ในเวลานี้คำกล่าวที่ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยกำลังมีแนวโน้มเติบโตที่สดใสอาจไม่ใช่เรื่องเกินจริง โดยเฉพาะล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา AWS (Amazon Web Services) ผู้ให้บริการระบบ Cloud ยักษ์ใหญ่ระดับโลกได้ประกาศเข้ามาลงทุนมูลค่าถึง 1.9 แสนล้านบาท ตั้งโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์โดยเปิดเป็น AWS Regions ใหม่ที่มีชื่อว่า AWS Asia Pacific (Bangkok) ขึ้นโดยจะมีจุดให้บริการหรือ (Availability Zone: AZ) 3 จุดด้วยกันซึ่งจะพร้อมเปิดบริการภายในปีนี้ โดย AWS ตั้งเป้าที่จะเปิด AWS Regions เพิ่มขึ้นเป็น 111 โซน ใน 35 เขตทางภูมิศาสตร์ทั่วโลกในเร็วๆนี้
เรียกได้ว่าเป็นข่าวดีสำหรับประเทศไทยที่เงินลงทุนมูลค่ามหาศาลจะหลั่งไหลเข้าประเทศ ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างตำแหน่งงานจำนวนมากแล้วการมีโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นบริการระบบ Cloud ระดับโลกยังช่วยให้เศรษฐกิจเดินหน้าเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลได้รวดเร็วขึ้นด้วย แต่ส่งหนึ่งที่หลายคนอาจยังไม่รู้ก็คือ AWS คืออะไร? และการเปิด AWS Regions ในประเทศไทยนั้นจะมีประโยชน์อย่างไร?
รู้จัก Amazon Web Services
Amazon Web Services เป็นบริการของ Amazon บริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ที่นำเอาระบบ Cloud และบริการอันซับซ้อนที่พัฒนาขึ้นสำหรับใช้ในบริษัทของตัวเองนำออกมาขายเป็นบริการและโซลูชั่นให้กับองค์กรและบริษัทต่างๆทั่วโลก
Amazon Web Service (AWS) คือบริการ Cloud Computing Service หรือบริการประมวลผลบนระบบคลาวด์ อธิบายง่ายๆก็คือบริการ “ให้เช่า” เครื่องมือต่างๆที่ทำงานผ่านระบบคลาวด์ โดยบริการมากกว่า 200 บริการ เช่น การสำรองข้อมูล, การกู้คืนข้อมูลหลังภัยพิบัติ, อีเมล, เดสก์ท็อปแบบเสมือน, การพัฒนาและการทดสอบซอฟต์แวร์, การวิเคราะห์ Big Data, เกม, การปรับใช้เว็บไซต์สำหรับลูกค้าเรื่อยจนถึงบริการระบบบล็อกเชน ไม่เว้นแม้แต่ Machine Learning ก็มีให้บริการด้วย
สำหรับกลุ่มเป้าหมายของ AWS คือ องค์กรทุกประเภททุกขนาดที่อยากยกระดับการทำงานไปสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น มีความปลอดภัยและประหยัดค่าใช้จ่าย ยกตัวอย่างเช่น บริษัทด้านการดูแลสุขภาพใช้ระบบคลาวด์เพื่อพัฒนาการรักษาที่ปรับแต่งสำหรับผู้ป่วย บริษัทบริการทางการเงินใช้ระบบคลาวด์เพื่อขับเคลื่อนการตรวจจับและการป้องกันการฉ้อโกงแบบเรียลไทม์ และผู้ผลิตวิดีโอเกมใช้ระบบคลาวด์เพื่อส่งเกมออนไลน์ไปยังผู้เล่นทั่วโลกนับล้านคน
ข้อดีของ Amazon Web Service?
ข้อดีที่ AWS ยกให้เป็นเรื่องสำคัญที่สุดก็คือ “ความคล่องตัว” และเข้าถึงเทคโนโลยีที่หลากหลายและสามารถหมุนเวียนทรัพยากรได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากองค์กรหรือบริษัทต่างๆสามารถเข้ามาใช้บริการได้เพียงแค่มีอินเตอร์เน็ตเท่านั้นเพราะข้อมูลและซอฟท์แวร์ต่างๆถูกจัดเก็บไว้ด้วยระบบคลาวด์ทั้งหมด และไม่เท่านั้นระบบ AWS ยังสามารถปรับแต่งใช้เฉพาะบางส่วนของบริการตามที่ต้องการ และยังสามารถเชื่อมต่อบริการต่างๆเข้าด้วยกันรวมถึงเชื่อมต่อกับโครงสร้างพื้นฐานขององค์กรที่มีอยู่ก็ทำได้ด้วย
นอกจากนี้การใช้ AWS ยังมีความยืดหยุ่นเนื่องจากเป็นบริการแบบ “จ่ายเท่าที่ใช้” โดยนอกจากจะสามารถเลือกใช้เฉพาะบางส่วนของบริการได้แล้ว ยังสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายที่เป็น Fix Cost จากเดิมที่อาจต้องเสียไปกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและระบบต่างๆได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่นองค์กรที่ทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ หากมาใช้ระบบคลาวด์ก็จะมีค่าใช้จ่ายเพียงแค่ 40 ชั่วโมงเท่านั้น เรียกว่าจ่ายค่าบริการตามจำนวนชั่วโมงที่ใช้ตามจริง
