ถ้ามองประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มาแรงเวลานี้ ต้องยกให้กับ “เวียดนาม” สะท้อนได้จากปัจจุบันเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ ในระดับโลก และเศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว
เมื่อความเป็นเมือง และเศรษฐกิจขยายตัว สิ่งที่ตามมาคือ การพัฒนาของภาคธุรกิจต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ การเติบโตของ “ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่” ทั้งจากเชนค้าปลีกเดิมของเวียดนาม และกลุ่มทุนจากต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น, เกาหลี รวมทั้งกลุ่มทุนใหญ่จากไทย เข้ามาปักหมุดลงทุน ทำไมเวียดนามจึงเป็นหมุดหมายการลงทุนธุรกิจค้าปลีก ไปหาคำตอบกัน ?!?
วิเคราะห์ 4 เหตุผลทำไมกลุ่มทุนใหญ่ต่างชาติ รุกลงทุนธุรกิจค้าปลีกในเวียดนาม
1. เศรษฐกิจเวียดนามร้อนแรง! และสามารถฟื้นตัวจาก COVID-19 ได้เร็ว
– GDP ไตรมาส 3 ที่ผ่านมา เติบโตถึง 13.67% และรัฐบาลเวียดนามคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโดยรวมในปี 2022 จะโต 8% จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 6.5%
– ในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจในเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค รัฐบาลเวียดนามดำเนินนโยบายการเงินยืดหยุ่นและรอบคอบ พร้อมทั้งมองว่าเงินเฟ้อในปี 2023 ของประเทศจะอยู่ที่ 4.5%
2. เวียดนามสามารถดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI)
เป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ “Đổi Mới” ตั้งแต่ปี 1986 ใช้ระบบเศรษฐกิจตามกลไกตลาด ลดการผูกขาดทางการค้า กระจายอำนาจ และให้เสรีการค้า-การลงทุนให้กับภาคเอกชน ประกอบกับการเดินหน้าทำข้อตกลงการค้าการลงทุนในเวทีระดับโลก ทำให้ประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่หลายประเทศ สนใจเข้ามาลงทุนในเวียดนามมากขึ้น
ข้อมูลจากกระทรวงการวางแผนและการลงทุนของเวียดนาม ฉายภาพว่าปัจจุบันเวียดนามมีบริษัทต่างประเทศเข้ามาลงทุนในเวียดนาม 84 ประเทศ และในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2022 มียอด FDI กว่า 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน 18 อุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมการผลิตเป็นสัดส่วนใหญ่สุด ตามมาด้วยภาคอสังหาริมทรัพย์, อุตสาหกรรมสารสนเทศและการสื่อสาร, ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี รวมถึงค้าปลีก, ค้าส่ง โดยประเทศหลักที่ลงทุนในเวียดนามมากสุด เช่น สิงคโปร์, เกาหลีใต้, จีน, ญี่ปุ่น
3. กว่า 70% ของประชากรอยู่ในวัยทำงาน
เวียดนามเป็นหนึ่งในตลาดแรงงานใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีประชากรวัยทำงานสัดส่วนกว่า 70% ของประชากรโดยรวม 97.3 ล้านคน
ประเทศที่มีประชากรวัยทำงานจำนวนมาก ย่อมส่งผลบวกต่อตลาดงาน และการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีการบริโภคและใช้จ่ายสูง นี่จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ต่างชาติเข้ามาลงทุนในเวียดนาม
4. ความเป็นเมือง (Urbanization) และกลุ่มชนชั้นกลาง (Middle Class) เติบโตอย่างรวดเร็ว
World Data Lab คาดการณ์ว่าในปี 2030 เวียดนามจะมี “กลุ่มชนชั้นกลาง” (Middle Class) เพิ่มขึ้นอีก 23.2 ล้านคน อยู่อันดับ 7 จาก 9 ประเทศทั่วโลกที่มีประชากรกลุ่มชนชั้นกลางเติบโตเร็วที่สุด (นิยามของกลุ่มชนชั้นกลางคือ มีการใช้จ่ายตั้งแต่ 11 ดอลลาร์สหรัฐ – 110 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อวัน)
เมื่อถึงเวลานั้นจะทำให้ในเวียดนามมีผู้บริโภคกลุ่มชนชั้นกลางรวม 56 ล้านคน ขยับจากอันดับ 26 ในปัจจุบัน ขึ้นมาอยู่อันดับ 18 ของ 30 ประเทศที่มีประชากรชนชั้นกลางมากที่สุด
ขณะที่ประเทศที่ประชากรกลุ่มชนชั้นกลางเติบโตเร็วที่สุดในโลกคือ อินโดนีเซีย คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 75.8 ล้านคนภายในปี 2030 ตามมาด้วยปากีสถาน เพิ่มขึ้น 59.5 ล้านคน, บังคลาเทศ เพิ่ม 52.4 ล้านคน, ฟิลิปปินส์ เพิ่ม 37.5 ล้านคน, อียิปต์ เพิ่ม 29.6 ล้านคน, สหรัฐอเมริกา 24.2 ล้านคน, เวียดนาม เพิ่ม 23.2 ล้านคน, บราซิล 20.6 ล้านคน และเม็กซิโก 20.1 ล้านคน
ผู้บริโภคชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นในเวียดนาม เป็นโอกาสของภาคธุรกิจต่างๆ รวมทั้งค้าปลีก ในการขยายตลาดและฐานลูกค้า เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้มากขึ้น
สำรวจตลาดค้าปลีกเวียดนาม “ร้านดั้งเดิม” ยังมีบทบาท คู่กับการขยายตัวของ “ค้าปลีกสมัยใหม่ – อีคอมเมิร์ซ”
เมื่อสำรวจโครงสร้างตลาดค้าปลีกในเวียดนาม พบว่าส่วนใหญ่ยังคงเป็น “Traditional Trade” หรือร้านค้าปลีกดั้งเดิมมีบทบาทต่อวิถีชีวิตประจำวันของชาวเวียดนาม ขณะเดียวกัน “Modern Trade” หรือค้าปลีกสมัยใหม่เริ่มขยายตัวมากขึ้นตามเมืองหลักของประเทศ
และที่น่าจับตามองคือ ขณะนี้พัฒนาการค้าปลีกเวียดนาม ขยายตัวทั้งค้าปลีกสมัยใหม่แบบ Brick-and-mortar หรือ Physical Store คู่ไปกับ e-Commerce และ Omnichannel (ผสาน Offline – Online เข้าด้วยกัน) โดยมีปัจจัยหลักมาจากเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตเร็ว ประกอบกับมีปัจจัยเร่งจาก COVID-19 กระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์
ในรายงานค้าปลีกเวียดนามของ Deloitte ฉายภาพเซ็กเมนต์ค้าปลีกหลักในเวียดนาม ดังนี้
– ร้านค้าปลีกดั้งเดิมกว่า 600,000 ร้านค้า
ท่ามกลางการขยายตัวของ “Modern Trade” ทั่วเวียดนาม แต่ร้านค้าของชำแบบดั้งเดิมยังคงมีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของคนเวียดนาม และขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งจำนวนร้านค้า และยอดขายเติบโตโดยเฉลี่ย 4 – 5% ต่อปี โดยในปี 2019 มูลค่าโดยรวมของร้านค้าปลีกดั้งเดิมในเวียดนามอยู่ที่ 1,027 ล้านล้านดอง
