ตลาดงานในช่วงกว่า 2 ปีมานี้มีความผันผวน และเปลี่ยนแปลง โดยบางสายงานได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เช่น ภาคการผลิต, ภาคบริการ ทำให้ต้องลดคน ขณะที่บางสายงานเป็นที่ต้องการมากขึ้น เช่น สายงานไอที และคนที่มีทักษะดิจิทัล ทั้งหน่วยงานรัฐ และเอกชนต้องการทำ Digital Transformation ในองค์กร
“JobsDB” (จ๊อบส์ดีบี) เปิดผลสำรวจภาพรวมและแนวโน้มตลาดงานปี 2565 “SURVEY TO SURVIVE : เจาะ INSIGHT แนวโน้มตลาดงาน ทักษะอะไรที่คนทำงานยุคใหม่ต้องมี” โดยอ้างอิงจากจำนวนประกาศงานและข้อมูลการสมัครงาน พบว่า ในช่วง COVID-19 มีผลกระทบต่อการจ้างงาน อาชีพ และพนักงานหลายคนถูกเลิกงาน ทำให้เกิดอัตราการว่างงาน แต่หลังจากสถานการณ์คลี่คลายขึ้น มีวัคซีนเข้ามา ทำให้ความเชื่อมั่นในตลาดงานดีขึ้น
– เศรษฐกิจในช่วง COVIDo-19 มีความเหวี่ยง และหดตัวสูงในไตรมาสที่ 3 ของปี 2563
– เกิดอัตราการว่างงานเกือบ 2 เท่า เมื่อเทียบ กับช่วงก่อน Covid จากนั้นก็ค่อย ๆ ลดลง ด้วยข่าวการคิดค้นวัคซีน
– ปลายปี 2564 อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นนเป็น 2.25%
– ต่อมา COVID-19 เปลี่ยนจากสายพันธุ์เดลต้า เป็นโอไมครอน ความรุนแรงของอาการลดลง ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มมั่นใจว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ไม่ส่งผลกระทบรุนแรง จึงเปิดรับคนเข้าทำงานอีกครั้งในไตรมาส 1 ปี 2565
10 อันดับธุรกิจ – ประเภทงานที่เปิดรับสมัครงานสูงสุด “ไอที”
กลุ่มธุรกิจที่เปิดรับสมัครงานสูงสุดคือ
1. ธุรกิจไอที 11.3%
2. ธุรกิจขายส่ง ขายปลีก 10.8%
3. ธุรกิจธนาคารและการเงิน 8.4%
4. ธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 8.1%
5. ธุรกิจขนส่ง 8.1%
6. ธุรกิจการผลิต 8.0%
7. ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 4.6%
8. ธุรกิจโฆษณา และธุรกิจสื่อ 3.6%
9. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 3.3%
10. ธุรกิจประกันภัย 2.9%
ขณะที่ประเภทงานที่เปิดรับสมัครสูงสุดคือ
1. ไอที 19.1%
2. งานขาย งานบริการลูกค้า งานพัฒนาธุรกิจ 19.0%
3. งานวิศวกรรม 13.9%
4. งานการตลาดและประชาสัมพันธ์ 11.4%
5. งานบัญชี 9.0%
6. งานธุรการ งานทรัยพากรบุคคล 8.7%
7. งานธนาคาร งานการเงิน 7.5%
8. งานการผลิต 6.7%
9. งานขนส่ง 5.6%
10. งานบริการเฉพาะทาง 5.3%
ทั้ง “ธุรกิจไอที” และ “สายงานไอที” เช่น Programmer & Software Developer, Data Science / Data Analysis, IT Infrastructure, Cyber Security, Cloud Operations และ Artificial Intelligence (AI) ยังคงมีประกาศงานมากที่สุดต่อเนื่องตั้งแต่ช่วง COVID-19 และเป็นตำแหน่งงานไอทีที่ตลาดงานต้องการมากที่สุด เนื่องจากองค์กร ทั้งภาครัฐ และเอกชนต้องการทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิทัล
10 อันดับธุรกิจ – สายงานที่มีการสมัครมากที่สุด
