ในวันที่หน้าร้านต้องปิด ถอดบทเรียน #สุกี้ตี๋น้อย จากร้านบุฟเฟต์นั่งกิน ปรับตัวสู่สมรภูมิ Food Delivery อย่างไร

  • 214
  •  
  •  
  •  
  •  

Suki Tee Noi

 

จากสถานการณ์ COVID-19 ที่ช่วงนี้ยังคงแพร่ระบาดอย่างหนัก ทำให้ร้านอาหารในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ต้องปิดการให้บริการที่ร้าน เป็นให้บริการเฉพาะซื้อกลับบ้าน ซึ่งแน่นอนว่าอาหารหลาย ๆ ประเภทอาจไม่ได้สะดวกต่อการขายแบบให้ซื้อกลับบ้าน เช่น ร้านที่ให้บริการแบบบุฟเฟต์ เรื่องนี้กลายเป็นวิกฤตของร้านบุฟเฟต์จำนวนไม่น้อย

รวมถึงสุกี้แบรนด์ดังที่เปิดให้บริการแบบบุฟเฟต์อย่าง ร้านสุกี้ตี๋น้อย ซึ่งได้ปรับรูปแบบไปให้บริการแบบ Take Away ผ่านแพลตฟอร์ม Food Delivery ของ Gojek โดย คุณเฟิร์น – นัทธมน พิศาลกิจวนิช เจ้าของร้านสุกี้ตี๋น้อย ในวัย 29 ปี เล่าว่า จากจุดเริ่มต้นที่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำเมื่อ 4 ก่อน เพราะต้องการทำตามความฝันและได้ทำงานที่มีความท้าทาย จึงเริ่มจากการเปิดร้านอาหารภายในพิพิธภัณฑ์บ้านบางเขน ซึ่งเป็นธุรกิจของคุณพ่อ ที่มีเพียงคาเฟ่เล็ก ๆ แต่ตนเองเห็นว่ายังมีพื้นที่ว่างอยู่จึงขอคำแนะนำเรื่องธุรกิจจากคุณพ่อ และเริ่มต้นเป็นร้านสุกี้ตี๋น้อยสาขาแรก

“ในตอนนั้นเลือกเปิดร้านสุกี้ เพราะมองว่ามีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ถ้าเสิร์ฟด้วยวัตถุดิบคุณภาพดี ใช้ของสด มีน้ำจิ้มและน้ำซุปที่อร่อยก็น่าจะขายได้ และมองว่าสุกี้น่าจะตอบโจทย์การทำธุรกิจที่ตั้งเป้าไว้ ว่าอยากขยายให้ได้หลายสาขาและเป็นบริษัทใหญ่ที่มั่นคง ยิ่งเมื่อเราขายในราคาถูกก็ยิ่งสามารถจับกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น ประกอบกับวัตถุดิบของทางร้านได้รับการดูแลจากครัวกลาง ทั้งน้ำจิ้มหรือของสดแต่ละสาขามีหน้าที่นำไปจัดตกแต่งจานเท่านั้น ยิ่งทำให้เรามีมาตรฐานการตรวจวัดคุณภาพที่เข้มงวดตลอดเวลา”

คุณเฟิร์น - นัทธมน พิศาลกิจวนิช เจ้าของร้านสุกี้ตี๋น้อย
คุณเฟิร์น – นัทธมน พิศาลกิจวนิช เจ้าของร้านสุกี้ตี๋น้อย

ทำรายได้จากบุฟเฟต์สุกี้ 1,200 ล้านบาท ในปี 2563

สำหรับความสำเร็จของสุกี้ตี๋น้อย ใช้การทำตลาดผ่าน Facebook เป็นหลัก โดยมียอดผู้ติดตามมากกว่า 3 แสนคน ซึ่งมีกระแสตอบรับค่อนข้างดี จากการทำกิจกรรมแจกรางวัลจึงช่วยสร้าง Engagement แบบออร์แกนิคได้ดี โดยภายใน 4 ปี ยังสามารถขยายสาขาได้ราว 29 แห่ง และมีรายได้ในปี 2563 ถึง 1,200 ล้านบาท

แม้ในปี 2563 ร้านสุกี้ตี๋น้อยจะเจอสถานการณ์ COVID-19 และได้รับผลกระทบจากการปิดร้าน แต่เมื่อสามารถกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ก็สามารถสร้างรายได้ชดเชยในช่วงครึ่งปีหลัง และเริ่มต้นการขายสุกี้แบบ Take Away ซึ่งเน้นขายผ่านหน้าร้านเป็นหลัก

Suki Tee Noi-1

Suki Tee Noi-2

พลิกเกมสู่ Food Delivery เน้นคุ้มค่าให้ลูกค้ารู้สึก…กินบ้านก็เหมือนกินร้าน

แต่ในปี 2564 ทางร้านเริ่มสนใจให้บริการผ่านแพลตฟอร์ม Food Delivery จึงเข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับ Gojek ด้วยโจทย์ที่ต้องการทำให้ลูกค้าสามารถสั่งสุกี้แบบ Take Away แล้วยังรู้สึกคุ้มค่าเหมือนทานที่ร้าน โดยทางร้านเลือกทำออกมาเป็น 2 เซ็ต คือชุดสุดคุ้มราคา 219 บาท มีให้เลือกทั้งหมูหรือเนื้อ ซึ่งให้ครบทุกอย่างสามารถกินได้ 1- 2 คนต่อเซ็ต ทั้งยังสามารถเลือกสั่งเพิ่มแบบอะลาคารท์ได้ด้วย ถือเป็นการคงคอนเซปต์อร่อยคุ้มเหมือนมากินที่ร้าน

ส่วนการเลือกพาร์ทเนอร์นั้น สุกี้ตี๋น้อย เลือก Gojek เนื่องจากมีการจัดแคมเปญการตลาดอย่างต่อเนื่อง มีส่วนลด และคูปองจัดส่งฟรี จึงถูกใจผู้ใช้งานและมีการบอกต่อในโซเชียลมีเดีย โดยทำให้ร้านสุกี้ตี๋น้อยสามารถเพิ่มรายได้ในช่วงที่ยังไม่สามารถให้บริการขายอาหารได้ตามปกติ


  • 214
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน