TV on Mobile จากปากของ Media of Media

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

ทีวีออนโมบายเป็นเทรนด์ที่มีการกล่าวกันอย่างต่อเนื่องในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ หรือผู้ผลิตคอนเทนต์ที่ต่างรอดูการเติบโตของเทคโนโลยีและกลุ่มผู้ใช้บริการเสริมนี้ รวมถึงมีเดีย ออฟ มีเดียส์ ในฐานะผู้ผลิตคอนเทนต์อันดับต้นของเมืองไทยที่ได้ส่งคอนเทนต์ให้บริการผ่านโทรศัพท์มือถือ เพื่อหวังครองพื้นที่ทางการตลาดก่อนในเบื้องต้น

หากมองถึงช่องทางในการจะสร้างรายได้จากการขายโฆษณาสำหรับทีวีออนโมบายนั่น ถือว่ายังเป็นสิ่งที่ต้องท้าทายอย่างมาก จากทั้งผู้ผลิตคอนเทนต์รวมถึงนักการตลาด เพราะสื่อมือถือจัดเป็นสื่อใหม่ที่ยังไม่สามารถตรวจสอบการเข้าชมได้เป็นมาตรฐาน เช่นเดียวกับ MySpace ที่พยายามจะหาช่องทางในการขายโฆษณาให้กับเว็บไซต์รวมถึงบริการวิดีโอบนมือถือที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้

media-of-mediaทีวีออนโมบายช่องทางเสริมสร้างแบรนด์

ชาลอต โทณวนิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีเดีย ออฟ มีเดียส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจโทรทัศน์ หรือ Content Provider มองว่า สำหรับทีวีออนโมบายเป็นเพียงช่องทางเสริมในการเผยแพร่คอนเทนต์และสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นเท่านั้น เนื่องจากเทคโนโลยีด้านความเร็วยังไม่เอื้อต่อการช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ในวงกว้าง ประกอบกับสื่อใหม่นี้ยังไม่สามารถหารายได้อย่างเต็มตัว ดังนั้น คอนเทนต์ส่วนใหญ่ที่นำมาลงบนทีวีออนโมบายจะเป็นคอนเทนต์ที่ออกอากาศบนฟรีทีวี หรือช่องเคเบิลทีวี

ชาลอตกล่าวต่อว่า มีเดีย ออฟ มีเดียส์ มีคอนเทนต์ที่ดีมีคุณภาพมากมาย ทั้งประเภทรายการสาระและบันเทิง ดังนั้น เพื่อการนำเสนอรายการให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคและเห็นว่า ผู้บริโภคไม่สามารถชมรายการได้ตรงตามช่วงเวลาที่ออกอากาศจริง จึงได้มองถึงสื่อทางเลือกรูปแบบใหม่นั่นคือ ทีวีออนโมบาย นำมาให้บริการแก่ผู้บริโภคในกลุ่มนี้ เพิ่มโอกาสในการเข้าชมรายการของ มีเดีย ออฟ มีเดียส์ และสามารถขยายฐานกลุ่มผู้ชมได้มากขึ้นอีกด้วย

มีเดีย ออฟ มีเดียส์ จึงได้ร่วมมือกับเอไอเอส ในการต่อยอดบริการทีวีออนโมบายให้มีสีสันมากยิ่งขึ้นกับ โดยคัดเลือกรายการประเภทเจาะลึกวงการบันเทิงแบบเผ็ดๆ มันๆ ในรายการ ”กฤษณ์-มดดำ on TV” ทางเคเบิลทีวี มีเดีย แชนแนล ช่อง 20 ซึ่งในช่วงอาทิตย์แรกที่เปิดให้บริการบนทีวีออนโมบายมีผู้ชมเข้ามาชมประมาณ 1 หมื่นราย ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังได้คัดเลือกอีก 2 รายการ แนวเจาะลึกรอบด้าน อย่างรายการ “เจาะเกาะติด” รายการสารคดีเชิงข่าว ที่จะเจาะเกาะติดทุกสถานการณ์ร้อนที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ และอีกหนึ่งรายการคือ “หนึ่งสมองสองมือ” รายการแนวเศรษฐกิจชาวบ้าน ที่ค้นหาเจาะลึกถึงความมุ่งมั่น ทุ่มเท และอดทนผสมกับความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ชมรายการ โดยทั้ง 2 รายการ เป็นคอนเทนต์ที่นำมาจากช่อง 7