ปี 2014: จำนวนร้านค้าปลีกดั้งเดิม 641,542 ร้านค้า
ปี 2015: จำนวนร้านค้าปลีกดั้งเดิม 647,556 ร้านค้า
ปี 2016: จำนวนร้านค้าปลีกดั้งเดิม 652,988 ร้านค้า
ปี 2017: จำนวนร้านค้าปลีกดั้งเดิม 658,005 ร้านค้า
ปี 2018: จำนวนร้านค้าปลีกดั้งเดิม 662,592 ร้านค้า
ปี 2019: จำนวนร้านค้าปลีกดั้งเดิม 666,736 ร้านค้า
เหตุผลที่ทำให้ “ร้านค้าปลีกดั้งเดิม” ในเวียดนามยังคงเป็นช่องทางหลัก เนื่องจากสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท และผู้บริโภคในเมืองที่มีรายได้น้อยที่ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคแบบรายวันในปริมาณน้อย ทำให้ร้านค้าท้องถิ่นเหล่านี้ ตอบโจทย์ทั้งด้านความสะดวกสบาย การซื้อสินค้าเพียงไม่กี่ชิ้น – ในปริมาณไม่มาก สำหรับบริโภค/ใช้แบบรายวัน และราคาเข้าถึงง่าย
อย่างไรก็ตามในขณะที่ค้าปลีกสมัยใหม่ขยายตัว ซึ่งมาพร้อมกับความทันสมัย ความหลากหลายครบครันของสินค้าและบริการ ทำให้ร้านค้าปลีกดั้งเดิมในเวียดนาม ก็เริ่มปรับตัวเช่นกัน ด้วยการปรับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของร้าน, เพิ่มประเภทสินค้าให้หลากหลายขึ้น รวมทั้งนำสินค้าคุณภาพสูงขึ้นเข้ามาวางจำหน่าย เพื่อดึงดูดผู้บริโภคที่ต้องการประสบการณ์การช้อปที่ทันสมัย
– ร้านสะดวกซื้อโตเร็ว!
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ค้าปลีกสมัยใหม่ไซส์เล็กอย่าง “ร้านสะดวกซื้อ” เป็นเซ็กเมนต์ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วทั่วเวียดนาม โดยมูลค่ายอดขายโดยรวมในปี 2019 อยู่ที่ 4.4 ล้านล้านดอง เติบโต 18% เทียบกับปีก่อน
ปี 2014: จำนวนร้านสะดวกซื้อ 565 ร้าน
ปี 2015: จำนวนร้านสะดวกซื้อ 708 ร้าน
ปี 2016: จำนวนร้านสะดวกซื้อ 747 ร้าน
ปี 2017: จำนวนร้านสะดวกซื้อ 1,099 ร้าน
ปี 2018: จำนวนร้านสะดวกซื้อ 1,188 ร้าน
ปี 2019: จำนวนร้านสะดวกซื้อ 1,289 ร้าน
เชนร้านสะดวกซื้อรายหลักในเวียดนาม เช่น FamilyMart มีส่วนแบ่งการตลาด 21.4%, Circle K มีส่วนแบ่งการตลาด 20.7%, B’s Mart (ธุรกิจค้าปลีกในเครือ BJC) มีส่วนแบ่งการตลาด 9.6%
การเพิ่มขึ้นของเชนร้านสะดวกซื้อ ถือเป็นความท้าทายของร้านค้าปลีกดั้งเดิม เนื่องจากการเลือกโลเคชั่นเปิดสาขาร้านสะดวกซื้อ จะเลือกขยายไปตามย่านชุมชน ริมถนน และมีผู้คนหนาแน่น เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคในทำเลนั้นๆ ให้ได้มากที่สุด และสร้างความแตกต่างจากร้านค้าปลีกดั้งเดิม ด้วยการนำเสนอความทันสมัย สิ่งอำนวยความมสะดวกต่างๆ เน้นจำหน่ายกลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน และมีบริการ e-Payment เพื่อดึงดูดผู้บริโภคคนรุ่นใหม่
นอกจากนี้สถานการณ์ COVID-19 กระตุ้นผู้บริโภคจากที่ไม่เคยซื้อสินค้าทางออนไลน์ หรือร้านสะดวกซื้อ ก็หันมาซื้อผ่านสองช่องทางนี้ ทำให้ได้ฐานลูกค้าใหม่มาใช้บริการ ยิ่งเป็นปัจจัยผลักดันให้ร้านสะดวกซื้อเติบโตมากขึ้น ทั้งจากฐานลูกค้า และการขยายสาขาของเชนต่างๆ
