4 เหตุผล “เซ็นทรัลพัฒนา” รุกธุรกิจโรงแรม ปั้น 3 แบรนด์ เปลี่ยนรูปแบบการเข้าพักให้เป็นมากกว่าการท่องเที่ยว

  • 32
  •  
  •  
  •  
  •  

Central Pattana Hotel

หลังจาก “เซ็นทรัลพัฒนา” ประกาศวิสัยทัศน์ Retail-Led Mixed-Use Development” ผนึกกำลังทุกองค์ประกอบ ทั้งศูนย์การค้า, ที่อยู่อาศัย, อาคารสำนักงาน และโรงแรม โดยให้ “ศูนย์การค้า” เป็นธุรกิจหลัก โดยตั้งเป้าภายในปี 2569 มีโครงการจากทุกธุรกิจรวมกันกว่า 180 โครงการใน 30 กว่าจังหวัดทั่วประเทศ มูลค่างบลงทุนรวมกว่า 120,000 ล้านบาท

ล่าสุดได้เปิดแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (ปี 2565 – 2569) “ธุรกิจโรงแรม” สร้าง Brand Portfolio 3 แบรนด์ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ เพื่อตอบทุกจุดประสงค์ของการเข้าพัก ตั้งแต่เพื่อท่องเที่ยวพักผ่อน, ทำธุรกิจ, ทำงานและพักผ่อนไปด้วย หรือ Workation (Work + Vacation) หรือการเข้าพักแบบ Staycation โดยตั้งเป้าขยาย 37 โครงการใน 27 จังหวัด รวมกว่า 4,000 ห้อง รวมงบลงทุน 10,000 ล้านบาทจากงบลงทุนรวม 5 ปีเซ็นทรัลพัฒนากว่า 120,000 ล้านบาท โดยผนึกกำลังกับพันนธมิตรในกลุ่มเซ็นทรัล “Centara Hotels & Resorts” ในการบริหารโรงแรมด้วยมาตรฐานและการบริการระดับ International Standard

 

Central-Pattana-Hotel

 

COVID-19 เปลี่ยนภูมิทัศน์ธุรกิจโรงแรม และการเดินทาง

การเกิด COVID-19 ได้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ธุรกิจโรงแรม จากในอดีตเน้นตอบโจทย์ด้านการท่องเที่ยวเป็นหลัก ดังนั้นลูกค้ากลุ่มใหญ่จึงเป็นนักท่องเที่ยว ทั้งคนไทยและคนต่างประเทศ แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดหนัก ทำให้ต้องปิดประเทศ และล็อกดาวน์ ส่งผลกระทบมหาศาลกับภาคท่องเที่ยวและการเดินทาง

เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามา ธุรกิจโรงแรมปรับมาโฟกัสตลาดในประเทศมากขึ้น  ด้วยการออกแบบแพ็คเกจดึงดูดคนในประเทศเข้ามาใช้บริการ ไม่ว่าจะเพื่อการพักผ่อนท่องเที่ยว, เพื่อตอบโจทย์การทำงานรูปแบบ Work From Anywhere หรือรูปแบบ Workation หรือแม้แต่พักโรงแรมใกล้บ้านแบบ Staycation

เพราะ Insight ของคนในช่วงล็อกดาวน์ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในบ้านนานๆ และต้องทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันอยู่แต่ภายในบ้าน ทั้งทำงาน เรียน ทำอาหาร ออกกำลังกาย รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ เมื่อผ่านไปนานวันเข้า อาจทำให้รู้สึกเบื่อ และเครียดที่ต้องอยู่ในบรรยากาศเดิมๆ

ในเวลานั้นธุรกิจโรงแรมเอง ก็ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โรงแรมแต่ละเชน แต่ละแห่ง จึงทำโปรโมชั่นสำหรับ Domestic Market สำหรับคนไทยที่อยากเปลี่ยนบรรยากาศจากบ้าน มาพักในโรงแรม เพราะมองว่าตอบโจทย์ทั้งโปรโมชั่นราคาที่ทางโรงแรมนำเสนอ, ความครบวงจรของสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ, การบริการ และบรรยากาศโดยรวม

นับเป็นจุดเปลี่ยน Landscape ธุรกิจโรงแรมในไทยที่มองเห็นโอกาสใหม่ที่ไม่จำกัดเฉพาะตลาดท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังได้ขยายการให้บริการที่ตอบโจทย์จุดประสงค์การเดินทางที่หลากหลายขึ้น​ โดยเฉพาะทุกวันนี้โลกการทำงานเปลี่ยนเป็นรูปแบบ Hybrid ที่หลายองค์กรเปิดให้พนักงานสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ และเกิด Digital Nomad มากขึ้น