ต่อไปผู้บริโภคสามารถรับชมรายการต่างๆ ของมีเดียฯ ซึ่งออกทางฟรีทีวีและเคเบิลทีวีได้บนมือถือ พร้อมกับทางช่องฟรีทีวีหรือเคเบิลทีวี และมีการ Re-Run เทป ตลอด 24 ชั่วโมง ให้สามารถเรียกดูรายการย้อนหลังที่พลาดรับชมไป

สื่อใหม่กับช่องทางการขายโฆษณา

ชาลอตกล่าวต่อว่า จุดเด่นของทีวีออนโมบาย คือ สามารถเลือกชมรายการได้อย่างอิสระ ทุกที่ ทุกเวลา ตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน จึงเป็นช่องทางที่จะเพิ่มโอกาสให้ผู้สนับสนุนรายการที่จะนำเสนอสินค้าหรือบริการให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคอีกทางหนึ่ง แต่การที่จะนำโฆษณามาลงในสื่อใหม่นั้น ต้องมีการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อจะได้วิเคราะห์และประเมินเพื่อทำแผนการตลาดนำเสนอต่อไป

ดังนั้น คอนเทนต์ที่เปิดให้บริการบนทีวีออนโมบายในส่วนของการแทรกสปอตโฆษณาจึงยังไม่มีแต่จะมีการโฆษณาที่ติดอยู่ในคอนเทนต์ที่นำมาออกอากาศอยู่แล้ว โดยถือเป็นสื่อที่แถมให้กับลูกค้าเวลาขายแพ็กเกจโฆษณาเท่านั้น

ตอนนี้ รายได้จากการให้บริการคอนเทนต์บนมือถือจะเป็นในรูปแบบของการสมัครสมาชิกเพื่อรับชม โดยคิดค่าบริการเดือนละ 30 บาท ซึ่งสัดส่วนในการเก็บค่าบริการคอนเทนต์ได้แบ่งเป็น 4 ส่วน คือ โอเปอเรเตอร์โทรศัพท์มือถือ ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ ผู้ผลิตคอนเทนต์ และผู้ดำเนินรายการ

มีเดียฯ พยายามหารูปแบบ การนำเสนอบนมือถือเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ได้สะดวก รวดเร็ว และเหมาะสมกับการเข้าชมผ่านมือถือ เช่น การตัดต่อคลิปรายการแบ่งเป็นตอนละ 5 นาที หรือการแบ่งคลิปรายการตามหัวข้อ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อสร้างเป็นการสร้าง Brand Royalty ให้เกิดแก่ผู้บริโภค

สำหรับการลงทุนทำคอนเทนต์สำหรับทีวีออนโมบายในตอนนี้มองว่ายังไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เพราะไลฟ์สไตล์ของคนไทยยังไม่ได้นิยมมากนักที่จะดูคอนเทนต์ผ่านมือถือเหมือนประชาชนในประเทศไต้หวัน เกาหลี หรือญี่ปุ่น แต่ถ้าเทคโนโลยี 3G เกิดขึ้นในเมืองไทย คาดว่าจะมีผู้บริโภคหันมาดูคอนเทนต์ผ่านมือถือมากขึ้น และในเมื่อถึงเวลานั้นจะผลิตคอนเทนต์สำหรับทีวีออนโมบายแน่นอน

เคเบิ้ลทีวี สื่อมาแรงปี 2552

ชาลอต กล่าวว่า ตอนนี้สื่อใหม่ที่มีเดียฯ ได้มองเห็นถึงโอกาสในการผลิตคอนเทนต์เพื่อสร้างรายได้ นั่นคือ เคเบิลทีวี โดยคาดว่าปีนี้จะมีการเติบโตอย่างมาก เนื่องจาก พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ได้ผ่านความเห็นชอบแล้ว ทำให้ธุรกิจเคเบิลทีวีค่อนข้างเปลี่ยนไปจากเดิม

คาดว่าต่อไปผู้ชมจะได้เห็นคอนเทนต์ที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้นในเคเบิลทีวีเมืองไทย และจะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งเห็นได้จากตลาดเคเบิลในต่างประเทศที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่จะมาจากเคเบิลมากกว่าฟรีทีวี และมองว่าธุรกิจเคเบิลทีวีจะเป็นธุรกิจที่จะสร้างรายได้ในอนาคต ถึงแม้ธุรกิจนี้จะมีมาเกือบ 10 ปีแล้ว