– ไฮเปอร์มาร์เก็ต และซูเปอร์มาร์เก็ต ตอบโจทย์ความครบวงจร
รายงาน Deloitte ฉายภาพก่อนเกิด COVID-19 ค้าปลีกเซ็กเมนต์ “ไฮเปอร์มาร์เก็ต” ในเวียดนาม การเปิดสาขาของเชนต่างๆ เติบโตเล็กน้อย จนถึงคงที่ ไม่ได้อยู่ในอัตราเร่งเหมือนกับร้านสะดวกซื้อ
ปี 2014: จำนวนไฮเปอร์มาร์เก็ต 41 แห่ง
ปี 2015: จำนวนไฮเปอร์มาร์เก็ต 49 แห่ง
ปี 2016: จำนวนไฮเปอร์มาร์เก็ต 54 แห่ง
ปี 2017: จำนวนไฮเปอร์มาร์เก็ต 56 แห่ง
ปี 2018: จำนวนไฮเปอร์มาร์เก็ต 59 แห่ง
ปี 2019: จำนวนไฮเปอร์มาร์เก็ต 58 แห่ง
หนึ่งในเหตุผลที่ “ไฮเปอร์มาร์เก็ต” ในเวียดนามไม่ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องด้วยความที่เป็นค้าปลีกขนาดใหญ่ ต้องใช้พื้นที่ผืนใหญ่ในการสร้าง ทำให้ไม่สามารถตั้งในทำเลย่านที่อยู่อาศัย หรือชุมชนหนาแน่นได้ ในขณะที่ผู้บริโภคในเมืองชอบช้อปปิ้งจากซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อมากกว่า เพราะอยู่ในทำเลสะดวกกว่า
ส่วนโอกาสในการไปไฮเปอร์มาร์เก็ต ผู้บริโภคเวียดนามจะไปเมื่อต้องซื้อสินค้าจำนวนมาก เช่น ในช่วงเทศกาลวันหยุด ซึ่งผู้เล่นเชนค้าปลีกหลักในเซ็กเมนต์นี้ เช่น GO! หรือชื่อเดิมคือ Big C ในเครือเซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม, Lotte Mart, AEON, Saigon Co.op, E-Mart โดยผู้นำตลาดคือ “GO!” ด้วยส่วนแบ่งการตลาด 57.6%
ขณะที่เซ็กเมนต์ “ซูเปอร์มาร์เก็ต” พบว่ามีอัตราการขยายตัวสูงกว่าไฮเปอร์มาร์เก็ต
ปี 2014: จำนวนซูเปอร์มาร์เก็ต 605 แห่ง
ปี 2015: จำนวนซูเปอร์มาร์เก็ต 1,032 แห่ง
ปี 2016: จำนวนซูเปอร์มาร์เก็ต 1,672 แห่ง
ปี 2017: จำนวนซูเปอร์มาร์เก็ต 2,285 แห่ง
ปี 2018: จำนวนซูเปอร์มาร์เก็ต 2,734 แห่ง
ปี 2019: จำนวนซูเปอร์มาร์เก็ต 3,450 แห่ง
โดยผู้นำตลาดซูเปอร์มาร์เก็ต คือ “Saigon Co.op” ภายใต้เชน Co.opmart ซึ่งเป็นเชนท้องถิ่นที่มีฐานตลาดแข็งแกร่ง ครองส่วนแบ่งการตลาด 43%
ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 กลายเป็นปัจจัยบวกให้กับค้าปลีกสมัยใหม่ฟอร์แมตใหญ่ ทั้งไฮเปอร์มาร์เก็ต และซูเปอร์มาร์เก็ต เนื่องจากความหลากหลายของสินค้า แบรนด์ และขนาดบรรจุภัณฑ์ (Pack Size) ทำให้ผู้บริโภคเวียดนามมั่นใจว่าจะได้ของครบจบในที่เดียว เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาด และลดการเดินทางไปหาซื้อสินค้าหลายที่ ซึ่งกลายเป็นพฤติกรรมผู้บริโภคเวียดนามถึงทุกวันนี้ อีกทั้งการมาใช้บริการไฮเปอร์มาร์เก็ต และซูเปอร์มาร์เก็ต มีความถี่มากขึ้น โดยเฉลี่ยผู้บริโภคเวียดนามจะมาซื้อสินค้าทุกๆ 10 วัน
ประกอบกับเชนไฮเปอร์มาร์เก็ต – ซูเปอร์มาร์เก็ต ต่างปรับตัว เพื่อสร้างความสะดวกในการซื้อสินค้ามากขึ้น ด้วยการเพิ่มช่องทางการให้บริการ ทั้งทางอีคอมเมิร์ซ และสั่งซื้อทางโทรศัพท์ สร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการช้อปของผู้บริโภค แม้ปัจจุบันสถานการณ์ COVID-19 จะคลี่คลายลง แต่พฤติกรรมนี้จะยังคงอยู่
