แม้งานจะจบไปแล้ว แต่ TikTok: The Stage ยังคงถูกพูดถึง ไม่ใช่แค่ฐานะงานประชุมและนิทรรศการเสมือนจริงครั้งแรกของ TikTok ที่เป็นงานใหญ่ระดับภูมิภาค แน่นอนว่าใครพลาดคอนเทนท์ดีๆ จากงานครั้งนี้ก็คงต้องบอกว่าน่าเสียดาย ดังนั้น Marketing Oops! จึงรวบรวมข้อมูลแบบจัดเต็ม ครบทุกช่วงการบรรยาย เพื่อไม่ให้คุณตกเทรนด์ TikTok ไม่ว่าจะเป็นไอเดียเข้าถึงผู้บริโภค แนวคิดการโฆษณา – สร้างแบรนด์ – สร้างความสำเร็จผ่าน TikTok รวมถึงกลยุทธ์สำคัญที่สุดกับการเปลี่ยน Happy Users ให้เป็น Happy Buyers ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของ TikTok และเป็นจุดเด่นที่ทำให้ TikTok กลายเป็นแพลตฟอร์มความบันเทิงที่ประสบความสำเร็จจากการใช้ความคิดสร้างสรรค์และมอบความสุข ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า 240 ล้านคน รวมถึงแนวคิดในการสนับสนุนความปลอดภัยของแบรนด์ การวัดผลทางการตลาด หรืออนาคตของ TikTok ทั้งหมดถูกฉายภาพอย่างชัดเจนผ่าน TikTok: The Stage ทั้งสิ้น
- จากจุดเด่นของ TikTok ที่ดึงดูดใจผู้คนด้วยหลัก 3Rs: Reach – Relevance – Response ทำให้ปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากกว่า 240 ล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งยังใช้เวลานานกว่า 80 นาทีต่อวัน ยังไม่รวมถึงวิดีโอจำนวนมากที่ถูกสร้างขึ้นถึง 27 ล้านคลิปต่อวัน
- TikTok คือ พื้นที่แห่งความสุขบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้ใช้งานมีความสุข ขณะเดียวกัน ก็ยังสามารถเปลี่ยนผู้ใช้ให้กลายเป็นผู้บริโภคที่มีความสุข ตามแนวคิด #HappyUsersHappyBuyers
- การทำโฆษณาบน TikTok สร้างผลตอบแทนสูงกว่า 1.6 เท่า เมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่นๆ
โดย เบลค ชานด์ลี President – Global Business Solutions ของ TikTok เปิดเวทีด้วยหัวข้อ เดินหน้าสู่อนาคตไปกับ TikTok ซึ่งระบุว่าตลอด 2 ปีที่ผ่านมาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีฐานผู้ใช้ TikTok ขนาดใหญ่ หลากหลาย และยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับความร่วมมือทางธุรกิจจากหลากหลายอุตสาหกรรมที่เข้ามาร่วมงานกับ TikTok ผ่านแพลตฟอร์มและความคิดสร้างสรรค์ ทำให้ TikTok กลายเป็นผู้นำแพลตฟอร์มวิดีโอสั้น แพลตฟอร์มความบันเทิงที่ถูกดาวน์โหลดมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นทั้งความบันเทิงและแรงบันดาลใจแก่ผู้คน ซึ่งมีสถิติที่น่าสนใจ ดังนี้…
– มีวิดีโอถูกสร้างขึ้นเป็นจำนวนกว่า 800 ล้านวิดีโอต่อเดือน โดยผู้ใช้ TikTok ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
– 7 ใน 10 คนของผู้เข้าชม TikTok บอกว่าเข้า TikTok เมื่อพวกเขาต้องการ Feel Good
– 35% ของผู้ใช้ TikTok ใช้เวลาอยู่กับแพลตฟอร์มมากขึ้น
– มีคนทุกกลุ่มวัยอยู่บน TikTok ไม่ใช่แค่คน Gen Z
– ไม่ใช่แค่การออกแบบแพลตฟอร์มเพื่อผู้ใช้ แต่มีการสร้าง TikTok Creator Marketplace เพื่อเป็นช่องทางให้กับแบรนด์ในการสร้างสรรค์คอนเทนท์ร่วมกับครีเอเตอร์
– 41% ของผู้ใช้ TikTok ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มองว่าโฆษณาที่น่าดึงดูด คือ โฆษณาที่สร้างความบันเทิง
