เรียกว่าปีนี้จะเป็นที่หลายคนรอคอยมายาวนาน กับการใช้สิทธิพลเมืองอย่างเต็มที่ในการเลือกตั้งครั้งใหญ่ และสอดคล้องล้อกันมาตั้งแต่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กับการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการนำเสนอข้อมูลนโยบายของผู้สมัคร ซึ่งในต่างประเทศก็มีการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการนำเสนอข้อมูลนโยบายของแต่ละพรรค แต่ละกลุ่ม
TikTok ก็เป็นหนึ่งแพลตฟอร์มที่ถูกนำไปใช้ในการสื่อสาร โดยเฉพาะการนำเสนอนโยบายต่างๆ ซึ่ง TikTok ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของความปลอดภัยและความถูกต้องของเนื้อหาบนแพลตฟอร์ม เพื่อชี้ให้เห็นถึงพื้นที่ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องและมีความน่าเชื่อถือ ผ่านเครื่องมือที่สามารถคัดกรองและตรวจสอบข้อมูลที่มีความบิดเบือนและไม่เป็นความจริง พร้อมสร้างความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบข้อมูล และเครื่องมือด้านความปลอดภัย
แพลตฟอร์มที่เปิดกว้างและปลอดภัย
TikTok เป็นแพลตฟอร์ม Social Media ที่โดดเด่นด้วยความสนุกสนานและความตลก แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีเนื้อหาที่เน้นความรู้ที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ในขณะเดียวกันการทำให้แพลตฟอร์มเป็นพื้นที่ปลอดภัยถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ทำให้ TikTok จำเป็นต้องมองหาวิธีป้องกันเพื่อไม่ให้มีข้อมูลที่บิดเบือนความจริงและเป็นอันตราย รวมถึงเนื้อหาที่ละเมิดกฎของชุมชนเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์ม
โดยหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญ คือ การนำเสนอแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือให้กับผู้ใช้งานผ่านการกำหนด หลักเกณฑ์สำหรับชุมชน (Community Guideline) เพื่อสร้างความเข้าใจและเป็นแนวทางให้ผู้ใช้งานได้ทราบว่า เนื้อหาแบบไหนที่ไม่อนุญาตให้เผยแพร่บนแพลตฟอร์ม TikTok โดยมีหัวข้อห้ามหลักๆ อย่างเช่น การแอบอ้างเป็นบุคคลอื่น เนื้อหาที่เป็นสแปม เนื้อหาปลอมและหลอกลวง หรือเนื้อหาที่อาจก่อให้เกิดอันตราย เช่น การสร้างความหวาดหลัว ความเกลียดชัง
ใช้ปุ่ม Report และแหล่งข้อมูล Information Hub
นั่งจึงทำให้ TikTok มีการปฏิบัติแบบเชิงรุกกับเนื้อหาที่ละเมิดหลักเกณฑ์สำหรับชุมชน ผ่านระบบการจัดการเนื้อหา (Content Moderation) ที่มีการผสานการทำงานระหว่างเทคโนโลยีอย่าง Machine Learning ในการตรวจสอบและทีมปฏิบัติงานของ TikTok ที่คอยตรวจสอบเนื้อหาบนแพลตฟอร์มตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ผู้ใช้งานที่พบเห็นเนื้อหาละเมิดหรือมีความเสี่ยง รวมถึงข้อมูลเท็จสามารถกดปุ่ม Report เพื่อรายงานเนื้อหาดังกล่าว โดยทีมปฏิบัติงานของ TikTok จะทำการตรวจสอบและดำเนินการต่อไป
ไม่เพียงเท่านี้ TikTok ยังมีการพัฒนาเครื่องมือด้านความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพและทำให้ผู้ใช้งานเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่เป็นทางการ โดยมีทั้ง Information Hub เครื่องมือที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสังคม เช่น ในช่วง COVID-19 TikTok มีการนำข้อมูลจากศูนย์ข้อมูล COVID-19 มาไว้บนแพลตฟอร์ม เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องได้ง่ายยิ่งขึ้น
รวมถึงเครื่องมืออย่าง Information Tag และ Live Banner ที่จะปรากฏอยู่บนวิดีโอหรือไลฟ์สตรีมมิ่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่เป็นทางการได้
ด้าน คุณจิรภัทร หลี่ Product Policy Lead – Thailand, TikTok ชี้ว่า TikTok มีความมุ่งมั่นที่จะจัดการกับเนื้อหาที่มีความบิดเบือน เป็นอันตราย และเนื้อหาที่ละเมิดหลักเกณฑ์ของชุมชนในแง่มุมต่างๆ ออกไปจากแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลล่าสุดช่วงเดือนกรกฏาคม – กันยายน ปี 2565 พบ การลบวิดีโอออกในเชิงรุกบนแพลตฟอร์มมากกว่า 96.5% การลบออกภายใน 24 ชั่วโมงถึง 92.7% และมีการลบออกก่อนมียอดเข้าชมถึง 89.5% แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของเทคโนโลยี ทีมปฏิบัติงานและความร่วมมือจากผู้ใช้งาน TikTok ได้เป็นอย่างดี
