ไม่ว่าจะทำธุรกิจหรือทำอาชีพใดๆ สิ่งสำคัญที่สุดมากกว่าเรื่องของผลกำไร ก็คือเรื่อง “จริยธรรม” “จรรยาบรรณ” และ “ความรับผิดชอบต่อสังคม” เพราะนั่นจะทำให้คุณประสบความสำเร็จและอยู่ได้อย่างยั่งยืน
ธุรกิจโฆษณา ซึ่งถือว่ามีความใกล้ชิดกับผู้บริโภคอย่างมาก เพราะเกี่ยวข้องกับทั้งกลุ่มทุน กลุ่มธุรกิจ และต้องทำการสื่อสารกับผู้บริโภคหรือประชาชนโดยตรง ดังนั้น ผู้คนจึงเรียกร้องให้วงการโฆษณาจะต้องมีหลักจริยธรรมและจรรยาบรรณในการควบคุมดูแลเนื้อหางานโฆษณาที่จะสื่อสารสู่ประชาชนออกไปด้วย ซึ่งวงการโฆษณาไทย โดย “สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย” (aat) ก็ไม่นิ่งนอนใจ จึงได้วางหลักการพื้นฐานจรรยาบรรณวิชาชีพโฆษณาเอาไว้เป็นหลักในการยึดถือเพื่อปฏิบัติงานอย่างถูกต้อง มีจริยธรรม จรรยาบรรณ และรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีทั้งหมด 3 ข้อหลักด้วยกัน
- การโฆษณาทุกชิ้นต้องถูกกฎหมาย มีเกียรติ ซื่อสัตย์ และนำเสนอความจริง
- การโฆษณาไม่ควรมีความขัดแย้งกับศีลธรรมอันดีและระเบียบสังคม ในการสร้างสรรค์งานโฆษณา ควรกระทำด้วยการตระหนักถึงการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และอยู่ภายใต้หลักของการแข่งขันที่ยุติธรรม ที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในวงการธุรกิจ
- การโฆษณาต้องไม่ทำให้สาธารณชนเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจในการโฆษณา
ธุรกิจเอเจนซี่ ที่มีนักการตลาดเป็นผู้ขับเคลื่อน ก็จำเป็นต้องมีจริยธรรมและจรรยาบรรณไม่ต่างจากอาชีพอื่นๆ โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลที่การแข่งขันและการแย่งชิงเวลาของผู้บริโภคมีความสำคัญ จนอาจก่อให้เกิดความผิดพลาดได้ ด้าน “สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย” (MAT) ก็ได้วางแนวทางการทำการตลาดเชิงบวกอย่างสร้างสรรค์และไม่ขัดต่อ “จรรยาบรรณวิชาชีพนักการตลาด” เพื่อใช้เป็นหลักการทำงานที่ดี 8 ข้อ
- นักการตลาดไทยต้องมีจิตตระหนักในภาระหน้าที่และบทบาทที่จะช่วยกันเสริมสร้างและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยและของประเทศไทยในตลาดโลก
- ดำเนินกิจกรรมทางการตลาดด้วยคุณธรรมและความรับผิดชอบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยระมัดระวังไม่ให้มีผลกระทบในทางลบต่อจารีตประเพณีขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมอันดีงามของประชาชนคนไทยและชาติไทย
- รับผิดชอบต่อผลการกระทำของตน และพยายามทุกวิถีทางให้มั่นใจว่าการตัดสินใจหรือการกระทำใดๆของตนเป็นไปเพื่อบ่งชี้ตอบสนองและสร้างความพึงพอใจให้แก่กลุ่มสาธารณะที่เกี่ยวข้องโดยรวม
- ปฏิบัติตามกฎหมายและค่านิยมที่ดีทางสังคม
- ตั้งมั่นอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริตและความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ผู้ซื้อ ผู้ขาย ลูกจ้าง พนักงานและสาธารณะชนทั่วไป
- กระทำตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีต่อผู้ร่วมอาชีพและบุคคลอื่น
- ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณนักการตลาดละเว้นการใช้อำนาจหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน
- ยินดีเผยแพร่ความรู้ความสามารถในวิชาชีพของตนเพื่อสาธารณะประโยชน์
ในขณะที่มุมมองของ “คุณสุภาวดี ตันติยานนท์” Chief of Government Partnerships, สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย, Founder eXperience Matters และอดีต CEO MullenLowe Group Thailand
ได้กล่าวถึงการทำงานของวงการตลาดและวงการโฆษณาในยุคดิจิทัลไว้ในเรื่อง “บทเรียนราคาแพง” ซึ่งทำให้เห็นภาพในมุมกว้างของผู้ที่ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่องานที่ผลิตออกมา ซึ่งกล่าวย้ำในตอนท้ายว่า
บทเรียนราคาแพง
เมื่อการตลาดยุคปลายนิ้วเข้ามา เราบอกว่ามัน disrupt ต้องเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง รีสกิล อัพสกิล แต่สิ่งหนึ่งที่นักการตลาด นักประชาสัมพันธ์ ครีเอทีฟ คนทำงานทุกคนพึงจะมีติดตัวคือสามัญสำนึก จริยธรรม มโนธรรม ในการทำงาน เราไม่ทำการใดๆที่ไปละเมิด ดูถูก เหยียดหยาม สร้างความเกลียดชังมนุษย์ด้วยกัน แล้วคิดว่าเท่ สร้างกระแสเป็นไวรัลแล้วดัง
ยิ่งการทำงานยุคปลายนิ้วมันง่าย เร็ว สะดวก แต่การทำงานแบบรับผิดชอบ ละเอียด และ มีรสนิยม tasteful ก็ไม่ควรหนีหายไปไหน คนที่เกี่ยวข้องทั้งระบบไม่ว่าจะเป็น ทีมการตลาด บริษัทโฆษณา ทีมครีเอทีฟ นักแสดง เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ คนวางสื่อมีเดีย เพราะไม่ว่าคุณจะอยู่จุดไหนเมื่อเห็นงานที่ล่อแหลม ไร้รสนิยม ผิดกฏหมาย ทำร้ายสังคม คุณมีสิทธิ์ที่จะหยุดมันก่อนที่จะออกมาสู่สาธารณะ แต่เพราะเราอยู่ในยุคการตลาดบนปลายนิ้ว คิดน้อยไป ไม่รับผิดชอบ เรื่องแบบนี้ถึงเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก
#จริยธรรมการตลาด #ทำงานแบบมืออาชีพ #ความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นเรื่องที่จะยังอยู่ติดตัวคนทำงานไม่ว่าโลกจะหมุนเร็วขึ้นแค่ไหน มันไม่ได้หายไปไหน แต่กลับจำเป็นให้คนทำงาน ผู้นำในองค์กรเข้มงวดมากขึ้นไม่ใช่หยาบลง
สุภาวดี ตันติยานนท์
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพียงเรื่องราวดราม่าเดียวแล้วจะจุดประเด็นเรื่องของการทำงาน แต่สังคมคาดหวังว่าการทำธุรกิจและการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะด้านการสื่อสาร จะต้องทำงานโดยยึดถือหลักของการทำงานที่ดี มีจริยธรรม จรรยาบรรณ และความรับผิดชอบต่อสังคม เช่นนี้สืบเนื่องตลอดต่อไปด้วย