ถอดรหัสการทำงาน กฟผ. ผ่านการใช้ ‘เทคโนโลยี AI’ พัฒนาด้านพลังงาน สร้างความยั่งยืน ยกระดับเศรษฐกิจไทย

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

นับเป็นอีกห้วงเวลาสำคัญที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤตพลังงานครั้งใหญ่อีกครั้ง ด้วยความต้องการพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อผลักดันความเติบโตด้านเศษฐกิจหลังซบเซามานาน ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ รวมไปถึงปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ลดลง ในขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด​ยังมีความผันผวนและไม่เพียงพอต่อความต้องการ ​ทำให้ราคาเชื้อเพลิง​ทั้งน้ำมันก๊าซธรรมชาติ​และถ่านหินเพิ่มตัวสูงขึ้น การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) มาใช้จึงเป็นคำตอบที่น่าจะเป็นหนึ่งในโซลูชั่นเพื่อช่วยลดต้นทุนในการผลิต รวมไปถึงทะนุถนอมดูแลสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน

แน่นอนว่าหัวหอกด้านพลังงานที่สำคัญของประเทศไทยก็คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือ กฟผ. (Electricity Generating Authority of Thailand หรือ EGAT) ซึ่งให้ความสำคัญเรื่องการใช้พลังงานให้คุ้มค่า พร้อมกับผลักดันนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไทยทั้งประเทศ ดังนั้น เพื่อเป็นความรู้แก่คนไทยว่าปัจจุบัน กฟผ. ผลักดันเรื่องพลังงานและการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความยั่งยืนได้อย่างไร เราจึงขอโอกาสจากผู้บริหาร กฟผ.มาเล่าให้ฟังถึงแง่มุมการทำงานและประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านพลังงานของไทย

 

 

กฟผ. มุ่งมั่นสู่เป้าหมาย EGAT for ALL

คุณไพฑูรย์ ตั้งจิตร่วมบุญ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 1 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวถึงแนวคิดการสร้างความยั่งยืนของ กฟผ. ว่า การทำงานของ กฟผ. ยึดหลักสำคัญซึ่งได้รับมอบนโยบายมาจากท่านผู้ว่าการฯ กฟผ. ซึ่งได้แก่ EGAT for ALL นั่นก็คือ การที่ กฟผ.เป็นของทุกคนและทำเพื่อทุกคน ดังนั้น ในการดำเนินงานเพื่อผลิตไฟฟ้าและภารกิจเพื่อสังคมชุมชน จึงมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์คนไทยและประเทศชาติอย่างยั่งยืน

 

 

อย่างไรก็ตาม จากการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานหลายสิ่ง ไม่ว่าจะเป็น การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้า ดังนั้น ทาง กฟผ. จึงมีแนวทางในการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อให้สอดรับและเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีความหลากหลายมากขึ้น และยังสามารถรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภายในประเทศได้ สำหรับการปรับเปลี่ยนการให้บริการเพื่อสร้างความยั่งยืน หลักๆ  มีการดำเนินการ 3 ด้านด้วยกัน ดังนี้

  1. ด้านการผลิตไฟฟ้า

กฟผ. ได้นำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยในการทำงานด้านการผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงไฟฟ้า เช่น การช่วยวิเคราะห์และประเมินผล ทำให้สามารถควบคุมและสั่งการแบบอัจฉริยะ หรือริเริ่มนำเทคโนโลยีพลังงานใหม่ๆ เช่น ไฮโดรเจน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิง Net Zero Carbon มาใช้ชดเชยเชื้อเพลิงแบบฟอสซิล แม้แต่การนำพลังงานหมุนเวียนอย่างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำมาใช้ ซึ่งจะร่วมกันผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากถึง 2,725 เมกะวัตต์

  1. ด้านการส่งจ่ายกระแสไฟฟ้า

กฟผ. ได้พัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าที่ทันสมัย ซึ่งเรียกว่า Grid Modernization คือการปรับปรุงพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล AI เข้ามาช่วย ให้สามารถจัดการ ควบคุม และดำเนินงานระบบไฟฟ้าได้อย่างมั่นคงเชื่อถือได้ มีประสิทธิภาพและความยืดหยุ่น รวมทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน มีระบบประมวลผลให้ AI ในการคาดการณ์และวางแผนการผลิตไฟฟ้าได้อย่างมั่นคง