ประเภทธุรกิจมีการสมัครมากที่สุด
1. ธุรกิจค้าส่ง ธุรกิจค้าปลีก 13.2%
2. ธุรกิจขนส่ง 13.2%
3. ธุรกิจไอที 8.3%
4. ธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิสก์ 8.3%
5. ธุรกิจการผลิต 7.4%
6. ธุรกิจธนาคารและการเงิน 6.9%
7. ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 6.6%
8. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 4.4%
9. ธุรกิจเคมี ปิโตรเคมี 3.3%
10 .ธุรกิจโฆษณสื่อ 3.3%
ประเภทงานที่คนสมัครมากที่สุด
1. งานขาย งานบริการลูกค้า งานพัฒนาธุรกิจ 14.3%
2. งานการตลาด งานประชาสัมพันธ์ 11.7%
3. งานธุรการ งานทรัพยากรบุคคล 10.9%
4. งานวิศวกรรม 10.3%
5. งานไอที 5.7%
6. งานการผลิต 5.7%
7. งานขนส่ง 5.6%
8. งานธนาคาร งานการเงิน 4.9%
9. งานบัญชี 4.7%
10. งานจัดซื้อ 3.6%
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าสายงานไอที และวิศวะ ยังติดอันดับ Top 5 ที่คนนิยมสมัครมากที่สุด
“งานไอที” เงินเดือนเพิ่มสูงขึ้น – 4 ธุรกิจฟื้นตัวเติบโตก้าวกระโดด
สำหรับ 5 อันดับสายงานที่เงินเดือนเพิ่มสูงขึ้น ประกอบด้วย
– งานไอที
– งานขาย งานบริการลูกค้า งานการตลาด งาน PR
– งานการศึกษา การฝึกอบรม
– งานสุขภาพ โภชนาการ ความงาม
– งานธุรการ งานทรัพยากรบุคคล
ขณะที่ 4 ธุรกิจที่ฟื้นตัว และเติบโตอย่างก้าวกระโดด
– ธุรกิจพลาสติก กระดาษ ปิโตรเคมี: กลุ่มธุรกิจเหล่านี้เฟื่องฟู เพราะมีการใช้พลาสติกเพิ่มขึ้นถึง 300% จากบริการส่งอาหาร โดยตำแหน่งงานที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดคือ “วิศวกรรม” และพื้นที่ที่มีการรับสมัครตำแหน่งงานเหล่านี้มากสุด คือ ภาคตะวันออก (40%) และกรุงเทพฯ (36%)
– ธุรกิจไอที เติบโตเร็วเนื่องจากในช่วง COVID-19 เร่งให้เอกชนและภาครัฐปรับเปลี่ยนเข้าสู่ Digital Transformation จึงทำให้สายงานนี้เป็นที่ต้องการ ประกอบกับคนใช้ดิจิทัลมากขึ้น และ พบว่าบริษัทขนาดเล็กที่มีพนักงานน้อยกว่า 50 คน มากกว่า 60% ของการประกาศรับสมัครงาน เปิดรับสายงานไอที เช่น Software Develope
– ภาคการผลิต สอดคล้องกับมาตรการรัฐบาลผ่อนปรนการควบคุม COVID-19 และคนฉีดวัคซีนมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการเกิดความมั่นใจในการจ้างงานมากขึ้น ทำให้มีการหาคนเข้าสู่ภาคผลิตมากขึ้น โดยจังหวัดที่ประกาศรับงานภาคการผลิตมากสุด คือ ชลบุรี และตำแหน่งระดับเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้น 79.5% คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 40% ของประกาศงานทั้งหมด จังหวัดประกาศหาเยอะมาก คือ ชลบุรี
– การแพทย์และเภสัชกรรม พบว่างานวิทยาศาสตร์ งานแลป งานวิจัยเพิ่มขึ้น 51.95% ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากโรงพยาบาลเอกชนเปิดตัวบริการทางการแพทย์ออนไลน์ เพื่อใหบริการทางไกล เช่น แอปพลิเคชันตรวจรักษาออนไลน์, นัดแพทย์ออนไลน์ ทำให้ความต้องการบุคลากรด้านการแพทย์และเภสัชกรรมเพิ่มขึ้น
