เศรษฐกิจโลกทำส่งออกไทยชะงัก กระทบต้นทุน ธุรกิจ ผู้บริโภค ลากยาวถึงปี 67 คลี่คลายพลิกฟื้นอีกครั้ง

  • 10
  •  
  •  
  •  
  •  

เศรษฐกิจโลก

แม้ว่าปีนี้ภาพรวมเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นจากภาคการท่องเที่ยวและบริการที่การขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทยเพิ่มเป็น 10.3 ล้านคน โดยกลุ่มประเทศที่เดินทางมามาก ได้แก่ กลุ่มในแถบเอเชีย เช่น ยุโรปซาอุดิอาระเบีย มาเลเซีย และอินเดีย และคาดว่าในปีหน้าหลังจากที่ประเทศจีนเริ่มเปิดประเทศผ่อนคลายการท่องเที่ยวมาขึ้นในช่วงปลายปีนี้จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวกลับเข้าสู่ประเทศไทยอีกเพิ่มขึ้นมาอีก 28.3 ล้านคนก็ตาม

แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีแรงกดดันจากค่าครองชีพที่ยังสูงอยู่ Economic Intelligence Center หรือ EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ จึงได้ปรับเพิ่มอัตราเงินเฟ้อไทยในปีนี้เพิ่มขึ้น 6.1% จากเดิม 5.9% และคาดว่าในปีหน้าเงินเฟ้อจะทยอยปรับลดลงอย่างช้า ๆ อยู่ที่ 3.2% ซึ่งถือว่าสูงกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปีหน้า เนื่องมาจากส่งออกมีชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

รวมถึงราคาพลังงานและอาหารที่ยังอยู่ในระดับสูง และการส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิตไปยังราคาสินค้าในกลุ่มอื่นที่มีมากขึ้น จึงเป็นแรงกดดันกำลังซื้อและการบริโภคในประเทศ รวมถึงกระทบต้นทุนและการลงทุนของธุรกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยยังคงมีความเปราะบางอยู่ เพราะมีบางกลุ่มครัวเรือนและภาคธุรกิจยังคงมีความเสี่ยงต่อรายได้ที่โตไม่ทันค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อยและธุรกิจขนาดเล็กที่เริ่มเห็นสัญญาณการระมัดระวังจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลังจะเข้ามากระตุ้นกำลังซื้อจากสมาร์ทโฟนมีการเปิดตัวใหม่ ขณะที่กลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม กลุ่มสุขภาพ และตกแต่งบ้าน ในปีนี้ยังเติบโตได้ ส่วนสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ อาจไม่ค่อยดีมากนัก เพราะคนเริ่มกลับเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศบ้างแล้ว

เศรษฐกิจโลกชะลอลงต่อเนื่อง

ในครึ่งแรกของปีเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณชะลอตัวลงชัดเจนขึ้น ทั้งภาคอุตสาหกรรมและการบริโภค ส่วนความเชื่อมั่นผู้บริโภคในหลายประเทศก็ปรับลดลงใกล้ระดับวิกฤตรอบก่อน ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน EIC มองว่า ช่วงปลายปีนี้ถึงสิ้นปีหน้าอาจเริ่มเห็นเศรษฐกิจถดถอยในบางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ยูโรโซน วิกฤตพลังงานในยูโรโซนที่จะทวีความรุนแรงขึ้น

และการชะลอตัวลงอย่างมากของเศรษฐกิจจีน รวมถึงปัญหาอุปทานคอขวดมีแนวโน้มฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่คาดไว้ EIC จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกในปี 2565 ลงจาก 3.2% มาอยู่ที่ 3.0% และในปีหน้าจะขยายตัวชะลอลงอีกไปอยู่ที่ 2.7% ขณะที่สหรัฐฯ แต่อาจไม่รุนแรง เนื่องจากสถานะการเงินของภาคเอกชนและการฟื้นตัวของตลาดแรงงานยังเข้มแข็งพอรองรับได้อยู่

แม้เงินเฟ้อจะชะลอลง หลังจากที่เงินเฟ้อโลกเร่งตัวมามาก เริ่มผ่านจุดสูงสุดแล้วในไตรมาส 3 แต่จะยังสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางไปอีก 1-2 ปี เนื่องจากการฟื้นตัวของอุปทานในภาคพลังงาน อาหาร และสินค้าคงทน คลี่คลายช้ากว่าที่เคย อีกทั้ง ค่าจ้างจะยังอยู่ในระดับสูงตามการฟื้นตัวของตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งส่วนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เริ่มปรับลดลงและอุปทานคอขวดที่ทยอยคลี่คลายในช่วงปลายปี

และเพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ธนาคารกลางทั่วโลกมีแนวโน้มจะดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวมากอย่างต่อเนื่อง โดยเรื่องสำคัญในโลกที่ต้องติดตาม คือ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เพิ่มขึ้นมา ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของห่วงโซ่การผลิต โดย EIC ประเมินในกรณีฐานไว้ว่า ความขัดแย้งระหว่างไต้หวันและจีนจะยังไม่รุนแรงขึ้น ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในระยะสั้นจึงมีจำกัด แต่การแบ่งขั้วระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี

เศรษฐกิจโลก

GDP โตไม่เท่าช่วงโควิด แม้รัฐเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ

แม้ปลายปีนี้ รัฐบาลจะมีนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยประมาณ 5% ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า ยังต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อสะสมนับตั้งแต่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งสุดท้ายในปีที่ผ่านมา ทำให้แรงงานที่พึ่งพาค่าจ้างขั้นต่ำมีรายได้ที่แท้จริงลดลง ขณะที่ผู้ประกอบการมีต้นทุนค่าจ้างแรงงานสูงขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากแรงงานต่างชาติออกจากประเทศแล้วยังกลับเข้ามาไม่เต็มที่

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยจะยังเผชิญความเสี่ยงหลายด้านไม่ว่าจะเป็น ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป กดดันการส่งออกและลงทุนในระยะถัดไป รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่อาจชะลอตัวมากกว่าคาดจากมาตรการ นโยบายโควิดเป็นศูนย์ และปัญหาในภาคอสังหาฯ ที่ยังมีหนี้ในระดับสูง ขณะที่เงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง จากราคาโภคภัณฑ์ที่กระทบกาลังซื้อของครัวเรือน และต้นทุนในภาคธุรกิจ

และความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นภาคการผลิตและลงทุน ดังนั้น บทบาทของภาครัฐในการดูแลกลุ่มเปราะบางยังคงมีความจำเป็นอยู่ ขณะที่ข้อจำกัดทางการคลังมีมากขึ้นจากทั้งเม็ดเงินและกรอบระยะเวลาใน พ.ร.ก กู้เงิน 5 แสนล้านบาทที่ใกล้หมดลง โดยในระยะถัดไปคาดว่าแรงสนับสนุนจากภาครัฐจะเป็นไปอย่างเฉพาะจุดมากขึ้น

อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ต้นทุนทางการเงินยังมีแนวโน้มสูงขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางทั้งในไทยและประเทศเศรษฐกิจหลัก ยิ่งซ้ำเติมแผลเป็นทางเศรษฐกิจจากวิกฤต COVID-19 ที่มีอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งคาดว่าปัญหาดังกล่าวจะสามารถคลี่คลายได้ให้เศรษฐกิจกลับมามีศักยภาพอีกครั้งคงต้องรอไปจนถึงปลายปี 2567 ด้วยเหตุนี้ จึงมองว่า กนง. มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปต่อเนื่องจนถึงปีหน้า

โดย กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ในเดือนกันยายน และพฤศจิกายนสู่ระดับ 1.25% สิ้นปีนี้ และในปีหน้าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% สู่ระดับ 2% เพื่อให้นโยบายการเงินค่อย ๆ กลับสู่ระดับที่เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยระยะยาว

เศรษฐกิจโลก

ผลกระทบต่อค่าเงินบาท

สำหรับค่าเงินบาทนั้น ยังคงต้องเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐตามทิศทางนโยบายการเงินตึงตัวของ Fed และความกังวลภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่อ่อนแอกว่าคาด ทำให้เงินหยวนและค่าเงินภูมิภาค รวมถึงเงินบาทอ่อนค่า เงินทุนไหลออกจาก EMs รวมถึงไทยในช่วงที่นักลงทุนปิดรับความเสี่ยง และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย

อย่างไรก็ตาม เงินบาทจะกลับมาแข็งค่าอีกครั้งในช่วงปลายปีและปีหน้า จากเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง รวมถึง ดุลบัญชีเดินสะพัดที่คาดว่าจะกลับมาเกินดุลปลายปีนี้ โดย EIC ประเมินว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2566 จะกลับมาเกินดุลได้ที่ 1.5% ต่อ GDP ขณที่เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลกลับเข้าตลาดการเงินไทยตามความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ปรับดีขึ้น และอัตราเงินเฟ้อไทยที่จะปรับลดลงเร็วกว่าของสหรัฐฯ ด้วยเหตุนี้ จึงประเมินว่า เงินบาทจะแข็งค่าลงมาอยู่ที่ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปีนี้ และ 33.5-34.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2566

อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังคงต้องเผชิญกับผลกระทบด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่ลดลง รวมถึงธุรกิจย้ายมาตั้งฐานการผลิตในภูมิภาคใกล้เคียงหรือในประเทศมากขึ้น ธุรกิจผลิตสินค้าคงคลังมากขึ้น และการเคลื่อนย้ายทรัพยากรระหว่างประเทศจะลดลงก็ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง


  • 10
  •  
  •  
  •  
  •  
sabuysuk
การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นทุกวัน ล้วนแล้วแต่ได้กำไร