จากชายหนุ่มผู้มีความฝันอยากเปลี่ยนแปลงอินเทอร์เน็ตของประเทศไทย ที่ในเวลานั้นยังเป็นยุค “Internet 1.0” สู่การเป็น “Internet 2.0” บนโมเดล User Generated Content (UGC) จนนำไปสู่การพัฒนาแพลตฟอร์มรีวิวอาหาร “Wongnai” (วงใน) ทำให้ผู้ใช้งานมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ได้เองด้วยการรีวิวร้านอาหาร
ถึงวันนี้ “คุณยอด ชินสุภัคกุล” ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้นำพา “Wongnai” ควบรวมกับ “LINE MAN” เป็น “LINE MAN Wongnai” เพื่อขยายฐานธุรกิจ และผู้ใช้งาน เพื่อให้บริการ On-demand Service, บริการ Solution ให้กับผู้ประกอบการ และธุรกิจโฆษณา – การเงิน
ขณะที่ล่าสุดระดมทุนซีรีส์บี 265 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทําให้ LINE MAN Wongnai มีมูลค่าหลังระดมทุนมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 3.7 หมื่นล้านบาท ขึ้นแท่นตำแหน่ง Unicorn รายล่าสุดของไทย และยังเป็น Tech Startup ใหญ่ที่สุดของไทยในแง่มูลค่าบริษัท
MarketingOops! โดย “คุณณธิดา รัฐธนาวุฒิ” ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Marketing Oops! ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “คุณยอด ชินสุภัคกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai เจาะลึกเส้นทางกว่าจะมาเป็น LINE MAN Wongnai ในทุกวันนี้ และเป้าหมายต่อไปที่ต้องการ IPO ในตลาดหุ้น พร้อมทั้งก้าวสู่การเป็น Top 10 Tech Company ในประเทศไทย รวมทั้งมุมมองต่ออุตสาหกรรม Tech Company ในปัจจุบัน และวิธีการบริหารจัดการงานในสไตล์คุณยอด เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด
จากแพลตฟอร์มรีวิว–ค้นหาร้านอาหาร สู่การควบรวม LINE MAN
กว่าจะมาเป็น LINE MAN Wongnai คุณยอด เล่าจุดเริ่มต้นว่า ร่วมก่อตั้ง Wongnai กับเพื่อนเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ปัจจุบันผู้ร่วมบุกเบิกทั้ง 3 คน ก็ยังร่วมบริหารบริษัท โดยดูแลส่วนงานต่างๆ ในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นด้านพัฒนาเทคโนโลยี, ด้านพัฒนาโปรดักต์ เป็นต้น
แรงบันดาลใจที่จุดประกายไอเดียพัฒนาแพลตฟอร์ม Wongnai มาจากเห็นว่าในต่างประเทศหลายประเทศ มีระบบรีวิวร้านอาหารจากผู้ใช้ เช่น ญี่ปุ่นมี Tabelog, อเมริกามี Yelp และแพลตฟอร์มที่ใช้กันทั่วโลกมี Tripadvisor
ในขณะที่ประเทศไทย ช่วงเวลานั้นการรีวิวร้านอาหาร ยังมาจาก Editor เขียน ซึ่งอาจไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ คุณยอด และเพื่อนมองว่าประเทศไทยน่าจะมีแพลตฟอร์ม databased ร้านอาหารที่รีวิวจากผู้ใช้ที่ไปกินจริง เพราะต่อไปอาหารการกินจะเป็นตลาดใหญ่
