เมื่อพูดถึงแหล่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสุดล้ำ มักจะมีต้นกำเนิดจากประเทศพัฒนาแล้ว และมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, เยอรมัน, สวิตเซอร์แลนด์, อิสราเอล, เกาหลี, ญี่ปุ่น, จีน ขณะที่ประเทศไทย ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นผู้ซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ แล้วนำมาปรับใช้มากกว่าจะเป็นผู้สร้างเทคโนโลยีที่สามารถขยายผลต่อยอดสู่การใช้จริง
แต่เมื่อกว่า 4 – 5 ปีที่แล้ว มีบริษัทไทยรายหนึ่งลุกขึ้นมาประกาศเป้าหมายต้องการก้าวไปสู่ “Regional Tech Company” องค์กรที่ว่านี้คือ “KBTG” หรือ “บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป” ในเครือธนาคารกสิกรไทย มีความมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงิน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการเงิน มาจากทั้ง In-house Development จากทีมนักวิจัยและพัฒนาใน KBTG และการสร้างความร่วมมือ (Collaboration) กับสถาบันวิจัยชั้นนำระดับโลก รวมถึงสถาบันการศึกษาในประเทศและต่างประเทศ
อย่างเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา KBTG ประกาศความร่วมมือกับ “MIT Media Lab” ด้วยการเข้าร่วมเป็นสมาชิก (MIT Media Lab Research Consortium) เพื่อทำงานวิจัยร่วมกัน และยังได้ริเริ่มโครงการมอบทุนสนับสนุน “KBTG Fellowship”
จุดเริ่มต้นความร่วมมือ “KBTG x MIT Media Lab” ต่อจิ๊กซอว์ Regional Tech Company
ด้วยพันธกิจของ KBTG ต้องการปักหมุดเป็น Regional Tech Company ที่นำเอางานวิจัย (Research) กับนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาผนวกรวมกัน เพื่อสร้าง Solution ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของทั้งคนไทยและคนในภูมิภาคนี้ดีขึ้น
ขณะที่ MIT Media Lab เป็นสถาบันวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาซูเซตส์ สหรัฐฯ ทำการวิจัยโดยนำศาสตร์และองค์ความรู้หลายแขนง เช่น Technology, Art, Engineering, Design มาผสานรวมกัน เพื่อสร้าง “Future of Innovation & Technology” มองไกลไปยังอนาคต 10 – 20 ปีข้างหน้าที่จะเปลี่ยนโลก พัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษยชาติให้ดียิ่งขึ้น
ตัวอย่างนวัตกรรมต้นแบบที่ MIT Media Lab เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง เช่น จอสัมผัส (Touch Screen) ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้กับสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือหน้าจอสัมผัสอุปกรณ์ต่างๆ, หุ่นยนต์ LEGO Mindstorms, โปรแกรม Scratch สำหรับให้เด็กฝึกเขียนโค้ดดิ้ง, ต้นกำเนิดนวัตกรรม Wearables ที่ปัจจุบันหลายแบรนด์นำไปต่อยอดเป็น Wearable Device, GPS ต้นแบบเทคโนโลยี Map นำทาง และรถยนต์ขับเคลื่อนเอง (Self-driving Car)
จุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่าง KBTG กับ MIT Media Lab จุดประกายมาจากการสนทนาระหว่าง “คุณกระทิง-เรืองโรจน์ พูลผล” ประธานกลุ่มบริษัท KBTG และ “คุณพัทน์ ภัทรนุธาพร” นักศึกษาปริญญาเอกชาวไทยคนแรกในสาขา Fluid Interfaces ที่ MIT Media Lab ซึ่งวิจัยเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และปัญญาประดิษฐ์ และการศึกษาส่วนบุคคล นำไปสู่การเข้าเป็นสมาชิกใน MIT Media Lab (MIT Media Lab Research Consortium) เมื่อเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา
จุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อดำเนินการวิจัยเทคโนโลยีที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน เพื่อนำงานวิจัยเชิงวิชาการนั้นมาต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินแห่งยุคอนาคต (Next Generation Financial Services) ที่ช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนให้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการระหว่างกัน และทำให้นักวิจัยของทั้งสองฝ่ายได้ร่วมทำงานวิจัยที่ก้าวหน้า เพื่อแก้ไขปัญหาที่สำคัญต่างๆ ในระดับประเทศ ทั้งในด้านการเงิน ความเสมอภาค ความยั่งยืน และด้านการศึกษา