Workation 

 

4 เหตุผล “เซ็นทรัลพัฒนา” ลุยธุรกิจโรงแรม

เหตุผลสำคัญที่ “เซ็นทรัลพัฒนา” ลงทุนพัฒนาธุรกิจโรงแรม มาจาก 4 ปัจจัยหลักประกอบด้วย

1. ต่อจิ๊กซอว์วิสัยทัศน์ Retail-Led Mixed-Use Development” ผนึกกำลังทุกองค์ประกอบ ทั้งศูนย์การค้า, ที่อยู่อาศัย, อาคารสำนักงาน และโรงแรม โดยให้“ศูนย์การค้า”เป็นธุรกิจหลัก โดยทุกโรงแรมของเซ็นทรัลพัฒนาจะเปิดใกล้กับศูนย์การค้าของทั้งเซ็นทรัลพัฒนา และเครือเซ็นทรัลรีเทล

แนวคิดการทำ “Retail-Led Mixed-Use Development” เพื่อสร้างมูลค่าที่ดิน, ทำให้เกิดการใช้ที่ดินให้ได้ประโยชน์สูงสุด, แต่ละองค์ประกอบหนุนซึ่งกันและกัน เกิด traffic หมุนเวียนภายในโครงการ และเมื่อ diversify ธุรกิจ ทำให้มีรายได้ ทั้งจากการขายกรรมสิทธิ์ และรายได้ที่เข้ามาต่อเนื่อง (Recurring Income)

โดยตั้งเป้าผลักดันธุรกิจอาคารสำนักงาน, โรงแรม, ที่อยู่อาศัยให้มีสัดส่วนรายได้กลุ่มธุรกิจละ 10% ภายใน 5 ปี จากปัจจุบันสัดส่วนรายได้ 80% มาจากธุรกิจศูนย์การค้า

ดังนั้นต่อจากนี้ “ธุรกิจโรงแรม” จะมีความสำคัญกับเซ็นทรัลพัฒนามากขึ้น จากที่ผ่านมามีโรงแรม 2 แห่งคือ โรงแรมเซ็นทาราและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ อุดรธานี และฮิลตัน พัทยา

Central-Pattana-Hotel

2. รับการเติบโตของตลาดในประเทศ (Domestic Market) หลังจาก COVID-19 ตลาดท่องเที่ยวในประเทศฟื้นตัวได้เร็วกว่าตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เฉพาะเดือนเมษายน ปี 2565 มีคนไทยเที่ยวในประเทศ 30 ล้านคน เมื่อเทียบกับปี 2562 มีคนไทยเที่ยวในประเทศ 38 ล้านคน นั่นหมายความว่าตลาดการท่องเที่ยวในประเทศ สามารถฟื้นกลับมาได้เกือบเท่าก่อนเกิด COVID-19 และอัตราผู้เข้าพักโรงแรมในไทยตั้งแต่ปี 2555 – 2565 โตโดยเฉลี่ย 10% ต่อปีทุกปี

3. ความต้องการเข้าพักโรงแรมของผู้บริโภคมีหลากหลายจุดประสงค์มากขึ้น ตอบโจทย์เทรนด์ “Bleisureในอดีตจุดประสงค์หลักของการเข้าพักโรงแรม ส่วนใหญ่เพื่อการท่องเที่ยวพักผ่อน และเพื่อธุรกิจ แต่ปัจจุบันเทรนด์การทำงานทั่วโลกไปในทาง Hybrid และ Work From Anywhere หรือ Remote Work มากขึ้น รวมทั้งเกิด Freelancer เพิ่มขึ้น

ดังนั้นเป็นโอกาสของธุรกิจโรงแรมในการเจาะลูกค้ากลุ่ม Staycation, Workation และ Digital Nomad (คนทำงานที่ใช้เทคโนโลยีและออนไลน์ในสถานที่ต่างๆ ตามที่เขาเลือกพักอาศัย) เป็นกลุ่มที่มีการเติบโตสูง ซึ่งนี่เป็นโอกาสที่ “เซ็นทรัลพัฒนา” เจาะตลาดลูกค้าทุกเซ็กเมนต์ หลากหลายจุดประสงค์การเข้าพักโรงแรม

Central-Pattana-Hotel

“ทุกวันนี้การเข้าพักโรงแรม ไม่ใช่แค่เพื่อท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่ยังมีเทรนด์ “Bleisure” (Business + Leisure) การพักผ่อนและการทำงานด้วยกัน เพราะทุกวันนี้ลูกค้าเข้าพักโรงแรมในหลากหลายจุดประสงค์ ไม่ว่าจะเพื่อ Work from anywhere, Staycation, Digital Nomad

