“Bistro Asia” เครือไทยเบฟ เติมเต็มพอร์ตร้านอาหาร เปิด “Vantage Point” จิ๊กซอว์สู่เป้าหมาย “King of Food”

  • 74
  •  
  •  
  •  
  •  

Bistro-Asia-Vintage-Point

ด้วยวิสัยทัศน์ “ไทยเบฟ” ต้องการปักธงผู้นำตลาดอาหารและเครื่องดื่มครบวงจรในอาเซียน เมื่อเจาะลึก “ธุรกิจอาหาร” ได้ขยาย Business Portfolio ภายใต้การบริหารของบริษัทในเครือ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเชนร้านอาหารญี่ปุ่น โดยโออิชิ กรุ๊ป (Oishi Group), เชนร้านอาหารบริการด่วน KFC โดยบริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย (The QSR of Asia) เป็น 1 ใน 3 ได้สิทธิ์แฟรนไชส์จากยัม เรสเทอรองตส์

และอีกหนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญที่น่าจับตามอง คือ “บริษัท บิสโตร เอเชีย จำกัด” (Bistro Asia) สร้างและบริหารพอร์ตฯ ร้านอาหารนานาชาติ (ไม่รวมญี่ปุ่น) ภายใต้แบรนด์ต่างๆ, ธุรกิจศูนย์อาหาร และธุรกิจ F&B ในสโมสรราชพฤกษ์

 

กางพอร์ตฯ ธุรกิจร้านอาหาร “Bistro Asia” และ3 กลยุทธ์ดันการเติบโต  

ปัจจุบันBistro Asia บริษัทในเครือไทยเบฟ ภายใต้การบริหารของ “คุณแซม-ไพศาล อ่าวสถาพร” กรรมการผู้จัดการของบริษัท บิสโตร เอเชีย จำกัด มี business portfolio ประกอบด้วย

– บ้านสุริยาศัย (BAAN SURIYASAI)

– ไฮด์ แอนด์ ซีค แอทธินี (HYDE & SEEK)

– หม่าน ฟู่ หยวน (MAN FU YUAN)

– โซ อาเซียน (SO ASEAN Café & Restaurant)

– สโมสรราชพฤกษ์ (Rajpruek Club)

– ศูนย์อาหารฟู้ด สตรีท (Food Street)

– บริการจัดเลี้ยง (Catering)

– ล่าสุดเปิดตัวแบรนด์ใหม่ “VANTAGE POINT” ร้านอาหารสไตล์ European Eatery สาขาแรกที่ศูนย์การค้าประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

Baan Suriyasai
บ้านสุริยาศัย (Photo Credit: Facebook Baan Suriyasai)
กลยุทธ์ธุรกิจ “Bistro Asia” เพื่อขับเคลื่อนการเติบโต ล้อไปกับยุทธศาสตร์ Passion 2025 ของกลุ่มไทยเบฟ นั่นคือ

1. Build Business: สร้างการเติบโตธุรกิจในระยะยาว ทั้งการขยายสาขาแบรนด์เดิมในพอร์ตโฟลิโอ และการสร้างแบรนด์ใหม่ ตลอดจนการแสวงหาโอกาสใหม่จากการซื้อกิจการ หากเล็งเห็นถึงศักยภาพของแบรนด์นั้นๆ

2. Technology: นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจร้านอาหารในเครือ Bistro Asia เพื่อตอบรับผู้บริโภคยุคใหม่

3. People: ปรับโครงสร้างธุรกิจ Bistro Asia และพัฒนาศักยภาพของพนักงาน

Bistro Asia

โดยผลประกอบการไตรมาส 1/2023 ของ Bistro Asia เติบโตทุกแบรนด์ มาจากทั้งสาขาเดิม และเปิดสาขาใหม่ อย่างศูนย์อาหาร Food Street เปิดสาขาใหม่ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์, ร้าน Hyde & Seek เพิ่งเปิดอีก 1 สาขา ในรูปแบบ Rooftop Bar ที่โครงการ Silom Edge

ขณะที่เปิดมาต้นปี 2023 ได้เปิดตัวแบรนด์ใหม่ VANTAGE POINT ในคอนเซ็ปต์ใหม่ร้านอาหารสไตล์ “European Eatery” รวบรวมอาหารยุโรปหลากหลายจากวัตถุดิบคุณภาพนำเข้าจากยุโรป

Bistro Asia

 

เบื้องหลังกว่าจะมาเป็นร้าน “VANTAGE POINT” แรงบันดาลใจจากตลาดนัดในอาคารของยุโรป

จุดเริ่มต้นของการสร้างร้าน VANTAGE POINT มาจากโจทย์ของคุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ไทยเบฟ มีพื้นที่ว่างในศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ขนาด 1,000 ตารางเมตร จึงอยากให้พัฒนาพื้นที่ตรงนี้ เพื่อรองรับคนที่มาประชุม-สัมมนาที่นี่

