เปิดใจ 2 ดีไซน์เนอร์ไทยแบรนด์ ‘VINN PATARARIN’ พาแฟชั่นร่วมรักษ์โลก ผ่านโครงการ ‘Upcycling Upstyling’ กระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนเทรนด์ Sustainability

  • 1.6K
  •  
  •  
  •  
  •  

 

แนวคิดเรื่องของการ Upcycling พลาสติกเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ต้องยอมรับว่ายังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะยังขาดการเติมเต็มจิ๊กซอว์ของการผลิตให้ออกมาเป็นโปรดักส์ในวงกว้างไม่ได้มาก ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ทำให้เป็นอุปสรรคอยู่ แต่เป็นเรื่องน่ายินดีที่ยังมีโครงการดีๆ ที่เป็นพื้นที่ให้ Key man สำคัญของเรื่องนี้ได้มาเจอกัน กับ โครงการอัพไซคลิง อัพสไตล์ลิ่ง (Upcycling Upstyling) ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Together To Net Zero” จัดโดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ซึ่งปีนี้จัดเป็นปีที่ 3 แล้ว โดยเป็นการพาให้พาร์ทเนอร์สำคัญได้มาพบกัน ประกอบไปด้วย แบรนด์หรือผู้ประกอบการ ดีไซน์เนอร์นักออกแบบ และผู้ผลิต (Manufacturer) เพื่อสร้างสรรค์โปรดักส์ที่สามารถใช้งานได้จริง สวยงามน่าใช้ ที่สำคัญคือมีการนำออกขายจริงด้วย ซึ่งนอกจากจะเป็นการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้งานเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแล้ว ยังเป็นการสร้างจิตสำนึกที่ดีของประชาชนให้ร่วมกันจัดเก็บขยะพลาสติกให้ดีๆ เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้งานต่อได้ด้วย

หนึ่งในดีไซน์เนอร์ที่มีความโดดเด่นในผลงานระดับโลก ได้แก่ คุณแชมป์-วิณ โชคคติวัฒน์ และ คุณฝน-ภทรฤน พงษ์ประสิทธิ์ 2 ผู้ก่อตั้งแบรนด์ VINN PATARARIN แบรนด์ไทยที่ผสมผสานศาสตร์การออกแบบแฟชั่นและเทคโนโลยีเลเซอร์คัทอันเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของแบรนด์นี้ อีกทั้งยังเป็นตัวแทนที่ดีของคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและ Sustainability ซึ่งเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอัพไซคลิง อัพสไตล์ เราได้ชวนพวกเขามาพูดคุยถึงการร่วมงานในโปรเจ็คต์นี้

 

 

2 โปรเจ็คต์จาก VINN PATARARIN สร้างสรรค์สินค้าไลฟ์สไตล์ดูแลโลก

 

สำหรับแบรนด์ VINN PATARARIN ร่วมงาน 2 โปรเจ็คต์ หนึ่งคือ City day club โดยร่วมกับ UPTOYOU แบรนด์ ไลฟ์สไตล์ภายใต้เครือ GC ที่สนับสนุนการ Upcycling ร่วมกับผู้ผลิตได้แก่ บริษัท ไทยแทฟฟิต้า จำกัด (Thai Taffeta) ผู้ผลิตสิ่งทอระดับโลก ร่วมกันผลิตสินค้าแฟชั่นไลฟ์สไตล์ ออกมาเป็นสินค้าพร้อมจัดจำหน่ายได้แก่ เสื้อเชิ้ต แจ็คเก็ต และกระเป๋า และอีกโปรเจ็คต์ได้แก่ Keep Keep ร่วมกับผู้ผลิตบริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) ผู้ริเริ่ม “โครงการวน” และแบรนด์แฟชั่นระดับโลกที่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้

 

 

