เปิดที่มาไวรัล “ไม่ต้องบอกอายุตัวเอง” สู่ Real-Time Marketing ที่ต้องไว ก่อนตลาดวาย

  • 13
  •  
  •  
  •  
  •  

ต้องสายตาว่องไวจริงๆสำหรับนักการตลาดในยุคนี้ในการจับกระแสไวรัลมาทำ Real-Time Marketing ให้ทันกับกระแสที่มาไวแต่ก็ไปไวเช่นกัน โดยล่าสุดกลายเป็นกระแสที่เห็นกันเต็มฟีดโซเชียลมีเดียไปหมดกับข้อความ “ไม่ต้องบอกอายุตัวเอง แต่บอก…แรกที่รู้จัก” ที่ได้รับกระแสตอบรับสร้าง Engagement ได้อย่างล้นหลามมีการโพสต์ข้อความลักษณะนี้มากกว่า 1,500 ครั้งในวันเดียว

หลายแบรนด์ร่วมเทรนด์ไวรัล

แน่นอนว่าเมื่อเกิดกระแสไวรัลที่เป็นที่นิยมและสามารถสร้าง engagement ให้เกิดขึ้นได้หลายแบรนด์ก็เข้ามาร่วมเล่นและใช้แนวทางนี้ในการสร้างการรับรู้และสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าได้เป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ใหญ่อย่าง CPALL, KFC, Samsung, SCB, Central หรือแม้แต่รัฐวิสาหกิจอย่าง บริษัทไปรษณีย์ไทยจำกัด ก็ร่วมสนุกกับไวรัลในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จสร้างให้เกิด engagement ทั้งยอด like ยอดแชร์และยอดคอมเมนท์ได้เป็นอย่างดี

ที่มาไวรัล “ไม่ต้องบอกอายุตัวเอง”

สำหรับที่มาของไวรัล “ไม่ต้องบอกอายุตัวเอง” นั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากเพจ Dek-D.COM ที่ใช้ข้อความสั้นลักษณะนี้โพสต์สอบถามแฟนเพจว่า “ไม่ต้องบอกอายุแต่ให้แปะไอเทมฮิตช่วงวัยรุ่น” เรียกได้ว่าโดนใจแฟนๆที่นอกจากจะเป็นกลุ่มวัยรุ่นนักเรียนนักศึกษาแล้ว ยังมีกลุ่มคน Gen X และ Gen Y ที่พร้อมรำลึกความหลังในยุค Y2K กันอย่างล้นหลามซึ่งล่าสุด โพสต์ดังกล่าวก็มีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นหลายพันครั้ง และแชร์กันออกไปมากกว่า 300 ครั้ง

เหตุผลแห่งไวรัล

ส่วนสาเหตุที่กระแสไวรัลครั้งนี้ฮิตเป็นไฟลามทุ่งก็เนื่องจากคำถามดังกล่าวสอดคล้องกับกระแสโหยหาอดีตในยุค Y2K ที่กำลังได้รับความนิยมในเวลานี้ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มวัยรุ่นในยุคนี้ด้วย ขณะที่คนส่วนใหญ่ที่อยู่ในวัย Gen Y และ Gen X เป็นกลุ่มคนที่ใช้ Facebook เป็นส่วนใหญ่ก็สามารถเข้าถึงและร่วมแสดงความคิดเห็นกับคำถามลักษณะนี้ได้เช่นกัน นั่นจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่เกิด Nostalgia Marketing มากขึ้นในช่วงหลัง

และอีกเหตุผลที่สร้างไวรัลนี้ก็คือในช่วงหลัง Facebook มีอัลกอริทึ่มที่ให้ความสำคัญกับข้อความสั้นพร้อมภาพพื้นหลังลักษณะนี้มากกว่าโพสต์ลักษณะอื่นๆ เรื่องนีกลายเป็นที่พูดถึงในแวดวงสื่อออนไลน์ที่บอกตรงกันว่าการโพสต์ลักษณะนี้นั้นสร้าง Engagement ได้มากกว่าโพสต์ลักษณะอื่นๆเช่น Link ไปยังเว็บไซต์หรือภาพพร้อมแคปชั่นเป็นอย่างมาก

มาไวก็ไปไว

แน่นอนว่าไวรัลลักษณะนี้เป็นกระแสที่มาไวแต่ก็จะไปไวเช่นกันดังนั้นนักการตลาดจึงต้องจับสัญญาณความนิยมและเลือกช่วงเวลาทำ Real-Time Marketing ให้เหมาะสมด้วยเนื่องจากหากตกขบวนและเข้ามาร่วมเล่นในกระแสนี้ช้าเกินไปก็อาจเป็นการสร้างความรำคาญให้กับผู้พบเห็น เช่นเดียวกันกับกระแสไวรัล “ไม่ต้องบอกอายุตัวเองนี้” ที่ก็เริ่มมีความคิดเห็นหรือเล่นมุกสวนกระแสไวรัล อย่าง ไม่ต้องบอกอายุ ไม่ต้องบอกอะไรทั้งนั้น เพราะไม่อยากรู้ ในครั้งนี้กันแล้วเนื่องจากเห็นโพสต์ลักษณะนี้มากเกินไป

นั่นก็เป็นที่มาของอีกหนึ่งกระแสไวรัลที่หลายแบรนด์หันมาทำการตลาดแบบ real-time กันซึ่งหากเลือกใช้อย่างเหมาะสมก็จะสามารถสร้าง engagement ได้อย่างมากมาย แต่ในอีกทางหนึ่งก็ต้องหูตาไวและไม่ตกขบวนจนอาจส่งผลในทางตรงกันข้ามก็เป็นได้

 


  • 13
  •  
  •  
  •  
  •