ใครจะไปคาดคิดว่าประเทศไทยจะต้องประสบปัญหาสถานการณ์โรคระบาดในระลอกที่ 3 ที่สำคัญในระลอกนี้ยังมีความร้ายแรงของสถานการณ์เพิ่มมากขึ้นกว่าที่ผ่านๆ มา ส่งผลให้ภาครัฐเริ่มออกมาใช้มาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจของภาคเอกชนและผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะรายได้ที่สูญเสียไป แต่หนี้สินยังคงอยู่ ซึ่งเราจะมาเจาะลึกและทำความรู้จักกับเรื่องของ “หนี้” อย่างลึกซึ้ง
“หนี้” คือ สิ่งที่สร้างขึ้นตั้งแต่ในอดีตและปัจจุบัน แต่ส่งผลกระทบกับภาระด้านการเงินในอนาคต ซึ่งหนี้มักจะเกิดขึ้นมาด้วย 2 เหตุผล ทั้งจากความต้องการและความจำเป็น โดยความจำเป็นมักจะเกิดจากสิ่งที่ไม่คาดฝัน เช่น อาการเจ็บป่วย ทั้งจากบุพการี ตัวเองหรือคนในครอบครัว จำเป็นต้องเป็นหนี้เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา ขณะที่หนี้จากความต้องการมักจะเกิดจากการที่เห็นคนอื่นมีแล้วอยากมีบ้าง เช่น สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ รถยนต์รุ่นใหม่ เป็นต้น
ในทางกฎหมายหนี้จะเกิดขึ้นได้จากบุคคล 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่มีเงิน (เจ้าหนี้) หรือนายทุนที่มีความต้องการสร้างรายได้จากเงินที่มี และกลุ่มคนที่อยากได้เงิน (ลูกหนี้) เพื่อนำไปใช้ทั้งในด้านจำเป็นและความต้องการ ซึ่งจะมีการทำสัญญาขึ้นมาในการขอกู้ยืมเงิน โดยตกลงกันว่าจะมีการชำระเงินคืนภายในระยะเวลากำหนด พร้อมค่าการให้ยืมหรือที่รู้จักในชื่อ “ดอกเบี้ย” ในอัตราที่ยอมรับกันได้ เมื่อสัญญาเป็นที่พอใจทั้ง 2 ฝ่าย การเป็นหนี้ก็ถือว่าเสร็จสมบูรณ์
ความแตกต่างของ จำนำ และ จำนอง
ด้านกฎหมายหนี้จะถูกแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ หนี้ที่มีหลักประกันและหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน โดยหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน คือ การขอกู้ยืมโดยไม่มีอะไรมาค้ำประกันความเสี่ยง แต่ใช้ความน่าเชื่อถือส่วนตัว โดยหนี้ประเภทนี้ที่รู้จักกันอย่าง Personal Loan หรือการสมัครบัตรเครดิต ขณะที่หนี้ที่มีหลักประกันก็ยังแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ทั้งการใช้ทรัพย์สินเข้ามาเป็นหลักประกันหนี้ และ การใช้ตัวบุคคลเป็นหลักประกัน (ผู้ค้ำประกัน) ซึ่งหากเก็บหนี้จากลูกหนี้ไม่ได้ จะสามารถมาเก็บหนี้กับผู้ค้ำประกันแทนได้
สำหรับการใช้ทรัพย์สินมาเป็นหลักประกันหนี้ ก็แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ทั้งแบบ การค้ำประกันหนี้ในทรัพย์สินที่มีไม่มีการจดทะเบียน เช่น นาฬิกา ทอง เพชร อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ โดยเรียกรูปแบบนี้ว่า “จำนำ” โดยต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้เจ้าหนี้เป็นผู้ดูแล ขณะที่อีกแบบเป็น การค้ำประกันหนี้ในทรัพย์สินที่มีการจดทะเบียน เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ โดยเรียกรูปแบบนี้ว่า “จำนอง” ซึ่งเจ้าของไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินให้กับเจ้าหนี้ (โดยมอบใบจดทะเบียนให้เจ้าหนี้เป็นผู้ดูแล) ช่วยให้เจ้าของยังคงสามารถใช้ทรัพย์สินนั้นได้ต่อไป
นอกจากนี้ หนี้ยังมีมุมมองในเชิงบวก หากหนี้เหล่านั้นสามารถก่อให้เกิดรายได้ เช่น การนำหนี้เหล่านั้นไปลงทุนเพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้น รวมไปถึงหนี้ที่ช่วยลดภาระทางการเงินได้ในอนาคต เช่น การเป็นหนี้ที่อยู่อาศัย เมื่อผ่อนชำระหมด บ้านก็จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ผ่อนชำระ เป็นต้น ขณะที่หนี้สินที่นำมาใช้จ่ายทั่วไปในชีวิตประจำวันหรือใช้แล้วหมดไป โดยไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มเติม จะกลายเป็นภาระทางการเงินนอนาคต