แบ่งบัญชีทางการเมืองออกอย่างชัดเจน
TikTok ยังชัดเจนในเรื่องของการไม่อนุญาตให้มีการโปรโมตหรือการทำโฆษณาเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองโดยเด็ดขาด รวมไปถึงยังมีการจัดประเภทของบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองให้เป็นประเภท บัญชีของรัฐบาล นักการเมือง และพรรคการเมือง (GPPPA: Government, Politician, and Political Party Account) เพื่อสร้างความชัดเจนให้กับบัญชีกลุ่มนี้ในการไม่อนุญาตให้สร้างรายได้ในทุกประเภทบนแพลตฟอร์ม TikTok
หลักเกณฑ์สำหรับชุมชนของ TikTok มีไว้เพื่อป้องกันเนื้อหาหรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือมีการบิดเบือนความจริงที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง การละเมิดสิทธิผู้อื่น พฤติกรรมที่อาจทำให้เกิดความเกลียดชัง และแนวคิดที่สุดโต่งและรุนแรง โดย TikTok ได้ร่วมกับนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนำข้อเสนอแนะต่างๆ มาพัฒนานโยบายบนแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง
ในปีนี้ TikTok มีการกำหนดกลยุทธ์และวางแผนการทำงานเพื่อต่อต้านข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลที่มีความถูกต้องและน่าเชื่อถือ โดยมีพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการตรวจสอบข้อมูล (Fact-Checking) ทั้งในระดับโลกและในประเทศ ในการสร้างศูนย์รวมข้อมูลการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ภายใต้แคมเปญ #พื้นที่ปลอดภัยในการไถฟีด
เครื่องมือสำคัญในช่วงการเลือกตั้ง
นอกจากการรับมือข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง TikTok ยังมีการสร้าง ศูนย์ข้อมูลการเลือกตั้ง (Election Centre) เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานเข้าถึงข้อมูลที่เป็นทางการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ทั้งขั้นตอนในการใช้สิทธิ์ ข้อมูลของพรรคการเมืองและนักการเมือง และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นบริการการประกาศเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ (Public Service Announcement) โดยมีการเชื่อมต่อข้อมูลกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งประเทศไทย หรือ กกต.
และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ใช้งานส่งต่อเนื้อหาที่ไม่ถูกต้องในช่วงของการเลือกตั้ง ก่อนที่ผู้ใช้งานจะกดยืนยันในการส่งต่อเนื้อหานั้นๆ จะมีข้อความขึ้นเตือนให้ผู้ใช้งานพิจารณาและตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเสมอ และหากผู้ใช้งานเห็นว่าเนื้อหาดังกล่าวละเมิดหลักเกณฑ์สำหรับชุมชนหรือเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ผู้ใช้งานสามารถใช้ปุ่ม Election Report หรือปุ่มรายงานเนื้อหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้
TikTok เชื่อว่า การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องสามารถทำได้ผ่านการใช้เทคโนโลยีอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ (Digital Literacy) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้ทุกภาคส่วนช่วยกันสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีบนสังคมออนไลน์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับผู้ใช้งานและชุมชนบนแพลตฟอร์ม
ก่อนหน้านี้ TikTok เคยใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ในการเลือกตั้งของทั้งมาเลเซียและฟิลิปปินส์ โดยได้ถอดแนวทางบางส่วนนำมาใช้ในประเทศไทยด้วย ถึงอย่างนั้นก็น่าจับตาเนื่องจากสภาพการเมืองของไทยแตกต่างจากต่างประเทศ แน่นอนว่าปุ่ม Election Report เป็นปุ่นที่ใช้เพื่อจัดการกับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ในทางกลับกันปุ่มเหล่านี้ก็อาจสร้างปัญหาได้ด้วย ลองคิดดูว่า ถ้าเกิดสงครามปุ่ม Report ด้วยการระดมกดปุ่มรีพอร์ตข้อมูลต่างๆ จากฝ่ายตรงข้าม แม้จะเป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้องจะเกิดอะไรขึ้น
Machine Learning จะเรียนรู้ได้หรือไม่ว่าข้อมูลเหล่านั้นถูกหรือผิดจริง แล้วบุคลากรที่มาตรวจสอบจะเพียงพอต่อจำนวนการกดปุ่มเพื่อให้มีการตรวจสอบหรือไม่ เหล่านี้ต้องคอยจับตาดู