– ความปลอดภัยเป็นประเด็นที่ TikTok ให้ความสำคัญกับชุมชนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ผู้ใช้มั่นใจ สร้างสรรค์ และแสดงออกได้อย่างเต็มที่ โดยดำเนินการจัดทำรายงานความโปร่งใสทุกไตรมาส การควบคุมความปลอดภัย และลักษณะการใช้งานที่เป็นมิตรต่อครอบครัว ปรับปรุงแพลตฟอร์มโดยคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและความแตกต่างของท้องถิ่น
ความสุขจะสร้างโอกาสให้แบรนด์ได้อย่างไร
ประเด็นนี้ ซาเมียร์ ซิงห์ Head of Global Business Solutions ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค TikTok เล่าว่า Stay at home และ Social Distancing ทำให้ผู้คนใช้ออนไลน์และคอนเทนท์วิดีโอมากขึ้น จากสถิติของผู้ใช้ TikTok 63% ในไทย ชื่นชอบการชอปปิ้งออนไลน์ และมีการสำรองเงินไว้เพื่อกิจกรรมนี้ ซึ่ง TikTok พยายามตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของผู้คนด้วยการนำเสนอคอนเทนท์ที่สร้างสรรค์ ตอบโจทย์ความสุขและแรงบันดาลใจ
Joy = ความสุขที่ผู้ใช้ได้รับจาก TikTok จะกลายเป็นโอกาสสร้างการเติบโต 4 ประการ คือ
- โอกาสในการเข้าถึงผู้ใช้จำนวนมาก
ทั้งรายใหม่และรายเดิม ด้วยจำนวนผู้ใช้เป็นประจำต่อเดือนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า 240 ล้านคน เติบโตขึ้น 85% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งมียอดวิวกว่า 1 ล้านล้านวิว โดย Reach & Relevance ที่แบรนด์จะได้รับจากการลงคอนเทนท์ผ่าน For You Feed ซึ่งจะมีหน้าตาแตกต่างกันสำหรับผู้ใช้แต่ละคน ทำให้ผู้ใช้ได้เจอคอนเทนท์ใหม่ทั้งแบบออแกนิกและของแบรนด์ในวิธีที่สมจริง กลายเป็นอีกช่องทางให้แบรนด์สร้าง Brand Love ได้ง่ายขึ้น หรือแม้แต่ผู้ที่ไม่ได้ติดตามแบรนด์เองก็มีโอกาส Engage กับคอนเทนท์ของแบรนด์มากขึ้นเป็น 2 เท่าอีกด้วย โดย TikTok มีเครื่องมือในการทำโฆษณาเป็นตัวช่วย เช่น Reach & Frequency และ Spark Ads เพื่อเข้าถึงผู้ชมได้จาก For You Feed ซึ่งออกแบบมาเพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่แบรนด์โดยเฉพาะ
- โอกาสในการสร้าง Engage อย่างมีคุณภาพและหลากหลาย
พฤติกรรมหนึ่งของผู้ใช้ TikTok คือความชื่นชอบในการแสดงตัวตน ดังนั้นเครื่องมือต่างๆ บน TikTok จึงสนับสนุนพวกเขาได้เต็มที่ เช่น วิดีโอที่ตัดต่อและใช้งานง่าย ซึ่งมีสถิติระบุว่ากว่าครึ่งของผู้ใช้ TikTok ได้ทำการสร้างคอนเทนท์ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา และ 80% ของผู้ใช้สร้างคอนเทนท์เอง รวมแล้วมีวิดีโอจากผู้ใช้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 800 ล้านวิดีโอในทุกหมวด โดยหมวดหมู่ที่ได้รับความนิยมสูงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ การศึกษา และอาหาร ซึ่งเติบโตขึ้น 3.7 เท่าตัว ขณะที่ เกมมิ่ง เติบโต 2.8 เท่าตัว
โดยแบรนด์สามารถสร้าง Engage จากผู้ใช้ผ่านเครื่องมือต่างๆ เช่น Hashtag Challenges หรือ Branded Effects ซึ่งทำให้ผู้คนเข้าร่วมแคมเปญของแบรนด์และกระจายไปยังผู้ใช้อื่นได้ดีกว่าแค่การกดไลค์ คอมเมนต์ หรือแชร์
- Create Immersive ประสบการณ์ความบันเทิงที่สมจริง