นั่นหมายความว่าโปรดักต์ของแต่ละแบรนด์ต้องตอบโจทย์การพักผ่อนที่สบาย มีสิ่วอำนวยความสะดวกในการทำงาน เช่น มีปลั๊กชาร์จ มีอินเทอร์เน็ต และสามารถรับประทานอาหารได้หลากหลาย สะดวก

เนื่องจากทุกโรงแรมของเซ็นทรัลพัฒนาอยู่ติดกับศูนย์การค้า ทั้งในกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา และในเครือเซ็นทรัล เราสามารถ synergy กับศูนย์การค้า ลูกค้าสั่งอาหารมาจากศูนย์การค้ามารับประทานที่โรงแรมได้, การเข้าออกสะดวก, มีที่จอดรถที่สะดวก ทำให้ต่อไปโรงแรมจะกลายเป็นเหมือนคอนโดมากขึ้น” คุณภูมิ จิราธิวัฒน์ Head of Hotel Property บมจ.​เซ็นทรัลพัฒนา ฉายภาพโอกาสธุรกิจโรงแรมในเครือเซ็นทรัลพัฒนา

4. ยกระดับมาตรฐานโรงแรมในทุกจังหวัดที่เข้าไปปักหมุดลงทุน ด้วยแบรนด์ที่ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ และนำ Local Essence หรือแก่นความเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นเข้ามาผสานอยู่ในองค์ประกอบต่างๆ ของโรงแรม ตั้งแต่การออกแบบตกแต่ง, อาหารการกิน, ศิลปะ และชุมชนท้องถิ่น เพื่อทำให้โรงแรมเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมท้องถิ่น

Central Pattana Hotel
คุณภูมิ จิราธิวัฒน์ Head of Hotel Property บมจ.​เซ็นทรัลพัฒนา

 

กางพอร์ตปั้น 3 แบรนด์ คลุมทุกเซ็กเมนต์

“เซ็นทรัลพัฒนา” ตั้งเป้า 5 ปี (ปี 2565 – 2569) “ธุรกิจโรงแรม” จะมี 37 แห่งใน 27 จังหวัด ภายใต้ Brand Portfolio 3 แบรนด์ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ เพื่อตอบทุกจุดประสงค์ของการเข้าพัก โดยเซ็นทรัลพัฒนาเป็นผู้ลงทุนสร้าง และทาง Centara Hotels & Resorts บริษัทในเครือกลุ่มเซ็นทรัลบริหารโรงแรม

– Centara แบรนด์ระดับ Upscale เป็นรูปแบบ Full Service Hotel ราคาเริ่มต้น 2,000 บาทต่อคืน วางแผนเปิด 4 แห่ง

– Centara One แบรนด์ Lifestyle Midscale เกิดขึ้นมาจากทางเซ็นทรัลพัฒนา อยากให้เซ็นทาราพัฒนาอีกหนึ่งแบรนด์ เพื่อตอบโจทย์ของผู้บริโภคอีกเซ็กเมนต์ ราคาเริ่มต้น 1,700 บาทต่อคืน วางแผนเปิด 8 แห่ง

– Go! Hotel เป็นแบรนด์ Premium Budget ราคาเริ่มต้น 1,000 บาทต่อคืน ตอบโจทย์ความคุ้มค่าคุ้มราคา วางแผนเปิด 25 แห่ง โดยสาขาแรกจะเปิดตัวภายในปี 2565 อยู่ในโซน EEC

ตั้งเป้าใน 2 ปีข้างหน้า จะมี 10 โรงแรมในหลากหลายโลเคชั่น เช่น โคราช, อุบลราชธานี, อยุธยา, ชลบุรี, ศรีราชา, ระยอง, เชียงราย

Central Pattana Hotel

Central Pattana Hotel Central Pattana Hotel Central Pattana Hotel

“เราจะสร้างมาตรฐานแห่งการพักอาศัยในโรงแรมทุกแห่ง เพื่อให้โครงการโรงแรมของเราเป็น Destination อันดับ 1 ในด้านการเดินทางภายในประเทศ บุกเบิกเศรษฐกิจการเดินทาง (Travel Ecosystem) ด้วย 3 กลยุทธ์สำคัญคือ