นอกจากนี้ระบบ AWS ยังมั่นใจได้ในเรื่องความปลอดภัยเนื่องจากผ่านการรับรองมาตรฐานตามกฎหมาย ข้อบังคับ จำนวนมากทั้งในระดับสากล ระดับภูมิภาคยุโรป ระดับประเทศไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานสหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, สหราชอาณาจักร, สเปน สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น
รู้จัก AWS มากขึ้นผ่านกรณี Coca-Cola
ตัวอย่างการใช้บริการ AWS ที่พอจะทำให้เห็นภาพบริการของ AWS ได้มากขึ้นก็คือกรณีของ Coca-Cola บริษัทน้ำอัดลมยักษ์ใหญ่ที่หันมาใช้บริการ AWS ในปี 2013 หลังจากใช้ Data Center ของตัวเองมาเป็นเวลา นานถึง 20 ปี การตัดสินใจของ Coca-Cola มีขึ้นหลังจากเกิดเหตุโฆษณา Super Bowl ที่ปล่อยออกไปในเวลานั้นทำให้มีผู้เข้าสู่เว็บไซต์จำนวนมากจนเซิร์ฟเวอร์ที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับได้ เหตุการณ์ดังกล่าวจึงทำให้ Coca-Cola ตัดสินใจย้ายข้อมูลเข้าสู่ระบบคลาวด์ของ AWS ทั้งหมด
การตัดสินใจครั้งนั้นได้ผลและทำให้ Coca-Cola สามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไปได้ถึง 40% และลดปริมาณการแจ้งปัญหาจากผู้ใช้งานได้ถึง 80% ความสำเร็จดังกล่าวส่งผลให้บริษัทลูกและผู้จัดจำหน่ายของ Coca-Cola ทั่วโลกยกระดับการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัลมากยิ่งขึ้นในเวลาต่อมา ก่อนที่ Coca-Cola จะใช้เทคโลยีของ AWS พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้บริการลูกค้าอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่อยู่บนระบบ AWS พัฒนาระบบเครื่องกดเครื่องดื่มผ่านสมาร์ทโฟนที่ใช้เวลาพัฒนาระบบใน AWS ในเวลาไม่ถึง 150 วัน รวมไปถึงบริการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้าเพื่อนำไปใช้ในการทำการตลาดและพัฒนาสินค้าต่อไปด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ Coca-Cola ทำได้โดยไม่ต้องลงทุนทำ Data Center ของตัวเอง
AWS Regions ที่มาเปิดในไทยคืออะไร?
AWS Regions คือภูมิภาคที่ให้บริการที่ AWS จะไปลงทุนสร้างในพื้นที่เพื่อให้ผู้ใช้งานในภูมิภาคหรือ Regions นั้นๆสามารถใช้งานได้รวดเร็วยิ่งขึ้นในราคาที่เหมาะสมมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการรองรับการเติบโตขององค์กรและบริษัทของลูกค้าที่อาจขยายตัวไปสู่ระดับนานาชาติด้วย โดยปัจจุบัน AWS มีระบบคลาวด์ครอบคลุมพร้อมใช้งาน 87 Regions ใน 27 เขตทางภูมิศาสตร์ทั่วโลก โดยนอกจากไทยแล้ว AWS ยังเตรียมเปิด AWS Region ในอีก 7 ประเทศด้วยนั่นก็คือออสเตรเลีย แคนาดา อินเดีย อิสราเอล นิวซีแลนด์ สเปน และสวิตเซอร์แลนด์ด้วย โดย AWS ตั้งเป้าที่จะเปิดใช้งานให้ครอบคลุม 111 Regions ใน 35 เขตทางภูมิศาสตร์ทั่วโลกในเร็วๆนี้
Availability Zone (AZ)
นอกจากนี้ในแต่ละ Region จะมี Availability Zone (AZ) ที่เปิดให้บริการหลายแห่งได้ เช่นในประเทศไทย AWS วางแผนเปิด AZ 3 แห่งด้วยกันที่จะเป็นศูนย์ข้อมูลระบบคลาวด์ที่แยกเป็นเอกเทศต่อกัน เป็นบริการสำหรับลูกค้าในการใช้ระบบคลาวด์หลายๆ AZ ซึ่งมีประโยชน์ในกรณีที่เกิดความผิดพลาดกับ AZ ใดก็จะไม่ส่งผลกระทบกับฐานข้อมูลโดยรวม ยกตัวอย่างเช่นบริษัทใหญ่ๆหลายแห่งมีแนวทางการวางแผนกู้คืนระบบหรือ DRP โดยหนึ่งนั้นก็คือการใช้ AZ หลายๆแห่งเพื่อเพิ่มความมั่นคงของข้อมูลและระบบเบื้องหลังด้วยนั่นเอง
การประกาศลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของ AWS ในไทยครั้งนี้มีขึ้นหลังจาก Google Cloud ก็ประกาศตั้งโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นผู้ให้บริการคลาวด์ 2 ใน 3 บริษัทชั้นนำระดับโลกที่เข้ามาลงทุนในบ้านเราเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นั่นแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางเทคโนโลยีในภูมิภาค รวมไปถึงเป็นโอกาสให้ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจได้เข้าถึงบริการคลาวด์ที่มีมาตรฐานระดับโลกในราคาที่เหมาะสม และในขณะเดียวกันก็ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในไทยให้เดินหน้าไปได้เร็วยิ่งขึ้นด้วย