“ความร่วมมือระหว่าง KBTG กับ MIT Media Lab เพื่อเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาการ และทำงานวิจัยร่วมกัน เป็น Milestone ครั้งสำคัญของ KBTG ในฐานะบริษัทไทยที่สามารถสร้างความร่วมมือกับสถาบันวิจัยชั้นนำระดับโลก เพื่อ push the frontier ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งอนาคต
ที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นแค่ผู้ใช้เทคโนโลยีมาโดยตลอด แต่ตอนนี้บริษัทไทยและคนไทยกล้าที่จะพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงให้คนได้ใช้จริง ซึ่งธุรกิจของเครือธนาคารกสิกรไทย ไม่ได้มีแค่ประเทศไทย แต่ยังขยายไปตลาดจีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย ดังนั้นเทคโนโลยีที่ได้มาจากความร่วมมือกับ MIT Media Lab เราสามารถ scale ออกมาใช้ทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจีน” คุณกระทิง-เรืองโรจน์ ฉายภาพการจับมือร่วมกัน
ส่งนักวิจัย KBTG ไปร่วมใน MIT Medial Lab – ริเริ่มโครงการ “KBTG Fellowship”
ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ทาง KBTG จะส่งนักวิจัยของบริษัทไปที่ห้องปฏิบัติการงานวิจัย MIT เพื่อร่วมทำงานวิจัยเทคโนโลยีระดับโลกในขอบเขตที่เกี่ยวข้องกับ AI, UX/UI และเทคโนโลยี Blockchain โดยคาดว่าจะเริ่มขึ้นในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งนับเป็นบริษัทไทยแห่งแรกที่ส่งนักวิจัยไปที่ MIT Media Lab
ไม่เพียงเท่านี้ KBTG ยังได้ริเริ่มโครงการทุนวิจัย “KBTG Fellowship” เป็นทุนสนับสนุนแรกสำหรับ MIT Media Lab จากบริษัทเทคโนโลยีของไทย สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ KBTG ในการสนับสนุนการวิจัยระดับโลกเพื่อสังคมมนุษย์ที่ดีขึ้น
ดร.ทัดพงศ์ พงศ์ถาวรกมล กรรมการผู้จัดการ KBTG Labs ขยายความเพิ่มเติมถึงขั้นตอนการแต่งตั้ง KBTG Fellow ดำเนินการโดย MIT Media Lab และตามความยินยอมของ KBTG โดยผู้ที่จะได้รับการพิจารณาและมีสิทธิ์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Fellow ต้องเป็นนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา, นักวิจัยระดับปริญญาเอก, รองดุษฎีบัณฑิต, นักวิทยาศาสตร์ด้านการวิจัยหรือตำแหน่งเทียบเท่า ของ MIT เท่านั้น
ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องผลิตผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจของธนาคารกสิกรไทย และพันธกิจของ KBTG ในการใช้เทคโนโลยีเพื่อนำเสนอประโยชน์ในวงกว้างสำหรับประเทศไทยและสังคมไทย โดยทุนนี้มีระยะเวลา 2 ปี ในช่วงแรก และอาจได้รับการต่ออายุตามข้อตกลงระหว่าง KBTG และ MIT Media Lab ต่อไป
“การที่เราเป็นสมาชิกใน MIT Media Lab ส่งนักวิจัยของเราไปที่ห้องปฏิบัติการ มีระยะเวลาการทำวิจัย 1 ปี แล้วเอาผลงานวิจัยมาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์และบริการธนาคารกสิกรไทย และ KBTG โดยคาดว่าประมาณช่วงต้นปี 2566 จะเห็นผลงานทางวิชาการ และการนำมาปรับใช้ ส่วน KBTG Fellowship เป็นทุนสนับสนุน 2 ปี และสามารถต่ออายุได้ตามข้อตกลง
เหตุผลที่ทาง MIT Media Lab จับมือกับเรา เนื่องจาก KBTG มีวิสัยทัศน์สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวก ซึ่งการสร้าง Impact ต้องกลับไปที่ “ต้นน้ำ” นั่นคือ การทำวิจัย และร่วมมือกับนักวิจัย ขณะเดียวกัน MIT มองเห็นความสามารถของ KBTG ทั้งด้านเทคโนโลยี และการวิจัย จึงเกิดเป็นความร่วมมือที่ผลักดันการเติบโตไปด้วยกัน”
