ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank เป็นหนึ่งในธนาคารที่ความเคลื่อนไหวมาโดยตลอด โดยเฉพาะการมองหาพันธมิตรที่จะเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งในการผลิตภัณฑ์และบริการการเงินที่ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในปัจจุบัน และทำให้บริการของธนาคารไปอยู่ในทุกที่ที่ลูกค้าต้องการใช้บริการ
โดย ธนาคารกสิกรไทย มี บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด หรือ บีคอน วีซี (Beacon Venture Capital: Beacon VC) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทของธนาคารกสิกรไทยที่มีหน้าที่ในการมองหาและสนับสนุน Startup ที่มีศักยภาพสามารถต่อยอดบริการต่างๆ ของธนาคารได้
ล่าสุด บีคอน วีซี ตัดสินใจเข้าลงทุนเชิงกลยุทธ์ใน บริษัท ทีทูพี จำกีด หรือ T2P บริษัทด้าน FinTech ที่มีชื่อเสียงและประสบการณ์ในการให้บริการโซลูชั่นธุรกรรมการเงินอย่างครบวงจรแก่กลุ่มธุรกิจแบบB2B2C
ด้าน คุณธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด หรือ Beacon VC ชี้ว่า เป้าหมายหลักการลงทุนครั้งนี้คือการเสริมจุดแข็งของ KBank ในด้าน e-Wallet เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าองค์กรซึ่งเป็นฐานธุรกิจที่ธนาคารให้ความสำคัญ ซึ่งจะช่วยให้ฐานลูกค้ารายย่อยของธนาคารกว่า 20 ล้านราย สามารถเชื่อมต่อข้อมูลธุรกิจและการเงินเข้าด้วยกัน สร้างประสบการณ์ไร้รอยต่อ ตั้งแต่การสมัคร การทำธุรกรรมระหว่างธนาคาร การรับ-จ่ายเงิน
สร้างโอกาสในธุรกิจ e–Wallet รูปแบบ B2B2C ผ่าน 3 โซลูชั่น
หากพูดถึง Digital Solution ต้องยอมรับว่า KBank เป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีการพัฒนา Digital Solution มากมายเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภคทุกกลุ่ม
ศุภนีวรรณ จูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เล่าว่า กลุ่มลูกค้าองค์กรที่ถือเป็นหนึ่งกลุ่มเป้าหมายที่ KBank ให้ความสำคัญ ซึ่งการเข้าลงทุนเชิงกลยุทธ์กับ T2P จะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจผ่าน 3 โซลูชั่นหลัก
- การพัฒนา e–Wallet มาใช้ในกลุ่ม B2B2C โดย T2P เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ e-Walletซึ่งหากธนาคารทำเองด้วยเทคโนโลยีและศักยภาพสามารถทำได้ แต่จะต้องใช้เวลานานมากกว่าจะนำมาใช้ได้จริง T2P ที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญด้านนี้ จะทำให้ธนาคารก้าวข้ามช่วงเวลาเหล่านั้นก่อให้เกิดการพัฒนาที่รวดเร็วในการเข้าถึงกลุ่มธุรกิจ B2B2C โดย T2P ก็จะสามารถขยายฐานลูกค้าให้เติบโตมากขึ้น
- การพัฒนา API เพื่อเชื่อมต่อบริการของ KBank ซึ่งจะช่วยให้บริการต่างๆ ของ e-Walletสามารถเชื่อมต่อกับบริการของธนาคารได้อย่างไร้รอยต่อ (Seamless) ช่วยสร้างประสบการณ์การใช้งาน e-Wallet อย่างเช่น การเติมเงินหรือการชำระเงิน และจะนำไปสู่
- การเสริมศักยภาพบริการสินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending) โดย e-Wallet จะช่วยให้ธนาคารสามารถประเมินความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ ผ่านข้อมูลการใช้จ่ายบน e-Wallet
เป้าหมายเพื่อตอบโจทย์และเสริมศักยภาพธุรกิจลูกค้าองค์กร
โดย คุณทวีชัย ภูรีทิพย์ ประธานบริษัทและหนึ่งในผู้ก่อตั้ง T2P ชี้ว่า T2P เป็นผู้ให้บริการ e-Wallet Platform เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2011 เราจะเน้นกลุ่มเป้าหมายไปที่กลุ่ม B2B2C เป็นหลัก โดยวางเป้าหมายให้เป็นระบบที่มีความน่าเชื่อถือ ปลอดภัยไว้ใจได้ โดย T2P ยังให้บริการ e-KYC เพื่อการพิสูจน์ตัวตนรวมถึงการทำโซลูชั่นให้องค์กรแบบ White Label เพื่อลดเวลาการพัฒนาและขออนุญาตลง
โดยในปี 2021 มูลค่าการทำธุรกรรมด้านการชำระเงินอยู่ที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท มีจำนวนWallet อยู่ที่ประมาณ 4 ล้านกว่า Wallet และในปีนี้มียอดธุรกรรมการชำระเงินเทียบกับปีที่ผ่านมาเติบโต 70% ขณะที่จำนวน Wallet ในปีนี้เติบโตขึ้นมากกว่า 30%
หลังการได้เป็นพันธมิตรกับ Beacon VC ภายใต้ KBank จะช่วยให้ T2P เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จากประสบการณ์ของ T2P พบว่า มีหลายองค์กรที่ต้องการนำ e-Wallet มาเสริมศักยภาพและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าสมาชิก ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเกิดชึ้นในกลุ่มธุรกิจ Retail ที่ต้องการให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมด้านต่างๆ ได้ง่าย สะดวก โดยใช้ e-Wallet ผ่านมือถือ การได้ให้บริการเช่นนี้ยังทำให้ธุรกิจได้เข้าใจพฤติกรรมของลูกค้ามากขึ้นจากข้อมูลการใช้งานอีกด้วย นอกจากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ T2P เริ่มเห็นความต้องการลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นกับธุรกิจประเภทอื่นๆ แม้แต่ธุรกิจ Fintech ด้วยกันเอง
ที่สำคัญช่วงหลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ความต้องการใช้ e-Wallet ในการชำระเงินก็ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง การสร้าง e-Wallet ขึ้นมาเองที่เป็นเรื่องยุ่งยากและมีกฎระเบียบที่ซับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง การเลือกใช้บริการของ T2P จึงกลายเป็นเรื่องที่ง่ายและสะดวกมากกว่า
เรียกว่าเป็นอีกก้าวครั้งสำคัญของ KBank หลังประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการตอบโจทย์การใช้ชีวิตและทำธุรกิจในทุกที่ทุกเวลาที่ต้องการ (Empower Every Customer’s Life and Business) การนำ e-Wallet เข้ามาร่วมกับการให้บริการของธนาคาร จะช่วยสร้างโอกาสให้ KBank สามารถเข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่มได้อย่างง่ายดาย และยังตอบความต้องการของธุรกิจในการสร้างความสะดวกให้การใช้จ่าย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้บริการสินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending) ที่จะช่วยให้ธนาคารสามารถประเมินความเสี่ยงของลูกค้า โดยเห้นได้จากพฤติกรรมการใช้จ่ายผ่าน e-Wallet ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็น NPL และช่วยให้ธนาคารคัดกรองลูกค้าสินเชื่อที่มีศักยภาพแท้จริง