คุณแซม จึงได้สำรวจทำเลดังกล่าว เห็นว่ามีความโดดเด่นตรงที่เมื่อมองออกไปจากนอกตัวอาคาร จะเห็นทั้งสวนเบญจกิติ, ทะเลสาบ และเมือง แล้วศึกษาว่าคอนเซ็ปต์ใดที่จะเหมาะสมกับที่แห่งนี้

ในที่สุดได้แรงบันดาลใจจาก “ตลาดนัดในอาคาร” ของประเทศแถบยุโรป (Mercato Centrale) เช่น Mercato Centrale of Florence ของอิตาลี, สเปน, โปรตุเกส ฯลฯ ซึ่งเป็นตลาดนัดที่นำอาคารเก่าแก่มาปรับปรุง ภายในออกแบบมีเส้นสายโครง เป็นเอกลักษณ์ของตลาดนัดในอาคารแถบยุโรป พร้อมด้วยรวบรวมอาหารท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ มาไว้ในที่เดียว

จึงได้ตัดสินใจนำแนวคิดตลาดนัดในยุโรปอย่าง Mercato Centrale มาต่อยอดเป็นคอนเซ็ปต์ร้านใหม่ พร้อมทั้งดึงจุดเด่นของสถานที่ที่เห็นวิวที่ดีที่สุด ทั้งสวนสาธารณะ, ทะเลสาบ และเมือง ได้ออกมาเป็นชื่อแบรนด์ใหม่ “VANTAGE POINT” หมายถึงจุดชมวิวที่ดีที่สุด

Bistro Asia-Vantage Point

ดังนั้นเมื่อเข้ามาใน VANTAGE POINT จะเห็นเส้นสายโครง และแหล่งรวมอาหารยุโรปจากหลากหลายชาติ ไม่ว่าจะเป็นอิตาลี, สเปน, เยอรมัน, ฝรั่งเศส ฯลฯ โดยภายในร้านแบ่งเป็น 3 โซนคือ Park, The City, Lake ตกแต่งในบรรยากาศที่แตกต่างกัน เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการ นอกจากนี้ยังมีส่วน Outdoor 30 กว่าที่นั่ง เพื่อให้ลูกค้าที่อยากรับลมธรรมชาติ และมีห้อง Private อีก 4 ห้อง ห้องละ 10 ที่นั่ง บนพื้นที่ทั้งหมดของร้าน 1,000 ตารางเมตร

Bistro Asia-Vantage Point

VANTAGE POINT ถูกพัฒนาขึ้นโดยมีต้นแบบมาจากการนำแนวคิดของตลาดนัดในยุโรปอย่าง Mercato Centrale มาต่อยอด โดย Mercato Centrale ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ของสถานที่ที่เป็นการรวบรวมอาหารชั้นยอดของอิตาลีมาไว้ในที่เดียวกัน คล้ายๆ กับตลาดของบ้านเรา ก่อนที่คอนเซ็ปต์ศูนย์รวมของร้านอาหารแบบนี้ จะได้รับความนิยมและถูกขยายออกไปยังประเทศอื่นๆ ในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นสเปน เยอรมัน อิตาลี หรือฝรั่งเศส

ความนิยมของลาดนัดในอาคารลักษณะนี้ เกิดจากการมีความหลากหลายของประเภทอาหาร จากวัตถุดิบชั้นเยี่ยม เรานำเอาแนวคิดนี้มาพัฒนาเป็นร้าน VANTAGE POINT ที่รวบรวมอาหารในสไตล์ยุโรป อเมริกัน และตะวันตก มาไว้ในที่เดียวกัน เป็นการนำเสนอที่แตกต่างจากร้านอาหารทั่วไปที่จะเป็นเฉพาะทางมากกว่า

สิ่งที่เราทำออกมาก็เพื่อฉีกหนีไปสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ลูกค้า โดยมองว่าลูกค้ามักจะจำเจกับร้านอาหารในสไตล์อินเตอร์เนชันแนล บุฟเฟต์ จึงได้สร้างร้านอาหารที่เป็นเฉพาะทางขึ้นมา โดยมุ่งไปที่อาหารยุโรปอย่างเดียว เป็นผู้เชี่ยวชาญ ด้านอาหารยุโรป ทั้งวัตถุดิบ เครื่องปรุง ทั้งหมด โดยในช่วงวันธรรมดา ให้บริการแบบ A La Carte ขณะที่เสาร์ – อาทิตย์ จะเป็นบุฟเฟต์ที่มีราคาเริ่มต้นที่ 998 ++” คุณแซม เล่าที่มาของแบรนด์ใหม่

Bistro Asia-Vantage Point

VANTAGE POINT นอกจากสร้างขึ้นเพื่อรองรับผู้มาประชุม-สัมมนาที่ QSNCC แล้ว ยังรองรับกลุ่มลูกค้าคนทำงาน และกลุ่มครอบครัวเช่นกัน