ในที่สุดได้เปิดตัวแพลตฟอร์ม “Wongnai” (วงใน) นอกจากแพลตฟอร์มรีวิวและค้นหาร้านอาหารเท่านั้น ยังมีสติกเกอร์ Wongnai และป้าย Wongnai Users’ Choice อีกด้วย
“ตอนชวนเพื่อนมาร่วมกันทำ Wongnai เรามีความฝันเปลี่ยนแปลงอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย เพราะว่าสมัยก่อนยังเป็นยุค Internet 1.0 รูปแบบ Web Portal สำหรับอ่านอย่างเดียว ต่อมาเริ่มเข้าสู่ยุค Internet 2.0 หรือ Web 2.0 เป็น User Generated Content ซึ่งวงในเองก็เป็น User Generated Content มองว่าน่าจะมีคนใช้เยอะ และน่าจะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตประเทศไทยไม่มากก็น้อย และเราก็อยากทำให้ครอบคลุมทั้งประเทศ”
หลังจากลุยธุรกิจมาได้ 3 – 4 ปี ก็เริ่มระดมทุน และขยายไปยัง domain อื่นๆ เช่น ความงาม รวมทั้งให้บริการ POS (Point of Sale System) ให้กับร้านอาหาร
กระทั่งในปี 2016 ได้จับมือกับ “LINE MAN” เป็นอีกหนึ่ง Milestone สำคัญ เพื่อให้บริการ “Food Delivery” โดยในเวลานั้น Wongnai มีฐานข้อมูลร้านอาหารในระบบกว่า 200,000 ร้าน จึงตัดสินใจผนึกกำลังกัน
“เราทำงานร่วมกันมาสัก 2 – 3 ปี “LINE” มาลงทุนในเรา เป็นผู้ถือหุ้นส่วนหนึ่ง จากนั้นในปี 2020 เริ่มคุยกันว่ามารวมกันดีกว่า เพราะการแข่งขันธุรกิจ Food Delivery ค่อนข้างสูง ตลาดโตเร็ว และเราเป็นพาร์ทเนอร์ ทำงานด้วยกันได้ แต่อาจจะวิ่งได้ไม่เร็วพอ จึงมองว่าถ้ารวมกัน โดยทาง LINE MAN spin off ออกมาจาก LINE เพื่อเป็นอิสระมากขึ้น วิ่งได้เร็วขึ้น ระดมทุนจากภายนอก ในขณะที่ทีม Wongnai เข้าไปช่วยบริหารด้วย จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น แข่งกับคู่แข่งได้
ดังนั้น LINE MAN ตัดสินใจ spin off ออกมา ร่วมกับ Wongnai กลายเป็น “LINE MAN Wongnai” และทีมบริหารรวมกัน คือ มีทั้งผม, Co-founder และทีม LINE MAN ทั้งผู้บริหาร และทีมงานมาด้วยเช่นกัน หลังจากควบรวมมาได้ 2 ปี ประกอบกับช่วง COVID-19 ทำให้ Food Delivery โตเยอะ เราสามารถได้ส่วนแบ่งการตลาดพอสมควร และรอบล่าสุดระดมทุนอีก 265 ล้านเหรียญสหรัฐ”
คุณยอด เล่าเพิ่มเติมหลังจากร่วมทุนกับ LINE MAN เป็นจังหวะที่ Food Delivery แข่งขันอย่างดุเดือดว่า เจอความท้าทายมากมาย โดยหลักมาจากการแข่งขันสูง คู่แข่งแข็งแกร่ง และมีเงินทุนมากเช่นกัน ซึ่งตลาด Food Delivery ในประเทศไทย ถือว่าการแข่งขันสูงอันดับต้นๆ ของโลกมี Player อย่างน้อย 5 – 6 รายในประเทศไทย ขณะที่ประเทศอื่นอาจมีสัก 2 – 3 ราย