  1. ด้านนวัตกรรมและพัฒนาธุรกิจ

เนื่องจากความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้ามีความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น เพราะฉะนั้น กฟผ. จึงมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำธุรกิจ จากเดิมที่ทำธุรกิจด้านเดียวคือผลิตไฟฟ้าและส่งจ่ายกระแสไฟฟ้า แต่ได้เพิ่มอีกมุมธุรกิจเข้ามาด้วย นั่นคือการบริการด้านพลังงานแบบแบบครบวงจร (EGAT Energy Solution Provider) อาทิ ธุรกิจ EGAT EV Business ซึ่งจะเน้นธุรกิจการจัดหาและนำเข้า LNG และสุดท้ายคือการตั้งบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด (INNOPOWER COMPANY LIMITED) เพื่อสนับสนุนกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัปที่ทาง กฟผ. จะดึงมาช่วยพัฒนาสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ด้านพลังงานให้ประเทศ

 

 

ไม่เพียงแค่นั้น อีกหนึ่งเป้าหมายที่สำคัญเพื่อการสร้างธุรกิจยั่งยืน ก็คือ นโยบายพลังงานสะอาดตามแนวทาง Carbon Neutrality ซึ่งทาง กฟผ. มีกำหนดว่าจะมุ่งสู่ EGAT Carbon Neutrality ภายในปี 2593โดยที่ยังสามารถรักษาความสมดุลของต้นทุนการผลิตไฟฟ้า การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดวล้อม และก็สุดท้ายยังรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภายในประเทศได้

 

AI เทคโนโลยีดิจิทัล เสริมงานหลากมิติด้านพลังงาน

คุณนพพล พันธ์เงิน ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจัดการสินทรัพย์ผลิตไฟฟ้า กฟผ. อีกหนึ่งท่านผู้ทรงความรู้ด้านการใช้เทคโนโลยี ได้ว่า กฟผ. มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีความร่วมมือกับ IBM และ Triple Dot Consulting ในการนำระบบ Maximo Enterprise Asset Management ซึ่งเป็นระบบ AI เข้ามาทำนายความเสียหายของอุปกรณ์ เป็นการนำระบบบำรุงรักษาสมัยใหม่เข้ามาใช้งานในโรงไฟฟ้าและเขื่อนของ กฟผ.

ข้อมูลเชิงลึกที่ได้รับการบูรณาการจากทั่วทั้งโรงไฟฟ้าทำให้กฟผ. สามารถคาดการณ์การใช้งานและการซ่อมบำรุง รวมถึงการบริหารจัดการอุปกรณ์คงคลังได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น ลดการจัดซื้ออุปกรณ์ใหม่และการใช้พื้นที่จัดเก็บอุปกรณ์โดยไม่จำเป็นลง อีกทั้งยังช่วยยืดอายุการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ ด้วย ขณะที่การนำแมชชีนเลิร์นนิงเข้ามาใช้ ช่วยให้กฟผ.เห็นค่า health scoring ของอุปกรณ์ต่างๆ และอายุการใช้งานของแต่ละชิ้นส่วนได้แบบเรียลไทม์

 

 

นอกจากจะนำระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาแล้ว กฟผ. ยังมุ่งไปสู่พลังงานยั่งยืน มีการพัฒนา Solar Floating มาใช้ที่เขื่อนสิรินธร และขยายไปยังเขื่อนต่างๆ ของ กฟผ. เพื่อที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ และมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ AI เข้ามาใช้กับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังน้ำการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยมากจนถึงแทบจะไม่มีเลย นี่คือเรื่องที่ กฟผ. คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ

“ในส่วนของ กฟผ. การนำระบบ AI เข้ามา ในเรื่องของการบำรุงรักษาแบบสมัยใหม่ สามารถทำให้โรงไฟฟ้ามีความมั่นคง และระบบไฟฟ้ามีความมั่นคงไปด้วย ประสิทธิภาพของการผลิตเราดีขึ้น ส่งผลให้การปล่อยพลังงานคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปสู่ระบบก็ลดน้อยลง อันนี้ก็เป็นสิ่งที่โรงไฟฟ้าฝ่ายผลิตเราดูแลตลอด ในเรื่องของความยั่งยืน นอกจากนี้ เรายังใช้ลดผลกระทบด้านอื่นอีกเพื่อประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม”

 

 

เทคโนโลยีดิจิทัล ช่วยสนับสนุนการอนุรักษ์พลังงานและสร้างความยั่งยืน

คุณสมศักดิ์ กล่ำกลาย ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการและพัฒนาระบบสารสนเทศ กฟผ. กล่าวเสริมในมุมของการต่อยอดจากความสำเร็จของ AI ว่า ในมุมของ AI ที่ทาง กฟผ.นำมาใช้นอกจากที่จะนำมาใช้กับระบบผลิตไฟฟ้าแล้ว ยังมองเรื่องของเชื้อเพลิง เรื่องของระบบส่ง ที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยีตัวนี้มาใช้ นอกจากนี้ เรื่อง EV Business ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก็สามารถจัดการต่อยอดหรือนำAI ตรงนี้มาใช้ได้ รวมถึงงานพวกแบ็คออฟฟิศ งานทางด้านวัสดุจัดหา หรือว่างานทางด้านบัญชี ล้วนแล้วแต่สามารถนำ AI มาประยุกต์ใช้ได้

 

 

ในขณะที่ก้าวต่อไปของการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างไร เพื่อให้ตอบโจทย์ความยั่งยืน คุณสมศักดิ์ ย้ำว่า ในมุมเรื่อง AI กับผู้ใช้งาน โดยเฉพาะสเต็กโฮลเดอร์ต่างๆ ปัจจุบันทางกฟผ. มีการบริหารจัดการเรื่องดีมานด์ไซส์อยู่แล้ว และนำเรื่องของ AI มาใช้งานเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตไฟฟ้าพลังงานแดดที่เขื่อนสิรินธร หรือแผนการที่จะพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น 5,000 เมกาวัตต์ใน 15 ปีข้างหน้านี้ นี่คือสิ่งที่ทาง กฟผ.จะพัฒนาและก้าวต่อไป ผ่านการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย ทั้งหมดทั้งมวลกฟผ. ต้องการที่จะให้ประเทศไทยมีการใช้งานพลังงานไฟที่สะอาด แล้วก็ลดเรื่องคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ ช่วยเรื่องโลกร้อน แล้วก็ช่วยเรื่องของสังคมด้วย

สุดท้ายคือเราให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน คือการนำนวัตกรรม AI เข้ามาช่วยให้ กฟผ. ผลิตไฟได้ประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยในการลดต้นทุน แล้วก็ลดค่าไฟให้กับประชาชน เพราะพลังงานไฟฟ้าเป็นปัจจัยพื้นฐานของประเทศ ที่จะช่วยผลักดันอินฟราสตรักเจอร์ต่างๆ เพื่อมุ่งสู่การสร้างความยั่งยืน ตามสโลแกน ที่ กฟผ. ได้ตั้งเป้าเอาไว้นั่นคือ การผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทยทุกคน”

 

 

อย่างที่ทราบดีสำหรับวิกฤตด้านพลังงานถือเป็นเรื่องสำคัญทั้งต่อชีวิตผู้คนและระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น ในทุกการดำเนินงานต่างๆ จึงต้องทำด้วยความรอบคอบและมุ่งมั่นเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ดังนั้น การปรับตัวด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลโดยเฉพาะ AI มาใช้ ก็จะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการดูแลผลประโยชน์ของคนไทย ตามแนวคิดของ กฟผ. ได้แก่ “EGAT for ALL : กฟผ. เป็นของคนไทยทุกคนและทำเพื่อทุกคน” ชูศักยภาพความมั่นคงทางพลังงานอย่างยั่งยืนของประเทศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อันจะเป็นแต้มต่อสำคัญของประเทศไทยในการสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนบนเวทีเศรษฐกิจการค้าโลกต่อไป


  • 1
  •  
  •  
  •  
  •