“เดิมทีเราตั้งใจสร้าง VANTAGE POINT รองรับคนที่มาประชุม-สัมมนาที่ QSNCC เพราะเราเห็นว่าชาวต่างชาติที่เดินทางมาเมืองไทย เขายังอยากได้อาหารที่เป็น Comfort Food อาหารยุโรปของประเทศตัวเอง แต่ด้วยความที่ศูนย์ประชุมฯ ไม่ได้มีกิจกรรมตลอดทั้งปี เพราะฉะนั้นนอกจากกลุ่มคนมาประชุมสัมมนาแล้ว เรายังพัฒนาร้านนี้ เพื่อรองรับกลุ่มครอบครัว และคนทำงานด้วย”

Bistro Asia-Vantage Point

Bistro Asia-Vantage Point

Bistro Asia-Vantage Point

 

ตั้งเป้า King of Food” เดินหน้าขยายสาขา “หม่าน ฟู่ หยวน – โซ อาเซียน ฟู้ดสตรีท”

ด้วยความที่ “Bistro Asia” เป็นบริษัทในเครือไทยเบฟที่ดูแลธุรกิจร้านอาหารนานาชาติ นอกเหนือจากญี่ปุ่น ทำให้การเติมเต็ม brand portfolio ร้านอาหารจึงยืดหยุ่น และสามารถสร้างความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นอาหารแถบเอเชีย หรือแถบตะวันตก

“ตอนนี้ Bistro Asia เป็นยุคของการเติมเต็มพอร์ตโฟลิโอธุรกิจร้านอาหาร โดยเน้นการขยายแบรนด์ใหม่ๆ ด้วยการให้ความสำคัญกับการนำเสนอนวัตกรรม พร้อมกับมอบประสบการณ์ที่แปลกใหม่ให้กับลูกค้า เนื่องจากปัจจุบันคนไทยมีการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ทำให้ได้เห็นหรือมีประสบการณ์ในการบริโภคอาหารที่มากขึ้นกว่าในอดีต จึงต้องการร้านอาหารที่สามารถตอบโจทย์หรือสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับเขาได้

เรามุ่งหวังเป็น King of Food นั่นคือ ทำอาหารทุกประเภท ยกเว้นอาหารญี่ปุ่นที่มีโออิชิดูแล ดังนั้นพอร์ตฯ Bistro Asia ไม่ได้จำกัดว่าเป็นอาหารประเภทไหน รูปแบบใด ดังนั้นโอกาสไหนมา หรือมีเทรนด์เติบโตได้ เราสร้างพอร์ตฯ และขยายธุรกิจได้

อย่างร้านหม่าน ฟู่ หยวน (MAN FU YUAN) และ โซ อาเซียน (SO ASEAN Café & Restaurant) ขยายในรูปแบบเชนได้ ทั้งในไทยและต่างประเทศ ทั้งนอกห้างฯ – ในห้างฯ นอกจากนี้หม่าน ฟู่ หยวน ในอนาคตยังสามารถต่อยอดเป็น Packaged Food ได้ เพราะเรามีโรงงานอยู่แล้ว

Man Fu Yuan-QSNCC
ร้านหม่าน ฟู่ หยวนที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (Photo Credit: Facebook Man Fu Yuan Kitchen)

ส่วนศูนย์อาหารฟู้ด สตรีท (Food Street) มีแผนขยายเพิ่มในไทย ทั้งพื้นที่ของในเครือเราเอง และพื้นที่คนอื่น โดยในไตรมาส 2/2023 จะเปิดฟู้ด สตรีทที่โครงการ Tha PARQ เนื่องจากเทรนด์ Food Hall หรือ Food Park ในไทยมาแน่

ขณะเดียวกันบางแบรนด์ ไม่สามารถทำรูปแบบเชนได้ เพราะเป็น location base แต่สามารถ spin-off ได้ เช่น บ้านสุริยาศัย แยกบางส่วนออกมาเป็นอีกหนึ่งธุรกิจ เช่น สุริยาศัย Tea Room

ส่วนการขยาย VANTAGE POINT ยึดตามโลเคชั่น เพราะต้องเปิดในโลเคชั่นที่ดี และมีขนาดพื้นที่ใหญ่พอที่จะทำคอนเซ็ปต์แบบนี้ได้ หรือต่อไปอาจปรับ scale ให้เล็กลง เพื่อขยายสาขา

เพราะฉะนั้นธุรกิจร้านอาหารของ Bistro Asia ประกอบด้วย 2 รูปแบบคือ 1. Flagship Brand ที่สามารถต่อยอดเป็นเชนได้ และ 2. แบรนด์ที่รองรับเฉพาะโลเคชั่น” คุณแซม กล่าวทิ้งท้าย

So Asean

Bistro Asia
คุณแซม-ไพศาล อ่าวสถาพร กรรมการผู้จัดการของบริษัท บิสโตร เอเชีย จำกัด

  • 74
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