“ความกดดัน และความท้าทายที่ต้องสู้ เป็นเรื่องที่เราต้องพบเจอในทุกๆ วัน บางคนมักจะถามถึง Internal Challenge ว่าการควบรวมกิจการเป็นอย่างไร แต่สำหรับผมให้คะแนนทีมงาน และให้คะแนนตัวเอง 9 เต็ม 10 ด้วยซ้ำ เพราะการควบรวมเป็นไปได้อย่างดี มี synergy สูง และมี culture คล้ายกัน ขณะเดียวกันเรื่องคน ทั้งทีมงาน LINE MAN และทีมงาน Wongnai สามารถทำงานรวมกันได้เป็นอย่างดี และทำผลงานได้ทันที”
ปัจจุบัน “LINE MAN Wongnai” ให้บริการใน 3 ส่วนหลักคือ
– On-demand Service: ครอบคลุมทั้งบริการ Food Delivery, Mart, Messenger, Taxi, Packages
– Solution สำหรับร้านค้าและร้านอาหาร: Wongnai มีฐานข้อมูลร้านค้าและร้านอาหารมากกว่า 1 ล้านร้านทั่วไทย นำมาให้บริการค้นหาข้อมูลร้านอาหารและรีวิวจากผู้ใช้งานจริง รวมทั้งมี Wongnai POS ระบบจัดการร้านอาหารและการขายผ่านเดลิเวอรี ถือเป็นผู้นำตลาด POS สำหรับร้านอาหาร และมีผู้ประกอบการร้านอาหารใช้งานมากกว่า 50,000 ร้าน
– Value Added Service: ด้วยฐานผู้ใช้งาน Delivery ที่มีทั้งผู้ใช้ ผู้ขับขี่ และร้านอาหารจำนวนมาก นำมาสู่ธุรกิจใหม่ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าแก่ทุกภาคส่วนใน ecosystem โดยมีทั้งธุรกิจโฆษณาสำหรับร้านอาหาร และธุรกิจบริการทางการเงิน
เงินระดมทุนรอบล่าสุด ใช้พัฒนาระบบหลังบ้าน – สินค้าและบริการใหม่
สำหรับเงินระดมทุนซีรีส์บี 265 ล้านดอลลาร์สหรัฐ LINE MAN Wongnai วางแผนใช้ลงทุนเทคโนโลยีหลังบ้านให้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งเสริมทีม และพัฒนาสินค้า-บริการใหม่
“บริการที่เราทุกคนใช้อยู่ ไม่ว่าจะเป็น User Application, POS, Rider Application ข้างหลังมีเทคโนโลยีที่ต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในฝั่งไรเดอร์ ทั้ง algorithm ต่างๆ ในการมอบหมายงาน, การวางเส้นทางการให้บริการ สิ่งเหล่านี้ถือเป็น Deep Tech พอสมควร
เพราะฉะนั้นการลงทุนในฝั่งเทคโนโลยี เป็นสิ่งแรกที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเสริมทีม Product Team, Engineering Team เข้าไปอีก เพื่อทำให้โปรดักต์ และบริการของเราดีขึ้น นั่นคือ อาวุธหลักของเราใช้ในการแข่งขัน
นอกจากนี้เงินทุนที่ได้จากการระดมทุน จะนำไปสร้าง new initiative ของบริการ On-demand ยังมีบริการที่เราสามารถพัฒนาได้อีกมาก เพื่อให้เหมาะกับคนไทย”
อย่างไรก็ตามในการดำเนินธุรกิจ แน่นอนว่าการสร้างผลกำไรคือหัวใจของทุกธุรกิจ จากประเด็นนี้เอง Marketing Oops! ได้ถามถึงโอกาสในการพลิกจากขาดทุนมาเป็นกำไรของ LINE MAN Wongnai ?
