ต้องยอมรับว่า การจะแสวงหาผลตอบแทนจาการลงทุนให้คุ้มค่าในยุคนี้ค่อนข้างยาก เพราะเศรษฐกิจโลกต้องเจอกับสถานการณ์ต่าง ๆ มากมาย ที่ถาโถมเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการสู้รบกันระหว่างรัสเซียกับยูเครน การปรับขึ้นอัตราเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ที่ต้องการจะยับยั้งปัญหาเงินเฟ้อ ส่งผลให้สถาบันการเงินมีการปรับโปรดักซ์ผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ เพื่อออกมารองรับกลุ่ม “นักลงทุนรายใหญ่พิเศษ” หรือ Ultra High Net Worth (UHNW) ที่เป็นลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูง
SCB WEALTH บริหารธุรกิจความมั่งคั่งให้เติบโตไปพร้อมของลูกค้าเวลธ์ในไทย
SCB WEALTH พร้อมที่จะขับเคลื่อนธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง ให้เติบโตไปพร้อมลูกค้าเวลธ์ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี มุ่งเน้นการสร้าง Advisory Capability ให้มีความแข็งแกร่งในธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง พร้อมมุ่งสู่การเป็นผู้นำธุรกิจเวลธ์ของเมืองไทย และเป็นที่หนึ่งในใจลูกค้าอย่างยั่งยืน ปัจจุบัน SCB WEALTH มีฐานลูกค้าเวลธ์ ที่มีสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) ตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป กว่า 400,000 ราย รวมถึงกลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่งระดับสูง (High Net Worth Individuals) และตั้งเป้าหมายภายในสิ้นปี 2567 จะมี AUM แตะที่ระดับ 2 ล้านล้านบาท
สำหรับแนวทางในการดำเนินธุรกิจ เพื่อไปสู่เป้าหมาย โดยมีแนวยุทธศาสตร์ 4 กลยุทธ์สำคัญดังนี้
• เพิ่มศักยภาพโดยการยกระดับคุณภาพของทีมที่ปรึกษาการลงทุน (Relationship Manager) ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรระดับสากล ซึ่งจะทำให้ SCB WEALTH มีจำนวน RM ที่ได้รับการรับรองจากสถาบันชั้นนำของเอเชียมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยพัฒนารูปแบบการให้คำปรึกษาโดยเน้นกลยุทธ์การจัดสรรสินทรัพย์ที่ออกแบบเป็นพิเศษเฉพาะลูกค้าแต่ละราย (Personalized Asset Allocation) เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีบนความเสี่ยงที่ลูกค้ายอมรับได้
• พัฒนาและนำเสนอผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนให้มีความหลากหลาย แบบ Open Architecture โดยลูกค้าสามารถเลือกผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ดี เหมาะสมกับเป้าหมายการลงทุนและระดับความเสี่ยงที่รับได้
• การสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างสม่ำเสมอให้อยู่ในระดับ Top Rank ของธุรกิจเวลธ์ในเมืองไทย โดยใช้กลยุทธ์การจัดพอร์ต Asset Allocation อย่างเหมาะสม ตามคำแนะนำของทีมคลังสมอง (SCB Wealth Advisory Team)
• การนำแพลตฟอร์มเทคโนโลยี และ ดาต้ามาใช้วิเคราะห์ข้อมูลการลงทุนของลูกค้า ตลอดจนให้คำปรึกษาแบบ Hybrid Advisory คือ มีทั้งที่ปรึกษาด้านการลงทุนคือ Relationship Manager และ Investment Consultant ควบคู่ไปกับมีตัวช่วยอัจฉริยะอย่าง wPlan แพลตฟอร์มวางแผนการลงทุน ที่สามารถจัดพอร์ตการลงทุน ให้เหมาะสมกับเป้าหมาย นอกจากนั้น เน้นกลยุทธ์ขยายฐานการลงทุนดิจิทัล เพิ่มช่องทางการลงทุนผ่าน SCB Easy โดยตั้งเป้าหมายนักลงทุนดิจิทัล ไว้ที่ 1.3 ล้านรายในปี 2567
KBank Private Banking ตอบโจทย์ลูกค้ามั่งคั่ง ตั้งเป้าขึ้นแท่น “ผู้นำ-การลงทุนทางเลือก” ในไทย
สำหรับนักลงทุน “ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (Ultra High Net Worth: Ultra HNW) รวมถึงนักลงทุนสถาบัน จัดอยู่ในกลุ่ม Private Equity ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมุมมองการลงทุนและรับความเสี่ยงในระยะยาวได้ซึ่งจะสอดคล้องไปกับเป้าหมายการลงทุนในสินทรัพย์ไปอีก 5-12 ปี โดย KBank Private Banking เพิ่มช่องทางการลงทุนให้แก่นักลงทุนรายใหญ่พิเศษได้มีการนำเสนอขาย กองทุนหุ้นนอกตลาด ของบริษัทในประเทศไทยผ่านการใช้เครื่องมือและความเชี่ยวชาญด้านการลงทุนของเราในการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจไทยและขับเคลื่อนความก้าวหน้าของเศรษฐกิจของประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการแบ่งปันองค์ความรู้เกี่ยวกับแนวทางในการสร้างการเติบโตของธุรกิจให้แก่ลูกค้าบุคคลสินทรัพย์สูง ซึ่งส่วนมากเป็นกลุ่มเจ้าของกิจการ และตอกย้ำการเป็นผู้ให้บริการบริหารความมั่งคั่งครบวงจรอีกด้วย
ในปี 2565 บริษัทมีแผนที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนทางเลือก (Alternative Investment) อื่นๆ เพิ่มเติม อย่างต่อเนื่อง นอกจากกองทุนหุ้นนอกตลาด (Private Equity Fund) แล้ว จะมีการออกกองทุนหุ้นนอกตลาดที่มีสภาพคล่อง (Liquid Private Equity Fund), หนี้ภาคเอกชน (Private Debt) และ หุ้นอสังหาริมทรัพย์ไทยนอกตลาด (Real Estate Private Equity in Thailand) เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพื่อสร้างผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจให้กับพอร์ตการลงทุนของลูกค้า ตั้งเป้าหมายครองความเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์การลงทุนทางเลือก (Alternative Investment)
อย่างไรก็ตาม Private Equity อาจจะเป็นสินทรัพย์ที่นักลงทุนไม่ค่อยผ่านหูผ่านตามากนัก เพราะเป็นการลงทุนรูปแบบใหม่ในไทยและจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มเท่านั้น จึงไม่แปลกที่จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนยังไม่มากนัก แต่หากพูดถึงความน่าสนใจ อย่างศักยภาพการสร้างผลตอบแทนและความเสถียรภาพของสินทรัพย์แล้ว ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ได้ด้อยไปกว่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แต่อย่างใด
ความน่าสนใจของ ‘Private Equity’ ถือเป็นสินทรัพย์ที่สามารถลดความผันผวนของพอร์ตได้ เนื่องจากราคาจะไม่ผันผวนตามตลาดหลักทรัพย์แต่จะขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานจริงของธุรกิจ โดยรวมจึงมองว่าเป็นตัวช่วยให้นักลงทุนเข้าถึงธุรกิจซึ่งอยู่ในวัฏจักรที่หลากหลาย และได้รับประโยชน์จากการเติบโตของกิจการก่อนที่จะเข้าตลาดฯ ซึ่งจะช่วยสร้างผลตอบแทนที่ดีและมีเสถียรภาพกว่าได้ในระยะยาว
โดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์ในปัจจุบันที่ “ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์” มีการแกว่งตัวสูงทำให้การหาผลตอบแทนทำได้ยากขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา ทำให้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะหาโอกาสการลงทุนหรือสร้างผลตอบแทนที่ดีจากสินทรัพย์ทางเลือกอย่าง Private Equity
กฎเกณ์นักลงทุนรายใหญ่ที่ ก.ล.ต.กำหนด
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. กำหนดให้นักลงทุนไทยสามารถลงทุนในเฮดจ์ฟันที่ออกและเสนอขายโดย บลจ.สัญชาติไทยได้แล้ว โดยผู้ที่จะลงทุนได้จะต้องเข้าเกณฑ์เป็น “นักลงทุนรายใหญ่พิเศษ” หรือ Ultra High Net Worth (UHNW) แบ่งออกเป็นดังนี้
1.ผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth)
• บุคคลธรรมดา (นับรวมคู่สมรส)
– ทรัพย์สินสุทธิไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท
– รายได้ต่อปี ไม่น้อยกว่า 4 ล้านบาท
– พอร์ตการลงทุนรวมเงินฝาก ไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท
• นิติบุคคล
– ส่วนของผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท
– พอร์ตการลงทุนรวมเงินฝาก ไม่น้อยกว่า 40 ล้านบาท
2.ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (Ultra High Net Worth)
• บุคคลธรรมดา (นับรวมคู่สมรส)
– ทรัพย์สินสุทธิไม่น้อยกว่า 70 ล้านบาท
– รายได้ต่อปี ไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท หรือ 7 ล้านบาท กรณี ไม่นับรวมคู่สมรส
– พอร์ตการลงทุนรวมเงินฝาก ไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท
• นิติบุคคล
– ส่วนของผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท
– พอร์ตการลงทุนรวมเงินฝาก ไม่น้อยกว่า 80 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าสถาบันการเงินล้วนแล้วแต่ออกผลิตภัณฑ์ เพื่อแย่งชิงกลุ่มลูกค้ารายใหญ่พิเศษถือว่า เป็นกลุ่มที่กำลังที่จะเข้ามาลงทุนมากที่สุด แต่การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ฉะนั้นแล้วต้องระมัดระวังอย่างรอบครอบการที่จะตัดสินใจเข้าไปลงทุน