12 เรื่องน่ารู้ “e-Conomy SEA Report 2022” เศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ – “ตลาดอีคอมเมิร์ซไทย” ใหญ่อันดับ 2 ของภูมิภาค

  • 234
  •  
  •  
  •  
  •  

Google e-Conomy SEA Report 2022

Google, Temasek และ Bain & Company ได้เปิดรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฉบับที่ 7 (e-Conomy SEA Report 2022) ระบุว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ฝ่าคลื่นความเปลี่ยนแปลง สู่ท้องทะเลแห่งโอกาส และเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคนี้จะมีมูลค่าสินค้ารวม (Gross Merchandise Volume: GMV) สูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ในรายงานฉบับแรกในปี 2016 ถึง 3 ปี หรือเติบโตขึ้นถึง 20% จากปีที่ผ่านมา

ทั้งยังคาดการณ์ว่าภายในปี 2025 เศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีมูลค่า GMV เพิ่มขึ้นทะลุ 3.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดปี 2030 จะอยู่ที่ 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ – 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามมาดู 12 เรื่องน่ารู้ในรายงาน e-Conomy SEA Report 2022 ว่ามีข้อมูลอะไรน่าสนใจกันบ้าง ?!?

Google e-Conomy SEA Report 2022

1. แม้เจอความท้าทายเศรษฐกิจโลก แต่ “เศรษฐกิจดิจิทัล” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเติบโต

ในช่วงสองปีที่ผ่านมาเจอ COVID-19 เร่งให้ “เศรษฐกิจดิจิทัล” (Digital Economy) เติบโตเร็ว และถึงแม้เวลานี้สถานการณ์การแพร่ระบาดจะคลี่คลายลงแล้ว แต่ทั่วโลกยังเผชิญกับความท้าทายหลายด้านจากเศรษฐกิจโลก ทั้งปัญหาด้านซัพพลายเชน, การขาดแคลนสินค้า, สินค้าราคาปรับตัวสูงขึ้น, รายได้ลดลง, นโยบาย Zero-COVID ของประเทศจีน และความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์

อย่างไรก็ตามท่ามกลางปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ยังมี counterbalance ที่ยังเป็นแสงสว่างแห่งโอกาสของภูมิภาคนี้อยู่ ไม่ว่าจะเป็น

– อัตราการได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 ของประชากรในแต่ละประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือว่าอยู่เกณฑ์สูง

– ปี 2022 คนเริ่มออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านตามปกติแล้ว ทั้งไปเรียน, ไปทำงานที่ออฟฟิศ, ร้านอาหาร, โรงภาพยนตร์ ฯลฯ เหมือนก่อนเกิดการแพร่ระบาด

– GDP และอัตราเงินเฟ้อ เมื่อเทียบ GDP ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก พบว่าอยู่ในทิศทางลดลงเช่นกัน แต่ของภูมิภาคนี้ ปรับลดลงไม่รุนแรงเท่ากับยุโรป และสหรัฐฯ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าอินเดีย, ยุโรป และสหรัฐฯ

เพราะฉะนั้นท่ามกลางปัจจัยลบ ยังคงมีปัจจัยบวกที่ช่วยกระตุ้น “เศรษฐกิจดิจิทัล” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

Google e-Conomy SEA Report 2022

 

2. ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านคนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

อีกปัจจัยหนึ่งที่ขับเคลื่อนให้ Digital Economy ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตได้ถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2022 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต (Internet Users) กว่า 100 ล้านคนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันมีจำนวน 460 ล้านคน หรือคิดเป็น 77% ของประชากรในภูมิภาคนี้กว่า 600 ล้านคน

– ปี 2019: ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตใน SEA อยู่ที่ 360 ล้านคน

– ปี 2020: ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตใน SEA อยู่ที่ 400 ล้านคน

– ปี 2021: ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตใน SEA อยู่ที่ 440 ล้านคน

– ปี 2022: ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตใน SEA อยู่ที่ 460 ล้านคน หรือคิดเป็น 77% ของประชากรในภูมิภาคนี้

เมื่อจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้น ย่อมทำให้ในปี 2022 บริการดิจิทัลมี New User เข้ามาใช้บริการเป็นครั้งแรกเพิ่มขึ้นตามมาเช่นกัน