“ณ วันนี้พัฒนามาเยอะมากจากเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ถึงแม้เรายังไม่ break even แต่สามารถพัฒนา profitability ดีขึ้นจากสมัยก่อนเยอะมาก เราสามารถ turn profit ได้ แต่แน่นอนว่าเราต้องลดเรื่องการลงทุนลง อาจจะต้อง sacrifice การเติบโตบางส่วน เพราะฉะนั้นเราต้องหาบาลานซ์ที่เหมาะระหว่าง growth กับ profitability
ทุกอย่างที่เราทำในทุกๆ วันคือ optimize spending, optimize algorithm, การทำเซ็กเมนต์ผู้ใช้งานให้ดีขึ้น, การหาร้านค้า และจับคู่ร้านค้าที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่เราทำมาโดยตลอด เชื่อว่าเมื่อเราพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพในทุกๆ ส่วน ในทุกๆ วัน จะทำให้ profitability ดีขึ้น และอยู่ที่ว่าเราอยากจะ turn profit ณ ปีไหน
เป็นเรื่องราวคล้ายๆ กับ Tech Company อื่น เช่น Facebook และ Amazon กว่าจะ turn profit ก็ต้องใช้เวลา แม้เขาจะสามารถพลิกเป็นกำไรได้ แต่อาจยังไม่ทำ เพราะต้องพิจารณาถึงการลงทุน และการเติบโตด้วย”
ตั้งเป้า IPO – Top 10 บริษัทเทคฯ ในไทย
สำหรับเป้าหมายต่อไปของ “LINE MAN Wongnai” หลังจากก้าวสู่การเป็น Unicorn แล้วคือ การเข้าตลาดหุ้น และติด Top 10 บริษัทเทคโนโลยี (Tech Company) ในประเทศไทย
“เป้าหมายที่ผ่านไปแล้วคือ Unicorn ตอนนี้เป้าหมายถัดไปน่าจะเป็น IPO แต่การจะ IPO ให้ได้ หมายความว่าข้างในต้องดีด้วย ทั้ง profitability ต้องมี market share ต้องแข็งแรง value ที่เราสร้างให้กับคนที่อยู่ใน ecosystem ต้องเยอะ คนต้องชอบ ไรเดอร์ต้องชอบ ร้านอาหารต้องชอบ เขาต้องมีรายได้จาก LINE MAN Wongnai เพราะฉะนั้น value ที่เราสร้างให้กับเขาต้องมากพอ เราถึงจะ IPO ได้ นี่คือเป้า 2 – 3 ปีข้างหน้า
ขณะที่เป้าหมายระยะไกล เราอยากอยู่ใน SET 50 อาจจะเป็น Top 10 Company in Thailand คิดถึงเมืองไทย คิดถึงบริษัท Tech ต้องคิดถึงเราก่อน เหมือนที่เวลาไปจีนแล้วนึกถึง Tencent, WeChat, Alibaba หรือไปอเมริกานึกถึง Google, Amazon หรือไปเกาหลี นึกถึง Naver อยู่ที่ไทย ก็นึกถึง LINE MAN Wongnai”
“Consumer Tech” เต็มไปด้วยผู้เล่นจำนวนมาก – แต่ยังมีโอกาสอีกมากในตลาด “B2B Tech”
หลังจากพูดคุยเส้นทาง แนวคิด และโรดแมป “LINE MAN Wongnai” แล้ว มาต่อกันด้วยมุมมองของ คุณยอด ที่มีต่ออุตสาหกรรม Tech Company ในปัจจุบัน
คุณยอด มองว่า ปัจจุบันผ่านจุดพีคของ Startup ไปแล้ว ยิ่งมีสถานการณ์ COVID-19 ทำให้การหมุนเวียนของเงินลงทุนในธุรกิจ Startup หายไปมากพอสมควร ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลนักลงทุนเดินทางมาไม่ได้ และ Startup ที่ทำเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย
อย่างไรก็ตามพบว่า Tech Startup ที่หายไปจากตลาด บางรายกลับเจอหนทางใหม่ๆ ที่เปลี่ยนตัวเองไปเป็น SME หรือ Tech Company อย่างอื่นที่สามารถสร้างกำไรได้ ขณะเดียวกันพบว่าหลายบริษัทปรับเปลี่ยนไปให้บริการด้านที่ปรึกษา Digital Transformation และบางรายไปทำตลาด B2B แทน เนื่องจากยังเป็นตลาดที่มีโอกาสสูง ขณะที่บางบริษัทหยุดชั่วคราว เพื่อรอวันกลับมา และบางบริษัทยังคงสามารถสร้างผลกำไรได้
“ทุกวันนี้ไม่ได้ง่ายที่จะเจอบริษัทที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และเป็น Unicorn ตัวต่อไป เพราะมองไปทางไหน ก็เจอแต่ Consumer Tech ในแต่ละตลาดเต็มไปด้วยผู้เล่นมากมาย เพราะฉะนั้นการทำ Consumer Tech ไม่ได้ง่ายแล้วแล้วในปัจจุบัน
แต่สิ่งที่คนไทยทำได้ดี อาจเป็น Tech Startup ในระดับเล็กลงมาหน่อย ที่ profitable ได้ และโฟกัสในฝั่ง B2B ฝั่งที่มีกำลังซื้อในประเทศอย่างแท้จริง อันนี้เป็น next frontier ของบริษัท Tech ในประเทศไทย
เพราะฉะนั้นสำหรับ Tech Startup ที่ยังอยู่ หรือกำลังปั้นตัวเอง และอยาก scale ได้ในระยะยาว มี 2 ทางเลือกหลักๆ คือ ถ้าคุณมี Deep Technology ที่ใหม่จริงๆ และมีโอกาสใหม่ที่คนอื่นอาจยังไม่มองเห็น ควรไปในระดับโลกเลย ไม่จำเป็นต้องอยู่เฉพาะตลาดในประเทศ ส่วนอีกทางหนึ่งคือ ไปฝั่ง B2B เช่น พัฒนาซอฟท์แวร์ เจาะตลาด B2B ในไทย เพราะตลาด B2B ในประเทศไทยค่อนข้างแข็งแกร่ง”
“Organization เป็นสิ่งมีชีวิต” ต้องพัฒนาตลอดเวลา
ด้วยความที่คุณยอดเป็นซีอีโอในองค์กรด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับผู้คนในหลายภาคส่วน ทั้งผู้บริโภค ผู้ประกอบการร้านค้า ไรเดอร์ ทั้งยังมีพนักงานอีกหลายร้อยชีวิต ทำให้เราอยากรู้เคล็ดลับวิธีการบริหารงาน และการทำงานสไตล์คุณยอด
“ค่อนข้างทำงานเร็ว ตัดสินใจเร็ว และ productive ในเรื่องการใช้เวลา เป็นคนชอบตัดสินใจมากกว่าไม่ชอบตัดสินใจ หมายความว่าถ้ามี issue อะไร ก็จะใช้เวลาในการตัดสินใจ และเมื่อตัดสินใจปุ๊ป ก็ move on
ผมเป็นคนที่ zero inbox – zero slack อยู่แล้ว เพราะ inbox เคลียร์ทุกวัน to do list ของผมสั้นมาก และ shuffle อยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นก็เลยเป็นคนเปิดรับ issue ใหม่ตลอด และ reprioritize real-time ถ้าด่วน ก็ raise ขึ้นมาเลยว่ามีเรื่องนี้ ทุกคนรู้หรือยัง และวางลำดับ 1 – 2 – 3 – 4 เลยว่านี่คือสิ่งที่ต้องทำ อาจจะเป็นสิ่งที่เราฝึกมาเป็นสิบปี อีกอย่างหนึ่งที่ทำบ่อยมากคือ Reorganization เพราะ Organization เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ”
สุดท้ายนี้ Marketing Oops! อยากรู้ว่าถ้าไม่มี LINE MAN Wongnai วันนี้คุณยอดจะทำอะไร ?
“ก็น่าจะทำ Tech Startup อื่นอยู่ ถ้าตัวเลือกรองลงมา ก็อาจจะเป็น Executive อยู่ที่บริษัทใหญ่สักบริษัทหนึ่ง ก็จะเป็นอีกชีวิตรูปแบบหนึ่ง แต่คิดว่าโอกาสได้อยู่ที่ Tech Startup มากกว่า” คุณยอด กล่าวทิ้งท้าย