 1. Complete Travel Ecosystem: มองธุรกิจโรงแรมมากกว่าการท่องเที่ยว แต่คือการเดินทางที่ตอบโจทย์นักเดินทาง ทั้งชาวไทย และต่างชาติได้ทุกจุดประสงค์ ทั้งการเดินทางเพื่อท่องเที่ยวพักผ่อน, เพื่อการติดต่อธุรกิจ หรือเพื่อการทำงาน และพักอาศัย หรือการผสมผสานทุกจุดประสงค์เข้าด้วยกัน

 2. Create new standard of travel lifestyle: สร้างมาตรฐานการพักโรงแรมทั่วประเทศ ด้วยแบรนด์โรงแรมครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ พร้อมการ Synergy กับธูรกิจในกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา และเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป

 3. Co-creating with Communities: ผนึกกำลังชุมชน ส่งเสริมอัตลักษณ์ ต่อยอดและกระจายรายได้สู่ธุรกิจในท้องถิ่น

ทุกจังหวัดในประเทศไทยมีศักยภาพในการรองรับการเดินทางเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ อยู่แล้ว ซึ่งการขยายโครงการโรงแรม รวมถึงต่อยอดโครงการ Mixed-use ของเซ็นทรัลพัฒนาในครั้งนี้เชื่อว่าจะส่งผลเชิงบวกต่อการเดินทาง ทำให้คนไทยมี Destination ในการเดินทางใหม่ๆ มากขึ้น รวมถึงชาวต่างชาติมีตัวเลือกของการพักอาศัยที่หลากหลายมากขึ้นด้วย” คุณวัลยา จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา ฉายภาพกลยุทธ์หลัก

Central Pattana Hotel

 

เตรียมเปิด “Centara Korat” กันยายน 2565

สำหรับในปีนี้ จะเริ่มต้นจากโรงแรม “Centara Korat” พัฒนาให้เป็น The Place to Be และเป็นจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่ง ตอบโจทย์ทุกความต้องการของนักเดินทาง ด้วยมาตรฐานและการให้บริการระดับ International Standard ของเซ็นทารา เติมเต็มการเป็น “Retail-Led Mixed-Use Development” จากปัจจุบันที่มีศูนย์การค้า และคอนโด ESCENT 2 อาคาร เตรียมเปิดตัวโรงแรม Centara Korat ในเดือนกันยายน 2565 นี้ รวมมูลค่าลงทุนทั้งโครงการกว่า 10,000 ล้านบาท ภายในโรงแรมประกอบด้วย

Centara Korat Hotel

– ห้องพัก 218 ห้อง แต่ละห้องดีไซน์สไตล์ Warm, Natural, Modern และมี Functionality อยู่ได้เหมือนคอนโด

– มีร้านอาหาร 2 ห้อง คือ House of Kin ออกแบบในคอนเซ็ปต์ 3 Generations all day dining คือ ปู่ย่าตายายพ่อแม่ลูกมาใช้บริการร่วมกันได้ทั้งหมด และ Roof Top Restaurant สำหรับลูกค้าที่อยากรับประทานอาหารบนชั้นดาดฟ้า ชมบรรยากาศเมืองโคราช

– มีห้องประชุมขนาด 930 กว่าตารางเมตร เพื่อจัดงาน MICE, งานอีเว้นท์ และงานอื่นๆ เช่น งานแต่งงาน งานแถลงข่าว

– สิ่งอำนวยความสะดวกครบ เช่น ฟิตเนส และสระว่ายน้ำ

Centara Korat Hotel

“สำหรับโครงการแรกที่พร้อมเปิดตัวในเดือนกันยายนนี้คือ Centara Korat ซึ่งจะเป็นเครือโรงแรม (Chain Hotel) ระดับ International แห่งแรกของเมือง โดยโคราชเป็น gateway ไปสู่ภาคอีสานซึ่งเซ็นทรัลพัฒนาได้บุกเบิกโครงการมิกซ์ยูส เซ็นทรัล โคราช เอาไว้แล้ว

เราพบว่าตลาดโรงแรมในจังหวัดนี้ยังมีโอกาสเติบโต และการเข้าพักอาศัยเฉลี่ยมีแนวโน้มที่จะนานขึ้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวโคราช, นักเดินทางจากจังหวัดอื่นทั้งแบบเดินทางคนเดียวและแบบครอบครัว และที่น่าสนใจคือกลุ่มเดินทางเพื่อติดต่อธุรกิจ และนักธุรกิจที่มีเป้าหมายในจังหวัดอื่นๆ เช่น บุรีรัมย์, อุดรธานี และขอนแก่น เป็นต้น” คุณภูมิ กล่าวทิ้งท้าย

Centara Korat Hotel Central-Korat-Hotel


  • 32
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