อีกสาเหตุที่ตัดสินใจเข้ามาทำคอนเทนต์บนเคเบิลทีวี เพราะตอนนี้ยังไม่มีคู่แข่งเข้ามาทำธุรกิจนี้มากนัก จึงเป็นโอกาสที่ดีในการเข้ามาสร้างแบรนด์ให้ผู้บริโภคได้รู้จักก่อน เนื่องจากปัจจุบัน จะมีรายการในเคเบิลทีวีเฉลี่ยประมาณ 100 ช่อง ดังนั้น ต้องหากลยุทธ์ในการเร่งสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักจนเกิดเป็นแบรนด์รอยัลตี้ให้กับผู้บริโภคให้เร็วที่สุด และศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคของเคเบิลทีวี เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับคอนเทนต์ที่มีอยู่ในช่องเคเบิลทีวีปัจจุบัน

สิ่งสำคัญอีกอย่างในการคัดเลือกคอนเทนต์ คือ ต้องคำนึงถึงผู้สนับสนุนรายการว่ามีความพึงพอใจกับคอนเทนต์ที่คัดเลือกมาลงภายในช่องด้วย โมเดลในการขายโฆษณาบนเคเบิ้ลทีวีจะคล้ายกับช่องฟรีทีวี โดยขายโฆษณาให้กับทั้งเอเยนซี่และเจ้าของสินค้าและบริการโดยตรง

ออกสื่อในต้นทุนที่ถูกกว่า

ชาลอตกล่าวว่า หากนักการตลาด หรือเอเจนซี่ต้องการเปิดตัวสินค้าให้รู้จักในวงกว้างควรจะเลือกลงในช่องฟรีทีวี แต่ถ้าต้องการสื่อเฉพาะกลุ่มนั้น เคเบิลทีวีจัดเป็นคำตอบที่ตรงจุดและเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าค่าโฆษณาช่องเคเบิลทีวีจะถูกกว่ามาก ดังนั้น เอเยนซี่จะมองหาเพื่อจะนำเสนอให้ลูกค้า รวมถึงเจ้าของสินค้าต่างๆ ที่ต้องการลงสื่อโฆษณาในต้นทุนต่ำแต่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย

ชาลอตกล่าวต่อว่า ขณะนี้เอเยนซี่กับผู้ประกอบธุรกิจเคเบิลทีวียังไม่รู้จักกัน ทางมีเดียฯ จึงได้เป็นตัวกลางในการวางแผนในการช่วยประชาสัมพันธ์ด้านการตลาดออกสู่กลุ่มเป้าหมายผ่านช่องเคเบิลทีวี โดยประสานงานไปทางช่องเคเบิลทีวีเพื่อขอเวลาออกอากาศในช่องที่เหมาะสมกับสินค้าที่เอเจนซี่ต้องการลงโฆษณา รวมไปถึงการจัดรถ Outdoor Broadcasting ในการถ่ายทอดสดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในต่างจังหวัดให้ด้วย โดยวิธีการนี้จะเป็นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุดในงบประมาณที่ต่ำกว่าลงในสื่อช่องฟรีทีวีอย่างมาก
 
ปัจจุบันนี้ คอนเทนต์ที่ผู้บริโภคเข้าถึงมากที่สุดยังคงเป็นทีวี รองลงมาคือ โทรศัพท์มือถือ และอินเทอร์เน็ต แต่ในอนาคตคาดว่าโทรศัพท์มือถือจะเป็นช่องทางที่ผู้ผลิตคอนเทนต์หันมาให้ความสำคัญและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นช่องทางที่สามารถเข้าถึงทุกกลุ่มคนได้ในวงกว้างเนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่มีมือถือใช้กันเกือบทุกคน และถ้าเทคโนโลยี 3G เข้ามาคาดว่าคนจะหันมาชมรายการผ่านโทรศัพท์มือถือกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งคอนเทนต์สามารถใช้ร่วมกันกับช่องทางฟรีทีวี และเคเบิลทีวีได้ ทำให้สามารถแชร์ต้นทุนในการผลิตได้เป็นอย่างมาก ชาลอต กล่าวทิ้งท้าย

Source: Ecommerce Magazine


  •  
  •  
  •  
  •  
  •