ทั้งนี้ คุณแชมป์ และคุณฝน กล่าวถึงโปรเจ็คต์ City day club” ว่า เริ่มแรกก็ได้ศึกษาแบรนด์ UPTOYOU ก่อนว่ามีเพอร์โซนาอย่างไร โดยพบว่าเป็นคนเมืองที่มีไลฟ์สไตล์เป็นคนรักในธรรมชาติ สนุกสนานกับการใช้ชีวิต แต่เลือกเฟ้นวัสดุที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายธรรมชาติ ดังนั้น เครื่องแต่งกายที่เขาใช้จึงต้องสามารถใส่ไปทำงานได้ในชีวิตจริงแต่ก็ยังแฝงดีเทลความเป็นแฟชั่นไว้นิดๆ ซึ่งเมื่อเลิกงานหรือจะไปแฮงก์เอาท์ก็สามารถไปต่อได้เลย

 

 

ในขณะที่เรื่องสีและดีเทล เราเลือกที่จะใช้สีกลางๆ แต่ดูเท่ใส่ได้ทุกเพศทุกวัย โดยลวดลายยังคงซิกเนเจอร์ของเราคือใช้การออกแบบแบบเลเซอร์คัท แต่ตัดทอนให้เป็นลายที่เข้าใจง่าย ไม่แฟชั่นจ๋าแต่มีความเฟรนด์ลี่ที่คนใส่รู้สึกสบายใจว่าสามารถใส่มาประชุมได้แต่ตกเย็นก็ไปปาร์ตี้ได้เช่นกัน ในขณะที่การร่วมงานกับ ไทยแทฟฟิต้าฯ ประทับใจมากทีเดียว เพราะไม่น่าเชื่อว่าจะมีผ้าให้เลือกหลากหลายชนิดขนาดนี้ ที่สำคัญคือ ผ้าของ ไทยแทฟฟิต้าฯ ยังสามารถบอกได้ด้วยว่าช่วยลด Carbon Footprint ไปเท่าไหร่ ซึ่งถือเป็น value added ที่สำคัญ และยังช่วยสร้างจิตสำนึกในเรื่อง Sustainability ให้กับผู้บริโภคปลายน้ำได้อีกด้วย

 

 

สำหรับโปรเจ็คต์ “Keep Keep” ซึ่งทำงานร่วมกับ ทีพีบีไอฯ และแบรนด์แฟชั่นระดับโลก โดยโจทย์ที่ได้รับจากแบรนด์ก็คือเป็นสินค้าที่เข้าได้กับคนหลายกลุ่ม ดังนั้น จึงผลิตออกมาเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์และตกแต่งบ้านแต่ยังเป็นรุ่นโปรโตไทป์ก่อน ได้แก่ กระเป๋า แจกัน ที่ครอบแก้ว กล่องทิชชู่ ฯลฯ เป็นสินค้าไลฟสไตล์ที่ยังสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีก ทั้งนี้ ในการออกแบบ เราเริ่มพัฒนาจากการนำซิกเนเจอร์ของเราได้แก่เลเซอร์คัตมาพัฒนา ซึ่งมีความยากตรงจุดที่ว่า พลาสติกที่เรานำกลับมาใช้เป็น Unusual Material ซึ่งเป็นวัสดุที่ทำออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบค่อนข้างยาก ยากทั้งการใช้งานและทำออกมาให้สวยน่าใช้ด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมากๆ แต่เราก็ได้ความร่วมมืออย่างดีจากทางผู้ผลิต ได้แก่ ทีพีบีไอฯ ที่ให้คำแนะนำในการเลือกใช้พลาสติกและการแก้ปรับจุดอ่อนของวัสดุให้สามารถทำออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้จริงและสวยงาม ในขณะที่การทำงานร่วมกับแบรนด์ก็ต้องชื่นชมในความใส่ใจ เพราะเราคิดว่าเราให้ความสำคัญเรื่องนำวัสดุกลับมา Upcycling แต่กับฝั่งแบรนด์ ซึ่งถือเป็นแบรนด์ระดับโกลบอลนั้นเขาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากกว่าอีก เพราะต่างประเทศในเรื่อง Sustainability ถือเป็นนโยบายสำคัญของแบรนด์ซึ่งทำอย่างจริงๆ จังๆ ไม่ใช่แค่แคมเปญระยะสั้น ซึ่งก็เข้ากับทางแบรนด์ของเราที่แม้จะมีซิกเนเจอร์คือการฉลุ แต่ทุกเศษวัสดุที่ร่วงหล่นจากการทำเราก็จะนำส่งไปเข้าสู่ระบบในโครงการวนของ ทีพีบีไอฯ ทำให้โปรเจ็คต์ของเราไม่มีที่สิ้นสุด สำหรับโปรเจ็คต์นี้คาดว่าจะพร้อมวางจำหน่ายในต้นปีหน้า ดังนั้นอยากให้ลองติดตามว่าจะเป็นแบรนด์อะไร