– อีคอมเมิร์ซ (E-commerce) มีฐานผู้ใช้ใหม่เพิ่มขึ้น 19%

– ส่งอาหารออนไลน์ (Food Delivery) มีฐานผู้ใช้ใหม่เพิ่มขึ้น 10%

– ขนส่งออนไลน์ (Transport) มีผู้ใช้ใหม่เพิ่มขึ้น 7%

– ซื้อของสดออนไลน์ (Online Groceries) มีผู้ใช้ใหม่เพิ่มขึ้น 3%

– การท่องเที่ยวออนไลน์ (Travel) มีผู้ใช้ใหม่เพิ่มขึ้น 4%

– วิดีโอออนดีมานด์ (Video-on-demand) มีผู้ใช้ใหม่เพิ่มขึ้น 3%

Google e-Conomy SEA Report 2022

 

3. ผู้บริโภคกลุ่ม “Affluent – Young Digital Native – Metro Mainstream” ใช้บริการดิจิทัลมากสุด ผู้บริโภคนอกเมือง ช้อปผ่าน E-commerce สร้างความสะดวก

การจัดทำรายงาน e-Conomy SEA 2022 ในปีนี้เป็นครั้งแรกที่แบ่งเซ็กเมนต์ผู้บริโภค ออกเป็น 5 เซ็กเมนต์คือ

– Affluent users

– Young digital natives

– Metro Mainstream

– On a budget users

– Suburban users

เพื่อสำรวจว่าใน 8 บริการดิจิทัล ประกอบด้วย อีคอมเมิร์ซ (E-commerce), ซื้อของสดออนไลน์ (Online Groceries), บริการส่งอาหารออนไลน์ (Food Delivery), ขนส่งออนไลน์ (Transport), การท่องเที่ยวออนไลน์ (Travel), เพลงออนดีมานด์ (Music-on-demand), วิดีโอออนดีมานด์ (Video-on-demand), เกมออนไลน์ (Gaming) ผู้บริโภคเซ็กเมนต์ไหนมีการใช้งานมากน้อยอย่างไร พบว่า

– โดยภาพรวม ผู้บริโภคเซ็กเมนต์หลักที่มีการใช้บริการดิจิทัลมากสุดคือ กลุ่ม Affluent users และ Young digital natives

– อีคอมเมิร์ซ เป็นบริการดิจิทัลที่ผู้บริโภคทั้ง 5 เซ็กเมนต์ใช้บริการมากสุด โดยเฉพาะในกลุ่ม Affluent users (98%), Young digital natives (92%), Metro Mainstream (92%), On a budget users (94%) ส่วนกลุ่ม Suburban users หรือผู้บริโภคนอกเมือง มีการใช้จ่ายผ่านอีคอมเมิร์ซเช่นกัน (74%) เนื่องจากเป็นช่องทางที่ทำให้เข้าถึงสินค้าได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น หลากหลายขึ้น และสามารถเปรียบเทียบราคาได้

– ทิศทางต่อไปของบริการดิจิทัล 5 หมวดหมู่คือ อีคอมเมิร์ซ, ซื้อของสดออนไลน์, บริการส่งอาหารออนไลน์, ขนส่งออนไลน์ และการท่องเที่ยวออนไลน์ หากจะทำตลาดผู้ใช้งานกลุ่ม Affluent users, Young digital natives, Metro Mainstream และ On a budget users ต้องโฟกัสที่การกระตุ้นให้ผู้บริโภคใช้งานบ่อยขึ้น มากขึ้น และสร้างรายได้มากขึ้น

– ขณะที่ทิศทางของบริการดิจิทัล 3 หมวดคือ เพลงออนดีมานด์, วิดีโอออนดีมานด์ และเกม หากจะทำตลาดผู้ใช้งานกลุ่ม Affluent users, Young digital natives, Metro Mainstream และ On a budget users ต้องโฟกัสการชวนคนที่ไม่เคยใช้ ให้มาทดลองใช้ และสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เช่น ทำโมเดลโฆษณา, ด้านราคา เพื่อดึงดูดให้คนมาใช้งาน และสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ

– นอกจากนี้โอกาสทางธุรกิจของบริการดิจิทัล ทั้งอีคอมเมิร์ซ, ซื้อของสดออนไลน์, บริการส่งอาหารออนไลน์, ขนส่งออนไลน์, การท่องเที่ยวออนไลน์, เพลงออนดีมานด์, วิดีโอออนดีมานด์, เกมออนไลน์ ยังมีช่องว่างอีกมากในการขยายฐานผู้ใช้ไปยังกลุ่ม Suburban users เนื่องจากยังมีอัตราการใช้บริการน้อย

Google e-Conomy SEA Report 2022

 

4. เศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2022 มูลค่าสินค้ารวม (GMV) สูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โต 20%

นอกจากนี้ e-Conomy SEA Report 2022 ยังได้คาดการณ์ว่าในปี 2025 เศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีมูลค่าสินค้ารวม (GMV) เพิ่มขึ้นเป็น 3.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และภายในปี 2030 ทะลุหลัก 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ – 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ!