เพราะผู้คนยอมรับว่าโฆษณาเป็นหนึ่งในคอนเทนท์ และเพื่อไม่ให้พวกเขากดข้ามไป TikTok ได้สร้างนิยามใหม่ในการทำโฆษณาบนมือถือ ด้วยการทำโฆษณาแบบเต็มจอและเปิดเสียงอยู่เสมอ ดังนั้น เมื่อโฆษณาปรากฎบนฟีดของผู้ใช้จึงทำให้พวกเขารู้สึกเป็นเรื่องปกติเหมือนคอนเทนท์ทั่วไป โดยผู้ใช้ระบุว่าโฆษณาบน TikTok นั้นมีความบันเทิงกว่าแพลตฟอร์มอื่น 74% สนุกกว่า 70% และน่าจดจำกว่า 65% (ข้อมูลจาก Kantar)
- เปลี่ยน Happy Users ให้เป็น Happy Customer
อีกจุดเด่นของ TikTok คือการเป็น Shoppertainment ยกตัวอย่าง #TikTokMadeMeBuyIt ซึ่งมียอดวิว 5,000 ล้านวิว ช่วยให้สินค้าและแบรนด์กลายเป็นไวรัล ซึ่งมีสินค้าตั้งแต่ชีส ถุงน่อง เครื่องสำอาง อุปกรณ์ทำความสะอาดบ้าน ดังนั้น TikTok จึงไม่ได้เป็นแค่แพลตฟอร์มสำหรับผู้ใช้เพราะยังสามารถสร้างรายได้ และ 1 ใน 3 ของผู้ใช้ใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่าต้องการซื้อสินค้าที่มอบความรู้สึกดีแก่พวกเขาด้วย
โดยแบรนด์สามารถดำเนินการบน TikTok ได้อย่างหลากหลาย เช่น สร้างหน้าร้านบน TikTok แสดง Dynamic Showcase Ads เพิ่มคู่ค้าบนแพลตฟอร์มให้มากขึ้น ซึ่ง TikTok ได้ย่อเส้นทางที่แบรนด์จะค้นพบลูกค้าและทำให้เกิดการซื้อได้รวดเร็วขึ้น
เรียนรู้วิธีเปลี่ยน Happy Users ให้เป็น Happy Buyers
ต่อยอดจากประเด็นก่อนหน้า ชิว วี Head of Business Marketing ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค จาก TikTok และ ไดแอน ราจารัทนัม กรรมการผู้จัดการกลุ่มลูกค้าซอฟต์แวร์และแพลตฟอร์ม จาก Accenture ได้แสดงมุมมองผ่านหัวข้อ ความสุขช่วยเร่งการเติบโตและเพิ่มความหมายให้กับแบรนด์และลูกค้าได้อย่างไร เอาไว้ว่า.
ภารกิจของ TikTok คือ Inspire Creativity and Bring Joy จุดประกายความคิดสร้างสรรค์และความสุข ดังนั้น บนโลกของ TikTok แบรนด์จะเปลี่ยน Happy Users ให้เป็น Happy Buyers ได้อย่างไร ก็ต้องดูว่าพวกเขาต้องการอะไร จากสิ่งที่ผู้ใช้สะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาต้องการให้แบรนด์สื่อสารอย่างไร ต้องการคอนเทนท์แบบไหน ซึ่งวิธีที่ผู้คนเสพคอนเทนท์ความสุขและความบันเทิง คือ การตามหาคอนเทนท์เหล่านั้น แต่หากไม่พบคอนเทนท์ที่ตรงใจ พวกเขาก็จะสร้างขึ้นเอง
– ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้ใช้ TikTok เป็นประจำมากกว่า 240 ล้านคนต่อเดือน ภายใน 1 ปีที่ผ่านมา มีปริมาณและความหลากหลายของคอนเทนท์เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะหมวดเด็กและครอบครัวที่เติบโตขึ้น 210% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา การศึกษา 180% การเงิน 380% กีฬา 800% เกม 320% ยานยนต์ 180% เป็นต้น
– สาเหตุที่ TikTok มียอด Engagement จำนวนมาก เป็นเพราะคอนเทนท์มีเสียง เหมาะกับมือถือ เป็นแนวตั้ง สร้างสรรค์ มีความแท้จริง หลากหลาย และใช้งานง่าย ทำให้ผู้ใช้ต้องการมีส่วนร่วมกับแบรนด์ งานวิจัยของ Whalar เมื่อเร็วๆ นี้ระบุว่า จากการรับชมโฆษณาบนทีวี และได้ชมบน TikTok จะทำให้นึกถึงโฆษณาทีวีเพิ่มขึ้น 13%
– งานวิจัยของ Accenture ได้สรุป Mindset หลัก 5 ประการ ที่จะช่วยให้แบรนด์สามารถเชื่อมโยงกับผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากผู้บริโภคตัดสินใจตามความคิดหรือความรู้สึก ดังนั้น ยิ่งแบรนด์เข้าใจลูกค้ามากแค่ไหน ก็ยิ่งทำให้ผู้บริโภครู้สึกอยากเกี่ยวข้องด้วยมากเท่านั้น