– e-Commerce เปลี่ยนพฤติกรรมช้อปผู้บริโภคเวียดนาม
เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ “เศรษฐกิจดิจิทัล” เติบโตเร็วที่สุด ส่งผลให้ตลาด “e-Commerce” มีแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ ทั้งผู้เล่นท้องถิ่นอย่าง Tiki, Thegioididong, Sendo และผู้เล่นระดับโลก เช่น LAZADA, Shopee เข้ามาแข่งขันในสมรภูมิค้าปลีกออนไลน์
โดยกว่า 70% ของยอดธุรกรรมการค้าออนไลน์ เกิดขึ้นใน 2 เมืองหลักของเวียดนามคือ ฮานอย และโฮจิมินห์ซิตี้ โดยประเภทสินค้าที่ผู้บริโภคนิยมซื้อผ่านออนไลน์ ก่อนเกิด COVID-19 เป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าแฟชั่น แต่หลังจากเกิด COVID-19 ปรากฏว่าสินค้าอุปโภคบริโภคกลายเป็นกลุ่มสินค้าที่คนเวียดนามหันมาซื้อทางออนไลน์
ตอกย้ำให้เห็นว่า COVID-19 เป็นปัจจัยเร่งให้ e-Commerce ในเวียดนามโตเร็ว และเปลี่ยนพฤติกรรมการจับจ่ายของกินของใช้ในบ้านมาอยู่บนออนไลน์ และชำระเงินรูปแบบ e-Payment มากขึ้น
ในขณะที่ร้านค้าปลีกดั้งเดิมก็ปรับตัว ด้วยการนำร้านไปอยู่บนแพลตฟอร์ม On Demand Service ที่มีบริการ Online Mart เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงผู้บริโภค
เมื่อมองทิศทางจากนี้ แน่นอนว่า COVID-19 ได้เร่งการเปลี่ยนแปลงตลาดค้าปลีกเวียดนามไปสู่โมเดล “Omnichannel” เนื่องจากผุ้บริโภคต้องการความสะดวกสบายในการซื้อสินค้า ไม่ว่าจะช่องทางใดก็ตาม ดังนั้น Retailer ทั้งแบบออฟไลน์ และอีคอมเมิร์ซต้อง Rethink กลยุทธ์การสร้างประสบการณ์ลูกค้า
สำหรับ Retailer รูปแบบออฟไลน์ต้องลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น เทคโนโลยีสแกนบาร์โค้ดผลิตภัณฑ์ และการชำระเงินแบบไร้สัมผัส พร้อมกับเข้าสู่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เพื่อเชื่อมต่อทุกช่องทางได้อย่างไร้รอยต่อ ในขณะที่ผู้เล่นอีคอมเมิร์ซอยู่แล้ว ควรพัฒนาปรับปรุงประสบการณ์การช้อปบนออนไลน์ เพื่อให้การซื้อสินค้าสะดวก ง่าย รวดเร็ว ไม่สะดุด
ตามดูกลุ่มทุนค้าปลีกใหญ่ “ญี่ปุ่น – เกาหลี – ไทย” รุกลงทุนในเวียดนาม
เมื่อเวียดนามคือ Emerging Market ที่มีศักยภาพสูง และภาคธุรกิจค้าปลีกในเวียดนามกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น บรรดากลุ่มทุนยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศจึงมองเห็นโอกาสมหาศาล จึงเดินหน้ารุกลงทุน ตัวอย่างเช่น AEON (อิออน) จากญี่ปุ่น, Lotte Group (ลอตเต้) จากเกาหลี, Central Retail Vietnam (เซ็นทรัล รีเทล เวียดนาม) ในเครือเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น
– AEON ลุยเปิดช้อปปิ้งมอลล์ 16 สาขา – ซูเปอร์มาร์เก็ต 100 สาขา
