กระแสแรงไม่ตก Utility Token บริการรูปแบบไหนไม่ผิดกฎ ก.ล.ต.

  • 356
  •  
  •  
  •  
  •  

Utility Token

ปัจจุบัน Utility Token เป็น Digital Asset หรือสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เพราะเชื่อว่า สามารถให้ผลตอบแทนที่สูงในระยะเวลาไม่นาน จึงทำ Utility Token กลายเป็นกระแสที่มาแรง ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า หลายบริษัทต่างออก Utility Token เพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับแก่ความต้องการของนักลงทุนในยุคดิจิทัล แต่การออกโทเคนประเภทก็มีหลักเกณฑ์ตามหลักของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่ได้กำกับไว้ เพื่อเป็นการควบคุมดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้ซื้อขาย และผู้ใช้บริการจากมิจฉาชีพที่จะเข้ามาหลอกลวงผู้บริโภคด้วย

Utility Token แบบไหนที่ไม่ผิดกฎเกณฑ์ ก.ล.ต.

สำหรับแนวทางการกำกับดูแล Utility Token พร้อมใช้ หลังจากที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบแนวทางการกำกับดูแล ที่มีแนวคิดการปรับแก้กฎเกณฑ์ผู้ที่จะออก Utility Token พร้อมใช้ และจะเข้าไปจดทะเบียน หรืออยู่ในลิสต์เพื่อการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจะสามารถรับรู้ข้อมูลที่มากเพียงพอในการประกอบการตัดสินใจพิจาณาลงทุน และสามารถประเมินมูลค่าของโทเคนได้

Utility Token ที่ออกมาเป็นการใช้งานแลกสินค้าเพื่ออุปโภคและบริโภคพร้อมใช้เท่านั้นและไม่ซึ่งกลุ่มนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. จะไม่เข้าไปกำกับดูแล เพราะปัจจุบันมีโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ในลักษณะพร้อมใช้ซึ่งมีการใช้งานคล้ายกับถือวอชเชอร์หรือการ์ดที่ใช้เพื่อแลกรับสินค้าและบริการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแล “โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่มีลักษณะพร้อมใช้” (utility token พร้อมใช้) ทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะ ความเสี่ยง พัฒนาการและการใช้งานที่เปลี่ยนแปลงไป และมีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนที่เหมาะสม

ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบหลักการปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแล “utility token พร้อมใช้” ทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับลักษณะ ความเสี่ยง พัฒนาการและการใช้งาน และมีกลไกกำกับดูแลการซื้อขายที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อให้มีกลไกการคุ้มครองผู้ซื้อขาย/ผู้ลงทุนให้เหมาะสมากขึ้น

เนื่องจากตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลและการใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัลมีพัฒนาการและเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากหลังจากพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) มีผลใช้บังคับ และมีภาคเอกชนหลายรายให้ความสนใจเสนอขาย “utility token พร้อมใช้” เพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค รวมทั้งมีการใช้เพื่อการลงทุนและเก็งกำไรนั้น

ก.ล.ต. จึงเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักการปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลดังกล่าว โดยได้นำข้อคิดเห็นที่ได้รับจากการหารือร่วมกับผู้แทนผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์
ดิจิทัลไทย สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในรูปแบบ focus group เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2565 มาประกอบการจัดทำหลักการปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแล “utility token พร้อมใช้” ซึ่งมีสาระสำคัญ เช่น

Utility Token

1. ผู้ออกเสนอขาย (issuer) ที่ประสงค์จะนำ “utility token พร้อมใช้” เข้าจดทะเบียนซื้อขายบนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (ศูนย์ซื้อขายฯ) ต้องได้รับอนุญาตให้ออกเสนอขายจาก ก.ล.ต. และต้องเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) โดยการขออนุญาตเสนอขายมี 2 ช่องทาง ได้แก่

• แบบ Fast Track สำหรับ “utility token พร้อมใช้” ที่มีลักษณะตามที่กำหนด (Plain Vanilla) จะใช้เวลาพิจารณาภายใน 15 วันทำการ และ
• แบบ Normal Track สำหรับ “utility token พร้อมใช้”” อื่น ๆ ที่ไม่เข้าเงื่อนไขของแบบ Fast Track

ทั้งนี้ “utility token พร้อมใช้” จะต้องไม่เข้าข่ายเป็นการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เพื่อเป็นสื่อกลางการชำระราคาค่าสินค้าและบริการ (means of payment)

2. สำหรับ “utility token พร้อมใช้” ที่ issuer ไม่ประสงค์นำเข้าจดทะเบียนซื้อขายบนศูนย์ซื้อขายฯ แต่ไม่เข้าเงื่อนไขได้รับยกเว้นการขออนุญาตเสนอขาย จะต้องมาขออนุญาตเสนอขายจาก ก.ล.ต. และต้องเสนอขายผ่าน ICO Portal ด้วย

3. การกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลโครงการ “utility token พร้อมใช้” ในตลาดแรก และเปิดเผยข้อมูลต่อเนื่อง (ongoing disclosure) เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ซื้อขายจะมีข้อมูลที่เพียงพอเหมาะสมสำหรับประกอบการตัดสินใจซื้อขาย โดยให้ issuer เปิดเผยข้อมูลก่อนการเสนอขายและภายหลังการเสนอขายตามแนวทางการเปิดเผยข้อมูล เช่น สิทธิของผู้ถือ แผนธุรกิจของโครงการ ผลตอบแทน วิธีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงโครงการ สัญญาอัจฉริยะ เป็นต้น รวมถึงเปิดเผยข้อมูลกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงการหรือสิทธิของผู้ถืออย่างมีนัยสำคัญ และข้อมูลที่อาจกระทบต่อราคา นอกจากนี้ ในกรณีที่โครงการเปิดให้มีการนำโทเคนดิจิทัลไปวางหรือฝาก (staking) ได้ issuer ต้องเปิดเผยแหล่งที่มาของผลตอบแทนที่ผู้ถือจะได้รับอย่างชัดเจน

4. การกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรและเงื่อนไขการถือ “utility token พร้อมใช้” ของบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (affiliated person) เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านการกระทำอันไม่เป็นธรรม โดยมิให้ issuer ถือ “utility token พร้อมใช้” หรือจัดสรรให้แก่ affiliated person เกินกว่าอัตราส่วนที่กำหนด และมิให้ issuer และ affiliated person ขายหรือกระจาย “utility token พร้อมใช้” แก่บุคคลอื่นภายในระยะเวลาที่กำหนด

5. การปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับศูนย์ซื้อขายฯ ได้แก่ หลักเกณฑ์การคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัล (listing rule) หลักเกณฑ์การซื้อขาย (trading rule) และแนวปฏิบัติในการกำกับดูแลการติดตามและตรวจสอบสภาพการซื้อขาย (market surveillance) ให้มีความเหมาะสมตามสภาพความเสี่ยง เพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอต่อการตัดสินใจซื้อขาย รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและการกระทำอันไม่เป็นธรรม

6. สำหรับ “utility token พร้อมใช้” ที่มีการออกเสนอขายก่อนวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ แต่ยังไม่ได้นำไปจดทะเบียนซื้อขายบนศูนย์ซื้อขายฯ และโทเคนดิจิทัลที่มีการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายฯ ก่อนวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับศูนย์ซื้อขายฯ ที่กำหนดไว้ด้วย

Utility Token

Utility Token ที่ออกถูกต้องตามกฎเกณฑ์ ก.ล.ต.

• บริษัท สบาย ดิจิตอล จำกัด (SABUY Digital) บริษัทภายใต้กลุ่ม บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY เปิดตัว เหรียญดิจิทัล 2 ประเภท ที่เป็น Utility Token ใช้ประโยชน์แลกซื้อสินค้าและบริการได้ ประกอบด้วย “SPEEDKUB” ซึ่งเป็น Drop-Off & e-Commerce CRM Token ของบริษัทในธุรกิจจุดให้บริการรับ-ส่งพัสดุ โดยผู้ครอบครองเหรียญจะได้รับประโยชน์จากบริการ Drop Off หรือใช้สำหรับเป็นส่วนลดการส่งพัสดุกับกลุ่ม SABUY และพาร์ตเนอร์ เช่น ไปรษณีย์ไทย Orange เป็นต้น รวมถึงการใช้เหรียญ เพื่อซื้อสินค้าในตู้เวนดิ้งได้อีกด้วย ส่วน “FIIT TOKEN” เป็นเหรียญสำหรับคนรักสุขภาพ Health and Wellness Community โดยเป็นการออกกำลังกายแล้วได้เหรียญผ่านเกม ไปจนถึงการแข่งขันในแอปพลิเคชันและยังมีสามารถสะสม NFT ได้อีกด้วย ซึ่งเหรียญดังกล่าวจะมีการเชื่อมโยงกับพาร์ตเนอร์ด้านสุขภาพ เช่น ธุรกิจประกันชีวิต ประกันภัย และธุรกิจสุขภาพอื่นที่จะเข้ามาสนับสนุนและร่วมสร้างสังคมการรักสุขภาพร่วมกัน ซึ่งเป็นเมกะเทรนด์