- Me-time Mindset ผู้ใช้จะแสวงหาความสบายใจและความอิ่มเอมใจอย่างฉับพลัน
- FOMO Mindset กลัวการตกเทรนด์ ดังนั้น ความสุขคือการอินเทรนด์
- Better we, better me Mindset ความเห็นอกเห็นใจจะมีอิทธิพลอย่างมาก โดยเฉพาะการเข้าใจโลกอย่างลึกซึ้ง
- Level up Mindset การอัปเลเวล เพราะความสุขมาสู่ชีวิตพร้อมกับโอกาสในการเรียนรู้และทดลอง
- Jumpstarter Mindset ผู้ริเริ่มทำประโยชน์ คือ นักสำรวจ นักสร้างแรงบันดาลใจ และผู้ให้ปัญญา
– สิ่งที่แบรนด์ควรทำ เพื่อสร้างการเติบโตจากความสุขและความสนุกสนานตามที่ผู้คนต้องการ มีอยู่ 3 ขั้นตอน คือ
- Flawsome เป็นการนำคำว่า Flaw มารวมกับ Awesome เพื่อสื่อว่าลูกค้าอาจเบื่อคอนเทนท์ที่ถูกปั้นแต่งมากเกินไป พวกเขาอยากให้แบรนด์โชว์ที่เปราะบางและไม่สมบูรณ์แบบออกมาอย่างมั่นใจ ประเด็นนี้ไม่ได้หมายถึงการโชว์ข้อด้อย แต่หมายถึงการเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง ในวิถีที่สอดคล้องกับค่านิยมของแบรนด์แล้วเปลี่ยนเป็นข้อได้เปรียบ
- Democratise Creativity ความสร้างสรรค์อย่างเท่าเทียมบนคอนเทนท์ เช่น แค่มีไอเดียสร้างสรรค์และมีสมาร์ทโฟนก็สามารถสร้างวิดีโอ คอนเทนท์ หรือโฆษณาได้ผ่าน TikTok
- Shoppertainment แบรนด์ต้องให้ความบันเทิงลูกค้าไปพร้อม ๆ กับการโฆษณาสินค้า เพราะผู้คนชอปปิ้งออนไลน์มากขึ้น จนเกิดการผสานกันระหว่างคอนเทนท์และคอมเมิร์ซกลายเป็น Shoppertainment ซึ่งแบรนด์สามารถค้นหาลูกค้าที่เหมาะสมจากผู้ที่สนใจคอนเทนท์ของตนเองได้ ก่อนจะเปลี่ยนการค้นพบไปสู่การมีส่วนร่วมและขั้นตอนซื้อ
วิธีเอาชนะใจลูกค้า…ในโลกการตลาดแบบใหม่
ในหัวข้อสร้างสมดุลที่ดียิ่งขึ้นระหว่างแบรนด์กับการตลาดในเชิงผลประกอบการ ที่รวมมุมมองจาก เวิน ไว กอห์ Head of Brand Partnerships ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของTikTok และ นิโคล ชาน หัวหน้าเจ้าหน้าที่ดิจิตอล จาก L’Oréal Luxe SAPMENA และ ซาดาน มิชรา ผู้อำนวยการ OMD ของ สิงค์โปร์ และ บิม กูเทียเรสหัวหน้าฝ่าย Digital & E-Commerce จาก Bayer ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกี่ยวกับความท้าทายและแนวทางการแก้ปัญหา เพื่อความสำเร็จในการสร้างสมดุลระหว่างแบรนด์และการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ สรุปได้ ดังนี้
– New Normal ได้กลายเป็น Normal ไปแล้ว แบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ มาจากการคิดค้นและสำรวจวิธีการใหม่ๆ เพื่อเชื่อมโยงกับลูกค้า ซึ่งมีผลการศึกษาระบุว่า 88% ของผู้ใช้ TikTok บอกว่าเสียงมีความสำคัญต่อประสบการณ์ของพวกเขา
– สิ่งที่จำเป็นต่อแบรนด์มากกว่าการมีสินค้าหรือไอเดียใช้สื่อ คือ กลยุทธ์ เพราะผู้บริโภคมีความคาดหวังจากแบรนด์มากขึ้น พวกเขาไม่ต้องการรับสารที่ถูกปรุงแต่ง แต่ต้องการสิ่งที่มีความหมาย ซึ่งนักการตลาดสามารถสร้างกลุ่มคน สร้างมูลค่าที่แท้จริงได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสามารถใช้ดิจิทัลเป็นสื่อกลางได้ เพื่อสร้างสิ่งใหม่ที่มากกว่าการขายโฆษณา ขายสินค้า
– การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นเหมือนลูกตุ้มเหล็ก เมื่อพุ่งชนสิ่งใดแล้วก็จะไม่มีวันเป็นเหมือนเดิม เช่นเดียวกับสถานการณ์ตอนนี้ที่ผลกระทบเกิดขึ้นในระยะยาว ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
– ภาวะการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่เราเผชิญอยู่นี้ ถูกเรียกว่าเป็น Now Normal การที่แบรนด์จะเติบโต ต้องคำนึงถึงหลายๆ องค์ประกอบ เช่น จุดเริ่มต้นที่แท้จริง อะไรคือวัตถุประสงค์ที่ถูกต้องที่จะกำหนดว่าเป็น New Normal และในแง่ของความสามารถ ว่าอะไรคือชุดเครื่องมือที่ช่วยให้พนักงานเป็นเลิศ ผู้คนก็ต้องมีการเสริมทักษะที่เหมาะสมสู่โอกาส รวมถึง การที่ออนไลน์กลายเป็นแหล่งข้อมูลของลูกค้าจำนวนมหาศาล ต้องมีไอเดียการนำไปใช้และดำเนินการอย่างว่องไว
– COVID-19 ไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลง มันแค่เร่งให้ทุกอย่างเร็วขึ้น และการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องใหม่ในมุมของนักการตลาดและแบรนด์ แต่การเปลี่ยนแปลงในช่วงปีที่ผ่านมาไม่เหมือนกับทุกครั้ง เพราะการเปลี่ยนแปลงแซงหน้าความสามารถในการปรับตัวของพวกเรา และยังไม่รู้ว่าข้อจำกัดนี้จะคลี่คลายลงเมื่อใด แต่ออนไลน์ยังคงเป็นพื้นที่ที่สามารถเชื่อมโยงผู้คนกับแบรนด์ได้ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน สิ่งที่นักการตลาดและแบรนด์ต้องตระหนัก คือ ผู้คนไม่ได้คาดหวังถึงสิ่งที่ถูกปรุงแต่ง แต่พวกเขามองหาความสมจริง และการกล่าวถึงสิ่งที่พวกเขาสนใจ ซึ่งมิติต่อจากนั้นเป็นสิ่งที่นักการตลาดและแบนด์ต้องนำไปคิดต่อ เพราะผู้คนจะไม่ทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์เพื่อรอไปท่องเที่ยวในสุดสัปดาห์ รูปแบบการทำตลาดที่เคยคาดเดาพฤติกรรมผู้บริโภคได้นั้น หายไปแล้ว เพราะผู้บริโภคอยู่ทั่วทุกหนแห่ง
– จากเดิมที่ผู้คนต้องใช้ชีวิตภายในบ้าน แต่เมื่อสถานการณ์กลับเป็นปกติพวกเขาจะโหยหาการใช้ชีวิตนอกบ้าน เรื่องนี้กลายเป็นโจทย์ที่นักการตลาดและแบรนด์ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ทั้ง 2มิติ สามารถตอบโจทย์ผู้คนได้ พวกเขาต้องสามารถเลือกได้และไม่ว่าพวกเขาจะเลือกทางไหน ประสบการณ์ของแบรนด์ต้องตอบโจทย์ได้ตรงกัน
TikTok กับความปลอดภัยต่อแบรนด์
เป็นอีกความกังวลของนักการตลาดและแบรนด์ ที่มีต่อแพลตฟอร์มซึ่งพวกเขาเลือกทำตลาดและโฆษณา ดังนั้น ไคลด์ นูนส์ หัวหน้าฝ่ายขายโดยตรง ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของ TikTokและ ป็อปปี้ ฮิลล์ กรรมการผู้จัดการ JPAC จาก OpenSlate และ ปิปปา เบอร์ลอคเชอร์ ประธานประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคของ Reprise จึงเปิดประเด็นในหัวข้อจากพาร์ทเนอร์ผู้ทดสอบ สู่พาร์ทเนอร์ที่เชื่อถือได้: ความมุ่งมั่นของ TikTok ที่มีต่อความปลอดภัยของแบรนด์ ซึ่งสรุปเนื้อหาได้ว่า
– จากรายงานบังคับแนวปฏิบัติชุมชนล่าสุดของ TikTok เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 ประมาณ 62 ล้านวิดีโอ ถูกลบออกจาก TikTok ทั่วโลก เนื่องจากละเมิดหลักเกณฑ์ชุมชนหรือเงื่อนไขการให้บริการ แม้จะเป็นตัวเลขที่สูงแต่คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 1% ของวิดีโอทั้งหมดที่อัปโหลดบน TikTok โดย 81.8% ของวิดีโอที่ละเมิด ถูกพบและลบออกก่อนจะมีการรับชม 91% ถูกลบออกก่อนมีการแจ้งมายังระบบ และ 93% ถูกลบออกภายใน 24 ชม. หลังอัปโหลดบน TikTok
