ช่วงที่ผ่านมานักลงทุนคงทราบดีว่า ตลาดการลงทุนในประเทศไทยดูเหมือนจะซบเซาลงอย่างมาก ซึ่งเป็นผบกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดที่ทำให้ต้องทีการใช้มาตรการต่างๆ เข้ามาระงับการแพร่ระบาด และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบกับภาคธุรกิจการลงทุน ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มมองหาตลาดลงทุนในต่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนหรือกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าไทย
ขณะที่สถานการณ์โรคระบาดเริ่มมีทิศทางผ่อนคลายมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศกลุ่มพัฒนาแล้วหรือกลุ่มมหาอำนาจของโลก ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจเริ่มมีสัญญาณการกลับมาฟื้นตัว เช่น ตลาดแรงงานที่เริ่มกลับสู่ระดับใกล้เคียงปกติ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีสัญญาณที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของตลาดการเงินโลก รวมทั้งตลาดการเงินของอาเซียนโดยเฉพาะเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เตรียมพิจารณาการปรับลดมาตรการ QE ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้
การปรับลดมาตรการ QE เป็นสัญญาณของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มกลับมาฟื้นตัว โดยคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้นนโยบายสหรัฐฯ ช่วงไตรมาส 3 ของปี 2022 ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปก็ส่งสัญญาณการปรับลด QE ลงในการประชุมรอบล่าสุดที่ผ่านมา ด้านธนาคารกลางเกาหลีใต้ถือเป็นที่แรกๆ ที่เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หลังเงินเฟ้อปรับตัวสูงถึง 2.6% สูงที่สุดในรอบ 9 ปีในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ตลอดจนการปรับขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือนทะลุระดับ 100% ของ GDP เป็นครั้งแรก
ทั้งนี้ หากพิจารณาการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางของประเทศในอาเซียนจะพบว่า กรอบในการดำเนินนโยบายการเงินของแต่ละธนาคารกลางอาจมีความแตกต่างกันตามน้ำหนักปัจจัยในประเทศ อาทิ ระดับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ พัฒนาการเงินเฟ้อ และปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย ตลอดจนประเด็นด้านเสถียรภาพต่างๆ ซึ่งอาจมีผลต่อจังหวะในการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินที่แตกต่างกัน
สิงคโปร์ฟื้นตัวเร็วที่สุดในกลุ่ม
โดยจากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า ประเทศสิงคโปร์ น่าจะเป็นเศรษฐกิจแรกในอาเซียนที่เตรียมพร้อมในการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินให้อยู่ในระดับปกติมากขึ้น หลังจากที่เศรษฐกิจสิงคโปร์กลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและขนาดเศรษฐกิจกลับไปสูงกว่าระดับก่อนสถานการณ์โรคระบาด ทั้งนี้เศรษฐกิจของสิงคโปร์เน้นพึ่งพาการค้าต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงกว่าเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้มีการใช้เครื่องมือทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหลัก
คาดว่าสิงคโปร์จะปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศเคลื่อนไหวตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินโลก ซึ่งการปรับลด QE ของสหรัฐฯ อาจส่งผลให้ธนาคารกลางสิงคโปร์กลับมาใช้มาตรการแข็งค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์อีกครั้งในช่วงต้นปี 2565 หลังจากที่ธนาคารกลางสิงคโปร์ใช้นโยบาย Zero Rate of Appreciation โดยจัดการค่าเงินไม่ให้แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินคู่ค้าในช่วงเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งการปรับเปลี่ยนนโยบายดังกล่าวจะช่วยสร้างความสมดุลระหว่างอัตราเงินเฟ้อจากต่างประเทศและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ฟิลิปปินส์ประเทศที่ต้องเฝ้าระวัง
ขณะที่ ประเทศฟิลิปปินส์ อาจเผชิญกับแรงกดดันในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุดและอาจจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แม้มีการคาดการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ที่ค่อนข้างล่าช้า โดยฟิลิปปินส์เผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่ทรงตัวในระดับสูงและอยู่เหนือระดับเงินเฟ้อเป้าหมายต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2564 ขณะที่การปรับขึ้นของราคาพลังงานและอาหาร ตลอดจนผลจากการอ่อนค่าของเงินเปโซยังคงส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อยังไม่มีสัญญาณปรับลดลง
นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน ทั้งการไหลออกของเงินทุน การถูกขึ้นบัญชีเทาในการฟอกเงินของ FATF รวมถึงอาจถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือจากสถานะการคลังที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสถานการณ์โรคระบาด นอกจากนี้ฟิลิปปินส์ยังมีการออมรวมของประเทศต่ำสุดในกลุ่ม ASEAN-6 โดยในปี 2563 มีการออมรวมของประเทศเพียง 9.6% ของ GDP ทำให้ภาครัฐต้องพึ่งพิงการกู้ยืมเงินนอกประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้อาจกดดันให้ธนาคารกลางฟิลิปปินส์อาจต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าเศรษฐกิจในประเทศจะยังไม่ฟื้นตัว
เวียดนามตลาดที่น่าจับตา
ด้าน ประเทศเวียดนาม เป็นอีกหนึ่งประเทศที่น่าสนใจ ขณะที่เศรษฐกิจของเวียดนามมีสัญญาณฟื้นตัวได้ดีตามเศรษฐกิจโลก คาดว่าปัจจัยด้านบวกนี้น่าจะหนุนให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเวียดนามสอดรับกับธนาคารกลางขนาดใหญ่ทั่วโลกเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจที่น่าจะเติบโตอย่างรวดเร็วหลังสถานการณ์โรคระบาดผ่อนคลาย ตลอดจนหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่เวียดนามอาจถูกจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่แทรกแซงค่าเงิน