• บริษัท โทเคน เอกซ์ จำกัด (Token X) บริษัทภายใต้กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ ได้ร่วมมือกับ บริษัท อินดิเพนเดนท์ อาร์ตทิสต์ เมเนจเมนต์ หรือ iAM พัฒนา Utility Token พร้อมใช้ ภายใต้ชื่อเหรียญ “BNK Governance Token” สำหรับใช้ในการโหวตลงคะแนนจากแฟนคลับและสามารถนำมาใช้แลกสินค้าและบริการที่บริษัทกำหนด บนแอปพลิเคชัน iAM48 ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นครั้งแรก มุ่งสร้างความโปร่งใส เพราะทุกข้อมูลในการทำธุรกรรมบนบล็อกเชนสามารถตรวจสอบได้ง่ายๆ ด้วยตัวเองบนเครือข่ายบล็อกเชน TKX Chain ที่พัฒนาขึ้นโดย Token X โดยกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นการสร้างประการณ์แบบไร้รอยต่อในการใช้งานเทคโนโลยีบล็อกเชนและโทเคนดิจิทัล ให้คนไทยได้ลองใช้งานจริงอย่างเต็มรูปแบบในวงกว้างอีกด้วย

• บริษัท คิวบิกซ์ ดิจิทัล แอสเสท จำกัด (Kubix) บริษัทในเครือกลุ่มบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เสนอขาย “DESTINY Token” ในตลาดแรก หรือ Initial Coin Offering: ICO ซึ่งเป็นโทเคนดิจิทัลจากภาพยนตร์ “บุพเพสันนิวาส ๒” โดยจะเป็นการผสานของโทเคนเพื่อการลงทุน หรือ Investment Token และโทเคนสิทธิพิเศษ หรือ Utility Token ซึ่งนักลงทุนที่ลงทุนใน DESTINY Token จะได้รับทั้งผลตอบแทนในรูปแบบตัวเงิน และสิทธิพิเศษ ของ Utility Token ที่มอบให้เฉพาะผู้ถือโทเคนดิจิทัลนี้เท่านั้น เช่น สามารถนำมาแลกตั๋วชมภาพยนตร์ , แลกซื้อป๊อบคอร์น หรือได้สิทธิพิเศษร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ด้วย

บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SHARGE) ร่วมกับบริษัท เอ็กซ์สปริง ดิจิทัล จำกัด และบริษัท อีอาร์เอ็กซ์ จำกัด (ERX) เปิดตัว “Ready-to-Use Utility Token” โทเคนดิจิทัลพร้อมใช้ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งเป็นการลงทุนของโทเคนดิจิทัลที่จะเปลี่ยนเป็น Loyalty Program มาพร้อมส่วนลดและ Privilege อื่นๆ ถือว่าเป็นการสร้างฐานกลุ่มลูกค้าในตลาดและโอกาสการเติบโตในอนาคต เอ็กซ์สปริง ดิจิทัล จะช่วยกลั่นกรองการออกผลิตภัณฑ์และนำเสนอนวัตกรรมที่ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงอย่างสะดวกและง่ายดายซึ่งอยู่ในรูปแบบของ Utility Token ภายใต้ Ecosystem ของโลกดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Utility Token จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีของนักลงทุนยุคใหม่ ที่เชื่อว่าจะสามารถสร้างผลกำไรที่ดีได้ในอนาคต แต่สำหรับความเสี่ยงที่นักลงทุนจะต้องคำนึงถึงเป็นสำคัญนั่นคือ โทเคนที่ออกมาได้รับการรองรับจากทาง ก.ล.ต. แล้วแล้วจริงหรือไม่ และ Utility Token ที่ออกมาสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงหรือไม่


  • 356
  •  
  •  
  •  
  •  
sabuysuk
การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นทุกวัน ล้วนแล้วแต่ได้กำไร