“ไอที/คนดิจิทัล” สายงานมนุษย์ทองคำที่ตลาดงานแย่งชิงตัว พร้อมเปลี่ยนงาน
สำหรับภาพรวมการจ้างงานปี 2565
– ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจฟื้นตัว อัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการมั่นใจและจ้างงานมากขึ้น
– ธุรกิจที่ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ได้เร็ว ย่อมได้เปรียบในเชิงธุรกิจมากกว่า
– “ไอที” ยังคงเป็นนสายงานมนุษย์ทองคำที่ตลาดงานพร้อมแย่งชิงตัว และเป็นสายงานที่เงินเดือนขึ้นอันดับ 1 มาตลอดตั้งแต่ก่อน COVID-19
– ภาค SME บางแห่ง พร้อมทุ่มเสนออัตราเงินเดือนที่สูง เพื่อดึงดูดมนุษย์ไอทีเข้าทำงาน
– คาดการณ์การจ้างงานครึ่งปีหลัง จะมีการจ้างงานมากขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอัตราเงินเฟ้อ และเศรษฐกิจโลก
นอกจากนี้ JobsDB ร่วมมือกับ Boston Consulting Group (บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป) และ The Network (เดอะ เน็ตเวิร์ก) จัดทำแบบสำรวจระดับโลก “ถอดรหัสลับ จับทิศทางความต้องการคนที่มีทักษะดิจิทัล” (Decoding Digital Talent Survey) จากผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 2 แสนคน ใน 190 ประเทศ เพื่อศึกษาความต้องการที่เปลี่ยนไปของแรงงานที่มีทักษะดิจิทัลทั่วโลก ซึ่งจากผลสำรวจ พบว่า คนมีทักษะดิจิทัลมีความกระตือรือร้นที่จะเปลี่ยนงานภายใต้สายงานเดิม โดยมีปัจจัยด้านความต้องการแสวงหาโอกาสในการก้าวหน้าอัตราค่าตอบแทนที่สูงขึ้น และความท้าทายใหม่ ๆ เป็นแรงจูงใจหลัก
– 73% ของคนมีทักษะดิจิทัล วางแผนเปลี่ยนงานอีก 2 – 3 ปีข้างหน้า
– 40% ของคนมีทักษะดิจิทัล กำลังมองหางานใหม่
คนที่มีทักษะดิจิทัลอยู่ในกลุ่มแนวหน้าของการลาออกครั้งใหญ่ (The Great Resignation) เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้น ทว่า “ค่าตอบแทน” ไม่ใช่เหตุผลหลักในการเปลี่ยนงาน แต่คือ “โอกาสในความก้าวหน้า” เป็นเหตุผลหลักที่คนคนดิจิทัลต้องการจากงานใหม่ ดังนั้นองค์กรต้องมีแผนรักษาคนเก่ง เพื่อป้องกันภาวะสมองไหล
เหตุผลของการเปลี่ยนงานสำหรับคนดิจิทัลคือ
– 63% โอกาสก้าวหน้าในอาชีพ
– 49% ต้องการความท้าทาย
– 36% รู้สึกไม่ได้รับการยอมรับในตำแหน่งงานปัจจุบัน
– 29% ขาดความสมดุลของชีวิตและงาน
– 24% มองหาองค์กรที่มีความเชื่อและคุณค่าที่ตรงกัน
“คนมีทักษะดิจิทัล พร้อมเปลี่ยนแปลงเสมอ และการเปลี่ยนงานทำให้เขาได้มีประสบการณ์มากขึ้น แตกต่างจากยุคก่อนอาจมองว่าการเปลี่ยนงาน เหมือนคนเปลี่ยนงานบ่อย แต่ทุกวันนี้คนจะเปลี่ยนงานบ่อยขึ้น เพราะทักษะบางอย่างเป็นที่ต้องการ เช่น ทักษะดิจิทัล หรือด้านไอที และในเมื่อคนที่มีทักษะนั้นๆ ยังมีน้อย จะเกิดการแย่งตัวกันไปมา