Google e-Conomy SEA Report 2022

Google e-Conomy SEA Report 2022

 

เจาะลึก “เศรษฐกิจดิจิทัลไทย” คาดทะลุ 1.65 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2030

5. เศรษฐกิจดิจิทัลไทยมูลค่า 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 เติบโต 17%

e-Conomy SEA Report 2022 ยังคาดการณ์ว่าในปี 2025 เศรษฐกิจดิจิทัลไทยจะมีมูลค่าสินค้ารวมเพิ่มขึ้นเป็น 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี และในปี 2030 คาดว่าจะเติบโตขึ้นเป็น 2 เท่า มีมูลค่าประมาณ 1 แสน – 1.65 แสนดอลลาร์สหรัฐ โดยมีอีคอมเมิร์ซ, บริการส่งอาหารออนไลน์ และการซื้อของสดออนไลน์ เป็บริการดิจิทัล 3 อันดับแรกที่มีการใช้บริการสูงสุในกลุ่มคนไทยที่อยู่ในเขตเมือง

Google e-Conomy SEA Report 2022

 

6. อีคอมเมิร์ซของไทย อันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อีคอมเมิร์ซ เป็นแรงผลักดันที่สำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย คิดเป็น 63% ของมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลโดยรวมในปี 2022 โดยตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย ในขณะที่อัตราการใช้บริการอีคอมเมิร์ซของไทยอยู่ที่ 94% ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคฯ รองจากสิงคโปร์

– ภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้น 8% จากปีก่อน โดยมีมูลค่าสินค้ารวมสูงถึง 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 และคาดว่าจะแตะ 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025

23% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยตั้งใจจะใช้บริการอีคอมเมิร์ซมากยิ่งขึ้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้า

Online Shopping

 

7. การขนส่ง และบริการส่งอาหารออนไลน์ โดยรวมคาดจะว่ามีมูลค่าสินค้ารวมแตะ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 เพิ่มขึ้น 12% จากปี 2021

– คาดว่าจะเติบโตขึ้นถึง 20% หรือแตะ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025

– ตลาดบริการส่งอาหารออนไลน์กลับสู่แนวโน้มการเติบโตในทิศทางเดิมหลังจากที่มีการเติบโตถึง 3 เท่าในช่วง COVID-19 โดยคาดว่าจะเติบโต 11% มีมูลค่าสินค้ารวมอยู่ที่ 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 และคาดว่าจะแตะถึง 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025 ซึ่งจะทำให้ตลาดบริการส่งอาหารออนไลน์ของไทยใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย

– ภาคการขนส่งคาดว่าจะฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง และคาดการณ์ว่าจะเติบโตถึง 36% มีมูลค่าสินค้ารวมอยู่ที่ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 และพุ่งขึ้นสู่ระดับ 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025

Food Delivery

 

8. สื่อออนไลน์ (บริการวิดีโอออนดีมานด์ – เพลงออนดีมานด์ – เกม) มีการเติบโตชะลอตัวลงจากปีที่ผ่านมาที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19

โดยในปี 2022 มีการเติบโต 10% และมูลค่าสินค้ารวมอยู่ที่ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

– การเติบโตของเพลงออนดีมานด์ และวิดีโอออนดีมานด์ เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

– โฆษณาออนไลน์ยังคงรักษาการเติบโตไว้ได้คงเดิม

– เกมออนไลน์พบว่าการใช้บริการลดลง เนื่องจากผู้คนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติแล้ว

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าภาคธุรกิจสื่อออนไลน์จะเติบโต 12% หรือคิดเป็นมูลค่า 7  พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025

Video-on-demand

 