ทั้งนี้ สภาพเศรษฐกิจเวียดนามคาดว่าจะกลับมาเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพในปี 2565 จะช่วยหนุนให้ธนาคารกลางเวียดนามสามารถเห็นการเติบโตของสินเชื่อและปริมาณเงินตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ขณะที่การคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำจะส่งผลต่อพฤติกรรมการออม เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะลดต่ำลง ส่งผลให้เกิดการลงทุนที่มีความเสี่ยงมากขึ้นเพื่อหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้น นอกจากนี้สัญญาณของดัชนีตลาดหลักทรัพย์เวียดนามที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจเป็นหนึ่งในสัญญาณสะท้อนการปรับตัวของราคาสินทรัพย์ที่มีสัญญาณร้อนแรงในบางภาคส่วน
การคาดการณ์ดังกล่าว น่าจะส่งผลให้เกิดการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลความเสี่ยงที่เกิดจากการเติบโตของเศรษฐกิจ ที่สำคัญการดำเนินนโยบายการเงินที่สอดคล้องกับธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังช่วยลดความเสี่ยงที่สหรัฐฯ อาจเข้าใจว่า เวียดนามมีความพยายามที่ใช้นโยบายการเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบของค่าเงินดอง ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ทางการค้าของเวียดนามอีกด้วย
อินโดฯ – มาเลย์ เดินเกมตามนโยบายต่างประเทศ
สำหรับสถานการณ์การปรับอัตราดอกเบี้ยของมาเลเซียและอินโดนีเซียไปในทิศทางเดียวกัน โดยเลือกจังหวะในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) โดยปัจจัยที่ใช้ในการตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยน่าจะมาจากปัจจัยภายนอกประเทศมากกว่าปัจจัยภายในประเทศ ทั้งนี้โครงสร้างตลาดการเงินของอินโดนีเซียและมาเลเซียมีระดับของการพึ่งพิงเงินทุนต่างชาติที่ค่อนข้างสูง โดยนักลงทุนต่างชาติถือครองตราสารหนี้ถึง 23% และ 26% ตามลำดับ
ขณะที่หนี้สินต่างประเทศของทั้งอินโดนีเซียกับมาเลเซียอยู่ในระดับสูงกว่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศถึง 2 และ 3 เท่าตามลำดับ ซึ่งจะส่งผลให้ทั้งสองประเทศอาจเผชิญกับความผันผวนในการเคลื่อนย้ายเงินทุน ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการเงินที่อิงปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก และมีผลต่อการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย คาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของทั้ง 2 ประเทศน่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2565 ซึ่งน่าจะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศกลับสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตโรคระบาด
คาดไทยคงมาตรการดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือ
ขณะที่ประเทศไทย คาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ล่าช้าบวกกับแรงกดดันเงินเฟ้อที่จำกัด อาจส่งผลให้ธนาคารกลางแห่งประเทศไทยเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน ทั้งนี้ การฟื้นตัวที่ล่าช้าส่งผลให้ภาคการเงินของไทยยังต้องอาศัยอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อลดภาระของผู้ประกอบการ ตลอดจนช่วยประคองคุณภาพหนี้ (ลดการเกิด NPL) เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวหลังวิกฤติโรคระบาดได้ และหากธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นสัญญาณการฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ อาจมีการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต
ขณะที่ข้อได้เปรียบของประเทศไทยที่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจต่างประเทศยังคงแข็งแกร่ง และอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้แรงกดดันต่อการต้องปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้สอดรับกับธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังมีไม่มาก ทำให้ประเทศไทยยังมีอิสระในการกำหนดอัตราดอกเบี้ย และน่าจะเป็นประเทศท้ายๆ ในอาเซียนที่คงมาตรการผ่อนคลายทางการเงินไว้ แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางหลายประเทศในอาเซียนจะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ตาม
สิงคโปร์-เวียดนาม น่าลงทุนสูงสุด
โดยสรุป ประเทศสิงคโปร์น่าจะเป็นผู้นำของเศรษฐกิจกลุ่ม ASEAN-6 ที่เริ่มปรับท่าทีการดำเนินโนยายการเงินให้เข้มงวดขึ้น ผ่านการปรับความชันของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ส่วนฟิลิปปินส์คงจะเป็นประเทศที่เผชิญกับแรงกดดันในการขยับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นรายต่อไป ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ตลอดจนความเสี่ยงด้านต่างๆ ที่อาจนำไปสู่การไหลออกของเงินทุน ตามมาด้วยเศรษฐกิจเวียดนามที่คงมีปรับท่าทีการดำเนินนโยบายการเงิน หลังจากที่เศรษฐกิจกลับมาเติบโตเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจตลอดจนหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่เวียดนามอาจถูกจัดในกลุ่มประเทศที่แทรกแซงค่าเงิน
ขณะที่มาเลเซียและอินโดนีเซียน่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสอดรับกับธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เนื่องจากตลาดการเงินของอินโดนีเซียและมาเลเซียพึ่งพิงเงินทุนต่างชาติค่อนข้างสูง โดยเศรษฐกิจทั้ง 2 ประเทศกลับมาฟื้นตัวมากกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตโรคระบาด ด้านประเทศไทยคาดว่าจะเป็นประเทศท้ายๆ ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเนื่องจากเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากโรดระบาดมากกว่าประเทศอื่นๆ ใน ASEAN-6 จึงต้องยังคงมาตรการผ่อนคลายทางการเงินไว้นานกว่าประเทศอื่นๆ
ข้อมูล: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย