ด้วยความที่กระแส Non-Fungible Token (NFT) มาแรงมากตั้งแต่ปี 2564 ซึ่ง NFT พูดง่ายๆ ก็คือ ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ มีจุดเด่นก็คือการเป็น Token ที่ไม่สามารถทำซ้ำหรือคัดลอกได้ ไม่สามารถทดแทนกันได้ (non-fungible) โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เผยแพร่บทความล่าสุด (ณ วันที่ 6 ม.ค. 2565) เกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแล NFT ส่วนหนึ่งเพราะว่าผู้คนเข้าสู่วงการ NFT มากขึ้นในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ในปี 2561 ตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) ไม่ได้มีการกำหนดชัดเจนเกี่ยวกับ NFT แต่กำหนดขอบเขตของสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้การกำกับดูแลไว้ 3 ประเภท ก็คือ
- คริปโทเคอร์เรนซี ที่เป็นเหรียญดิจิทัลที่ใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยน เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยกัน
- โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (investment token) เป็นเหรียญดิจิทัลที่ให้สิทธิในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการต่างๆ
- โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (utility token) เป็นเหรียญดิจิทัลที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง โดยแบ่งเป็น utility token (พร้อมใช้) และ utility token (ไม่พร้อมใช้)
- utility token (พร้อมใช้) ก็คือ ผู้ที่ถือเหรียญสามารถใช้สิทธิแลกสินค้าหรือใช้บริการได้ทันที ตั้งแต่วันที่เสนอขายครั้งแรก
- utility token (ไม่พร้อมใช้) คือ ผู้ถือเหรียญจะยังไม่สามารถใช้สิทธิแลกหรือใช้ประโยชน์สินค้าหรือบริการนั้นได้ในวันเสนอขาย โดยต้องรอใช้สิทธิในอนาคต

ขณะที่ ก.ล.ต. จะกำกับดูแลการออกเสนอขายทั้ง investment token และ utility token ไม่พร้อมใช้ ดังนั้น หากมีการเสนอขาย investment token หรือ utility token ไม่พร้อมใช้ ผู้ออกต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. โดยเปิดเผยข้อมูลตามที่กำหนด และต้องเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. เท่านั้น
กรณี NFT จะพิจารณาตามประเภทของ ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’
ในประกาศ ก.ล.ต. ยังระบุด้วยว่า หากเป็น NFT ที่มีการกำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง เช่น มีการออก NFT ที่ให้สิทธิในการได้มาซึ่งทรัพย์สิน ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งของที่มีลักษณะทางกายภาพที่จับต้องได้ (physical) หรือ ไฟล์ดิจิทัล หรือ มีการสะสม NFT แล้วให้สิทธิแก่ผู้ถือไปแลกของหรือสิทธิอย่างอื่น จะเข้านิยามเป็น utility token ตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ
ดังนั้น การประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ NFT จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ภายใต้ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ
แต่หาก NFT นั้นเป็นตัวทรัพย์สิน เวลาซื้อ-ขาย หรือโอนก็จะติดไปด้วยกัน ไม่สามารถแยกกันได้ และไม่ได้มีการกำหนดสิทธิอื่นๆ เพิ่มเติม รวมถึงไม่มีจุดประสงค์ในการใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อ-ขายแลกเปลี่ยน เช่น NFT ที่สร้างขึ้นโดยการเก็บไฟล์ดิจิทัลบน Interplanetary File System (IPFS) และสร้างเหรียญดิจิทัลขึ้นมาเพื่อความสะดวกในการซื้อขายแลกเปลี่ยน (ไม่ว่าจะสร้าง NFT เหรียญเดียวหรือหลายเหรียญจาก digital file ที่เก็บบน IPFS)
โดย digital file และเหรียญนั้นจะโอนติดไปด้วยกัน ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลง และไม่สามารถแยกกันได้ ทั้งนี้ NFT ดังกล่าวจะไม่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัล การดำเนินการเกี่ยวกับ NFT นั้น จึงจะไม่ถูกกำกับดูแลโดย พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ นั่นเอง
สำหรับการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นคริปโทเคอร์เรนซี หรือ โทเคนดิจิทัล ก.ล.ต. ระบุไว้ว่า ผู้ประกอบธุรกิจต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด ซึ่งในปัจจุบันมีการกำกับดูแลธุรกิจ 5 ประเภท ได้แก่
- ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (exchange)
- นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (broker)
- ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (dealer)
- ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล (investment advisor)
- ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (private fund)

สำหรับการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ NFT และถือว่าเข้าข่ายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลตาม พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ในลักษณะการเป็นศูนย์กลางหรือเครือข่ายที่จัดให้มีขึ้น เพื่อการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยน NFT โดยการจับคู่ หรือหาคู่สัญญาให้ หรือการจัดระบบและอำนวยความสะดวก จะถือว่าเป็นการค้าปกติ (NFT marketplace) ซึ่งต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มี NFT marketplace ที่ได้รับใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นอกจากนี้ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตไม่สามารถนำ NFT ที่เข้าข่ายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลมาให้บริการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ตามข้อ 39/1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ กธ. 18/2564 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 10 มิ.ย. 2564 ซึ่งทาง ก.ล.ต. ยังอยู่ระหว่างการทบทวนหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแล NFT marketplace เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการกำกับดูแลของสากล ซึ่งคงต้องอัพเดทกันอีกครั้งหลังจากนี้
ข้อมูลโดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)