6.ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีหลักขององค์กร ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้าน IT และ Digitalization อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับโครงสร้างเทคโนโลยีให้มีความทันสมัย มั่นคง ปลอดภัย มีเสถียรภาพ มีประสิทธิภาพและสามารถรองรับจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อสนับสนุนการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าด้วยต้นทุนที่เหมาะสม
7.ปฏิรูปวัฒนธรรมและปลูกฝังวิธีการทำงานแบบใหม่เพื่อขับเคลื่อนองค์กรด้วยความคล่องตัว ปรับวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ให้เป็นไปในลักษณะ Agility มีความกระฉับกระเฉง โดยอาศัยหลักการแบบ Fail Fast Learn Fast ยกระดับพนักงานให้มีทักษะใหม่ๆ (Upskill/Reskill) สามารถดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถในระดับประเทศและระดับโลกเข้ามาทำงานเสริมสร้างความแข็งแกร่ง เป็นองค์กรแห่งการสร้างผู้นำในอนาคต
สำหรับการมาดูงานด้านดิจิทัลที่เอสโตเนีย อาจจะนำบางเรื่องให้ทีมมาลองทำแซนด์บ็อกซ์ เช่น บล็อกเชนระบบใหม่และไซเบอร์ซีเคียวริตี้ นอกจากนี้ ส่วนที่น่าสนใจ คือ ภาคธุรกิจเอกชนของเอสโตเนียได้รับการยอมรับจากรัฐบาลและอียู หลายบริษัทสามารถสร้างการยอมรับได้ รัฐบาลมองเอกชนเป็นหนึ่งในพาร์ทเนอร์หลักในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศเอสโตเนียและอียูให้ยกระดับเป็น Digital Economy ให้ได้
“เราเห็นศักยภาพของภาคเอกชนจากเอสโตเนียที่เติบโตและเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อาทิ Identity, Blockchain, Cybersecurity โดยใช้เวลาในการเติบโตสร้างองค์ความรู้ ลองผิดลองถูก โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน และเป็นการลงทุนใช้ทรัพยากรที่ไม่ซ้ำซ้อน ทุกคนมีที่ยืน มีสนามให้เล่นในศักยภาพตัวเอง ธนาคารกรุงไทยให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ให้สูงสุดในองค์กร หรือ Digital Adoption ซึ่งเป็นเทรนด์โลกขณะนี้ การมาดูงานด้านดิจิทัลที่ประเทศเอสโตเนีย ที่มีเรื่องของรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ e-Government ที่ได้รับการยอมรับที่สุดแห่งหนึ่งในโลก” และว่า ในส่วนของธนาคารกรุงไทยเราพยายามเรียนรู้และทำความเข้าใจเมกะเทรนด์และนำมาประยุกต์ใช้กับกรุงไทย สำหรับการมาศึกษาดูงานที่เอสโตเนียจะเป็นการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีที่น่าสนใจไปต่อยอดในเรื่อง ecosystem, open platform, open economy เพื่อเข้าสู่ New Generation โดยมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจของเอสโตเนียในการสร้าง Digital Infrastructure ที่รัฐและเอกชนสามารถสร้างบริการทางดิจิทัลได้ถึง 3,000 บริการ
นายผยง กล่าวในตอนท้ายว่า เราเชื่อว่าการขับเคลื่อนในเรื่อง Open platform เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทย โดยโครงการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ในช่วงวิกฤตโควิด-19 มีเงินหมุนเวียนในระบบถึง 6 แสนบ้านบาทในแพลตฟอร์มที่กรุงไทยพัฒนาร่วมกับพันธมิตร และสามารถตอบโจทย์ผู้คนได้ถึง 40 ล้านคน ที่สำคัญ หลายบริบทของธนาคารกรุงไทยไม่ได้เน้นกำไรมหาศาล (Maximize Profit) แต่เราเน้นสร้างมูลค่าเพิ่มหรือกำไรอย่างยั่งยืน (Optimize Profit) ตระหนักถึงคู่ค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตั้งแต่รัฐในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ และประชาชนคนไทย ทำให้เห็นว่าธนาคารกรุงไทยเราเป็นกลไกหนึ่งสนับสนุนภารกิจของรัฐบาล ประชาชน ภาคธุรกิจ และผู้ประกอบการไทย