เป็นหนึ่งในกลุ่มทุนค้าปลีกใหญ่จากญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนในเวียดนาม เริ่มจากตั้งสำนักงานตัวแทนในปี 2009 ต่อมาได้จัดตั้งเป็นบริษัท “AEON Vietnam” ในปี 2011 เพื่อลงทุนศูนย์การค้า, ซูเปอร์มาร์เก็ต, ร้านค้าขนาดเล็ก เป็นธุรกิจหลัก และดำเนินธุรกิจอื่นด้วย เช่น นำเข้า, ส่งออก, เทรดดิ้ง และวิจัย
หลังจากนั้นได้เปิดตัวศูนย์การค้า “AEON Mall Tan Phu Celadon” แห่งแรกในเวียดนามในปี 2014 และเดินหน้าขยายสาขาใหม่ ถึงปัจจุบันมี “AEON Mall” 6 สาขา นอกจากนี้ยังได้เปิดซูเปอร์มาร์เก็ต “Max Value” มาให้บริการแก่ผู้บริโภคชาวเวียดนาม ปัจจุบันมี 4 สาขาในฮานอย
โรดแมปสร้างการเติบโตธุรกิจ “AEON Group” ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการลงทุนนอกญี่ปุ่นเป็น 25% ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจากก่อนหน้านี้ และเพิ่มผลกำไรจากการดำเนินงานในตลาดเอเชียนอกญี่ปุ่น ให้ได้มากกว่า 100 พันล้านเยน หรือประมาณ 875 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ Strategic Market ของ AEON Group โดยมีแผนจะเปิดซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งในเวียดนาม, อินโดนีเซีย, กัมพูชา และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้
นับจากนี้ “AEON Vietnam” เตรียมเปิด “AEON Mall” เพิ่มเป็น 16 แห่ง และขยาย “Max Value” ในเวียดนาม ให้ได้ 100 สาขาภายในปี 2025
“เวียดนามเป็นตลาดสำคัญที่สุดสำหรับกลยุทธ์ตลาดต่างประเทศของเรา” Soichi Okazaki ผู้บริหารดูแลธุรกิจ AEON ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ AEON กล่าวถึงความสำคัญของตลาดเวียดนาม
– Lotte Group ทุ่ม 900 ล้านดอลลาร์ ลงทุนสร้าง Smart City ในเวียดนาม
Lotte Group เป็นกลุ่มบริษัทใหญ่อันดับ 5 ในเกาหลี เข้ามาปักหมุดในเวียดนามหลายธุรกิจ ทั้งตั้งบริษัท-โรงงานผลิตขนมขบเคี้ยว ลูกอมและหมากฝรั่งในปี 1996, ธุรกิจร้านอาหาร Lotteria ในปี 1998 ปัจจุบันมีกว่า 260 สาขา และธุรกิจค้าปลีกในปี 2008 ปัจจุบันมี Lotte Mart 14 สาขา และ Lotte Department Store 2 สาขา รวมถึงมีธุรกิจ Lotte Duty Free 3 แห่ง
ยุทธศาสตร์ธุรกิจในเวียดนามของ “Lotte” ไม่หยุดแค่นั้น ล่าสุดเตรียมลงทุน 900 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโครงการ “Smart City” หรือเมืองอัจฉริยะตั้งอยู่ใน Thu Thiem ของโฮจิมินห์ ซิตี้
ภายในโครงการแห่งนี้ จะเต็มไปด้วยเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อสร้างความสะดวกสบาย เช่น Telemedicine เชื่อมต่อผ่าน IoT, AI, ระบบชำระเงินอัจฉริยะ, บริการจัดส่งของด้วยโดรน และหุ่นยนต์ รวมทั้งมีอาคารสำนักงาน, ที่พักอาศัย, โรงแรม และศูนย์การค้า
“Lotte Group” เชื่อว่าการลงทุนในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำโดย “เวียดนาม” เป็นตลาดหลัก จะช่วยสร้างการเติบโตรายได้จากต่างประเทศให้กับกลุ่มบริษัท
– Central Retail Vietnam ลงทุน 30,000 ล้านบาท ขยายอาณาจักรค้าปลีกกว่า 700 แห่ง