เปิดมุมมอง “พัทน์ ภัทรนุธาพร” KBTG Fellow คนแรก ผู้ศึกษาการปฏิสัมพันธ์ระหว่าง AI กับมนุษย์
สำหรับผู้ที่ได้รับทุนวิจัย “KBTG Fellowship” คนแรกคือ “คุณพัทน์ ภัทรนุธาพร” ผู้ที่มีผลงานโดดเด่น ทั้งริเริ่มความร่วมมือระหว่าง KBTG กับ MIT Media Lab มีความคิดสร้างสรรค์ และมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาชีวิตมนุษย์
ปัจจุบัน คุณพัทน์ ทำวิจัยเกี่ยวกับ “Human AI Interaction for Better Well-being” ศึกษาการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยี โดยผสมผสานระหว่าง Biological คือ ร่างกายมนุษย์ กับ AI เพื่อทำให้เทคโนโลยีสร้างศักยภาพให้กับมนุษย์เพิ่มมากขึ้น เช่น ช่วยในการตัดสินใจที่ดีขึ้น เรียนรู้ดีขึ้น และสร้างประโยชน์ให้กับสังคมในด้านต่างๆ เช่น ศึกษา AI Generated Character หรือนำ AI มาสร้างคาแรคเตอร์มนุษย์ เพื่อนำมาใช้สร้างประโยชน์กับผู้คนและสังคมอย่างไร
“สาขาที่ผม และคุณกระทิงมี passionate มากๆ คือ การศึกษา ถ้าเรามี AI ที่ทำให้เด็กเรียนจากใครก็ได้ที่เขาอยากเรียน เช่น ทำให้ตัวละครในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กลายเป็นครูสอนได้ หรือเอาภาพโมนาลิซ่า มาทำให้พูดได้ โดยใช้ AI หรือเอา AI มาใช้ในคลาสเรียน เพื่อสร้างการเรียนรู้ที่น่าสนใจ และน่าตื่นเต้นมากขึ้น”
นอกจากนี้ยังศึกษาการใช้ AI สร้างตัวเองในเวอร์ชั่นต่างๆ เช่น AI เวอร์ชั่นเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ทำให้มนุษย์คนหนึ่งสามารถเรียนรู้จากตัวเองในอนาคต และจากในอดีตได้ เหมือนมี Time Machine ที่ทำให้มนุษย์สามารถเดินทางไปคุยกับตัวเองในช่วงเวลาไหนก็ได้
รวมถึงยังช่วยสร้างตัวเราในอนาคต เช่น ใช้ AI ช่วยให้เด็กจินตนาการอนาคตของตัวเองได้ว่าอยากเป็นอะไร เช่น นักวิทยาศาสตร์, วิศวกร, หมอ, ศิลปิน หรือแม้แต่ใช้สำหรับผู้ป่วย เพื่อช่วยตัดสินใจว่าแผนการรักษา และการวางแผนทางการเงิน
“ที่ผ่านมาหลายคนเห็นงานวิจัยของ MIT Media Lab อาจสงสัยว่าไอเดียดูล้ำยุคจังเลย เช่น หน้าจอสัมผัส, เทคโนโลยีแผนที่นำทาง, เทคโนโลยี Wearable สิ่งเหล่านี้เกิดก่อนยุคทั้งนั้น เป็นการมองไปถึงอนาคต 10 – 20 ปีข้างหน้า
ดังนั้นความร่วมมือระหว่าง KTBT กับ MIT มีความมุ่งมั่นในการสร้าง Frontier ด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ สำหรับอนาคต โดย KBTG เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ห้องปฏิบัติการ MIT Media Lab
เพราะเราอยากเห็นคนไทยเป็นคนสร้างเทรนด์เทคโนโลยี สร้างคำนิยามใหม่ของเทคโนโลยีให้เกิดขึ้น สร้าง Category ใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน และเป็น Category Winner ไม่ต้องวิ่งตามเทรนด์คนอื่น ทำให้งานของ MIT Media Lab ที่ดูเหมือนอนาคตมากๆ หรือ Futuristic มากๆ เข้าถึงคนไทยได้ นี่คือความน่าตื่นเต้นของ Collaboration ครั้งนี้” คุณพัทน์ เล่าถึงงานวิจัยด้าน Human AI Interaction เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
คุณกระทิง กล่าวทิ้งท้ายถึงความร่วมมือกับ MIT Media Lab และการประกาศทุนสนับสนุน KBTG Fellowship สอดคล้องกับพันธกิจของ KBTG มุ่งสู่การเป็นองค์กรเทคโนโลยีชั้นนำในภูมิภาค โดยรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนคนไทยที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีได้เติบโตในเวทีโลก
“ประเทศไทยมีคนเก่งเยอะมากๆ KBTG จึงอยากเป็นบริษัทที่ให้โอกาสคนไทย และเปลี่ยนประเทศไทยโดยใช้เทคโนโลยี และการศึกษา ด้วยการจับมือกับ MIT Media Lab และสนับสนุนทุนวิจัย KBTG Fellowship นี่คือหน้าที่ของเรา และเป็นความฝันอันยิ่งใหญ่ของ KBTG ที่จะเป็นลมใต้ปีกช่วยให้คนไทยไปได้ไกลยิ่งไป ไปให้ไกลที่สุดตามความฝันของเขา และโครงการ KBTG Fellowship จะเป็นโครงการระยะยาวที่เราทำต่อไปอย่างแน่นอน”