เพราะฉะนั้นบริษัทต้องคิดแผนในการดึงให้คนเหล่านี้อยู่กับบริษัทมากขึ้น เช่น สร้างโอกาสการก้าวหน้าให้กับเขา พิจารณา Work-life Balance และ Wellbeing แผนดึงดูดให้คนอยู่กับบริษัท สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีทักษะหายาก” คุณดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด ฉายภาพความต้องการคนที่มีทักษะดิจิทัล
คนดิจิทัลต้องการ “Hybrid Work” และ 10 ประเทศที่อยากทำงานระยะไกล
ความต้องการของ “คนดิจิทัล” ต้องการทำงานกับองค์กรที่มีนโยบายด้านความเทียม, มีรูปแบบการทำงานทางไกล และ Hybrid Work
– 61% คนดิจิทัลให้ความสำคัญกับความหลากหลายและเท่าเทียม
– 50% จะปฏิเสธองค์กรที่ไม่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายและเท่าเทียม
เมืองที่มีนวัตกรรมทันสมัย องค์กรมั่นคง และใส่ใจสังคม จะดึงดูดคนดิจิทัลให้อยากไปทำงานด้วย โดยพบว่า “กรุงลอนดอน” เป็นอันดับ 1 เมืองในใจของคนดิจิทัลอยากย้ายไปทำงาน ขณะที่ประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก ได้รับความนิยมมากขึ้นคือ สิงคโปร์, โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นผลมาจากการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างชัดเจน
– 57% ของคนดิจิทัล ต้องการทำงานแบบ Hybrid Work
– 95% ของคนที่มีทักษะดิจิทัลต้องการให้บริษัทมีนโยบายทำงานที่บ้านทั้งหมด หรือเข้าบริษัทเป็นบางวัน เช่น เข้าออฟฟิศเฉพาะมีโปรเจคสำคัญ หรืองานระดมสมอง
ขณะที่ประเทศที่คนดิจิทัลทั่วโลกสนใจต้องการทำงานระยะไกลให้ด้วยมากที่สุดคือ
1. สหรัฐอเมริกา
2. สหราชอาณาจักร
3. ออสเตรเลีย
4. เยอรมนี
5. แคนาดา
6. สิงคโปร์
7. ญี่ปุ่น
8. สาธารณรัฐประชาชนจีน
9. สวิสเซอร์แลนด์
10. ฝรั่งเศส
ขณะที่ 10 ประเทศที่จ้างงานคนไทยทำงานแบบ Hybrid Work
1. สิงคโปร์
2. มาเลเซีย
3. รัสเซีย
4. จีน
5. อินโดนีเซีย
6. อินเดีย
7. ฟิลิปปินส์
8. กาตาร์
9. แอฟริกาใต้
10. สหรัฐอาหรับเอมิเรตต์
ที่น่าจับตามองคือจะเกิดศึกแย่งตัวคนทำงานแบบข้ามพรมแดน
– หลัง COVID-19 คลี่คลาย ทุกประเทศยอมรับการทำงานแบบ Hybrid Work Model
– ทั้งคนทำงาน และผู้ประกอบการ มองข้ามข้อจำกัดด้านกายภาพ และภูมิศาสตร์ว่าไม่ใช่อุปสรรคในการจ้างงานอีกต่อไป
– คนไทยที่มีความสามารถด้านดิจิทัล และเชี่ยวชาญเฉพาะทาง พร้อมทำงานให้บริษัทต่างชาติ
– คนที่มีทักษะด้านภาษาได้เปรียบเรื่องการจ้างงาน และค่าตอบแทนที่สูง
“ด้วยความที่คนดิจิทัลเลือกได้ เขาอยากไปในที่ๆ ทันสมัย องค์กรมั่นคง มีสิ่งดึงดูด เช่น ลอนดอน และถ้าในเอเชียแปซิกฟิก เช่น สิงคโปร์, ญี่ปุ่น อย่างญี่ปุ่นเพิ่งประกาศเปิดรับ Expat เข้ามาทำงานในประเทศมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันญี่ปุ่นประสบภาวะขาดแคลนคนทำงาน จึงเปิดรับคนทำงานต่างประเทศมากขึ้น”
คนดิจิทัลกังวล “AI” – ต้องการเวลาพัฒนาทักษะใหม่ และแนวทางองค์กรรักษาคนดิจิทัล