– ขั้นตอนความปลอดภัยบน TikTok ประกอบด้วย นโยบายและแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัย ที่ผ่านการกลั่นกรอง ฟีเจอร์บนแพลตฟอร์ม มีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์กรต่างๆ ที่ดูแลความปลอดภัยแบรนด์ดิจิทัล เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ใช้และแบรนด์จะปลอดภัย โดยล่าสุด TikTok ยังประกาศเปิดตัว 2 หน่วยงานใหม่ผ่าน TikTok: The Stage คือ การกลั่นกรองเพื่อความปลอดภัยของแบรนด์ เพื่อควบคุมตำแหน่งที่โฆษณาทำงานได้ดีมากขึ้น และ TikTok ยังร่วมกับOpenSlate เพื่อตอบโจทย์ผู้โฆษณาสำหรับความต้องการด้านความปลอดภัยของแบรนด์ ตั้งแต่เริ่มและหลังแคมเปญอีกด้วย
– TikTok ใช้นโยบายโฆษณาที่เข้มงวดเช่นเดียวกันบนแพลตฟอร์มไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ใหญ่หรือเล็ก ด้วยแนวคิด ออกแบบมาให้ปลอดภัย เพื่อทำให้แพลตฟอร์มปลอดภัยและเป็นมิตรกับทุกคน ภายใต้เป้าหมายปกป้องผู้ใช้งานในทุกกรณี รวมถึงการผลักดันให้เกิดผลกระทบที่ดีต่อสังคม โดยมี TikTok Academy ที่จะสอนบุคลากรซึ่งได้รับการรับรองจาก TikTok เพื่อทำให้ทีมมั่นใจว่ามีความรู้และความเชี่ยวชาญสำหรับส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดบนแพลตฟอร์ม
วัดผลด้วย Reach อย่างเดียวไม่พอ เพราะ Relevance คือตัวแปรใหม่สำหรับแบรนด์
ในหัวข้อทำให้ผู้โฆษณามีความสุขกับการวัดผล ซึ่งเป็นการสะท้อนมุมมองจาก บาเลนดู ชริวาสตาว่า หัวหน้าการวัดผลประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ของ TikTok และ อาบิแนฟ มาเฮสวาริ รองประธานฝ่ายประสิทธิภาพการตลาดของ Nielsen เอเชียแปซิฟิค และ พาโบล โกเมซ หัวหน้าฝ่ายสร้างสรรค์และสื่อสิงคโปร์และผู้นำสื่อระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ของ Kantar สรุปได้ว่า
– สิ่งที่ควรพิจารณาเมื่อทำโฆษณาบน TikTok ให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็นหลัก คือ มูลค่าของผู้โฆษณา เพื่อพิสูจน์คุณค่าที่จะได้รับคืนจากที่ใช้ไปบนแพลตฟอร์ม การวัดประเมินผลที่ดี เพื่อใช้เครื่องมือวัดและเทคนิคที่แม่นยำในการพิสูจน์คุณค่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เพื่อดึงคุณค่าสูงสุดจากแพลตฟอร์ม
– ส่วนการวัดผลบน TikTok มี 3 องค์ประกอบ เนื่องจาก Reach อย่างเดียวไม่พอ เพราะ Relevance คือตัวแปรใหม่สำหรับแบรนด์ คือ
- Media Effectiveness ด้วยจำนวน Reach ที่ยืนยันได้โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของแบรนด์บนแพลตฟอร์มที่โปร่งใส
- Brand Effectiveness แบรนด์คือการรับรู้ของผู้ใช้หรือโครงสร้างหน่วยความจำที่ถูกสร้างขึ้นโดยผู้ชมผ่านโฆษณา
- Sales Effectiveness ประสิทธิภาพการขายซึ่งวัดจากพฤติกรรมผู้ใช้จริงที่นำไปสู่การประเมินด้านมูลค่า
– จากการทำวิจัยของ Nielsen พบว่าวิดีโอเป็นรูปแบบโฆษณาที่ผู้คนชื่นชอบ มากกว่าข้อความหรือ GIF โดย 41% เห็นด้วยว่าพวกเขามีส่วนร่วมมากกว่า กับวิดีโอโฆษณาเพื่อความบันเทิง โดย 73% บอกว่าโฆษณาแบบป็อปอัพและแบบกดข้ามไม่ได้ คือ รูปแบบโฆษณาที่พวกเขาไม่ชอบมากที่สุด และ 45% มักจะแนะนำแบรนด์ที่ทำเป็น Native Ads มากกว่าที่เป็นภาพโฆษณา
– TikTok ได้มอบหมายให้ Nielsen ทดลองโมเดลการตลาดแบบผสมสำหรับการขายออฟไลน์ ใน 15 แบรนด์สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งพบว่าโฆษณาบน TikTok มีผลตอบแทนจากการลงทุนเพิ่มขึ้น 1.6 เท่าเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่น เช่น ทีวี วิทยุ OOH สิ่งพิมพ์ โรงภาพยนตร์ เป็นต้น ขณะเดียวกัน แบรนด์ที่ใช้งาน TikTok มากกว่า 7 สัปดาห์ต่อปี สามารถสร้างผลตอบแทนจากเงินค่าโฆษณาสูงกว่า 14% เมื่อเทียบกับแบรนด์ที่ใช้งานTikTok เพียง 7 สัปดาห์
– ผลวิจัยของ Kantar Media Reaction 2021 พบว่า TikTok เป็นผู้นำด้านมูลค่าโฆษณาติดต่อเป็นปีที่ 2 โดยวัดจากทัศนคติของผู้บริโภคและความรู้สึกที่มีต่อโฆษณา
– ในยุคที่มีแพลตฟอร์มมากมาย กลยุทธ์การดึงความสนใจจากผู้บริโภค คือ การปรับแต่ง Touch Point ให้มากที่สุด ทั้งช่องทางและคอนเทนท์ที่สร้างสรรค์เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้ผลลัพธ์ดีที่สุด นักการตลาดต้องว่องไวและปรับเปลี่ยนวิธีการได้เร็ว อย่างไรก็ตาม ทั้งยอดวิวและยอดคลิก ล้วนเป็นเรื่องสำคัญของนักการตลาด แต่ Touch Point จะมีผลต่อพฤติกรรมและทัศนคติของผู้ชมหรือต่อ KPI ที่จะวัดผล
– สิ่งที่ทำให้นักการตลาดได้เปรียบ คือ การใช้วิธีที่หลากหลาย ใช้โมเดลส่วนผสมทางการตลาดซึ่งพัฒนามา 10-20 ปีแล้วแต่ยังคงใช้ได้ดี มีการผสานระหว่างสถิติ เทคโนโลยี ข้อมูล ดังนั้น การตลาดต้องพร้อมนำองค์ประกอบอื่นมารวมกันมากขึ้น มากกว่าการค้นหาหน่วยพิเศษเพื่อวัดผล อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการปรับแต่งโฆษณาให้แตกต่างกันในแต่ละแพลตฟอร์ม พบว่าได้ผลลัพธ์ดีขึ้น 70% เพราะนอกจาก Content is King แล้วก็ยังมี Platform is Queen ด้วย
– สรุปจุดแข็งของ TikTok คือ 1.ได้รับความสนใจและการมีส่วนร่วม เพราะช่วยให้ผู้ชมจดจำแบรนด์ได้ดีขึ้น 2.สร้างความเกี่ยวข้องและส่งเสริมพฤติกรรมการซื้อ 3.ไม่เพียงแต่การคลิกเท่านั้น พฤติกรรมผู้บริโภคบน TikTok ยังบอกได้ว่าผู้ชมหลอมรวมและใช้เวลาบนแพลตฟอร์มมากกว่า แม้ว่าอาจะคลิกน้อยครั้งเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่นแต่ให้ความสนใจและทำคะแนนได้ดีกว่าด้านพฤติกรรมการซื้อ และ 4.คุณค่าถูกสร้างขึ้นทั้งการดูระยะสั้นและระยะยาว เนื่องจากได้รับความสนใจและมีส่วนร่วมอย่างมาก
ความสร้างสรรค์ และความสุขของ TikTok แตกต่างอย่างไร
ภายในหัวข้อยกระดับความสำเร็จด้วยความคิดสร้างสรรค์และความสุข เป็นการถ่ายทอดมุมมองจากตัวจริงแห่งวงการโฆษณา เจ้าของแบรนด์ และครีเอเตอร์ อย่าง นิกฮิล แซนดู Head of Creative Lab ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของ TikTok และ วีเจ แอนันด์ หัวหน้าฝ่ายสร้างสรรค์ประจำเอเชียแปซิฟิค ของ VaynerMedia และ วาเลอรี่ แมดอน Chief Creative Officer – Asia จาก VMLY&R และ แวนจี้ ฮู รองประธานฝ่ายการตลาด Atome และ วู้ดดี้-วุฒิธร มิลินทจินดา คอนเทนท์ครีเอเตอร์ และพิธีกรชื่อดัง โดยสรุปได้ ดังนี้
