SAMART ชื่อนี้ห่างหายไปนานหลังการล่มสลายของธุรกิจ Consumer อย่าง i-Mobile ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนของไทย แต่ในความเป็นจริง SAMART ยังเดินเกมเทคโนโลยีเบื้องหลังของหลายหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นผู้วางระบบให้กับสนามบินหลายแห่งในกัมพูชา ทั้งที่มีอยู่แล้วและกำลังก่อสร้าง แต่ปีนี้ SAMART จะรื้อฟื้นตลาด Consumer อีกครั้งในรูปแบบที่เปลี่ยนไปผ่านแอปพลิเคชั่นสายมูและการทำบุญ รวมถึงด้านอื่นๆ ชนิดที่ไม่ตกเทรนด์
SAMART ถือเป็นหนึ่งธุรกิจที่มีประวัติมายาวนาน โดยเฉพาะในยุคต้นๆ ของการสื่อสาร และชื่อของ SAMART ปรากฏอย่างเด่นชัดในฐานะผู้ให้บริการเครือข่ายในรูปแบบ MVNO (Mobile Virtual Network Operator) หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ เหมือนเป็นมือปืนรับจ้างให้บริการแทนเจ้าของเครือข่าย และกลายเป็นที่ฮือฮาเมื่อ SAMART หันมาผลิตสมาร์ทโฟนในแบรนด์ i-Mobile ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แต่เมื่อมือถือจีนรุกตลาดไทย i-Mobile ก็ค่อยๆ ถอนตัวออกจากตลาด
สายบุญ-สายมู ต้องมา
หลังการปิดตัวไปของ i-Mobile ธุรกิจที่เกี่ยวกับ Consumer ของ SAMART ก็ลดความโดดเด่นลง โดยเน้นหันไปอยู่เบื้องหลังโครงการขนาดใหญ่ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ล่าสุดกลุ่มธุรกิจ SDC (SAMART Digital) โดย คุณนายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์และการพัฒนาธุรกิจใหม่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น ชี้ว่า บริษัท SDC จะมุ่งสู่การเป็น Digital Lifestyle Content Enabler อย่างเต็มตัว โดยอาศัยประสบการณ์ในการให้บริการ Content ทางด้านโหราศาสตร์กว่า 25 ปี มาพัฒนา Horoworld Application ให้เป็น One stop Service ทางด้านโหราศาสตร์และความเชื่อ
โดยแอปฯ ดังกล่าวจะให้บริการดูดวงสดออนไลน์, ดูโหงวเฮ้ง ฮวงจุ้ย และฤกษ์มงคลต่างๆ โดยในอนาคตจะมีการจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ อาทิ ค่ายรถยนต์สำหรับดูเวลาออกรถ ค่ายมือสำหรับเลือกเบอร์มงคล อีกทั้งยังเตรียมเปิดตัวอีกหนึ่งบริการสำหรับสายบุญทั้งในและต่างประเทศ ที่จะช่วยให้สามารถไหว้พระ บริจาคเงิน แก้บน เสี่ยงเซียมซี ตลอดจนการบูชาวัตถุมงคลผ่าน Online Platform ได้กับทุกวัด ทุกสถานที่ศักด์สิทธิ์ โดยไม่ต้องเดินทาง ช่วยลดความเสี่ยงในช่วงสถานการณ์โควิด
ซึ่งทั้ง 2 บริการนี้จะเป็น Flagship ให้กับบริการ Lifestyle Content อื่นๆ ที่จะตามมา ทั้งในสายกีฬา สุขภาพ กิน ดื่ม เที่ยว และสายสัตว์เลี้ยง เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจดิจิทัลใหม่ๆ ทาง SDC มีแผนในการ Spin Off เพื่อจัดตั้งบริษัทใหม่ในรูปแบบ Startup ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการนำเสนอแผนธุรกิจต่อนักลงทุนที่ให้ความสนใจเป็นอย่างดี คาดว่าจะสามารถเปิดตัวบริษัทใหม่ในรูปแบบ Startup ได้ในช่วงไตรมาสสองของปีนี้
การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นโครงการเพิ่มขึ้น
นอกจากเรื่องตลาด Consumer ที่ SAMART คาดว่าจะสามารถกลับมาสร้างผลกำไรขึ้นได้ คุณวัฒน์ชัยยังมองว่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและการเดินทางจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว หลังโควิดคลี่คลาย ซึ่งหมายความว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะในพื้นที่ CLMVT จะกลับมาเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการท่องเที่ยวอีกครั้ง ซึ่งกัมพูชาก็เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมเดินทางมาเยือน
CATS (Cambodia Air Traffic Service) คือ หนึ่งธุรกิจในกลุ่มธุรกิจ SAMART U-Trans ซึ่งให้บริการควบคุมการจราจรทางอากาศที่ประเทศกัมพูชามีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของรายได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ ประเทศกัมพูชาได้เปิดให้มีการเดินทางเข้า-ออกประเทศภายใต้ข้อกำหนดตั้งแต่เดือน พ.ย ปีที่แล้ว ผ่านสนามบินนานาชาติ ทั้ง 3 แห่ง จึงส่งผลให้มีจำนวนเที่ยวบินเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเที่ยวบินที่เดินทางมาจากประเทศจีนและเวียตนาม
ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อรองรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนและการท่องเที่ยวของประเทศกัมพูชา รัฐบาลกัมพูชาจึงมีแผนที่จะเปิดให้บริการสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ที่สามารถเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้ใช้บริการสนามบินอีกเป็นจำนวนมากถึง 3 แห่ง ประกอบด้วยสนามบิน DARA SAKOR , สนามบิน New Siem Reap และสนามบิน New Phnom Penh ดังนั้นจึงคาดการณ์ได้ว่า CATS จะมีแนวโน้มการเติบโตทางธุรกิจที่เป็นบวกอย่างโดดเด่นในอนาคต
ภาครัฐกระตุ้นการลงทุน
นอกจากนี้ คุณวัฒน์ชัย ยังชี้ว่า ในปี 2022 SAMART ตั้งเป้ารายได้รวมที่จำนวน 14,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 60% จากปีก่อน นอกจากการพัฒนาแอปฯ และโอกาสที่เพิ่มขึ้นในต่างประเทศ ภายในประเทศก็มีโอกาสทางธุรกิจ โดยเฉพาะนโยบายรัฐบาลที่เร่งพัฒนา e-Government Services เพื่อรองรับการให้บริการประชาชนในยุค New Normal
ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อธุรกิจทางด้าน Digital ICT Solutions ของกลุ่ม SAMTEL ที่มีความชำนาญในการคัดสรรเทคโนโลยีครบวงจรและให้บริการในรูปแบบ Outsourced Services เพื่อลดงบประมาณของภาครัฐ รวมถึงความต่อเนื่องในการพัฒนาโครงการพื้นฐานในประเทศ อาทิ โครงการที่เกี่ยวโยงกับพลังงานและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งบริษัท TEDA ที่มีความเชี่ยวชาญการก่อสร้างสถานีไฟฟ้า การวางสายส่งไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน คาดหมายว่าจะเพิ่ม Backlog ได้อีกไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทในปีนี้ และกำลังศึกษาด้านพลังงานทางเลือกและพลังงานสะอาด
SAMART มั่นใจในการเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจในกลุ่มทั้งหมด โดยตั้งเป้ารายได้สายธุรกิจ Digital ICT จำนวน 7,000 ล้านบาท, สายธุรกิจ Utilities & Transportation จำนวน 2,500 ล้านบาท, สายธุรกิจ Digital จำนวน 3,000 ล้านบาท และสายธุรกิจอื่นๆ อีกจำนวน 1,500 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันกลุ่ม SAMART มีมูลค่างานในมือรวมกันกว่า 22,000 ล้านบาท ช่วยสร้างความมั่นคงให้แก่ธุรกิจและความมั่นใจให้แก่นักลงทุน
สิ่งที่น่าจับตาของ SAMART คือการกลับเข้ามาสู่ตลาด Consumer อีกครั้ง แต่ดูเหมือนการกลับเข้ามาในครั้งนี้ SAMART เตรียมตัวมาพร้อม เนื่องจากมีการใช้ Data เข้ามาศึกษาความต้องการผู้บริโภค และอีกจุดที่น่าสนใจคือการที่จีนเข้ามาลงทุนสร้างเมืองใหม่อย่าง DARA SAKOR หมายความว่าเมืองนี้อาจกลายเป็นเมืองที่มีความสำคัญในอนาคต เห็นได้จากการสร้างสนามบินแห่งใหม่ นั่นหมายถึงโครงสร้างด้านการสื่อสารที่ต้องมีการลงทุนและ SAMART ก็มีความพร้อมหากมีการเสนอโครงการ