 

 

โครงการดีๆ ที่ครบ Loop Connecting และการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 

สำหรับโครงการอัพไซคลิง อัพสไตล์ลิ่ง คุณแชมป์และคุณฝน มองว่าเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้ทั้งดีไซนเนอร์ ผู้ผลิต และแบรดน์ได้มาเจอกัน เพราะเรารู้ดีว่าจริงๆ แล้ว ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพมาก แต่บางทีเราอาจจะยังไม่ได้เจอกัน แต่ถ้าเราได้มีตัวเชื่อมดีๆ อย่าง GC ที่วันนี้พาให้ 3 ปาร์ตี้ได้มาเจอกัน ก็ทำให้เราได้รู้จักกับผู้ผลิตผ้าดีๆ ผ้าที่ทำจากวัสดุพลาสติก Upcycling ก็มีให้เลือกมากมาย แถมยังมี Certified ได้รับการรับรองจากสากล หรือการได้รู้จักกับแบรนด์อย่าง UPTOYOU ที่เขาให้การสนับสนุนเรื่อง Sustainability มาโดยตลอด ซึ่งมองว่าค่อนข้างมีความหมายและสำคัญมากต่ออนาคตของโลกของเรา

“จริงๆ เรื่อง Sustainability เป็นสิ่งที่ทุกคนพึงกระทำอยู่แล้ว มันเป็นสิ่งที่มีแต่แง่บวก แต่ทีนี้ทุกคนในทุกโพสิชั่นมีหน้าที่แตกต่างกัน บางคนสามารถแตะ Sustainability ในมุมๆ นึงของตัวเองได้เท่านั้น แต่ถ้าทุกคนมารวมกัน มาช่วยกันตามมุมความถนัดหรือความเชี่ยวชาญของตัวเอง มันจะเป็นสิ่งที่ดีมาก ดังนั้น ผมว่าทุกคนสามารถใช้ชีวิตที่ based on Sustainability ได้ไม่มากก็น้อย รวมไปถึงเป้าหมายทางธุรกิจก็สามารถไปทางนั้นได้ แค่เริ่มวันละนิดวันละหน่อย และยิ่งไปกว่านั้นถ้าภาครัฐหรือองค์กรใหญ่ๆ สามารถเชื่อมโยงหรือคอนเน็คให้กับคนอย่างเรามาเจอกับบริษัทใหญ่ๆ มาร่วมมือซึ่งกันและกัน มันก็จะเป็นพลังและขับเคลื่อนไปสู่แนวคิดของคนรุ่นใหม่ไม่ไม่ยาก ซึ่งมันดีกับโลกของเราแน่นอน” คุณแชมป์กล่าว

“ฝนขอเสริมในเรื่องกระบวนการค่ะ เพราะว่าปัจจุบันคำว่า Sustainability น่าจะเป็นสตอรี่ที่หลายๆ คนเข้าใจกันมากขึ้น แต่การได้มาร่วมงานกันแบบนี้มันทำให้เราเห็นมุมมองจากหลายๆ ฝ่ายที่ทำให้ผลิตภัณฑ์มันออกมาเป็นจริง และขายได้จริง เช่น ดีไซน์เนอร์อาจจะมองเรื่องการผลิต Manufacturer อาจจะมาช่วยซัพพอร์ตเรื่องการใช้วัสดุ แบรนด์อาจจะมาช่วยมองเรื่องเชิงคอมเมอเชียล แล้วในที่สุดสิ่งเหล่านี้ก็จะกลับไปที่การกระตุ้นให้ผู้บริโภครู้สึกอยากจะซื้ออยากจะสนับสนุนด้วยการช่วยกันแยกขยะ ไม่ว่าจะเป็น ขวดพลาสติก หรือแผ่นพลาสติกต่างๆ ให้เข้าสู่ระบบและนำกลับมาใช้งานได้ จนทำให้เกิด raw material ที่สามารถเอามาให้กลายเป็นวัสดุได้อีกครั้ง ซึ่งในอนาคตก็จะไม่เกิดปัญหาขยะพลาสติกล้นเพราะมันถูกนำวนกลับมาสร้างมูลค่าเพิ่มอยู่เรื่อยๆ นั่นเอง” คุณฝนกล่าวปิดท้าย

 

มุมมอง UPTOYOU กับการผนึกกำลังสร้างสรรค์โปรดักส์เพื่อความยั่งยืน

ด้านแบรนด์อย่าง UPTOYOU ที่มาร่วมในโครงการนี้ โดย คุณภัทรภร วิรดานนท์ Brand Manager กล่าวว่า สำหรับแบรนด์ UPTOYOU เป็นแบรนด์น้องใหม่ภายใต้เครือ CG เราเป็นแบรนด์ที่มุ่งเน้นเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต้องการจะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน Climate Change ซึ่งมีจุดยืนว่า “โลกจะรอด อยู่ที่คุณจะเลือก” คือการสนับสนุนให้ผู้บริโภคได้ใช้ชีวิตที่สะดวกสบายเหมือนเดิม แต่เลือกสรรสิ่งต่างๆ เพื่ออนาคตของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การนำสิ่งของต่างๆ กลับมาใช้ซ้ำถ้ามันยังไม่พังมาก หรือการคัดแยกขยะเพื่อเข้าสู่ระบบการรีไซเคิลหรืออัปไซเคิลได้ ทุกวันนี้ยังรู้สึกว่าความคิดนี้ยังไม่แข็งแรงพอ เพราะขยะพลาสติกถูกนำกลับมาเข้าสู่ระบบเพื่อมา Upcycling มีเพียงแค่ 500,000 ตันเท่านั้น แต่ยังเหลืออีก 1,500,000 ตันที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ ดังนั้น หากเราช่วยกันทำให้ขยะพวกนี้มากลายเป็นของที่มูลค่า เพิ่ม Value Added ให้มันจะไม่ดีกว่าหรือ

“เราอยากจะสร้างจิตสำนึกของการแยกขยะพลาสติกเพื่อที่จะได้กลับมาใช้ทำประโยชน์ได้ ใครจะรู้ว่ามันสามารถทำเป็นเสื้อ กระเป๋า หมวก และอะไรได้อีกมากมาย ซึ่งเราไปคอลแล็บฯ กับดีไซน์เนอร์ชั้นนำ และอยากจะให้เห็นว่ามันไม่ใช่ของล้าสมัยอีกต่อไป แต่เป็นของที่นอกจากจะใช้งานได้จริงและยังดูเท่ดูสวยได้ด้วย ใครเห็นก็ว้าวอยากจะไปซื้อบ้าง ซึ่งเราก็มีการคอลแล็บกับดีไซน์เนอร์อยู่หลายคนด้วยกัน”

กับการมาร่วมในโครงการนี้และได้คอลแล็บฯ กับดีไซนเนอร์ดังหลายคน คุณภัทรภร กล่าวว่า การทำเรื่อง Climate Change หรือ Net Zero ไม่สามารถทำคนเดียวได้ เราถึงได้รวบรวมพาร์ทเนอร์มาให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างวงกระเพื่อมในสังคมให้ออกไปให้ไกลมากที่สุด ซึ่งไม่จำกัดว่าจะต้องเกิดขึ้นแค่กับแบรนด์ของเราอย่างเดียว แต่ยิ่งมีแบรนด์อื่นๆ เข้ามาร่วมด้วยก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ดี ที่ต้องสร้างเรื่องนี้ให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะเห็นได้ว่าจากโครงการนี้ก็มีหลายฝ่ายที่มาจับมือกันผลิตของน่าใช้ น่ารักน่าซื้อเต็มไปหมด ซึ่งถ้าเรื่องนี้ได้มีการเผยแพร่ออกไปว่าสินค้าพวกนี้ถูกสร้างมากจากขยะพลาสติกที่คุณได้ช่วยกันแยกคัดออกมา ซึ่งดีกว่าที่จะไปอยู่ในท้องน้องเต่าน้องปลา มันจะเป็นเรื่องที่น่ายินดีแค่ไหน สิ่งเหล่านี้ก็จะไปกระตุกจิตสำนึกของทุกคนเองได้ ท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นความร่วมมือตั้งแต้ต้นน้ำยันปลายน้ำ ปัญหาขยะพลาสติกก็จะค่อยลดลง

สำหรับการต่อยอดในโครงการนี้ ก็จะมุ่งในการทำสินค้าเชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยจะเป็นในรูปแบบการพรีออเดอร์เพื่อลดขยะและไม่ทำให้เกิด Waste ที่เปล่าประโยชน์ ปัจจุบันเน้นช่องทางการขายแบบออนไลน์เป็นหลัก ซึ่งสามารถสั่งซื้อได้ที่โซเชียลมีเดียทั้ง Facebook  Instagram  และ LINE My Shop รวมไปถึงเว็บไซต์ uptoyou.live  หรือถ้าใครอยากจะสัมผัสสินค้าจริง ไปดูว่าข้าวของที่ทำจากพลาสติกเนื้อสัมผัสเป็นอย่างไรสวยแค่ไหน ตอนนี้เราก็มีเปิด Pop up store ที่สยามดิสคัฟเวอรี่ถึงวันที่ 25 ธันวาคมนี้ รวมถึงมีจำหน่ายในงาน Wonderfruit Pattaya 15-18 ธันวาคมนี้ และที่งาน “แสนสิริ วินเทอร์ มาร์เก็ต เฟสติวัล” ระหว่างวันที่ 16-18 ธันวาคมนี้ ใครชอบและสนใจก็สามารถไปหาซื้อจับจองกันได้เลย

 

มุมมอง 2 ผู้ผลิต ไทยแทฟฟิต้าทีพีบีไอมั่นใจความร่วมมือจากทุกฝ่ายลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้

ท้ายที่สุดในมุมอีกพาร์ทเนอร์ที่สำคัญและขาดไม่ได้เลยคือในมุมของผู้ผลิตชิ้นงาน ซึ่งสะท้อนภาพให้เห็นถึงความสามารถและศักยภาพของผู้ประกอบการไทยที่นอกเหนือจากจะใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังให้ความสำคัญในเรื่อง Sustainability อย่างมากด้วย รายแรกที่ขอเอ่ยถึงคือ บริษัท ไทยแทฟฟิต้า จำกัด (Thai Taffeta) โดย คุณเชอร์รี่ กฤติกา ชัยวิไล VICE PRESIDENT และยังเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของ ไทยแทฟฟิต้าฯ ด้วย ให้มุมมองการร่วมงานโครงการนี้ว่า สำหรับโปรเจ็คต์ “City day club” เราใช้พลาสติกโพลีเอสเตอร์รีไซเคิล ที่ได้จากการรวบรวมขวด PET ทั่วประเทศ โดยนำมารีไซเคิลแล้วแปรเป็นเส้นใย ทำออกมาเป็น 3 โปรดักส์ ได้แก่ เสื้อเชิ้ต แจ็คเก็ต และกระเป๋า ซึ่งปัจจุบันต้องบอกว่าเทคโนโลยีการแปลงพลาสติกให้เป็นเส้นใยไม่ใช่เรื่องยากอีกแล้วเมืองไทยเรามีค่อนข้างครบ ดังนั้น เราต้องสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภคด้วยว่า ตอนนี้ขวดพลาสติกไม่ใช่ขยะแล้ว แต่มันสามารถกลับมาเป็นสิ่งของที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ โดยเฉพาะในเรื่องของงานดีไซน์ที่เราเก่งไม่แพ้ใครในโลกเลย