เซ็นทรัล เข้าไปลงทุนในเวียดนามตั้งแต่ช่วงต้นปี 2012 และจัดตั้ง “Central Retail Vietnam” (เซ็นทรัล รีเทล เวีดยนาม) เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาได้เผยโรดแมปการลงทุนในเวียดนามงบ 30,000 ล้านบาท เพื่อขยายอาณาจักรธุรกิจค้าปลีกใน ทั้ง 3 กลุ่ม ทั้งกลุ่ม Food, กลุ่ม Non-food อาทิ สินค้าประเภท Home & Entertainment, กีฬา และไลฟ์สไตล์ รวมถึงกลุ่ม Property ให้เติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ครอบคลุมกว่า 700 แห่ง จากเดิม 340 แห่ง ครอบคลุม 55 จังหวัด จากทั้งหมด 63 จังหวัดของเวียดนาม
ตลอดจนพัฒนาแพลตฟอร์ม Omnichannel ให้แข็งแกร่งเติบโตขึ้นอีก 2 เท่า เป็น 15% และก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 ด้าน Omnichannel ในกลุ่มฟู้ด และพร็อพเพอร์ตี้ของเวียดนาม
แผนเดินหน้าขยายธุรกิจของ เซ็นทรัล รีเทล เพื่อบรรลุเป้าหมายภายในปี 2026
- รีแบรนด์บิ๊กซีทั้งหมด ให้กลายเป็นศูนย์การค้า GO! ที่ทันสมัย และท็อปส์ มาร์เก็ต ภายในปี 2023
- เปิดท็อปส์ มาร์เก็ต เพิ่ม 3 สาขาในทุกปี ตามหัวเมืองต่างๆ ทั่วประเทศเวียดนาม
- ขยายกลุ่มธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ตเพิ่มขึ้นอีกกว่า 70 สาขา พร้อมทั้งพัฒนาและเปิดศูนย์การค้าใหม่รวมกว่า 70 สาขา ตอกย้ำการเป็นเบอร์ 1 ในด้านไฮเปอร์มาร์เก็ต และผู้นำด้านศูนย์การค้าไลฟ์สไตล์ของประเทศเวียดนาม
- ต่อยอดธุรกิจในเมืองรอง โดยขยายธุรกิจ มินิ โก! เพิ่มขึ้น รวมกว่า 100 สาขา และยกระดับ ลานชี มาร์ท ให้กลายเป็นร้านค้าปลีกที่ทันสมัย และมีบริการครบครัน
- พัฒนาธุรกิจ เหงียนคิม ให้กลายเป็นผู้นำทางด้านสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดแก่ผู้บริโภค และขยายสาขารวมกว่า 100 สาขา ตลอดจนการเปิดร้านใหม่ๆ ในรูปแบบสแตนด์อโลน
- เดินหน้าพัฒนาและขยายธุรกิจที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในทุกไลฟ์สไตล์ อาทิ คูโบ ศูนย์รวมความบันเทิงสำหรับเด็ก ตั้งเป้ามีจำนวนสาขารวมมากกว่า 100 สาขา และร้านค้าสินค้าเบ็ดเตล็ด ภายใต้แบรนด์ ลุคคูล ตั้งเป้ามีจำนวนสาขารวมกว่า 120 สาขา พร้อมกับการพัฒนาธุรกิจด้านสินค้าและอุปกรณ์กีฬาของ ซูเปอร์สปอร์ต ด้วยการนำแบรนด์กีฬาชั้นนำใหม่ๆ เข้ามาเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภคที่มากขึ้น อีกทั้งขยายสาขาให้ได้รวมกว่า 170 สาขาทั่วประเทศ
- มุ่งมั่นพัฒนาช่องทางออมนิแชแนล เชื่อมโยงประสบการณ์การช้อปปิ้งในแบบออฟไลน์สู่ออนไลน์อย่างไร้ขีดจำกัดแก่ผู้บริโภค ตอกย้ำการเป็นผู้นำของเซ็นทรัล รีเทล ด้าน Next-Gen Omni Retail แห่งเอเชีย
พร้อมทั้งเชื่อมั่นว่าภายในปี 2026 Central Retail Vietnam จะสามารถกวาดรายได้ 1 แสนล้านบาทตามเป้าหมายที่วางไว้
กลุ่มค้าปลีกยักษ์ใหญ่ท้องถิ่น เสริมแกร่งทั้ง Physical Store – Digital Platform