– TikTok ไม่ได้มีแค่การเต้นและเพลง แต่ยังเต็มไปด้วยคอนเทนท์ DIY เพื่อความบันเทิง ที่ให้ทุกคนสามารถสร้างสรรค์บนแพลตฟอร์มได้ กลายเป็นบ้านสำหรับการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ด้วยวิดีโอที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครเพื่อมอบแรงบันดาลใจและความสนุกสนาน โดยมีครีเอเตอร์เป็นส่วนผสมในการปลดล็อกการมีส่วนร่วมและสร้างความไว้วางใจบน TikTok ประเด็นนี้ถือเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดของแบรนด์ เพราะครีเอเตอร์สามารถสร้าง Engagement ได้มากกว่าวิดีโอที่ผู้ใช้ทั่วไปสร้างขึ้นถึง 2 เท่าตัว และยังมี TikTok Creator Marketplace รวมครีเอเตอร์ที่ผ่านการรับรองถึง 20,000 คน จึงง่ายต่อแบรนด์ในการค้นหาครีเอเตอร์เพื่อร่วมงาน มีฟังก์ชันการคัดกรองด้วยข้อมูลเชิงลึกเพื่อช่วยค้นหาครีเอเตอร์สำหรับแคมเปญและการทำตลาด
– สรุป TikTok สร้างความแตกต่างได้จาก 4 เรื่อง คือ Be Authentic การสื่อถึงความเป็นตัวตนและเนื้อหาที่สนุกนาน Vertical & Sound on ดนตรีและเสียงช่วยสร้างความนิยมและการมีส่วนร่วมได้ดี Blend your brand with creator ความคิดสร้างสรรค์อาจเกิดขึ้นได้จากการร่วมงานกับครีเอเตอร์ Celebrate with your community ชุมชนและแบรนด์ต่างเฉลิมฉลองและเติบโตไปพร้อมกัน
– แบรนด์ต้องกล้าหาญ ทิ้งกรอบ เมื่อพวกเขาต้องการสื่อสารต้องย้อนกลับไปที่ DNA ของแบรนด์ หาตัวตนของแบรนด์ สะท้อนตัวตนออกมาต่อกลุ่มเป้าหมาย แทนการพยายามหรือคาดเดาสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายต้องการ ถือเป็นการแสดงความซื่อสัตย์ของแบรนด์และกล้าที่จะลองผิดลองถูกว่าตรงใจผู้บริโภคหรือไม่ จากนั้นก็จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงได้เอง
– ในฐานะครีเอเตอร์ จำเป็นต้องค้นหาตัวตนที่แท้จริงให้เจอ เช่นเดียวกับที่แบรนด์ต้องทำ แต่บน TikTok คุณต้องรู้สึกสนุกไปด้วย ไม่เช่นนั้นอาจไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดี เพราะแพลตฟอร์มอื่นๆ ก็ให้หลายอารมณ์ แต่บน TikTok คือความสนุก ซึ่งจุดประกายความสุขให้ทั้งครีเอเตอร์และผู้ชม โดยคอนเทนท์ควรเป็นเรื่องจริงและใหม่สำหรับผู้ชม
สรุปประเด็นสำคัญจาก TikTok: The Stage
ในช่วงสุดท้ายของงาน TikTok: The Stage เป็นหัวข้อสรุปประเด็น TikTok: The Stage โดย ซาเมียร์ ซิงห์ Head of Global Business Solutions ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค TikTokซึ่งสรุปได้ ดังนี้
– TikTok มีจุดเด่นคอนเทนท์ คือ ให้ความบันเทิง สร้างแรงบันดาลใจ และให้ข้อมูล ภายใต้การเป็นพื้นที่ปลอดภัยเพื่อการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ โดยมีความสนุกสนานเป็นธีมหลักของแพลตฟอร์ม
– ประเด็นความช่วยเหลือแบรนด์ TikTok ก็สนับสนุนให้มีการสร้างแบรนด์อย่างสร้างสรรค์ ผ่านเครื่องมือการค้าและรูปแบบต่างๆ โดยมีความสุขเป็นเคล็ดลับในการสร้างความสำเร็จบน TikTok ทำให้เกิด Engagement ร่วมกับผู้ชมที่มีคุณภาพสูง สร้างคอนเทนท์ที่หลากหลาย มีการแบ่งปันข้อมูลเชิงลึก เคล็ดลับ และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดเกี่ยวกับแบรนด์ การตลาด การวัดผลที่มีประสิทธิภาพ และความคิดสร้างสรรค์ ภายใต้ความปลอดภัยของแบรนด์เพื่อทำโฆษณาได้อย่างมั่นใจ
– ทั้งหมดจะนำไปสู่การสร้างประสบการณ์การช้อปที่สนุกสนาน ผ่านแนวคิด Captivate with joy หรือการดึงดูดลูกค้าด้วยความสุข
ผู้สนใจสามารถติดตามชมรีรันของ TikTok: The Stage ได้ทาง https://www.tiktok.com/business/th/blog/tiktok-the-stage-watch-on-demand