 

 

“อย่างแรกต้องขอบคุณ GC ที่ทำให้ทั้งดีไซน์เนอร์ แบรนด์ และผู้ผลิตได้มาเจอกัน โดยส่วนตัวก็ประทับใจแบรนด์อยู่แล้ว ในมุมของการดีไซน์ด้วยเทคนิคเลเซอร์คัตคืองานสวยมากเทียบระดับโลกได้เลย ดังนั้น งานวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากๆ ที่ได้เห็นทุกฝ่ายร่วมมือกัน ทำให้แบรนด์ ดีไซน์เนอร์ และผู้ผลิต ได้มาเจอกัน และทำให้รู้ว่าจริงๆ แล้ว ยังมีอะไรอีกมากมายที่เราทำร่วมกันได้ ดังนั้น อยากให้อีเวนต์ลักษณะนี้มีอีกเยอะๆ เลย”

ขณะที่ทางฝั่ง บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) เจ้าของ “โครงการวน” โดย คุณศักดิ์สิทธิ์ บริสุทธิ์ธนากุล Chief Marketing Officer TPBI Public Company Limited กล่าวว่า เราได้รับโจทย์ให้มาร่วมงานกับแบรนด์แฟชั่นระดับโลกรายหนึ่งร่วมกับทีมนักออกแบบของแบรนด์ VINN PATARARIN ซึ่งความยากคือเรื่องของเวลาเท่านั้น แต่ในแง่การผลิตต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องยาก ด้วยโครงการวนที่เรามี ทำให้เรามีวัตถุดิบจะใช้ในการแปรรูปของมาเป็นแผ่นฟิล์มพลาสติกรูปแบบต่างๆ เพื่อนำไปดัดแปลเป็นผลิตภัณฑ์ได้มากมาย ซึ่งสามารถผลิตได้ตามความต้องการของดีไซน์เนอร์ได้เลยไม่ว่าจะอยากได้หนาเท่าไหร่หรือไซส์ไหนก็ตาม แต่สิ่งสำคัญเลยคือการที่เราจะแนะนำหรือให้ความรู้แก่ผู้บริโภคอย่างไรว่า ก่อนทิ้งขยะไม่ควรเทรวมแต่ให้แยกประเภทมาก่อน ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการนำเข้าสู่ระบบเพื่อไปทำการ Upcycling ต่อ ซึ่งเรื่องนี้เป็นความท้าทายมากกว่าที่จะกระตุ้นจิตสำนึกของผู้คนได้

 

 

ทุกวันนี้ต้องบอกว่า ขยะพลาสติกในประเทศไทย ถูกรีไซเคิลยังไม่ถึง 10% เลย แปลว่าถ้าเราทำโครงการเหล่านี้มากขึ้น โดยร่วมกับแบรนด์ ดีไซน์เนอร์ และผู้ผลิตเจ้าอื่นๆ มาทำร่วมกัน ก็น่าจะเพิ่มโอกาสในการลดปริมาณขยะพลาสติกจาก 10% เป็น 20-30% ได้ ซึ่งไม่ใช่แค่จะช่วยลดขยะตามที่ต่างๆ แต่อาจจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ด้วย”

นับเป็นเรื่องราวดีๆ ที่เกิดจากการร่วมไม้ร่วมมือของหลายฝ่ายร่วมกัน ซึ่งคาดหวังว่าจะสามารถนำไปสู่การต่อยอดการใช้วัตถุดิบ และนำไป Upcycling อย่างสร้างสรรค์ พร้อมเกิดความตระหนักรู้ในเรื่องการจัดการขยะและลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้แก่ประชาชนทั่วไปและคนรุ่นใหม่ และที่สำคัญคือ สร้างความหลากหลายทางธุรกิจและเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงในเชิงเศรษฐกิจด้วย


  • 1.6K
  •  
  •  
  •  
  •