ต้องยอมรับว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพลังโซเชียลมีเดียที่ทำให้เห็นว่า เพื่อนมีทำไมถึงไม่มีหมือนเพื่อนบ้าง หรือ ของมันต้องมี ประกอบกับโปรโมชั่นที่เร้าใจช่วยให้เป็นเจ้าของได้ง่ายด้วยการเป็นหนี้ ยิ่งช่วยกระตุ้นความต้องการเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการเป็นหนี้จึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละคนว่า เป็นหนี้เพราะจำเป็นหรือเป็นหนี้เพราะความต้องการอยากได้
ภาษีเครื่องมือชี้วัดความเสี่ยงของหนี้
ในด้านภาษีนั้นหนี้ก็มีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งแต่เดิมผู้ประกอบการมักจะมีปัญหามายาวนานกับการทำบัญชีหลายเล่ม สำหรับใช้ในการดำเนินการต่างกรรมต่างวาระ เช่น การขอกู้เงิน หรือ การสำแดงเพื่อเสียภาษี ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพธุรกิจที่แท้จริง กรมสรรพากรจึงร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย ออกกฎให้การขอกู้ยืมเงินจะต้องใช้บัญชีชุดเดียวกับที่ใช้ยื่นแสดงภาษี เพื่อป้องกันการตกแต่งบัญชี
ส่งผลให้ธนาคารหลายแห่งเริ่มนำรูปแบบดังกล่าวมาใช้กับบุคคลทั่วไปสำหรับการขอสินเชื่อต่างๆ โดยเฉพาะการขอสินเชื่อเพื่อกู้เงินซื้อบ้าน ธนาคารจะเริ่มถามหาเอกสารการยื่นเสียภาษีประจำปีเพื่อใช้ในการประกอบขอกู้เงินสินเชื่อ ดังนั้นผู้ที่ไม่เคยยื่นเสียภาษีมาก่อนอาจจะมีปัญหาในการขอกู้สินเชื่อ ซึ่งทุกคนควรยื่นภาษีตามความเป็นจริง
ตีแผ่เรื่องจริงของอัตราดอกเบี้ย
ในทางกฎหมายเจ้าหนี้สามารถเรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้ได้ ซึ่งจะต้องมีการตกลงกันให้ได้ก่อนทำสัญญากู้ยืมเงิน ซึ่งตามกฎหมายระบุให้คิดดอกเบี้ยได้สูงสุดในอัตราไม่เกิน 15% ต่อปี ซึ่งในปัจจุบันมีธุรกิจที่เรียกว่า “เงินกู้นอกระบบ” และส่วนใหญ่จะมีการคิดอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยกฎหมายได้ระบุไว้ชัดเจนว่า ข้อตกลงใดที่มีการระบุให้เสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่า 15% ต่อปี ให้ถือว่าข้อตกลงนั้น “เป็นโมฆะ” ซึ่งลูกหนี้ยังคงต้องชำระในส่วนของเงินต้น แต่ในส่วนของดอกเบี้ยให้ถือว่าไม่มีการตกลงใดๆ ทั้งสิ้น
ปัจจุบันจึงมีการชักชวนให้กู้เงินนอกระบบผ่านการใช้อัตราดอกเบี้ยที่ทำให้เข้าใจผิดว่า มีอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าสถาบันการเงิน หรือมีการคิดอัตราดอกเบี้ยรายวันที่ช่วยให้เห็นว่า มีอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลงไม่ถึง 10 บาทต่อสัปดาห์ ซึ่งหากคิดรวมกับค่าดำเนินการแล้วอาจมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า 28% ด้วยซ้ำ
หลายคนอาจสงสัยว่า อัตราดอกเบี้ยที่สถาบันทางการเงินกำหนดมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า 15% ต่อปี (ประมาณ 28% ต่อปี) บางคนใช้ข้ออ้างนี้บ่ายเบี่ยงในการชำระดอกเบี้ย แต่ในความเป็นจริง มีกฎหมายยกเว้นให้สำหรับสถาบันการเงิน โดยกำหนดให้สถาบันทางการเงินสามารถคิดอัตราดอกเบี้ยได้สูงกว่า 15% ต่อปี แต่ต้องไม่เกิน 28% ต่อปี
กฎหมายที่ต้องเรียนรู้สำหรับคนเป็นหนี้
นอกจากนี้ยังมี พรบ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราปี 2560 เจ้าหนี้ที่เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กำหนดจะต้องถูกจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาทในคดีอาญา ขณะที่หลายครั้งเจ้าหนี้นอกระบบมักจะข่มขู่ลูกหนี้ด้วยการหลอกว่า จะแจ้งความจับลูกหนี้เพื่อดำเนินคดีให้ลูกหนี้ติดคุก ซึ่งในความเป็นจริงคดีหนี้เป็นคดีทางแพ่ง ไม่มีโทษด้านจำคุก เว้นแต่ลูกหนี้จะทำการโกง ปิดบัง ยักย้ายหรือหลอกลวงให้เจ้าหนี้ไม่สามารถติดตามทวงหนี้ได้
ลูกหนี้เหล่านั้นก็อาจติดคุกตามประมวลกฎหมายอาญาซึ่งมีโทษจำคุก และกฎหมายที่ออหมาใหม่ยังระบุให้เจ้าหนี้สามารถทวงหนี้ได้วันละครั้งเท่านั้น หากมีการติดต่อแล้วไม่สามารถติดต่อลูกหนี้ได้ ให้นับเป็นการทวงหนี้ด้วยเช่นกัน
ในกรณีที่ลูกหนี้มีหนี้สินมากจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ก็จะเข้าสู่กระบวนการ “ล้มละลาย” หรือการมีหนี้สินล้นพ้นตัว (มีมูลค่าหนี้สินมากกว่ามูลค่ารายได้) โดยบุคคลธรรมดาต้องมีหนี้สินมากกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไป หรือนิติบุคคลต้องมีหนี้สินมูลค่า 2 ล้านบาทขึ้นไป ลูกหนี้ที่ถูกคำสั่งล้มละลายจะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ซึ่งลูกหนี้จะไม่สามารถกระทำการธุรกรรมด้านสินเชื่อเพื่อก่อให้เกิดหนี้ได้อีก แต่จะมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาช่วยตรวจสอบการชำระหนี้ทุกขั้นตอนให้
ช่วยให้เจ้าหนี้สามารถเห็นการเดินบัญชีของลูกหนี้ได้ และจะได้รับการจัดสรรปันส่วนหนี้ได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้ลูกหนี้สามารถยังคงดำเนินชีวิตต่อไปได้ โดยคดีล้มละลายจะมีอายุอยู่ที่ 3 ปี เมื่อเกินกำหนดระยะเวลา 3 ปี ลูกหนี้จะอยู่ในสถานะ “ปลดจากล้มละลาย” ซึ่งจะสามารถกลับไปทำนิติกรรมขอสินเชื่อได้ตามปกติ แต่ก็จะมีประวัติการเป็นหนี้ที่ผ่านมาจากเครดิตบูโร
ซึ่งการล้มละลายไม่ใช่เรื่องน่ากลัวและไม่ใช่เรื่องน่าอายเพราะทุกคนมีโอกาสผิดพลาดกันได้ โดยเฉพาะในช่วงที่มีวิกฤตสถานการณ์โรคระบาด ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนคดีความในศาลแรงงานและศาลล้มละลายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะฝั่งผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาด
เคล็ดลับการจัดการหนี้
ในช่วงนี้หลายคนอาจจะมีรายรับที่ลดลง แต่ภาระหนี้สินก็ยังคงต้องชำระโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งในช่วงนี้รายจ่ายอะไรที่สามารถลดลงได้ก็ต้องลดลงให้ได้มากที่สุด แล้วใช้สิทธิ์สวัสดิการสังคมที่มีเข้ามาช่วย รวมถึงการวางแผนใช้จ่ายในแต่ละเดือน ซึ่งต้องรัดเข็มขัดให้มากขึ้น นอกจากนี้ถ้ามีหนี้หลายก้อน ควรจะต้องเช็คว่าหนี้ก้อนไหนมีดอกเบี้ยแพงที่สุด เพราะหนี้ที่มีดอกเบี้ยแพงที่สุดถือเป็นต้นทุนที่มีราคาแพงสุดต้องรีบเคลียร์หนี้ก้อนนั้นก่อน
โดยอัตราดอกเบี้ยมักจะแข่งกับเวลา ยิ่งปล่อยให้เวลานานวันดอกเบี้ยก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น วิธีนี้จะช่วยให้ต้นทุนของลูกหนี้เบาลงได้ และถ้ายิ่งปิดไวจะช่วยให้มีกำลังใจในการปิดหนี้ก้อนอื่นได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งเป้าหมายของเจ้าหนี้คือการได้เงินคืนโดยที่ไม่เข้าเนื้อ ซึ่งหากเกิดอุปสรรคในการชำระหนี้ ลูกหนี้ไม่ควรหนีหนี้ แต่ควรเข้าไปเจรจากับเจ้าหนี้ในการประนอมหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเจ้าหนี้ส่วนใหญ่พร้อมคุยกับลูกหนี้เสมอ
ผลกระทบทางการเงินจากวิกฤตสถานการณ์โรคระบาดไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ไม่มีความผิดของใคร หากลูกหนี้ทำหน้าที่ของลูกหนี้ได้อย่างเต็มที่แล้ว เจ้าหนี้ก็พร้อมที่จะเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกัน ไม่เพียงเท่านี้ ลูกหนี้ยังอาจหาโครงการรีไฟแนนซ์หรือการรวมหนี้เข้ามาช่วยปลดภาระหนี้สินได้ โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิตและต้องตั้งเป้าหมายในการปลดหนี้ให้ได้