ในปี 2022 หลายประเทศทั่วโลกกลับมาเปิดประเทศ หลังจากชะงักไป 2 ปีจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวฟื้นกลับมา คนแห่เดินทางไปสถานที่ต่างๆ ทั้งในประเทศ และนอกประเทศ จนเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “Revenge Travel” หรือ “เที่ยวล้างแค้น” โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวปลายปี 2022 ต่อเนื่องถึงปี 2023 ไฟลท์บินไปยังประเทศ/เมืองต่างๆ ถูกจองเต็ม และสนามบินของเมืองต่างๆ เต็มไปด้วยผู้คน
หลังจากใช้เวลาไปกับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ เมื่อใกล้จะถึงวันกลับมาทำงานตามปกติ กลับรู้สึกไม่อยากมาทำงาน แค่นึกถึงการเปิดคอมพิวเตอร์ เพื่อตอบอีเมล์งาน นั่งอยู่ในห้องประชุม คุยงานกับลูกค้า และอื่นๆ อีกมากมาย ก็รู้สึกเศร้า หดหู่ หรือหม่นหมองขึ้นมาทันที! อาการดังกล่าวนี้เรียกว่า “Post-vacation blues” หรือ “Post-vacation Depression” ภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาว หรือ ภาวะซึมเศร้าหลังหยุดพักร้อน
Checklist อาการซึมเศร้าหลังหยุดยาว
อาการ Post-vacation blues มักเป็นอาการที่เกิดขึ้นหลังจากได้หยุดยาว เช่น หลังจากวันลาพักร้อน หรือหลังหยุดยาวช่วงเทศกาล และยิ่งเดินทางนานเท่าไร ภาวะอาการนี้ก็จะยิ่งมากขึ้น แม้การเดินทางท่องเที่ยวทริปนั้นๆ จะช่วยให้เราได้พักผ่อน และชาร์จพลังงานชีวิตก็ตาม แต่ความรู้สึกผ่อนคลายเหล่านั้น ไม่ได้คงอยู่ตลอดไป เมื่อกลับถึงบ้าน หวนนึกถึงว่าต้องกลับเข้าสู่โหมดชีวิตทำงาน หรือชีวิตการเรียนตามปกติ ที่ต้องเผชิญกับความเครียด ความกังวล ความเร่งรีบต่างๆ ทำให้รู้สึกหม่นหมอง เศร้าขึ้นมา
Post-vacation blues ไม่ใช่โรคจิตเวช โดยเกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งๆ เท่านั้น อาจกินระยะเวลา 2 อาทิตย์หลังจากกลับจากไปเที่ยว-พักผ่อน อย่างไรก็ตามภาวะเหล่านี้ สามารถหายได้เอง
ทั้งนี้ Post-vacation blues หรือ Post-vacation Depression ไม่ใช่อาการเป็นที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แต่ได้ปรากฏขึ้นครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1950s ซึ่งอาการซึมเศร้าหลังหยุดยาว แม้จะเกิดขึ้นในระยะสั้นๆ และหายได้เอง แต่กระทบชีวิตประจำวันของผู้ที่อยู่ในภาวะอาการนี้เช่นกัน ทั้งการใช้ชีวิต ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และประสิทธิภาพการทำงาน หรือการเรียนลดลง
มา Checklist กันว่าคุณมีอาการซึมเศร้าหลังหยุดยาว หรือหลังพักร้อนหรือไม่ ?!?
– รู้สึกหงุดหงิดง่าย
– สมาธิลดลง
– รู้สึกเศร้าๆ หม่นๆ วิตกกังวล ไม่สบายใจ
– ขาดแรงจูงใจในการทำงาน/การเรียน หรือการใช้ชีวิตตามปกติ
– มีปัญหาการนอน
– เกิดความเหนื่อยล้าทางจิตใจ
– หวนคิดถึงช่วงเวลาแห่งความสุขในวันหยุดยาวที่ผ่านมา
– หมกมุ่นกับการมองหาวันหยุดครั้งต่อๆ ไป
แนวทางรับมือ “Post-vacation blues” เตรียมตัวให้พร้อมลุยงาน!
อาการซึมเศร้าหลังหยุดยาว สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ดังนั้นเพื่อป้องกันและจัดการภาวะอารมณ์จากอาการดังกล่าว ควรเตรียมความพร้อมทั้งร่างกาย และจิตใจ ตลอดจนสิ่งแวดล้อมรอบข้าง
1. ให้เวลาพักที่บ้านอย่างน้อย 1 วัน หลังจากหยุดเที่ยวยาว
ที่ผ่านมาเรามักกลับไปทำงาน/ไปเรียนในวันรุ่งขึ้นทันที หลังจากหยุดยาว ซึ่งมีผลต่อการปรับภาวะทางอารมณ์ เช่น วันก่อนยังนอนชิลล์อยู่ริมทะเล พอตื่นมาวันรุ่งขึ้น นั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานในออฟฟิศ
ดังนั้น ก่อนหยุดยาว หรือก่อนลาพักร้อน นอกจากแพลนทริปเที่ยวแล้ว ควรวางแผนล่วงหน้าไปจนถึงหลังกลับจากเที่ยวด้วย โดยให้มีเวลาพักที่บ้าน 1 – 2 วัน เพื่อจะได้พักผ่อน และเตรียมความพร้อม เช่น แผนการทำงาน, เอกสาร, เสื้อผ้า, กระเป๋าทำงาน ก่อนเริ่มกลับเข้าสู่โหมดชีวิตปกติ
2. ทำความสะอาดบ้านก่อนเดินทางท่องเที่ยวยาว
หากการกลับบ้าน นอกจากเผชิญกับภาวะ Post-vacation blues แล้ว ยังต้องมาทำความสะอาดบ้านอีกมากมาย อาจยิ่งซ้ำเติมอารมณ์ความรู้สึกไปอีก ดังนั้นพยายามดูแลทำความสะอาดบ้านก่อนออกเดินทางไปเที่ยว เพราะเมื่อกลับมาบ้าน แล้วเจอบ้านที่เรียบร้อย จะช่วยให้จิตใจสงบ – รู้สึกผ่อนคลาย
3. ดูแลตัวเองด้วยกิจกรรมผ่อนคลายที่บ้าน และงานอดิเรกที่ชื่นชอบ
เมื่อกลับจากท่องเที่ยว การอาบน้ำเพื่อผ่อนคลาย, ดื่มเครื่องดื่มอุ่นๆ, หนังสือดีๆ สักเล่ม ดูหนัง ฟังเพลง หรือใช้เวลาไปกับกิจกรรมอื่นๆ เช่น งานอดิเรก สามารถช่วยผ่อนคลายความเหนื่อยล้าจากการเดินทาง และภาวะซึมเศร้าหลังหยุดยาวได้
4. นอนหลับให้เพียงพอ
การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นสิ่งสำคัญของชีวิต เมื่อกลับจากเดินทางท่องเที่ยวแล้ว เพื่อฟื้นฟูร่างกาย และเตรียมความพร้อมให้กับร่างกายและจิตใจ การนอนหลับให้เพียงพอ ในสภาพแวดล้อมที่สงบ และผ่อนคลายก่อนเข้านอน จะช่วยเติมพลังให้การกลับไปทำงาน หรือเรียนมีประสิทธิภาพดีขึ้น
5. ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายในระดับที่ไม่หักโหมร่างกายเกินไป ช่วยด้านสุขภาพกาย และใจ ทั้งลดความวิตกกังวล ความเครียด หรือความซึมเศร้า ทั้งยังช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น
6. พยายามรักษา Vacation Mindset เอาไว้ แม้ไม่ได้หยุดยาว
การสิ้นสุดวันหยุดยาว ไม่ได้หมายความว่าความสุข – ความสนุกจะหมดสิ้นแล้ว แต่เรายังคงเก็บรักษา Vacation Mindset ต่อได้แม้ไม่ได้หยุดยาว ด้วยการนำมาปรับให้เข้ากับชีวิตประจำวัน เช่น ลองค้นหาร้านอาหารใหม่ๆ หรือลองเดินเล่นผ่านชุมชนย่านใหม่ หรือตื่นเช้ามาดูพระอาทิตย์ขึ้น และเดินไปรอบๆ ย่านที่พักอาศัย
หรือแม้แต่เรื่องอาหารการกิน ก็ช่วยเยียวยาจิตใจในช่วงเกิดภาวะ Post-vacation blues ได้เช่นกัน อย่างตอนไปเที่ยว เรามักค้นหาเมนูอาหารท้องถิ่น เมื่อได้ลิ้มลองแล้วรู้สึกถูกใจ ชื่นชอบในเมนูนั้นๆ เมื่อกลับมาบ้าน ใช้ชีวิตตามปกติ อาจลองศึกษา และหาข้อมูลทำอาหารเมนูนั้นๆ หรือค้นหาว่ามีร้านไหนบ้าง ที่มีเมนูอาหารนั้นๆ ให้บริการ แม้รสชาติ-หน้าตาไม่ได้เหมือนกันทั้งหมด แต่เชื่อว่าจะช่วยฮีลจิตใจได้เช่นกัน
7. บอกเล่าความรู้สึกให้กับคนอื่น
หากเกิดอาการ Post-vacation blues อย่าเก็บไว้กับตัวเองคนเดียว ควรพูดคุยบอกเล่าความรู้สึกของตัวเองให้กับคนอื่น เช่น เพื่อนที่ไว้ใจได้และรับฟัง หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ซึ่งปัจจุบันหลายองค์กรมีโปรแกรม Employee Assistance Program (EAP) เป็นโปรแกรมให้คำปรึกษาและดูแลสุขภาพจิตใตแก่พนักงาน โดยผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักจิตบำบัด จะให้คำปรึกษาและคำแนะนำ
8. วางแผนวันหยุดล่วงหน้า พร้อมเก็บออมเงิน
เมื่อการเดินทางท่องเที่ยวมีความหมายต่อชีวิตของเรา ได้ออกไปค้นพบประสบการณ์ใหม่ ได้เติมพลัง ได้ความสุข และความสนุก ให้กำหนดเป็นหนึ่งในเป้าหมาย และในระหว่างที่ทำงาน/เรียน ก็เตรียมความพร้อมสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวทริหน้า ทั้งการจัดสรรเงินรายได้ส่วนหนึ่ง ออมไว้เป็นเงินทุนในการเดินทางท่องเที่ยว รวมทั้งจัดสรรวันหยุด เพื่อวางแผนเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า
Source: Choosing Therapy , CNN