9. การท่องเที่ยวออนไลน์ คาดจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งจากการที่ผู้คนออกเดินทางท่องเที่ยว หรือออกไปทำกิจกรรมต่างๆ นอกบ้านกันมากขึ้น

– มีการเติบโต 139% จากปี 2021 คิดเป็นมูลค่าสินค้ารวม 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022

– คาดจะมีอัตราการเติบโตที่ 22% หรือมีมูลค่าสินค้ารวมที่ 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025

– การค้นหาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในไทยแตะระดับเดียวกับช่วงก่อน COVID-19 แสดงให้เห็นถึงความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่ถูกอั้นไว้

ทั้งนี้ คาดว่าภาคการท่องเที่ยวจะค่อยๆ ฟื้นตัว และใช้เวลาอีกหลายปีในการฟื้นตัวสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด-19 ในปี 2019 เนื่องจากมีความท้าทายหลายประการ เช่น ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น การขาดแคลนของอุปทาน และมาตรการจำกัดการเดินทางของประเทศจีนที่ยังคงดำเนินต่อไป เป็นต้น ในขณะเดียวกันผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากราคาที่พุ่งสูงขึ้น

Google e-Conomy SEA Report 2022

 

10. บริการด้านการเงินดิจิทัล (Digital Financial Services: DFS) ได้แก่ การชำระเงิน การโอนเงินต่างประเทศ การกู้ยืม การลงทุน และประกัน เติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักในปี 2022

เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้นหลังจากที่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19

– การเติบโตของบริการด้านการเงินดิจิทัลจากนี้ไปจนถึงปี 2025 จะถูกขับเคลื่อนโดยการกู้ยืม (Online Lending) และการลงทุน (Investment) ซึ่งมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (Compounded Annual Growth Rate: CAGR) ประมาณ 40% และ 45% ตามลำดับ

– บริการธนาคารดิจิทัล (Digibank) ได้รับความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ในขณะที่กลุ่มผู้บริโภคที่มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวย ยังคงมีความภักดีต่อผู้ให้บริการด้านการเงินที่จัดตั้งขึ้นมาอย่างยาวนาน พิจารณาจากยอดเงินฝากในปัจจุบันและการลงทุนในหลายด้าน

Google e-Conomy SEA Report 2022

 

11. การลงทุนด้านเทคโนโลยี มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

– มูลค่าการซื้อขายตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกของปี 2021 จนถึงครึ่งแรกของปี 2022 เพิ่มขึ้น 15% การระดมทุนในภาคเทคโนโลยียังคงแข็งแกร่ง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเป็นแหล่งรวมการลงทุนด้านเทคโนโลยี ถึงแม้ว่านักลงทุนจะระมัดระวังมากขึ้นในสภาวะเศรษฐกิจมหภาคในปัจจุบัน

– การลงทุนในบริการด้านการเงินดิจิทัล (Digital Financial Services: DFS) มีสัดส่วนการลงทุนสูงที่สุดในประเทศไทย โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 โดยแซงหน้าอีคอมเมิร์ซขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของการลงทุนทั้งหมดในไทย เช่นเดียวกับทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

– มูลค่าการซื้อขายเพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนระดับ Series-C จำนวนมากในภาคธุรกิจบริการด้านการเงินดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซ

Google e-Conomy SEA Report 2022

Google e-Conomy SEA Report 2022

 

12. ไทยควรเร่งพัฒนา Digital Skill

ในมุมมอง Google มองว่าการเติบโตจากภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย ทำให้มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย แต่ทั้งนี้พบว่าปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนแรงงานทักษะดิจิทัล ดังนั้นเพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจดิจิทัลให้เติบโตยิ่งขึ้น ไทยควรให้ความสำคัญกับการสร้าง Talent และพัฒนา Digital Skill มากขึ้น

Google ประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นในการช่วยวางรากฐาน เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งการสนับสนุนเงินลงทุน เพื่อเปิดโอกาสในการเข้ารับการฝึกอบรมทักษะดิจิทัลแก่คนไทยทั่วประเทศในโครงการ Samart Skills ที่ได้เปิดตัวไปเมื่อเร็วๆ นี้” คุณแจ็คกี้ หวาง Country Director, Google ประเทศไทย กล่าวทิ้งท้าย

Jackie Wang, Country Director, Google Thailand
คุณแจ็คกี้ หวาง Country Director, Google ประเทศไทย

  • 234
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