ในขณะที่กลุ่มทุนใหญ่จากต่างชาติเข้ามาปักหมุดขยายสาขา และลงทุนด้านออนไลน์ ทางด้านฝั่งค้าปลีกยักษ์ใหญ่ท้องถิ่นก็รุกขยายอาณาจักรค้าปลีกของตนเองเช่นกัน ทั้งในรูปแบบ Physical Store และ Digital Platform
อย่าง “Saigon Co.op” ถือเป็นรายแรกของตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ในเวียดนามก็ว่าได้ ก่อตั้งขึ้นในปี 1989 หลังการประชุมระดับชาติของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามที่ต้องการเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจของเป็นการตลาดแบบสังคมนิยม (Socialist-oriented Market Economy) ภายใต้นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ “Đổi Mới”
เพื่อเปิดให้บริการซูเปอร์มาร์เก็ตจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในราคาย่อมเยาให้กับประชาชน ถึงทุกวันนี้เป็นเจ้าของเชนค้าปลีกรายใหญ่ ครอบคลุมทั้งซูเปอร์มาร์เก็ต, ไฮเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ภายใต้แบรนด์ในเครือ เช่น Co.opmart, Co.opXtra, Co.opXtraplus, Co.opFood
หรืออีกหนึ่งผู้นำตลาดค้าปลีกของเวียดนาม “Masan Group” เป็นกลุ่ม conglomerate รายใหญ่ของเวียดนาม ดำเนินธุรกิจหลากหลาย ตั้งแต่ธุรกิจค้าปลีก, ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม, ธุรกิจอาหารสัตว์, ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์, ผลิตแร่ธาตุใช้ในเชิงอุตสาหกรรม ภายใต้กลุ่มบริษัทต่างๆ ในเครือ
ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก “Masan Group” ได้ควบรวมกิจการธุรกิจค้าปลีก VinCommerce ของกลุ่ม Vingroup ซึ่งต่อมาได้รีแบรนด์เป็น “WinCommerce” ทำให้มีเชนค้าปลีกทั้งซูเปอร์มาร์เก็ต WinMart (ชื่อเดิม VinMart) และร้านสะดวกซื้อ WinMart+ (ชื่อเดิม VinMart+)
นอกจากนี้ใน WinCommerce ยังมีกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่จากเกาหลี “SK Group” ถือหุ้นในสัดส่วน 16.26% ด้วย และไม่เพียงแต่เดินหน้าขยาย Physical Store เท่านั้น Masan Group ยังได้ตั้ง “The CrownX” บริษัทลูกในเครือ เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มค้าปลีก ต่อมาในปี 2021 “Alibaba Group” และ “Baring Private Equity Asia” เข้าซื้อหุ้น 5.5% ใน The CrownX มูลค่า 400 ล้านดอลลาร์ และ “SK Group” ยังลงทุน 340 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อซื้อหุ้น 4.9% ใน The CrownX เช่นกัน
จากภาพการเข้ามาลงทุนของกลุ่มทุนใหญ่ต่างชาติดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมค้าปลีกในเวียดนามยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมหาศาล ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม เมือง และความหนาแน่นของประชากร โดยเฉพาะในวัยหนุ่มสาว กลุ่มผู้บริโภคกำลังซื้อสำคัญของตลาดค้าปลีก
Source: Deloitte, Nikkei Asia, Nikkei Asia, VNExpress, The Korea Economic Daily, Masan Group