เราอยู่ในยุคที่แบรนด์ไหนมีการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด จะถือว่าเป็นการสร้างความได้เปรียบอย่างหนึ่งของธุรกิจในกลุ่มผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะความพยายามที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งเราจะเห็นว่าที่ผ่านมามีหลายๆ แบรนด์ชั้นนำต่างปักธงไปที่ปัญหานี้มากขึ้น
ล่าสุด Suntory Group หนึ่งในบริษัทชั้นนำระดับโลกในด้านสินค้าสำเร็จรูป ตั้งแต่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไปจนถึง น็อนแอลกอฮอล์ เช่น Pepsi, 7 up หรือ ชาลิปตัน ที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดี ได้ประกาศเปิดตัวขวด PET ซึ่งเป็นต้นแบบที่ทำจาก 100% หลังจากที่ทำการศึกษาร่วมกับ Annelotech บริษัทเทคโนโลยีที่ยั่งยืนในสหรัฐอเมริกามาเกือบ 10 ปี โดยคาดว่า Suntory จะใช้ขวด PET ที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ 100% ทั่วโลกภายในปี 2030
โดยเทคโนโลยีขวด PET ที่ว่านี้ เป็นเทคโนโนโลยีที่ใช้กระบวนการ ‘พาราไซลีน’ (paraxylene) หรือของเหลวไซลีนประเภทหนึ่งจากเศษไม้ และนำมาแปลงค่าให้เป็นกรดเทเรฟทาลิกจากพืช (PTA) ซึ่งจะใช้เป็นวัตถุดิบหลักในขวด PET ที่ 70% และผสมผสานกับ ‘โมโนเอทิลีนไกลคอล’ (MEG) จากกากน้ำตาลเป็นเคมีที่มีความบริสุทธิ์สูง มาเป็นวัตถุดิบที่เหลืออีก 30%
ที่จริงแล้ว Suntory ได้ทดลองใช้ MEG จากพืชในแบรนด์ Suntory Tennensui ที่ญี่ปุ่นมาก่อนตั้งแต่ปี 2013 โดยคุณ Tsunehiko Yokoi เจ้าหน้าที่บริหารของ Suntory MONOZUKURI Expert Ltd ได้อธิบายว่า ความสำคัญของเทคโนโลยีนี้ ก็คือ PTA และการผสมผสานกับ MEG ซึ่งถือว่าเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่ Suntory ประสบความสำเร็จ
“เทคโนโลยีใหม่นี้จะเข้ามาตอบโจทย์เป้าหมายของ Suntory ที่ต้องการลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดมลพิษที่มาจากการผลิตขวดจากฟอสซิลอื่นให้เป็น ‘ศูนย์’ ภายในปี 2050 โดยจะคลุมทั้งห่วงโซ่อาหารของธุรกิจ”
วิสัยทัศน์ใหม่ของ Suntory คาดว่าจะบรรลุความสำเร็จได้ไม่ยาก หลังจากที่ทดลองใช้ขวด PET มาแล้วกับแบรนด์ Orangina ในยุโรป เครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ที่เปลี่ยนมาเป็นทรงหลอดไฟ โดยเปิดเผยว่าสามารถรีไซเคิลขวดได้สมบูรณ์ 100%
Michelle Norman ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนและกิจการภายนอกของ Suntory Beverage & Food Europe พูดว่า การนำพลาสติกจากพืชเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานจะสามารถแก้ปัญหาที่ท้าทายของบริษัทเครื่องดื่มได้ โดยเฉพาะขั้นตอนการผลิตขวดบรรจุภัณฑ์ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม Mario Grimau วิศวกรโพลีเมอร์และผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์ ระบุว่า พลาสติกชีวภาพอาจมีต้นทุนที่สูงกว่าพลาสติกจากฟอสซิลเล็กน้อย ดังนั้น อาจจะต้องติดตามในอนาคตว่าในแต่ละแบรนด์ที่หันหน้าเข้าสู่ขวดแบบ PET จะมีการเปลี่ยนแปลงในด้านราคาอื่นๆ หรือไม่
ทั้งนี้ ในตลาดยังมีขวดประเภทอื่นที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ อย่างเช่น ขวดกระดาษของ Pulpex และ Paboco ขณะที่มีอีกหลายแบรนด์ เช่น Estée Lauder และ Coca-Cola ที่อยู่ในช่วงพัฒนาขวดกระดาษมากขึ้น หรือจะเป็นขวดไฟเบอร์จาก Absolut ที่พัฒนามาจากใยเยื่อไม้ (wood fiber) ดังนั้น ตอนนี้อาจจะเร็วเกินไปที่จะพูดว่าขวดจากวัสดุและเทคโนโลยีประเภทไหนที่ช่วยโลกได้มากกว่ากัน แต่อย่างน้อยๆ ก็ดีใจที่เห็นมูฟเมนต์ใหม่ของแบรนด์เป็นมิตรต่อสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ
ที่มา: packaging europe, japantoday