ผลสำรวจนี้ ยังได้เปิดเผยข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจอีกหนึ่งประเด็นด้วยว่า การแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดงานและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีต่างๆ ที่อาจเข้ามาแทนที่แรงงาน ส่งผลให้ผู้ที่มีทักษะดิจิทัลมีความกังวลด้านระบบ AI และต้องการเวลาพัฒนาทักษะใหม่
– 42% คนดิจิทัลมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของระบบอัตโนมัติ, อัลกอริธึม, หุ่นยนต์ หรือซอฟต์แวร์ขั้นสูง ที่อาจเข้ามาแทนที่ความสามารถและทักษะต่าง ๆ ของพวกเขา
– 68% ผู้มีทักษะดิจิทัลส่วนใหญ่จำเป็นต้องติดตามและเข้าใจเทคโนโลยีที่พัฒนาอยู่ตลอดเวลาเพื่อฝึกทักษะใหม่ๆ ที่มีความสำคัญและจำเป็นในการทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่าความสามารถของพวกเขาจะนำไปสู่การจ้างงานที่มั่นคงและยั่งยืน โดยต้องการเวลาอย่างน้อย 2 – 3 สัปดาห์ในการพัฒนาทักษะใหม่
– 60% ยอมเรียนรู้ทักษะใหม่กับงานใหม่ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้
“สิ่งที่องค์กรควรทำคือ เตรียมแผนพัฒนาทักษะต่างๆ เพื่อให้พนักงานมีการพัฒนาทักษะ และส่งเสริมให้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ และเสนองานที่ท้าทายให้กับผู้ทำงาน และสนับสนุนให้เกิดการไปดูงาน หรือไปทำงานที่ต่างประเทศ เพื่อทำให้พนักงานไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้โอกาส เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องพิจารณาโปรแกรมให้กับพนักงาน”
ทักษะคนทำงานยุคดิจิทัลต้องมี – แหล่งพัฒนาทักษะยอดนิยม
ทุกวันนี้เป็นยุคคนต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ดังนั้นทักษะที่คนทำงานยุคดิจิทัลต้องมีทั้งด้าน Hard Skill และด้าน Soft Skill
1. ทักษะการเรียนรู้
– ใส่ใจนวัตกรรม
– มีความคิดสร้างสรรค์
– แก้ปัญหาเป็น
2. ทักษะด้านดิจิทัล และเทคโนโลยี
– รอบรู้เรื่องสื่อดิจิทัล
– อัปเดตข้อมูลข่าวสาร
– ประยุกต์ และฉลาดสื่อสาร
3. ทักษะชีวิตสังคมและอาชีพ
– ปรับตัว
– มีความเป็นผู้นำ
– Growth Mindset
ขณะที่แหล่งพัฒนาทักษะยอดนิยมของคนทำงานยุคดิจิทัลหลักๆ คือ
– การอ่านหนังสือ/เอกสารต่างๆ
– การศึกษาออนไลน์มีบทบาทมากขึ้นหลังเกิด COVID-19 เช่น คอร์สเรียนออนไลน์,แอปพลิเคชันการเรียนรู้ทักษะต่างๆ
– การสอนงานขณะปฏิบัติงาน
– การประชุมและสัมมนา
– สถาบันการศึกษาดั้งเดิม
ล่าสุด JobsDB ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านแพลตฟอร์มหางานชั้นนำของเอเชีย เปิดตัวแคมเปญ UpLevel นำเสนอออนไลน์คอนเทนต์ครอบคลุมความรู้ทางดิจิทัลตั้งแต่ขั้นพื้นฐานไปจนถึงขั้นสูง ทักษะทางสังคม (Soft Skill) ที่จำเป็นสำหรับคนทำงานยุคใหม่ รวมถึงเทคนิคการเขียนเรซูเม่ และการสัมภาษณ์งานให้โดนใจ HR รวมกว่า 30 คอร์ส โดยร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น ไมโครซอร์ฟ, เพจ The Hunters และ บริษัท บียอนด์ เทรนนิ่ง จำกัด มาให้ความรู้ เสริมทักษะ เพื่อติดอาวุธและอัปเลเวลคนทำงานยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