ในเมื่อการแพร่ระบาด COVID-19 ยังไม่จบ แต่สถานการณ์ส่งสัญญาณว่ากำลังดีขึ้น ดังนั้น ในช่วงน้ำขึ้นให้รีบตักแบบนี้หลายๆ ธุรกิจคงใช้โอกาสนี้รันธุรกิจเร็วที่สุด เพื่อดันตัวเองให้พ้นจากน้ำที่ทำท่าจะท่วมเต็มทีแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ใครต่อใครต่างเริ่มถีบตัวเองมีมูฟเมนต์ใหม่ๆ สิ่งสำคัญที่สุดคือ “เราจะสร้างความแตกต่าง สร้างความโดดเด่น ทำให้ตัวเอง outstanding จากคู่แข่งได้อย่างไร?” วันนี้เรามีไอเดียน่ารักๆ จากโรงแรมหรูแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียวมาฝาก เผื่อเป็นไอเดียในการสร้างกิมมิคให้กับธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารในประเทศไทยได้
ประสบการณ์ในการทานอาหารที่ไม่เหมือนใคร เป็นไอเดียของโรงแรม Hoshinoya Tokyo ซึ่งเป็นที่พักแบบเรียวกัง (Ryokan) หรือที่พักสไตล์ญี่ปุ่นสุดหรูในสไตล์แบบดั้งเดิม โดยทางโรงแรมได้เพิ่ม ‘โคมส่วนตัว’ ในสไตล์ lantern-styled แบบญี่ปุนแท้ๆ ที่ห้อยหัวลงมาจากข้างบน ซึ่งทุกคนยังสามารถพูดคุยกันได้อยู่ผ่านโคมใสส่วนตัวบนโต๊ะอาหาร
Ryosuke Akahane ผู้จัดการร้านอาหารในโรงแรมแห่งนี้ ได้พูดว่า “การติดตั้งฉากกั้นในร้านอาหาร หรือพื้นที่สำหรับทานอาหารได้กลายเป็นมาตรฐานของทุกที่ทั่วโลก ดังนั้น เราจึงพยายามนำเสนอประสบการณ์ของลูกค้าสนุกสนานขึ้น และต้องแปลกใหม่ ไม่ซ้ำใคร ที่สำคัญต้องยังคงคอนเซ็ปต์ของความเป็นญี่ปุ่นดั้งเดิมอยู่”
การดีไซน์โคมส่วนตัวทางโรงแรมทำงานร่วมกับร้านขายโคมกระดาษเก่าแก่ Kojima Shoten ในกรุงเกียวโต ที่ดำเนินกิจการมาตั้งแต่สมัย เอโดะ (Edo) ในช่วงปี 1603-1868 โดยขนาดของแต่ละโคมมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 75 ซม. และสูง 102 ซม. ทำให้มีพื้นที่เหลือเพียงพอในระหว่างการทานอาหาร ที่น่าสนใจอยู่ที่รูปแบบการดีไซน์, วัสดุที่ใช้ และองค์ประกอบอื่นที่มีผลอย่างมากต่อการใช้งานจริง โดยลูกค้าจะรู้สึกปลอดภัยจาก COVID-19 และไม่อึดอัด ทั้งยังให้ความรู้สึกผ่อนคลายด้วยเมื่ออยู่ในโคมของตัวเอง
ทั้งนี้ ทางโรงแรมยังพูดด้วยว่าการบริการและให้ความสะดวกสบายแก่ลูกค้าเป็นหนึ่งใน core สำคัญของธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ซึ่งในยุคการแพร่ระบาดแบบนี้ เชื่อว่าสิ่งที่ลูกค้าต้องการมากที่สุด คงจะเป็นการทานอาหารร่วมกับลูกอื่นได้โดยไม่ต้องสวมหน้ากาก, การพูดคุยได้โดยไม่ต้องตะโกนคุยกัน, การอยู่ในพื้นที่ safe zone ของตัวเองโดยที่ไม่อึดอัด และโอบล้อมไปด้วยบรรยากาศอบอุ่นใต้ไฟสีเหลืองส้ม คืนความสุขเหมือนช่วงเวลาเดิมๆ ให้กับลูกค้าได้ 2-3 ชั่วโมงก็ยังดี นี่คือหลักสำคัญในการสร้างประสบการณ์ลูกค้า (CX) ที่ธุรกิจต้องเติมปัจจัยดังกล่าวลงไป
ที่มา: japan times, timeout